ผู้หญิงเมนส์มาใกล้ๆ กัน เป็นเพราะฟีโรโมนจริงไหม?

Spoil

  • ฟีโรโมน  คือ สารเคมีที่ปล่อยออกจากสิ่งมีชีวิต มีผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นชนิด (สปีชีส์) เดียวกัน
  • ฟีโรโมนมนุษย์มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนจิตใต้สำนึกซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ของมนุษย์
  • ผลการศึกษาพบว่า ฟีโรโมน ไม่ได้ส่งผลต่อรอบเดือนของกันและกัน

ผู้หญิงเมนส์มาใกล้ๆ กัน เป็นเพราะฟีโรโมนจริงไหมคะ?

             สวัสดีจ้าน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน วันนี้มาเจอพี่หมอเลิฟแห่ง Sex Education by Dek-D กันอีกแล้ววว น้องๆ เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า “ทำไมรูมเมท เพื่อนร่วมห้องผู้หญิงที่ใกล้ชิดกัน มักมีประจำเดือนมาพร้อมกัน หรือไล่เลี่ยกัน เป็นเพราะฟีโรโมนจริงหรือไม่”  วันนี้พี่หมอจะเล่าให้ฟัง เรามาหาคำตอบไปด้วยกันนะคะ

ฟีโรโมน คืออะไร?

               ฟีโรโมน (Pheromone) คือ สารเคมีที่ปล่อยออกจากสิ่งมีชีวิต มีผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็นชนิด (สปีชีส์) เดียวกัน เช่น ฟีโรโมนที่มดหลั่งออกมามีผลกับมดด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อมนุษย์ ซึ่งฟีโรโมนนั้นมีหลายชนิด เช่น ฟีโรโมนเพศ ฟีโรโมนเตือนภัย ฟีโรโมนตามรอยอาหาร เป็นต้น โดยปกติแล้ว สัตว์ต่างๆ จะสามารถรับฟีโรโมนได้ 3 ทางด้วยกัน ได้แก่ การดมกลิ่น การกิน และการดูดซึม 

ส่วนฟีโรโมนของคนมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมน Dhea ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมหมวกไต เป็นต่อมเล็กๆ ที่อยู่เหนือไตทั้งสองข้าง แต่โครงสร้างไม่ได้เหมือนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์นะคะ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฟีโรโมนมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนจิตใต้สำนึกซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ของมนุษย์

เมื่อเรารู้จักฟีโรโมนแล้ว พี่หมอจะพาน้องๆ ไปหาคำตอบว่า ฟีโรโมนเกี่ยวกับกับประจำเดือนหรือไม่ แต่ก่อนจะไปหาคำตอบ พี่หมอขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับประจำเดือนหรือที่เราชอบเรียกกันสั้นๆ ว่าเมนส์ให้มากขึ้นก่อนนะคะ

เมนส์ คืออะไร?

เมนส์ หรือประจำเดือน คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสัมพันธ์กับการตกไข่  โดยการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดประมาณเดือนละครั้ง ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า ประจำเดือน

รอบเดือนปกตินั้นจะมีเวลาประมาณ 28 วัน โดยช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ และประมาณกึ่งกลางรอบเดือน (ประมาณวันที่14ของรอบเดือน) จะมีการตกไข่จากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ แต่หากรอบเดือนนั้นไม่มีการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ซึ่งถูกสร้างมากขึ้นหลังตกไข่จะลดระดับลง ส่งผลให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก (ประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือน) กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าประจำเดือน

มาจนถึงจุดนี้ น้องๆ คงสังเกตแล้วว่า การมีประจำเดือนนั้นขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศหญิงเฉพาะแต่ละบุคคล เพราะ นั้นพี่หมอขอย้ำอีกทีว่าฟีโรโมนกับฮอร์โมนไม่เหมือนกันนะคะ

(ภาพจาก unsplash.com)
(ภาพจาก unsplash.com)

 ฟีโรโมน ส่งผลต่อรอบเดือน จริงไหม?

มีหลักฐานรองรับมากมายว่า ฟีโรโมนมีอิทธิพลต่อระดับฮอร์โมนของสัตว์และแมลง แต่สำหรับมนุษย์แล้วนั้น ยังไม่มีงานวิจัยใดที่รองรับทฤษฎีนี้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ปี 1971  ที่พยายามหาคำตอบในทฤษฎีที่ว่า ฟีโรโมนมีอิธิพลและสามารถปรับรอบเดือนของผู้หญิงที่อยู่ร่วมกัน ได้หรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ฟีโรโมน ไม่ได้ส่งผลต่อรอบเดือนของกันและกัน  นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ฟีโรโมนนั้น เป็นสารเคมีที่หลั่งออกมาตามรักแร้ ต่อมเหงื่อของมนุษย์ ซึ่งในชีวิตประจำวันเราย่อมชำระล้างร่างกายอยู่เป็นประจำ ฟีโรโมนจึงไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลขนาดนั้น

ในเรื่องของประจำเดือนของเพื่อนสาวที่มาใกล้ๆ กัน จึงคาดว่าไม่น่าใช่ผลจากฟีโรโมน แต่มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากรอบเดือนที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้หญิงทุกคนจะต้องมีการตกไข่ทุกๆ เดือนอยู่แล้ว การมีประจำเดือนเวลาไล่เลี่ยกันจึงเกิดขึ้นได้เป็นปกติ

ดังนั้น น้องๆ ชาวเด็กดีลองสังเกตดูสิคะว่า ในระเวลา 1 ปี หากเรามีเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน เราจะพบว่าเราอาจจะมีรอบเดือนตรงกันกับเพื่อนได้หลายครั้งเลย ยิ่งน้องๆ มีเพื่อนในกลุ่มหลายคน โอกาสที่จะมีรอบเดือนใกล้เคียงกับเพื่อนๆ ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

สรุปคือ การที่ประจำเดือนของเพื่อนสาวมาใกล้ๆ กันนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากรอบเดือนที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคล ซึ่งผู้หญิงทุกคนจะต้องมีการตกไข่ทุกๆ เดือน  การมีประจำเดือนเวลาไล่เลี่ยกันจึงเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับฟีโรโมน

เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ หวังว่าความรู้ที่พี่หมอนำมาฝากวันนี้จะช่วยคลายข้อสงสัยของน้องๆ กันได้นะคะ วันนี้พี่หมอต้องขอตัวก่อนนะคะ น้องๆ คนไหนมีข้อสงสัยสามารถฝากคำถามไว้ที่คอมเมนต์ได้เลยนะคะ   แล้วอย่าลืมติดตาม คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตอนต่อไปนะคะ

 

ที่มา
https://www.naboncity.go.th/datacenter/doc_download/a_051017_103433.pdf
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK200980/https://health.clevelandclinic.org/myth-truth-period-really-sync-close-friends/

 

พี่หมอเลิฟ
พี่หมอเลิฟ - Columnist พี่หมอใจดี ประจำคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น