ทำไมยาคุมกำเนิดป้องกันการท้องได้ ยาคุมแบบฝัง ฉีด กิน เหมือนกันไหม?

Spoil

  • ยาคุมกำเนิด เป็นการป้องกันการปฏิสนธิระหว่างไข่ของเพศหญิงและอสุจิของเพศชาย
  • ยาคุมกำเนิดเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เมื่อเลิกใช้ยาคุมกำเนิดแล้วสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ใหม่
  • ยาคุมกำเนิดที่นิยมกันมีทั้งแบบ กิน ฉีด และฝัง แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสีย และประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่างกัน
  • การใช้ยาคุมกำเนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ทำไมยาคุมกำเนิดป้องกันการท้องได้ ยาคุมแบบฝัง ฉีด กิน เหมือนกันไหม?

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com เชื่อไหมว่าเรื่องยาคุมกำเนิดนี่พี่หมอพูดกี่ครั้งก็ยังมีน้องๆ มาถามเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าน้องๆ ไม่เข้าใจกันสักทีหรือว่าอะไรนะคะ แต่พี่หมอกำลังดีใจว่า การที่น้องๆ มาถามแปลว่าน้องๆ กำลังหาความรู้เรื่องการคุมกำเนิด ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองด้วยการเลืิอกวิธีที่ดีและเหมาะสม นั่นทำให้พี่หมอไม่เคยเบื่อจะตอบเลยล่ะ เพราะงั้น ถ้าน้องๆ สงสัยเรื่องอะไร อยากให้ถามเข้ามาเยอะๆ ค่ะ จะได้สมกับเป็นคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง :) 

เอาล่ะเข้าเรื่อง คำถามวันนี้เป็นเรื่องยาคุมกำเนิด มันทำหน้าที่ยังไงนะ แล้วยาคุมกำเนิดแต่ละแบบเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  แน่นอนว่ายาคุมกำเนิดไม่ได้มีแบบกินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีแบบฉีด และแบบฝัง ที่นิยมใช้กันอีกด้วย เรามารู้จักยาคุมกำเนิดแต่ละแบบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

"ยาคุมกำเนิด" เป็นการป้องกันการปฏิสนธิระหว่างไข่ของเพศหญิงและอสุจิของเพศชาย ซึ่งเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เมื่อเลิกใช้ยาคุมกำเนิดแล้วสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ใหม่ วิธีที่นิยมกันมากได้แก่ กิน ฉีด ฝัง โดยพี่หมอจะขอพูดเรียงในแต่ละวิธีเลยนะคะ

ยาคุมกำเนิดชนิดกิน  

มีทั้งแบบยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptives) เรียกย่อๆ ว่า COC ที่ใช้คำว่ารวมเนื่องจากในยา 1 เม็ด จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสติน (progestin) ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (Progestin-only pill)  เรียกย่อๆ ว่า POP ซึ่งกลไกการป้องกันการตั้งครรภ์นั้นเป็นผลจากฮอร์โมนทั้งสองตัวมี 3 กลไกด้วยกัน คือ

1. เอสโตรเจนช่วยยับยั้งฮอร์โมน FSH และโปรเจสตินช่วยยับยั้งฮอร์โมน LH ทั้งสองฮอร์โมนนี้ยังสามารถยับยั้งฮอร์โมน GnRH ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้าง FSH และ LH ด้วยค่ะ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อไม่มีฮอร์โมน FSH และ LH แล้วก็จะทำให้ไม่เกิดการตกไข่ขึ้นค่ะ ไม่มีไข่แล้วอสุจิก็ไม่มีที่ไปนั่นเอง

2. ฮอร์โมนโปรเจสตินจะทำหน้าที่หลักให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อและบาง จนไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นถึงจะปฏิสนธิแล้วก็ไปฝังไม่ได้อยู่ดี การตั้งครรภ์ก็ไม่เกิดขึ้นค่ะ นอกจากนี้แล้วฮอร์โมนโปรเจสตินยังทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว ต่อให้อสุจิของผู้ชายจะแข็งแกร่งแค่ไหน ก็ยากที่จะผ่านเข้าไปได้ค่ะ!

3. ฮอร์โมนโปรเจสตินมีผลทำให้ไข่เคลื่อนที่บริเวณท่อนำไข่ได้ช้าลง ดังนั้นอสุจิก็ผ่านไม่ได้ ไข่ก็ยังไม่มา ไข่และอสุจิก็เลยไม่เจอกันนั่นเอง

ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดกินแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันค่ะ พี่หมอจะสรุปให้น้องๆ อ่านง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (COC)

ข้อดี อัตราล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์เพียง 0.3 % จากการใช้ยาแบบสมบูรณ์ ช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนและ ลดอาการปวดประจำเดือนได้

ข้อเสีย เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ เจ็บเต้านม  น้ำหนักขึ้น เกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้ เลือดออกกระปริดกระปรอย

ข้อห้าม   ไม่ควรใช้ในบุคคลต่อไปนี้

  • มีประวัติเสี่ยงเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
  • การทำงานของตับบกพร่อง
  • สงสัยเป็นมะเร็งเต้านม
  • สงสัยการตั้งครรภ์
  • อายุมากกว่า 35 ปี และสูบบุหรี่

ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (POP)

ข้อดี  ผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดฮอร์โมนรวม

ข้อเสีย   ประสิทธิภาพด้อยกว่าฮอร์โมนรวม อัตราการตั้งครรภ์จากการใช้แบบสมบูรณ์ 0.5%

ข้อห้าม  ไม่ควรใช้ในบุคคลต่อไปนี้

  • สตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่
  • แพ้ยา
  • ตั้งครรภ์

*การกินยาคุมกำเนิด สามารถซื้อกินเองได้ แต่ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก!)

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด

ส่วนยาคุมแบบฉีดประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียวค่ะ ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ DMPA, NET-EN (ฉีดทุก 3 เดือน) และ Once a month injectable (ฉีดทุกเดือน) โดยตัวที่นิยมฉีดคือ DMPA นั่นเองค่ะ  ซึ่งกลไกการป้องกันการตั้งครรภ์นั้นจะคล้ายกับยากินค่ะ แต่เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนผสมทำให้การยับยั้ง FSH ไม่ดีเท่ายากินแบบฮอร์โมนรวมค่ะ 

ข้อดีของยาฉีดคือประสิทธิภาพการคุมกำเนิดเทียบเท่าการทำหมันได้เลย มีอัตราการล้มเหลวที่น้อยมากหากฉีดถูกวิธี  ผลข้างเคียงจากการฉีดยาคุมที่พบบ่อย ได้แก่ เลือดออกประปริบกระปรอย ประจำเดือนมาผิดปกติหรือขาดประจำเดือนไปเลย 

การฉีดยาคุมกำเนิดมักจะใช้กับคนที่มีข้อห้ามในการใช้ยากินค่ะ ดังนั้นหากน้องๆ สุขภาพดีคุณหมอก็จะเลือกยากินหรือแบบฝังให้ก่อนเป็นอันดับต้นๆ ค่ะ 

**การฉีดยาคุมกำเนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์  และควรรับบริการที่สถานพยาบาลเท่านั้น

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

วิธีนี้เป็นการฝังหลอดยาที่บรรจุฮอร์โมนไว้ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน ซึ่งจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินออกมา กลไกป้องกันการตั้งครรภ์เหมือนกับยาฉีดเลยค่ะ แต่ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดนั้นเหนือกว่าการกินและการฉีดมากค่ะ 

การฝังเพียง 1 ครั้ง สามารถคุมกำเนิดได้นานตามชนิดของยาเลยค่ะ บางชนิดคุมได้ 6 เดือน บางชนิดคุมได้ถึง 5-7 ปีเลยทีเดียว โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยเหมือนกับยาฉีดเลยค่ะ เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ เลือดออกกระปริบกะปรอย เจ็บคัดตึงเต้านม น้ำนมไหล เป็นต้น 

ข้อห้ามสำหรับบางคนที่ไม่สามารถใช้วิธีการฝังได้นะคะ เช่น คนที่เป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน โรคตับ เลือดออกในช่องคลอดที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและผู้ที่สงสัยการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งตับ สำหรับใครที่ชอบลืมกินยาหรือขี้เกียจกินยาพี่หมอว่าวิธีนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยนะคะ ซึ่งปัจจุบันสามารถขอรับบริการได้ฟรีที่โรงพยาบาลเลยค่ะ 

***การฝังยาคุมกำเนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ โดยน้องๆ ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี สามารถขอรับบริการได้ฟรีที่โรงพยาบาล (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก!)

สรุปคือ หากน้องๆ ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ยาคุมกำเนิดล่ะก็ลองศึกษายาคุมกำเนิดแต่ละแบบให้ดีค่ะ ถ้าเอาแบบง่ายๆ คือกินยา ใครกลัวลืมกินยาก็ใช้แบบฉีด ใครขี้เกียจไปฉีดบ่อยๆ อยากใช้การคุมระยะยาวก็เลือกแบบฝัง ง่ายๆ แค่นี้เอง โดยแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียและประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่างกันตามที่พี่หมอบอกไปค่ะ 

ส่วนใหญ่แล้วสาวๆ มักจะเลือกวิธีการกินยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากง่ายและสามารถหยุดกินหรือเริ่มกินใหม่ได้ทันที แต่ความที่ยาคุมกำเนิดแบบกินมีมากมายหลายยี่ห้อ น้องๆ ควรศึกษาให้ดีค่ะ และอย่าหลงเชื่อยาคุมกำเนิดที่อวดอ้างว่ากินแล้วผิวพรรณดี หรือซื้อยาจากแหล่งจำหน่ายที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ อาจไม่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดพอ รวมถึงอาจแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ที่สำคัญคือควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาค่ะ 

สุดท้่ายนี้ ใครยังไม่หายสงสัย ก็ถามกันเข้ามาเพิ่มเติมได้ค่ะ ใครที่ใช้ยาคุมกำเนิดอยู่อยากมาแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆ น้องๆ ฟังก็มาบอกเล่ากันได้นะคะ พี่หมอขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ 

 
พี่หมอเลิฟ
พี่หมอเลิฟ - Columnist พี่หมอใจดี ประจำคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
Parawareee Member 26 มิ.ย. 65 03:30 น. 3

อยากสอบถามอ่ะค่ะ คือเราฝังยาคุมอยู่ แล้วมีภาวะเรื่องอารมณ์อ่ะค่ะ ท้อแท้กับชีวิตแต่ยังไม่ถึงขั้นสุด เรารู้สึกว่าเบื่อกับชีวิตมากๆเลยค่ะ หรือบางทีเจอเรื่องที่ค่อนข้างเซนซิทีฟมากๆเราเคยมีความคิดอยากตายก็มี แต่แค่คิดอ่ะค่ะ ไม่กล้าลงมือทำเหมือนว่ายังรู้สึกว่าถ้าเราเป็นไรไปหลังจากนี้มันจะเกิดไรขึ้น เราไม่อยากให้คนข้างหลังต้องเดือดร้อนหรือรู้สึกผิด เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับยามั้ยคะ ส่วนตัวคือจะไปพบจิตแพทย์แต่ไม่อยากเอาแท่งยาออกอ่ะค่ะ เราอยากเซฟตัวเองมากๆ อีกเรื่องคือคนที่ฝังยาคุมแล้วตั้งครรภ์เกิดจากอะไรคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด