"ไม่สวยงามอย่างที่คิด" เมื่อได้ทุนรัฐบาลจีนไปเรียนม.ดัง แต่กลับต้องมาเรียนออนไลน์ที่ไทย!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D มีใครฝันอยากไปเรียนต่อที่จีนกันบ้างไหมคะ วันนี้พี่ออมสินจะพามารู้จักกับ ‘หงส์’ ศิรดา เจียมศิริกาญจน์ หนึ่งในนักเรียนไทยที่คว้าทุนยอดฮิตอย่าง ทุนรัฐบาลจีน (CSC) และตอนนี้กำลังเรียนอยู่ที่คณะ  International Economics and Trade แห่ง Shanghai University of Finance and Economics  (SUFE)  ที่นี่เป็นถึง ม.ชั้นนำด้านเศรษฐศาสตร์ของจีน โดยครองอันดับ 1 จากชาร์ต 2021  Best Chinese Universities Ranking  ของ Shanghai Ranking ด้วย

แต่แล้วเรื่องราวกลับไม่สวยงามอย่างที่คิด เพราะเกินครึ่งของช่วงชีวิตนักศึกษาต้องกลับมาเรียนออนไลน์ที่ไทย เนื่องจากช่วงปิดเทอมฤดูหนาวที่เด็กต่างชาติบินกลับประเทศดันเป็นจังหวะที่โควิดเริ่มระบาดหนักพอดี  มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับมาเป็นเรียนออนไลน์ ซึ่งชาวต่างชาติ(นอกจากคนเกาหลี)ก็ยังคงกลับเข้าประเทศไม่ได้ (อ่านต่อ #พาเด็กไทยกลับจีน)

อย่างไรก็ตาม เรื่องหลักสูตรการเรียนนี้ก็นับว่าทั้งเข้มข้นและมีคุณภาพแน่นจริงๆ และเธอก็ได้เจอกับการเรียนทั้งในแคมปัสและออนไลน์ เธอได้เรียนอะไร? อะไรคืออุปสรรคใหญ่? และคุณภาพชีวิตในเซี่ยงไฮ้เป็นยังไงบ้าง? ตามมาอ่านเลยค่ะ

เรียนศิลป์-เยอรมัน 
แล้วไปต่อป.ตรีที่จีน

จริงๆ เราเริ่มเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ ม.1 แล้ว แต่เลือกสอบเข้าศิลป์-เยอรมันที่ รร.เตรียมอุดม เพราะอยากได้ภาษาที่ 4 เพิ่ม ระหว่างนั้นก็มีหาเรียนพิเศษภาษาจีนข้างนอกบ้างแหละ แต่บางช่วงก็มีหลุดโฟกัสหรือลืมๆ ไป แล้วจุดเปลี่ยนคือตอน ม.5 เราสอบติด AFS ไปแลกเปลี่ยนที่เมืองเต๋อหยาง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ได้ความประทับใจกลับมาเยอะมาก~ ทั้งเพื่อนที่โรงเรียน ครู โฮสต์ ทุกคนดีกับเราจนเราหลงรักวัฒนธรรมกับชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่น พอกลับไทยเลยตั้งเป้าว่าจะกลับไปเรียน ป.ตรีที่จีนให้ได้ 

ช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน
ช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน
ช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน
ช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน

กว่าจะได้ทุนรัฐบาลจีน

เราหาข้อมูลว่ามีทางไหนที่จะทำให้เราได้ไปเรียนต่อที่จีนบ้าง แล้ว "ทุนรัฐบาลจีน" ก็เป็นหนึ่งในนั้น จากนั้นเราก็ไปเข้ากรุ๊ปเฟซบุ๊ก Thai CSC เพื่อหาอ่านรีวิววิธียื่นสมัครทุนนี้จากรุ่นพี่ ตอนนั้นมีพี่ๆ มาแนะนำเยอะมากๆ พอเรารู้ข้อมูลประมาณนึงแล้วก็เข้าไปศึกษาที่เว็บไซต์หลักของโครงการ ดูว่าเราสามารถเลือกคณะและมหาวิทยาลัยอะไรได้บ้าง

สำหรับทุนรัฐบาลจีน เราจะเลือกได้เพียง 1 คณะ แต่ยื่นได้ 3 มหาวิทยาลัย เราก็มานั่งดูต่อว่ามีคณะอะไรที่น่าสนใจบ้าง จนมาเจอคณ‘International Economics and Trade’ ซึ่งโดยส่วนตัวเราสนใจด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศอยู่แล้ว เลยตั้งใจว่าจะเข้าคณะนี้ 

เมื่อเลือกคณะได้แล้วเราก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยเรียงตามลำดับ วิธีของเราคือไปนั่งหาข้อมูลว่าการเรียนการสอนด้านเศรษฐศาสตร์ในจีนว่าที่ไหนดีที่สุด แล้วจัดอันดับตามนี้

  • อันดับ 1 Shanghai University of Finance and Economics (*เราติดที่นี่)
  • อันดับ 2 Fudan University
  • อันดับ 3 Southwestern University of Finance and Economics

เอกสารที่ต้องส่งเพื่อสมัครทุน CSC

  • แบบฟอร์มสมัครทุนจากเว็บไซต์
  • สแกนหน้าพาสปอร์ต
  • ใบตรวจสุขภาพ
  • ใบจบการศึกษาหรือใบคาดว่าจะจบการศึกษา
  • ใบแสดงผลการเรียน(Transcript)
  • แผนการศึกษา (Study Plan)
  • จดหมายแนะนำจากอาจารย์ (2 ฉบับ)
  • ใบคะแนนวัดระดับทางภาษา (HSK 5) *คนที่ไม่มีพื้นฐานจีนสามารถเลือกขอเรียนปรับภาษาก่อนได้

สำหรับจดหมายแนะนำจากอาจารย์ หรือ Letter of Recommendation ตอนนั้นเราให้ครูที่โรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษเขียนให้ 1 ฉบับ + ครูที่สอนภาษาจีนเขียนอีก 1 ฉบับ แต่ถ้าใครสมัครระดับ ป.โท ขึ้นไป ทางเว็บไซต์ทุนระบุว่าผู้ที่จะเขียนแนะนำได้ต้องมีตำแหน่งศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ขึ้นไป

เมื่อเอกสารครบทุกอย่างแล้วให้สแกนและอัปโหลดไว้ในเว็บไซต์สมัครทุนได้เลย จากนั้นรอประกาศผลทางอีเมลค่ะ

เว็บไซต์สมัครทุนรัฐบาลจีน
บรรยากาศแคมปัสจงชานเป่ยอีลู่
บรรยากาศแคมปัสจงชานเป่ยอีลู่
บรรยากาศแคมปัสกั๋วติ้งลู่
บรรยากาศแคมปัสกั๋วติ้งลู่

แชร์เทคนิคเขียน Study Plan
"เขียนให้เป็นตัวเองที่สุด" 

พยายามแสดงให้กรรมการเห็นว่าเราอยากไปเรียนจริงๆ โดยทุกอย่างที่เขียนลงไปต้องเป็นความจริงและสามารถทำได้จริงด้วย  เนื้อหาหลักๆ ที่เราเขียนจะประมาณนี้

  • แนะนำตัวคร่าวๆ 
  • บอกเหตุผลที่อยากไปเรียนที่จีน 
  • เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้ 
  • ถ้าได้ทุนแล้วจะทำอะไรต่อบ้าง

เราเขียนเป็นภาษาจีนเพราะยื่นสมัครหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาจีน แต่ถ้าใครยื่นหลักสูตรภาษาอังกฤษให้เขียนภาษาอังกฤษ  วิธีของเราคือคิดในหัวเป็นภาษาไทยก่อนค่ะว่าเราจะเขียนอะไรลงไปบ้าง แล้วค่อยเขียนเป็นภาษาจีนออกมา แนะนำว่าพยายามใช้คำศัพท์ในระดับที่เรารู้และเขียนได้จริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์ที่มันหรูหราหรือดูยากเกินตัว ถ้าหากไม่แม่นแกรมมาร์สามารถให้คนอื่นช่วยดูได้ แต่ระดับของภาษาต้องเป็นระดับความสามารถของเราเองเท่านั้นนะคะ 

เคล็ดไม่ลับกับคะแนน HSK6 
และ HSKK Advanced Level

ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้เก่งจีนขนาดนั้น ยังมีศัพท์อีกเยอะเลยที่ยังไม่รู้ แต่ถ้าให้แชร์ทริคของตัวเองคือนอกจากท่องศัพท์ ทำแบบฝึกเรื่องแกรมมาร์บ่อยๆ เราจะพยายามดูหนังฟังเพลงภาษาจีนไปด้วยเพื่อฝึกการพูดและการฟัง ถ้าใครเพิ่งเริ่มต้นแนะนำให้ลองเปิดเสียงภาษาจีนกับซับไตเติลภาษาไทยก่อนก็ได้ ฟังให้ชินหูแล้วค่อยเปลี่ยนมาเปิดซับจีนแทน เพราะส่วนใหญ่ซีรีส์จีนจะมีซับจีนให้อยู่แล้ว การดูแบบนี้จะช่วยให้ได้ฝึกฟังและอ่านไปในตัว

แล้วเวลาเราเจอศัพท์ใหม่ในซีรีส์ ก็จะจดไว้เอามาท่องค่ะ และถ้าเจอประโยคที่ชอบมากเป็นพิเศษ เราจะกดหยุดฟังซ้ำหลายๆ รอบ และพูดตามจนกว่าจะจำประโยคนั้นๆ ได้ พอเจอสถานการณ์ที่ต้องใช้ประโยคพวกนี้เราจะพูดออกมาเองอัตโนมัติโดยมีอินเนอร์ของตัวละครเป็นของแถมด้วยค่ะ 55555

ชีวิตในรั้วม.ท็อปด้านเศรษฐศาสตร์
ได้เรียน 2 แคมปัส

SUFE เป็นมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจแห่งแรกของประเทศจีน ปีนี้มีอายุครบ 104 ปีแล้วค่ะ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งใน 211 โครงการที่นำเอามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของจีนมารวมกัน เพราะฉะนั้นเนื้อหาวิชาการของที่นี่เรียกว่าอัดแน่นและเต็มไปด้วยคุณภาพเลยล่ะ

ส่วนที่ตั้งนับว่าเป็นทำเลทอง เพราะอยู่ที่ "เซี่ยงไฮ้" เมืองใหญ่และเจริญที่สุดของจีน โดยแคมปัส 中山北一路 (ถนนจงชานเป่ยอี) อยู่ติดรถไฟฟ้า เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกมากๆ ส่วนแคมปัส 国定路 (ถนนกั๋วติ้ง) ก็อยู่ใกล้แหล่งชอปปิงอย่าง 五角场 (อู๋เจี๋ยวฉ่าง) หรือถ้าหากอยากเข้าไปในตัวเมืองแถว The Bund ก็ง่ายมาก เพราะนั่งรถไฟฟ้าแค่ครึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว!

ส่วนการเรียน ถ้าคณะเราตอนปี 1 เค้าจะแยกนักเรียนต่างชาติทั้งหมดไปเรียนที่แคมปัสที่ถนนจงชานเป่ยอีก่อน เพราะว่าเค้าอยากปลูกฝังวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นจีนให้เรา หลักๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของคณะ และมีวิชาภาษาจีน วิชาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีนเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจีนเรียนกันมาหมดแล้วตั้งแต่มัธยม เลยต้องแยกเด็กต่างชาติมาเรียนด้วยเหตุผลนี้ แต่ก็เป็นช่วงที่ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติจากทั่วโลก อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลี รัสเซีย คาซัคสถาน บราซิล ฯลฯ

แคมปัสจงชานเป่ยอีลู่
แคมปัสจงชานเป่ยอีลู่
แคมปัสกั๋วติ้งลู่
แคมปัสกั๋วติ้งลู่

พอปี 2 จะไปเรียนแคมปัสที่ถนนกั๋วติ้ง มีทั้งคลาสที่เรียนแค่เด็กต่างชาติและเรียนรวมกับเด็กจีน วิชาที่เรียนก็จะมีทั้งวิชาคณะและวิชาเลือกเสรี แม้จะเป็นหลักสูตรภาษาจีน แต่ถึงเวลาจริงๆ จะมีทั้งอาจารย์ที่สอนจีนล้วน, สอนภาษาอังกฤษล้วน และวิชาที่บรรยายทั้งสองภาษา (ถ้าจบจากที่นี่เป๊ะทั้งสองภาษาแน่นอนค่ะ!)

บรรยากาศการเรียนปี 2 จะเครียดและกดดันกว่าเดิมมาก เพราะว่าพอเรียนรวมกับเด็กจีนแล้วอาจารย์จะใช้คำศัพท์ที่ยากและพูดเร็วกว่าเดิม ทำให้บางครั้งเราก็ฟังไม่ทัน แต่ข้อดีคือเราได้เห็นวิธีการเรียนและวิธีการคิดของเด็กจีน ทำให้เรานำเอามาปรับใช้และพัฒนาภาษาของเราได้เต็มที่เลย

โรงอาหารมหา'ลัย
โรงอาหารมหา'ลัย

แล้วเพื่อนๆ คนจีนก็น่ารักมาก คอยดูแลคอยช่วยเหลือเด็กต่างชาติตลอด เวลาทำงานกลุ่มที่ต้องอยู่กับคนจีนเค้าก็ไม่ได้แสดงอาการว่าไม่ได้อยากมีเราในกลุ่ม เค้าจะออกแนวเป็นผู้นำ คอยแนะนำว่าเราต้องทำอะไรยังไง แล้วตอนนี้ที่เราเรียนออนไลน์ที่ไทย เพื่อนยังช่วยพิมพ์งานของเราไปส่งอาจารย์ให้ ไม่คิดค่าพิมพ์อีกต่างหาก ประทับใจสุดๆ 

ส่องตัวอย่างวิชาสุดเจ๋ง
กับการจัดช่วงที่ทำให้มีสมาธิขึ้น

ในหนึ่งเทอมเราจะเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ 8 วิชา เราชอบระบบแบ่งคาบเรียนของที่จีนนะ วิชานึงจะเรียนประมาณ 3 คาบ แต่ละคาบใช้เวลา 45 นาที เมื่อเรียนจบ 1 คาบ จะพัก 10 นาที เราว่าการเรียนแบบนี้มันทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ไม่ต้องจดจ่ออยู่กับบทเรียนยาว 3 ชั่วโมงรวดเหมือนที่ไทย (ถ้าเรียนแบบนั้นช่วงท้ายๆ เราจะหลุด อาจารย์พูดอะไรก็ไม่เข้าหัวแล้ว) แต่พอแบ่งปุ๊บเหมือนสมองได้พักและเริ่มใหม่ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนดีขึ้นเยอะเลย

หลักๆ วิชาที่เราเรียนจะเป็นพวก Microeconomics, Macroeconomics, International Economics, International Trade Practices กับวิชาเลือกเสรีที่ต้องเลือกเรียน 5 จาก 7 หมวด

วิชา Financial Accounting

เป็นวิชาเลือกและเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านและการลงบัญชี ทรมานนิดหน่อยตอนเรียน เพราะมันยากมากกก เราบ่นไว้เยอะเลย แต่ตอนนี้พอกลับไปคิดแล้วเรากลับชอบวิชานี้ที่สุด เพราะมันค่อนข้างท้าทายความสามารถ พอเราเข้าใจระบบบัญชีต่างๆ แล้วมันง่ายเลยนะ เราสามารถทำมันออกมาได้ดี เลยยกให้เป็นวิชาในดวงใจค่ะ 

วิชา International Trade Practices

เรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบก เรือ และอากาศทั้งหมด (แต่เน้นทางเรือเป็นส่วนใหญ่) ได้เรียนทั้งคำศัพท์เฉพาะทางที่ใช้ในวงการขนส่ง การทำประกัน ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง // เราเรียนแล้วว้าวอ่ะ เปิดโลกมาก ไม่เคยรู้เรื่องอะไรพวกนี้มาก่อน อย่างเช่นผู้นำเข้าและส่งออก ใครเป็นผู้รับผิดชอบเขตแดนไหน   

ธรรมชาติคนจีนเรียนหนักมาก

คนจีนเค้าปลูกฝังว่าต้องขยันและตั้งใจเรียนกันมาตั้งแต่ประถมแล้ว ยิ่งระดับมหาวิทยาลัยก็ยิ่งเรียนหนักเข้าไปอีก อย่างตารางเรียนเราก็มีอัดแน่นทั้งวัน บางวันก็มีเลิกตอนกลางคืนด้วย เลิกสองทุ่มครึ่งอะไรแบบนี้  เวลาไปห้องสมุดทีคือแทบจะหาที่นั่งไม่ได้ ไม่ใช่แค่ช่วงสอบนะ แต่ต้องแย่งกันทุกวันเป็นปกติ แล้วบรรยากาศจะเงียบมากเพราะเค้าตั้งใจอ่านกันสุดๆ บางทีเรายังไม่กล้าหายใจเลยเพราะกลัวไปรบกวนเค้า

แต่ในบางครั้งคนจีนเค้าก็มีไม่ตั้งใจเรียนนะ ในคลาสที่เค้าคิดว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ ก็จะเอางานวิชาอื่นมาทำหรือเล่นโทรศัพท์ไม่ได้สนใจที่อาจารย์สอน แต่พอโดนเรียกให้ตอบคำถามเค้าตอบกันได้ทุกคนเลย งงมาก เราคิดว่าสมองเค้าต้องดีมากขนาดไหนนะถึงแยกสมาธิได้ขนาดนี้

ข้อสอบสุดหินในทุกวิชา!

ถือว่าเครียดและกดดันสุดๆ ปริมาณข้อสอบกับเวลาที่อาจารย์ให้มาแค่อ่านให้เข้าใจก็ยากแล้ว เพราะเค้าใช้คำศัพท์ยาก แล้วไหนจะต้องรีบทำให้ทันอีก  ปกติที่จีนเค้าให้เวลาทำข้อสอบแค่ 2 ชั่วโมง ยังไม่เคยเจอวิชาไหนที่อาจารย์ให้เวลามากไปกว่านี้ 

แล้วข้อสอบฉบับนึงจะความหลากหลายด้วย อย่างล่าสุดที่เราเพิ่งสอบเสร็จ มีแบบกากบาท 10 ข้อ ถูกผิด 15 ข้อ เติมคำในช่องว่าง 5 ข้อ เขียนตอบแบบง่าย ซึ่งในความเห็นเรามันไม่ง่ายเลย คนจีนเค้าเรียกว่าตอบสั้นแต่ตอบจริงต้องเขียนบรรยายและมีความยาวประมาณหนึ่งอีก 5 ข้อ และเขียนตอบยาวอีก 1 ข้อ ทั้งหมดนี้ให้เวลา 2 ชั่วโมง

งานร้องเพลงประสานเสียงในมหา’ลัย
งานร้องเพลงประสานเสียงในมหา’ลัย
มหา’ลัยซื้อป้ายโฆษณายินดีกับบัณฑิตที่รับปริญญา
มหา’ลัยซื้อป้ายโฆษณายินดีกับบัณฑิตที่รับปริญญา

ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเดียว
แต่มีกิจกรรมให้เข้าร่วมเยอะ

ที่นี่มีชมรมเยอะมากกให้เลือกเข้าได้ตามความสนใจ เราไปเข้าทั้งชมรมร้องเพลงประสานเสียง เต้น บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน และภาษาอังกฤษ ซึ่งในชมรมจะจัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และในมหาวิทยาลัยก็จะมีจัดการแข่งขันคล้ายๆ กีฬาสี พอถึงเวลาแต่ละคณะก็จะไปแข่งกัน

อย่างที่บอกว่าช่วงปีแรกเราเรียนแต่กับเพื่อนต่างชาติ ทำให้ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับคนจีนจริงๆ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมทำให้เราได้ใกล้ชิดกับเพื่อนคนจีนขึ้นเยอะ สนุกดี เพราะบางทีถึงจะเรียนในคลาสเดียวกับคนจีน เค้าก็ตั้งใจเรียนอย่างเดียวไม่ได้มาสนใจเรามากขนาดนั้น

แข่งบาสที่มหา'ลัย
แข่งบาสที่มหา'ลัย
จิตอาสาสภานักศึกษาต่างชาติ
จิตอาสาสภานักศึกษาต่างชาติ

โควิดพรากอะไรไปบ้าง?

"เราเป็นหนึ่งในนักเรียนไทยที่ได้รับผลกระทบเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ ใน #พาเด็กไทยกลับจีน เราเรียนที่จีนได้แค่ 1 ปี กับอีก 1 เทอมเท่านั้น แล้วก็ต้องเรียนอยู่บ้านที่ไทยเพราะว่าโควิดกำลังระบาดหนัก"

 

เทอมแรกที่เรียนออนไลน์เรายังไม่มีปัญหาอะไร ทางมหาวิทยาลัยจัดการได้ค่อนข้างดีเลย ม.ปิดให้ทุกคนเรียนออนไลน์แล้วอาจารย์ก็สอนจากที่บ้าน  และ ม.ก็มีสร้างกลุ่มแชตของแต่ละวิชาผ่าน WeChat Work นักศึกษาสามารถติดต่อพูดคุยกับอาจารย์ได้ วิธีการเรียนค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละวิชา มีทั้งเรียนผ่านทาง Zoom กับ Zomo อาจารย์อัปโหลดวิดีโอส่งให้ในกลุ่ม หรือเรียนผ่าน mooc ที่มีอยู่แล้ว อาจารย์ค่อนข้างใส่ใจเวลามีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้น ดูแลดีทุกอย่างราบรื่น เป็นที่ตัวเราเองที่ปรับตัวไม่ได้กับการต้องเรียนผ่านหน้าจอ

แต่พอจบปี 2 มหาวิทยาลัยเปิด เด็กจีนเริ่มกลับไปเรียนที่ห้องเรียน เหลือแค่เด็กต่างชาติเป็นกลุ่มน้อยๆ ที่ยังกลับจีนไม่ได้และต้องเรียนออนไลน์ต่อ เพราะถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยจะไม่สามารถเดินทางกลับได้โดยพลการ อีกเหตุผลนึงคือ Residence Permit ของเราเป็นแบบปีต่อปี ซึ่งตอนนี้หมดอายุไปแล้ว และรัฐบาลจีนยังไม่เปิดให้ทำวีซ่านักเรียน เลยยังไม่สามารถกลับไปได้ 

อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าเรามีทั้งวิชาที่เรียนแยกเฉพาะเด็กต่างชาติ กับวิชาที่เรียนร่วมกับเด็กจีน การเรียนออนไลน์ของวิชาที่เรียนกับเด็กต่างชาติเลยไม่มีปัญหาเพราะทุกคนเรียนผ่าน Zoom หรือ แพลตฟอร์มที่อาจารย์กำหนดเหมือนกันหมด แต่วิชาที่เรียนกับเด็กจีนจะค่อนข้างมีปัญหามากกว่า  เพราะอาจารย์กลับไปสอนในห้องแล้ว เด็กจีนกลับไปนั่งเรียนในห้องแล้ว ส่วนเด็กต่างชาติต้องดูไลฟ์สดผ่านหน้าจอ บางทีไลฟ์ค้างบ้าง เปิดไม่ได้บ้าง ก็ต้องคอยประสานกับฝ่าย IT ของม.ให้ช่วยแก้ปัญหาให้ แล้วมาดูวิดีโอย้อนหลังแทน ทำให้การเรียนของเด็กต่างชาติจะไม่ได้เรียนไปพร้อมกับเด็กจีน

 ช่วงหลังๆอาจารย์ก็มีแก้ปัญหาโดยการเอาคอมพิวเตอร์มาตั้งให้เด็กต่างชาติได้เห็นผ่าน Zoom หรือแพลตฟอร์มอื่นๆแทนการไลฟ์ เวลาส่งงานบางวิชาก็สามารถส่งผ่านอีเมลได้ แต่บางวิชาอาจารย์ขอให้ส่งเป็นรูปเล่ม ก็ได้เด็กจีนคอยช่วยปริ้นท์และนำส่งอาจารย์ให้ค่ะ 

เราเพิ่งจบปี 3 ไปหมาดๆ ซึ่งดูจากสถานการณ์ตอนนี้แล้วปี 4 เทอม 1 นี้เราคิดว่าก็คงต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่ไทยต่อ ความหวังตอนนี้คือได้กลับไปเรียนเทอมสุดท้ายที่จีนค่ะ ก็เสียดายอยู่เหมือนกันที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่จีนเหมือนที่ฝันไว้ตอนแรก

สรุป #พาเด็กไทยกลับจีน

........

เล่าเรื่องวัฒนธรรมกันบ้าง

เพราะว่าหัวใจอยู่บนกระเพาะ 
เมื่อท้องอิ่ม ใจเลยอุ่น :)

ตอนเรียนเรื่องวัฒนธรรม เราชอบที่เค้าพูดถึงวัฒนธรรมการรวมตัวกินข้าวในครอบครัวของคนจีน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่จับใจเราที่สุดแล้ว คนจีนเค้าให้ความสำคัญกับการกินข้าวเพราะเป็นช่วงเวลาที่จะได้พบปะ พูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน เป็นอีกรูปแบบของกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว พอเราเจอมากับตัวเองด้วยเลยยิ่งอิน ตอนที่เราไปแลกเปลี่ยนโฮสต์เราเค้าจะมีการรวมตัวญาติพี่น้องเพื่อกินข้าวร่วมกันในทุกอาทิตย์ อบอุ่นมากๆ

ส่วนอาหารมงคลในเทศกาลสำคัญที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของคนจีน คือ ปลา (เช่น หม้อไฟปลา) หรือจะเป็นเมนูไหนก็ได้ขอแค่มีปลาเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะคำว่าปลาในภาษาจีนคือ 鱼 (ยวู๋) ซึ่งพ้องเสียงกับประโยค 年年有余 (เหนียน เหนียน โหย่ว ยวู๋) ที่แปลว่า ‘เหลือกินเหลือใช้ทุกๆ ปี’

ว่าด้วย Culture Shock
ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะชิน

จริงๆ มีเรื่องที่ไม่เชิงรับไม่ได้ขนาดนั้น แต่เรียกว่าไม่ชินดีกว่า อย่างแรกคือคนจีนพูดเสียงดัง ถึงจะพอรู้มาอยู่แล้ว แต่พอเจอของจริงก็ยังคงตกใจคิดว่าเค้าทะเลาะกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เค้าพูดกันปกตินั่นแหละ เพียงแต่ธรรมชาติในการพูด + ภาษา ทำให้เราคิดว่าเค้ากำลังไม่พอใจ

อีกอย่างคือที่ไทยเวลาเราซื้อของกินร้อนๆ คนขายจะใส่ในถุงร้อนก่อนชั้นนึงแล้วถึงใส่หูหิ้วให้ใช่มั้ยล่ะ แต่ที่จีนเค้าเอาใส่ในถุงหูหิ้วไปเลยตรงๆ เราก็จะรู้สึกแปลกๆ หน่อย 555

ขนมใส่ถุงหูหิ้วมาตรงๆ
ขนมใส่ถุงหูหิ้วมาตรงๆ 

10 ข้อที่บอกว่านี่แหละ ‘เซี่ยงไฮ้’

1. เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่และเจริญมากที่สุดในจีน เป็นแหล่งรวมเศรษฐกิจและนักธุรกิจจากต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งค่อนข้างต่างจากเมืองหลวงแบบปักกิ่ง เราคิดว่า “ปักกิ่งเป็นเมืองวัฒนธรรม ในขณะที่เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองธุรกิจ”

2. ทันสมัย ใครกังวลว่าจีนจะเจอห้องน้ำไม่ดีไม่ต้องกลัว ห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะในเซี่ยงไฮ้เป็นแบบปัจจุบันหมดแล้ว ไม่มีคอห่านแบบโถรวมหรือว่าห้องน้ำแบบผนังครึ่งเดียวให้ต้องกังวลการปลดทุกข์

3. เป็นที่ที่รวมความทันสมัยและความเก่าแก่เข้าไว้ด้วยกัน ในเซี่ยงไฮ้เราสามารถเห็นตึกสูงอยู่ข้างวัดได้อย่างกลมกลืน และอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา

4. รถไฟฟ้าเหมือนใยแมงมุม เชื่อมต่อกันได้ทุกที่และราคาถูกมาก 3 หยวน (~15 บาท) แพงสุดที่เราเคยนั่งแบบไกลมากๆ ก็แค่ประมาณ 8 หยวน (~40บาท) แล้วแต่ละสถานีก็ก็ห่างจนรู้สึกจ่ายเงินแล้วคุ้มจริงๆ ต่างจากไทยที่แต่ละที่ไกลกันไม่มาก

5. รถเมล์มาตรงเวลา เราสามารถเช็กในแอปได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอนานๆ แล้วไม่ได้ขึ้น ส่วนราคาคือ 2 หยวน (~10บาท) ตลอดสาย

6. เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) คนจีนโดยเฉพาะที่เซี่ยงไฮ้ไม่พกเงินสด เค้าจ่ายเงินซื้อของโดยการสแกนผ่าน WeChat หรือ AliPlay บางที่ถ้าเราเอาเงินสดไปซื้อของเค้าอาจจะไม่รับด้วยนะ ทุกวันนี้เราหาเงินสดได้เฉพาะตลาดที่คนสูงอายุไปซื้อของเท่านั้น แต่ก็น้อยมากๆ แล้วในปัจจุบัน

