Spoil

  • ถ้าเอากล้องจุลทรรศน์ส่อง จะเห็นว่าพื้นผิวกระดาษไม่เรียบ แต่ขรุขระเป็นฟันปลา
  • แผลกระดาษบาดจึงไม่สวยเหมือนมีดบาด แต่เป็นแผลเหวอะๆ เหมือนถูกคมเลื่อยเฉือน
  • จิตใจเราก็จะสั่งการให้เซ็งมากเป็นพิเศษเมื่อถูกกระดาษบาด เพราะรู้สึกเหมือนพ่ายแพ้ให้กับอะไรที่ดูไม่มีพิษสง

น้องๆ ชาว Dek-D เคยร้อง “โอ๊ย!” เพราะอะไรกันบ้าง? บางคนอาจจะเพราะหกล้ม เพราะหัวโขกเสา เพราะนิ้วก้อยเตะขาโต๊ะ หรือเพราะมีดบาด แต่เชื่อพี่กวางสิว่าหลายคนเลยแหละ ที่ต้องเคยร้อง “โอ๊ย!!!” ออกมาดังๆ เพราะ กระดาษบาด

สำหรับใครที่เคยถูกกระดาษบาด น่าจะมีคำถามในใจว่าไอ้กระดาษแผ่นบางๆ นี่ ที่ขยำแล้วปาหัวเพื่อนยังไม่เจ็บ ม้วนใหญ่ๆ แล้วไล่ตีเพื่อนก็ยังไม่เจ็บ แต่เผลอโดนนิ้วเรานิดเดียว บาดซะแสบไปทั้งนิ้วเลยได้ยังไง วันนี้พี่กวางมีคำอธิบายให้ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วค่ะ

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

ก่อนอื่นต้องคิดภาพตามก่อนว่า ส่วนใหญ่กระดาษจะบาดเราในจังหวะที่เปิดหนังสือ หรือพลิกหน้ากระดาษโดยไม่ตั้งใจ แผลกระดาษบาดส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ ปลายนิ้ว ซึ่งเป็นจุดที่เรามีตัวรับรู้ความเจ็บปวด (pain receptors) มากที่สุดจุดหนึ่งในร่างกาย สังเกตได้จากเวลาแตะของร้อน นิ้วเราจะความรู้สึกไวมาก

Hayley Goldbach แพทย์ผิวหนังจาก University of California ได้บอกกับ BBC ว่า ปลายนิ้วคืออวัยวะที่พาเราไปท่องโลกกว้าง เพราะเราใช้ปลายนิ้วทำสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้ปลายนิ้วของเราเต็มไปด้วยกลไกรักษาความปลอดภัย หรือปลายประสาทที่เรียกว่า Nociceptors คอยทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนไปยังสมองเมื่อรู้สึกถึงอันตรายต่างๆ เช่น เจอกับความร้อน โดนสารเคมี หรือมีอะไรก็ตามเข้ามาทำลายผิวหนัง

นอกจากปลายนิ้วของเราจะไวต่อความรู้สึกมากแล้ว กระดาษก็ร้ายไม่แพ้กัน แม้จะมองด้วยตาเปล่าเห็นว่าผิวเรียบลื่น แต่ถ้าใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องจะเห็นว่าจริงๆ ผิวของกระดาษนั้นหยาบและขรุขระเป็นฟันปลา ทำให้เมื่อปาดลงบนนิ้ว จึงไม่ใช่บาดแผลเรียบๆ เหมือนเวลามีดบาด แต่เป็นแผลที่หยาบเหมือนถูกคมเลื่อยเฉือน แล้วยังทิ้งอนุภาคเล็กๆ ของสารเคมีไว้ในแผลด้วย ที่สำคัญ แผลกระดาษบาดมักเป็นแผลตื้นๆ เลือดไม่เยอะ และไม่ลึกพอจะไปกระตุ้นกลไกป้องกันร่างกาย (Mechanism of body defense) ทำให้เซลส์ประสาทและเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายยังคงเปิดอ้า เราจึงเจ็บทุกครั้งที่ใช้มือ เพราะเป็นการรบกวนปากแผลและเส้นประสาทนั่นเอง

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

สุดท้ายก็คือเรื่องของ ความรู้สึก (psychology) นั่นเองค่ะ เพราะมือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่เราต้องใช้งานทั้งวัน เราจึงอดให้ความสนใจมันเป็นพิเศษไม่ได้ และด้วยหน้าตาอันไร้พิษสงของกระดาษก็ยิ่งทำให้เราหงุดหงิดว่าพลาดโดนมันบาดได้ยังไงเนี่ย ความเจ็บจากกระดาษบาดเลยทวีคูณเป็นทั้งความเจ็บกายและเจ็บใจด้วยนั่นเอง

ทีนี้กระดาษบาดครั้งต่อไป เราก็ไม่ต้องสงสัยแล้วนะว่าทำไมมันเจ็บจัง แต่จะให้ดีหยิบจับอะไรอย่างมีสติและระมัดระวังดีกว่าค่ะ ร่างกายจะได้ไม่บาดเจ็บ และเราก็จะไม่ต้องมาหงุดหงิดเจ็บใจตัวเองด้วย

น้องๆ ชาว Dek-D ใครเคยถูกกระดาษบาดบ้าง มาแชร์ความเจ็บกันได้ใต้คอมเมนต์เลย

 

ที่มาhttps://www.sciencealert.com/https://www.youtube.com/https://www.reddit.com/
พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด