How to ทิ้ง: ส่องโมเดลปังๆ จาก 4 ประเทศ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการจัดการขยะ!

สวัสดีครับ ชาว Dek-D ทุกคนนนน รู้หรือไม่? ประเทศที่ติดอันดับน่าอยู่ส่วนใหญ่นั้นมาจากภาครัฐที่มีนโยบายการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ และฝั่งประชาชนเองก็ร่วมมือกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำให้เมืองสะอาดจนคนที่มาเยี่ยมเยือนต่างต้องยกนิ้วให้  

วันนี้พี่จะพาน้องๆ ไปดูกันว่าประเทศที่สะอาดน่าอยู่ เขามีการจัดการกับขยะยังไงบ้าง? 

ญี่ปุ่น

มาเริ่มต้นกันที่ ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยสุดเป๊ะและบ้านเมืองสะอาดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับการแยกของที่นี่อาจแตกต่างกันตามพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกคนจะมีใบตารางเวรการจัดการขยะ และแบ่งประเภทเป็นสีๆ ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น แล้วเวลาทิ้งก็จะต้องใส่ถุงที่ใสมองเห็นทะลุข้างใน หรือไม่ก็เป็นถุงเฉพาะที่แต่ละพื้นที่กำหนดให้ใช้ 

 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราขออนุญาตนำข้อมูลตารางเวรการแยกขยะที่ช่องยูทูบ Mama Haga ️ นำมาแชร์ให้ดูกันครับ

Photo  Credit:  Camo.qiitausercontent.com
Photo  Credit:  Camo.qiitausercontent.com

อธิบายเพิ่มเติม

  • สีชมพู (เผาได้) : ขยะสด ไม้ ยาง ผ้า
  • สีเหลือง (เผาไม่ได้) : พลาสติก กล่องลัง หนังสือ ของชิ้นใหญ่
  • สีเขียว (รีไซเคิล) : ขวดแก้ว หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย น้ำมัน
  • สีม่วง (กิ่งไม้ ใบไม้) : กิ่งไม้ต้องมัดรวมเป็นท่อน ส่วนใบไม้ต้องใส่ถุงก่อนนำไปทิ้ง

ดังนั้นเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงก็มีเวรจัดพื้นที่ส่วนกลาง คอยปูผ้าและคลุมมุ้งไนล่อนให้เป็นระเบียบ พอรถขนขยะของรอบนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ค่อยส่งไม้ต่อให้เพื่อนบ้านคิวต่อไปเข้ามารับช่วงจัดการต่อรอบหน้า (ใช้พื้นที่ส่วนกลางก็ต้องช่วยๆ กันครับ ><) 

นอกจากนี้หากต้องการทิ้งเฟอร์นิเจอร์หรือของชิ้นใหญ่ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยให้ติดต่อทำเรื่องได้ที่ที่ว่าการอำเภอของแต่ละพื้นที่ เสียค่าบริการแล้วจะได้สติกเกอร์มาติดบนของ จากนั้นพนักงานจะมายกไปครับ ถ้าเกิดวางทิ้งไว้เฉยๆ แล้วผู้อื่นเดือดร้อน (เช่น มีส่วนที่ล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่บ้านคนอื่น) ก็มีโอกาสถูกฟ้องเสียค่าปรับได้

................

เกาหลีใต้

ประเทศนี้มีรายละเอียดการแยกขยะที่น่าสนใจมาก พี่ไพรขอสรุปให้ฟังเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

  • หลักๆ เขาจะเน้นแยกเป็น “ขยะเปียก” และ “ขยะแห้ง” (ในอพาร์ตเมนต์ก็มีกำหนดจุดทิ้งขยะแบบแยกประเภทไว้ด้วย) หากทิ้งรวมกันอาจถูกปรับได้ เพราะปกติในเกาหลีมักจะมีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ อยู่แล้ว
  • เราจะทิ้งขวด จาน และถุงพลาสติกทันทีเลยไม่ได้ ต้องนำมาล้างทำความสะอาดก่อนแล้วค่อยแยกใส่ถุงขยะ
  • หากเป็นเศษอาหาร จะต้องแยกกระดูก เปลือกผลไม้แข็งๆ ให้เรียบร้อยก่อน *ทั้งนี้ในชนบทเกาหลีมักมีการนำเศษอาหารไปให้น้องไก่หรือทำปุ๋ยเพื่อใช้ทางการเกษตรด้วยครับ
  • ประชาชนจะต้องซื้อถุงตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อให้เป็นระเบียบเหมือนกันทุกบ้าน และหากใช้ผิดมีสิทธิ์ถูกปรับได้อีกเช่นกัน
  • เมื่อนำขยะไปทิ้งบริเวณจุดทิ้งของส่วนกลาง เขาจะมีวางถังขยะแยกเป็นมุมๆ เช่น มุมนี้ทิ้งขวด มุมนั้นทิ้งกระดาษกับหนังสือ อีกมุมเป็นพลาสติก (ซึ่งพลาสติกก็จะแยกประเภทอีก) และจะมีถังขยะสำหรับเศษอาหารด้วย
ประเภทถุงใส่ขยะในประเทศเกาหลีใต้
ประเภทถุงใส่ขยะในประเทศเกาหลีใต้
Photo  Credit:  Globaldaegu.blogspot.com

 

การทิ้งเศษอาหารในเกาหลีใต้
การทิ้งเศษอาหารในเกาหลีใต้
Photo  Credit:  Static.straitstimes.com.sg

................

สวีเดน

มาต่อที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียกันบ้าง ที่นี่ก็แยกขยะกันจริงจังมากกก บริเวณจุดทิ้งจะมีถังขนาดใหญ่เรียงกันแล้วแบ่งย่อยขยะแต่ละประเภท (และหลายที่จะมีป้ายบอกด้วยว่าขยะอะไรทิ้งได้หรือห้ามทิ้ง) เช่น แยกระหว่างขวดแก้วแบบใสกับขวดแก้วที่เป็นแบบสีๆ / กระดาษลังหนาๆ กับกระดาษทั่วไป / พลาสติกที่ใช้ใส่อาหารกับพลาสติกแบบหนา

Photo Credit: https://www.rioonwatch.org/?p=54109
Photo Credit: https://www.rioonwatch.org/?p=54109

 

นอกจากนี้บางร้านค้าในสวีเดนก็มีบริการให้นำขวดที่ใช้แล้วมาแลกเป็นเงินได้ด้วย วิธีการก็ง่ายมาก แค่กลับไปร้านที่ซื้อของแล้วหย่อนขวดลงในตู้รีไซเคิล แล้วเราจะได้รับคูปองเงินสดเพื่อใช้ซื้อของในร้านได้เลย

Photo Credit: Sweden.se
Photo Credit: Sweden.se

................

เยอรมนี 

ปิดท้ายกันที่เยอรมนี อีกหนึ่งประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่สถานที่ท่องเที่ยว ระบบจัดการขยะที่นี่ก็มีระเบียบไม่เป็นรองประเทศอื่นเหมือนกันครับ สำหรับการแยกขยะในประเทศเยอรมนี โดยเขาจะมีใบตารางวันที่เหมือนในญี่ปุ่นแต่จะแบ่งออกเป็น 4 สี 

JINS CHANNEL /  Youtube
JINS CHANNEL /  Youtube

อธิบายเพิ่มเติม

  • สีฟ้า = กระดาษ (Papiertonne)
  • สีดำ = เผาได้ (Restmüll)
  • สีเขียว = เศษอาหาร (Biomüll) (*ก่อนทิ้งต้องห่อเศษอาหารก่อนที่จะใส่ถุงกระดาษตามที่กำหนด)
  • สีส้ม = พลาสติก (Wertstoffe)

(สีของถังขยะขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่)

ขยะอื่นๆ ที่นอกเหนือในลิสต์ด้านบน เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง หรือพวกของที่เป็นเหล็ก เราต้องนำไปทิ้งที่ศูนย์คัดแยกเอง

................

 

เป็นยังไงกันบ้างครับน้องๆ กับระเบียบการทิ้งขยะในแต่ละประเทศ ส่วนตัวพี่คิดว่าการแยกขยะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ อย่างพี่เองก็ชอบระบบจัดการของญี่ปุ่นที่แบ่งการทิ้งแต่ละประเภทเป็นวันๆ ไป ถ้าเราอยู่ในพื้นที่บ้านติดกันก็จะมีเวรดูแลแบ่งกันเตรียมและเคลียร์พื้นที่ด้วย หรือจะเป็นของเกาหลีก็ต้องล้างถุงพลาสติกฉีกให้เรียบร้อยก่อนนำไปทิ้ง บอกได้เลยว่าประทับใจสุดๆ 

แล้วน้องๆ ล่ะชอบการแยกขยะของที่ไหนกันบ้าง อย่าลืมคอมเมนต์หรือแชร์กันมาได้เลยนะ วันนี้พี่ก็ต้องขอแวบไปเช็กดูก่อนว่าขยะชิ้นไหนต้องแยกอย่างไร จะได้จัดการสะดวกตอนไปทิ้ง แล้วเจอกันใหม่บทความหน้านะครับ ^^ 

 

 

 

Source: https://www.youtube.com/watch?v=pPkVp06ShOghttps://www.youtube.com/watch?v=W7VIs15B0UYhttps://www.youtube.com/watch?v=Mqe9FjiXVc0https://www.youtube.com/watch?v=0EpXuxDG4qw&t=550shttps://www.youtube.com/watch?v=9Yv3BZvqVGA&t=281shttps://www.weforum.org/agenda/2019/04/south-korea-recycling-food-waste/#:~:text=It%20wasn't%20always%20this,of%20food%20waste%20each%20year. 
พี่ไพร
พี่ไพร - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด