Spoil

  • รสนิยมทางเพศ (sex orientation)  หมายถึง ความรู้สึกทางอารมณ์หรือความสนใจทางเพศต่อบุคคลหนึ่ง
  • อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)  หมายถึง ความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิดก็ได้
  • ทางการแพทย์ มีภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่ง เรียกว่า  Gender dysphoria เป็นการไม่พอใจในเพศกำเนิดของตนเอง ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นผลกระทบมาจากสภาพแวดล้อม สภาพสังคม เป็นต้น

สับสนว่าตัวเองเป็นเพศอะไร จะรู้ตัวเองได้ยังไง มีวิธีสังเกตไหม?

                “พี่ครับ ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นเพศไหน กังวลมากเลย ทำไงดีครับ”

                “พี่คะ บางทีหนูก็ชอบผู้ชาย แต่ก็รู้สึกดีกับผู้หญิงด้วย สับสนไปหมดเลยค่ะ มีวิธีสังเกตตัวเองมั้ยคะพี่”

                คอลัมน์ Sex Education by Dek-D วันนี้เป็นคิวของคำถามยอดฮิตของวัยรุ่นปี 2021 ที่ถามพี่หมอเข้ามากันอย่างล้นหลาม การที่เราจะมีอาการสับสนทางเพศได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรอกค่ะ หลายๆ คนอาจจะมีรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง เช่น สภาพแวดล้อม สังคม หรือคนรอบตัว ล้วนทำให้รสนิยมทางเพศของคนเราไม่เหมือนกัน  ซึ่งวันนี้พี่หมออยากจะช่วยให้น้องๆ ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมถึงเข้าใจถึงรสนิยมทางเพศอื่นๆ ด้วย ถ้าอยากรู้แล้วตามพี่หมอมาเลย

               รสนิยมทางเพศ vs อัตลักษณ์ทางเพศ        

          ก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจกับตัวเอง พี่หมออยากให้น้องๆ ได้เข้าใจความหมายของคำศัพท์กันก่อน ดังนี้ค่ะ 

รสนิยมทางเพศ (sex orientation) 

หมายถึง ความรู้สึกทางอารมณ์หรือความสนใจทางเพศต่อบุคคลหนึ่ง ถ้าบุคคลนั้นเป็นเพศเดียวกัน เรียกว่า homosexuality ถ้าบุคคลนั้นเป็นเพศตรงข้าม เรียกว่า heterosexuality  หรือมีความสนใจทั้งสองเพศเรียกว่า bisexuality หรือบางคนไม่มีความสนใจทางเพศเลยก็มีค่ะ เรียกว่า asexuality 

อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) 

หมายถึง ความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิดก็ได้ เช่น เด็กผู้ชายแต่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เป็นต้น

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

เข้าใจความหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจตนเอง

                สำหรับใครที่ยังสับสนเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเองอยู่ วันนี้พี่หมอมีแบบทดสอบทางจิตวิทยาเป็นมาตรวัดการตอบสนองทางกามอารมณ์และรสนิยมทางเพศ (EROS) ถูกพัฒนาขึ้นโดย นักจิตวิทยาไมเคิล สตอร์ม ซึ่งแบบทดสอบนี้จะช่วยให้น้องๆ ได้เข้าใจรสนิยมทางเพศของตัวเองมากขึ้น         ลองทำกันดูนะคะ

ทำแบบทดสอบ

             อาการสับสนทางเพศเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่

                พี่หมอขอบอกตรงนี้เลยว่า ถ้าน้องไม่ได้รู้สึกทุกข์ทรมานกับเพศกำเนิดของตนเอง ก็ไม่ถือว่าผิดว่าปกติค่ะ แต่ถ้าน้องๆ รู้สึกว่า ไม่อยากมีร่างกายแบบเพศกำเนิดของตนเอง ในทางการแพทย์มีภาวะหนึ่งที่พี่หมออยากให้น้องๆ รู้จัก คือ Gender dysphoria  ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นผลมาจากความกดดันจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว หรือในสังคม  การไม่ได้รับการยอมรับ หรือความสับสนไม่แน่ใจในรสนิยมทางเพศตนเอง เป็นต้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต โดยการจะระบุว่ามีภาวะนี้หรือไม่ ต้องพบจิตแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพจิตค่ะ  ซึ่งในปัจจุบันสังคมเราเปิดกว้างมากขึ้น สภาพแวดล้อมของความหลากหลายทางเพศก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และในอนาคตเราอาจไม่พบภาวะนี้แล้วก็ได้นะคะ 

หากใครกังวลใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวตน ไม่ต้องตกใจหรือกังวลนะคะ  เดี๋ยวพอเราเริ่มโตขึ้น ได้พบปะเพื่อนหลากหลายเพศมากขึ้น เราก็จะค่อยๆ เข้าใจตนเอง โดยค่อยๆ เริ่มจากการเรียนรู้ว่าตนเองชอบ หรือไม่ชอบอะไรค่ะ  

ทั้งนี้ พี่หมอขออธิบายเรื่องของ ภาวะไม่พอใจในเพศกำเนิดของตนเอง              (Gender dysphoria) ในทางการแพทย์เพิ่มเติมเล็กน้อยค่ะ เนื่องจากว่าทางการแพทย์จำเป็นต้องระบุอาการ หรือภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาหรือบำบัดอาการค่ะ 

อย่างเช่น Gender dysphoria เป็นภาวะทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีความไม่พอใจในเพศกำเนิดของตนเอง คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองเป็นอีกเพศหนึ่งที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน  และผู้ป่วยจะรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ  ซึ่งผู้ที่มีภาวะ Gender dysphoria มักมีพฤติกรรมแสดงเพศ (gender role) เป็นแบบเดียวกับจิตใจที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเพศใด เช่น ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ก็จะแต่งตัวเป็นผู้หญิง หรือมีความต้องการผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิง กรณีนี้หากทางการแพทย์ระบุได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้จริง ก็สมเหตุสมผลที่จะให้มีการแปลงเพศได้  เป็นต้นค่ะ  ซึ่งก็จะมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกหรือระบุรสนิยมทางเพศ หรือภาวะต่างๆ อยู่หลายคำ เช่น  

ภาวะที่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช ตัวอย่างเช่น

 

1. ภาวะ Gender dysphoria เช่น

  • รู้สึกว่าตนเองเป็นอีกเพศหนึ่งที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิด
  • มีพฤติกรรมแสดงเพศ เป็นแบบเดียวกับจิตใจที่รู้สึก
  • ผู้ชายที่เป็น homosexuality และมีความต้องการที่จะเป็นเพศหญิง

2. ภาวะ Ego dystonic homosexuality เช่น

  • ผู้ชายที่เป็น homosexuality และรู้สึกว่าไม่พอใจในสิ่งที่เป็นหรือไม่อยากเป็น

ภาวะที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช ตัวอย่่างเช่น

1. ภาวะ Ego syntonic เช่น

  • ผู้ชายที่เป็น homosexuality และมีความพึงพอใจในสิ่งที่เป็น

2.  ภาวะ Non-conformity to gender role  เช่น

  • ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ได้แต่งตลอดในชีวิตประจำวัน และไม่ได้มีความต้องการที่จะเป็นเพศหญิง เป็นการมีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้ามชั่วคราวเท่านั้น

อย่างที่พี่หมอบอกไปนะคะว่า ทุกวันนี้สังคมเราเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น การเหยียดเพศหรือไม่ยอมรับกันก็ลดลง แต่ก็ยังมีบางคนที่ต้องประสบภาวะทางจิตเวชด้วยสภาพแวดล้อม  สังคม คนรอบตัว เป็นต้น ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สำหรับใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าตนเองจะมีภาวะ gender dysphoria รึเปล่า? พี่หมอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อช่วยวางแผนแก้ไขปัญหาให้ค่ะ  จะได้อยู่อย่างมีความสุขกับชีวิตที่เราเลือกเองได้ :) 

สำหรับวันนี้พี่หมอต้องขอตัวก่อน แล้วอย่าลืมติดตาม คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตอนต่อไปนะคะ

 

แหล่งที่มาhttps://www.idrlabs.com/th/sexual-orientation/test.phphttps://www.psychologytoday.com/us/basics/homosexualityhttps://smarterlifebypsychology.com/2019/09/16/ความหลากหลายทางเพศในสั/https://meded.psu.ac.th/binla/class02/B9_311_281/Sexual_disorders/index2.htmlภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ครั้งที่ 4 . กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2558
พี่หมอเลิฟ
พี่หมอเลิฟ - Columnist พี่หมอใจดี ประจำคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น