เคยรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินชื่อใครสักคนมั้ย? ทำความรู้จัก ‘Onomatophobia’ โรคกลัวการได้ยินชื่อ (+วิธีรับมือ)

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek D ทุกคน มีใครเคยเจออาการแบบนี้มั้ย เมื่อได้ยินชื่อของคนๆ นึง เราจะรู้สึกกลัวมากๆ จนควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือไปเจอคำๆ นึงมาแล้วมีอาการตัวสั่นหายใจไม่ออก ถ้าใครเคยเป็นแบบนี้ แสดงว่าอาจกำลังเป็นโรค ‘Onomatophobia’ หรือ ‘โรคกลัวการได้ยินชื่อหรือคำบางคำ’  อยู่ก็ได้นะ  

วันนี้ พี่แพรวแพรว จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร อาการเป็นอย่างไร แล้วมีวิธีรับมือกับโรคนี้อย่างไรได้บ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยย 

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

รู้สึกกลัวเมื่อได้ยินชื่อคนนั้น 

ชื่อโรค 'Onomatophobia' เกิดจากการผสมคำศัพท์ระหว่าง ‘onomato’ (แปลว่า ชื่อหรือคำ)+ ‘phobia’ (แปลว่า กลัว) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะวิตกกังวลมากเมื่อได้ยินคำหรือชื่อที่พวกเขากลัว  หรือถึงแค่จินตนาการว่าจะต้องได้ยินคำนั้น ก็ทำให้หวาดหวั่นและตื่นตระหนกได้แล้วค่ะ

ยกตัวอย่างเช่นหลายตัวละครในเรื่อง Harry Potter ที่กลัวมากเมื่อได้ยินชื่อของ ‘ลอร์ด โวลเดอมอร์’ ตัวร้ายในเรื่อง จนในที่สุดก็กลายเป็นชื่อต้องห้าม และพยายามเลี่ยงไปใช้คำอื่นอย่าง ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ แทน ซึ่งลักษณะนี้ก็นับเป็นหนึ่งในอาการของโรคนี้เช่นกันค่ะ

Photo Credit:  USA Today
Photo Credit:  USA Today

กลัวแบบไหนถึงจะเรียกว่า Onomatophobia

หลายๆ คนอาจสงสัยว่า แล้วต้องกลัวแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นโรคนี้ได้? จากข้อมูลของ DSM-V วินิจฉัยว่าคนที่เป็น Onomatophobia นั้นจะต้องมีอาการกลัวอย่างรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผล รู้สึกวิตกกังวลอย่างหนักเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือการเข้าสังคม ตัวอย่างเช่น

  • เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแพนิค อาจจะมือสั่นหรือเหงื่อออกเมื่อได้ยินคำบางคำจนไม่สามารถฟังบทสนทนาของครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียนได้ และหากเพื่อนๆ พากันมองเขาว่าแปลกแยก ไม่อยากเข้าใกล้ ก็จะส่งผลให้เขามีเพื่อนน้อยและเกรดตกในที่สุด
  • ผู้ใหญ่วัยทำงานบางคนอาจเจอคำชื่อหรือชื่อตัวเองกลัวแล้วเกิดอาการแพนิคขณะนำเสนองาน ส่งผลให้รู้สึกอับอาย  ความมั่นใจในการทำงานลดลง และในระยะยาวอาจสะสมจนเกิดอาการซึมเศร้าได้
  • ผู้ป่วยบางคนอาจพยายามหลีกเลี่ยงคำที่ตัวเองกลัว โดยการแยกตัวจากสังคมโดยสิ้นเชิง เอาแต่เก็บตัวในบ้าน

เช็กลิสต์อาการที่เข้าข่าย

  • วิตกกังวลเมื่อนึกถึงหรือได้ยินคำบางคำหรือบางชื่อ
  • ทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยินคำบางคำ
  • ไม่สามารถรับมือกับความวิตกกังวลได้
  • กล้ามเนื้อตึง ตัวสั่น และเหงื่อออก
  • หายใจไม่ออก อาเจียน ปวดท้อง

ปัจจัยที่นักจิตวิทยาสันนิษฐาน
(พันธุกรรมหรือบาดแผลทางใจในวัยเด็ก)

ถึงจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้  แต่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่คาดว่ามาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางพันธุกรรม

 ปัจจัยสภาพแวดล้อม 

มีโอกาสที่ประสบการณ์วัยเด็กจะส่งผลกระทบต่อจิตใจเราได้ค่ะ เช่น บางคนอาจเคยถูกครูตีหรือพ่อแม่ดุด่าเวลาอ่านเสียงคำบางคำผิดไป ดังนั้นเมื่อกลับมาเจอคำนั้นอีก ก็อาจไปกระตุ้นให้นึกถึงความทรงจำและความรู้สึกนั้น ทำให้เกิดอาการกลัวขึ้นมาอีกก็ได้ หรือถ้าเป็นกรณีกลัวชื่อคน อาจเป็นเพราะเคยถูกคนๆ นั้นทำร้ายร่างกายหรือจิตใจมาก่อน (เรียกว่าบาดแผลทางใจในวัยเด็กเป็นสาเหตุสำคัญเลยค่ะ)

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

ปัจจัยทางพันธุกรรม 

หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคกลัวหรือมีอาการวิตกกังวล จะมีโอกาสสูงที่เราจะเป็นโรคนี้ได้ด้วยค่ะ แต่ทั้งนี้ถ้าเราเจอคนในครอบครัวเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเสมอไปนะคะ มันต้องมีแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมด้วยถึงจะเป็นโรคนี้ได้ค่ะ 

วิธีการรับมือ

หากเป็นโรคนี้แล้วอย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ เพราะมีวิธีรักษาให้หายได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับบุคคล ยกตัวอย่างเช่น 

  • Exposure Therapy หรือ การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยนักบำบัดจะค่อยๆ ให้ผู้ป่วยได้ยินคำพูดที่พวกเขากลัวไปเรื่อยๆ (ค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา) เพื่อให้รู้สึกเคยชินกับคำๆ นั้นและกล้าเผชิญหน้ากับมันมากขึ้น ค่อยๆ เอาชนะความกลัวนั่นเองค่ะ
  • การลดคาเฟอีน การดื่มคาเฟอีนปริมาณมากตลอดทั้งวันทำให้วิตกกังวลมากขึ้น หัวใจของเราจะเริ่มเต้นเร็วขึ้นและจะเครียดมากขึ้น ดังนั้น ควรลดคาเฟอีนลงหรือไม่กินเลยตลอดทั้งวันช่วยลดความวิตกกังวลได้มากเลยค่ะ
  • การทำสมาธิ วิธีนี้ช่วยคนที่เป็นโรคกลัวต่างๆ ได้มาก เพราะจะช่วยให้คนหันเหความสนใจจากความกลัวไปสนใจที่สิ่งอื่นมากกว่า เช่น การจดจ่อกับลมหายใจ จดจ่อกับเสียงรอบๆ ตัว เป็นต้น
  • การออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ สามารถช่วยบรรเทาความเครียดและลดอาการวิตกกังวลได้มากเลยค่ะ

เรียกได้ว่าประสบการณ์ในวัยเด็กส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราได้มากกว่าที่คิด หากใครรู้สึกตัวเองมีอาการและประสบการณ์ที่สอดคล้องกับที่พี่เล่าไปข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อให้เขาวินิจฉัยและรักษาวิธีที่ถูกต้อง เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหวาดระแวงค่ะ

 

Source&Photo Credit https://psychtimes.com/onomatophobia-fear-of-hearing-a-certain-word-or-of-namhttps://optimistminds.com/onomatophobia/https://unsplash.com/photos/w3sAsX4G8G8https://ms.newlifeoutlook.com/videos/things-ms-patients-dont-want-hear-video/https://www.usatoday.com/story/money/personalfinance/2017/08/03/how-living-like-lord-voldemort-can-save-you-money/527832001/

 

พี่แพรวแพรว
พี่แพรวแพรว - Columnist มนุษย์ฝึกงาน ผู้หลงรักศิลปินเกาหลี ซีรีส์ และการนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น