7. คนที่นี่ชอบสั่งของออนไลน์มากเวอร์ ที่นี่จะมีเป็น "ตู้ฝากของ" ที่คนส่งของจะเอามาใส่รวมกันไว้ เราเห็นเต็มตลอด ไม่เคยมีช่วงไหนที่ว่าง บางทีเต็มจนต้องวางบนหลังตู้หรือกองพะเนินออกมาเต็มพื้น

หิมะฤดูหนาว ตกอยู่ 2-3 วัน
หิมะฤดูหนาว ตกอยู่ 2-3 วัน

8. ฤดูหนาวที่นี่คือหายนะ เพราะฝนตกแทนหิมะ! จริงๆ หิมะก็มีตกบ้างแต่ไม่เยอะ เพราะที่เหลือเป็นฝนซะมากกว่า พอฝนตกอากาศยิ่งหนาวเพราะความชื้น แล้วที่ทำให้ทรมานกว่าเดิมคือเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองทางตอนใต้ของจีน แล้วเค้าออกกฎหมายห้ามมีฮีตเตอร์ ทำให้พอถึงหน้าหนาวเราต้องเปิดแอร์แต่เพิ่มอุณหภูมิและห่มผ้าหนาๆ แทน ทรมานที่สุด

หอพัก
หอพัก

9. หน้าร้อนร้อนมากกกก ร้อนแบบทรมานกว่าตอนอยู่ไทย แทบไม่มีอากาศและทำเราหายใจไม่ออกเลย

10. อาหารที่เซี่ยงไฮ้มีหลากหลาย เราสามารถหาอาหารท้องถิ่นของทุกมณฑลได้ที่เมืองนี้เลย หรือถ้าอยากกินอาหารจากชาติไหนก็หาได้เหมือนกัน เพียงแต่จะค่อนข้างแพงเพราะค่าครองชีพสูง ถ้าถูกที่สุดที่หาได้ข้างนอกประมาณ 30 หยวน (~150 บาท) แต่ถ้ากินในมหาลัยก็ถูกจะกว่ามาก ราคาตก 10 หยวน  (~50 บาท)

อยากฝากอะไรถึงน้องๆ บ้าง 

อยากให้ทุกคนเปิดใจค่ะ เพราะสภาพสังคมที่จีนหรือคนจีนไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่ใครหลายๆ คนคิด ที่นี่ค่อนข้างสมัยใหม่ มีการพัฒนาและเปิดกว้างในหลายๆ ด้านแล้ว การมาเรียนที่นี่ยังทำให้เราได้พัฒนาทักษะหลายอย่าง ทั้งเรื่องของภาษาและการใช้ชีวิต แล้วมหา’ลัยเราเองก็มีนักศึกษาต่างชาติเยอะมาก ทำให้ได้พบเจอผู้คนหลากเชื้อชาติ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับความแตกต่าง 

นอกจากนี้เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อยากมาเรียนที่จีนหรือขอทุนรัฐบาลจีนนะคะ อยากให้ลองยื่นดูก่อน ไม่ต้องกลัวว่าจะได้หรือไม่ได้ทุน ถึงไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจ อย่างน้อยก็ได้ลอง ได้มีประสบการณ์ได้รู้กระบวนการการขอทุน ส่วนถ้าได้ทุนแล้วก็อยากให้ใช้ช่วงเวลานี้ให้คุ้มค่า เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่ น้องๆ ที่มีความฝันทุกคน สู้ๆ ค่ะ

......

โควิดนี่ทำลายโอกาส ความฝัน และวัยเยาว์ของใครหลายคนจริงๆ เลยนะคะ พี่ก็ได้แต่ภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้นเร็วๆ และหวังว่าหงส์จะได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศการเรียนเทอมสุดท้ายที่จีน รวมถึงน้องๆ ทุกคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ พี่เป็นกำลังใจให้ได้ทำตามฝันกันทุกคนน้า สู้ๆ ค่ะ 

พี่ออมสิน
พี่ออมสิน - Columnist Mirror mirror on the wall who is the fairest of them all : ME

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น