ไขข้อสงสัย! คนเราสามารถ "อดนอน" ได้นานแค่ไหน? และจะมีอาการยังไงบ้าง?

Spoil

  • การอดนอน 24 ชม. ทำให้เราเริ่มหงุดหงิดง่าย มือ-ตาทำงานไม่ประสานกัน ตัดสินใจได้เชื่องช้า
  • การอดนอน 36 ชม. ระบบเผาผลาญจะเริ่มพัง  ความเครียดสูง พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
  • การอดนอน  46 ชม. จะเริ่มหลับใน  เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เจ็บป่วยง่าย

                      เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่าร่างกายของเราจะสามารถทนทานต่อการอดนอนได้นานแค่ไหน? แล้วความรู้สึกที่นอนไม่เพียงพอมันเป็นยังไง? จะส่งผลแย่และรุนแรงแค่ไหนกัน?  ในบทความนี้พี่เบเบสจะพาเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลของการอดนอน ที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันเท่านั้น แต่จะเป็นยังไงมาอ่านบทความนี้ไปพร้อมๆ กันเลยยยย

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

 เราจะสามารถอดนอนได้นานแค่ไหนกันนะ?

มีสถิติการอดนอนที่ถูกบันทึกไว้นานที่สุด คือประมาณ 264 ชั่วโมงหรือมากกว่า 11 วันติดต่อกัน  แต่สำหรับคนธรรมดาๆ อย่างเรานั้น หลังจากที่อดนอนเพียง 3-4 คืนก็จะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอย่างชัดเจน เพราะการอดนอนเป็นเวลานานจะนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา ทำให้กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล และหวาดระแวง   ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุอดนอนจะมีน้อยมากแต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้นมาลองดูกันดีกว่า ว่าหากเราอดนอนเป็นเวลา 1-3 วัน จะเกิดอะไรขึ้น?

อดนอน 24 ชั่วโมง : หงุดหงิดง่าย การตัดสินใจบกพร่อง

การอดนอนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงหรือ 1 วันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไรนัก โดยเฉพาะในช่วงใกล้สอบ คนในครอบครัวไม่สบาย หรือปั่นโปรเจ็กต์รายงานต่างๆ แต่รู้ไหมว่าการไม่ได้นอนแค่เพียง 24 ชั่วโมงก็สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งง่วงนอน  หงุดหงิดง่าย บกพร่องทางการมองเห็นและได้ยิน การประสานระหว่างมือและตาลดลง  เกิดอาการสั่น การตัดสินใจช้าลง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้มากขึ้น แต่ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถหายไปเองได้ แค่เพียงนอนพักผ่อนเท่านั้น

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

อดนอน 36 ชั่วโมง :  ระดับความเครียดสูง ฮอร์โมนไม่สมดุล

หลังจากเราอดนอนติดต่อกันถึง 36 ชั่วโมง อาการจากการอดนอนจะเริ่มส่งผลรุนแรงขึ้นต่อร่างกาย  เพราะปกติแล้ววงจรการนอนหลับจะช่วยควบคุมการปล่อยฮอร์โมนบางชนิด อาทิ คอร์ติซอล (cortisol) อินซูลิน (Insulin) และฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone)  ทำให้เมื่อร่างกายอดนอนติดต่อกันเป็นเวลานานจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่าง ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพัง ระดับความเครียดสูงขึ้น ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล  ขาดสติ และเกิดความบกพร่องทางการพูด เช่น การเลือกใช้คำและน้ำเสียงเปลี่ยนไป

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

อดนอน 48 ชั่วโมง : ระบบภูมิคุ้มกันลดต่ำลง

หลังจากที่เราอดนอนติดต่อกัน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันเต็ม คนส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการของภาวะไมโครสลีป (Microsleeps)  หรือที่เรียกกันว่า "อาการหลับใน" ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจแต่สามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้งเมื่อเราอดนอน นอกจากนี้ยังส่งผลรบกวนต่อระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การอดนอนทำให้การทำงานของเซลล์นักฆ่าตามธรรมชาติ (Natural Killer Cell)  คือเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง (Cytotoxic lymphocyte) ที่มีหน้าที่ในการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสและตอบสนองต่อการก่อตัวของเซลล์มะเร็งในร่างกายของเราลดลง  จึงเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

อดนอน 72 ชั่วโมง :  ความฉลาดทางอารมณ์ลดน้อยลง

แน่นอนว่าหลังจากที่เราอดนอนนานถึง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกอยากนอนมาก จนแทบไม่สามารถฝืนตัวเองได้อีกต่อไป  การไม่ได้นอน 3 วันส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนที่ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน การจดจำรายละเอียด และการเอาใจใส่ การอดนอนในระดับนี้อาจทำให้บทเรียนที่ง่ายๆ กลายเป็นยาก แล้วยังส่งผลกระทบต่ออารมณ์อีกด้วย

คนที่อดนอนถึง 72  ชั่วโมงจะมีอาการหงุดหงิดง่ายมากๆ และอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือหวาดระแวงร่วมด้วย ในการวิจัยยังพบอีกว่า การอดนอนทำให้ความฉลาดทางอารมณ์ลดน้อยลง และยังไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ของคู่สนทนาได้ เพราะในการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อดนอนมักมีปัญหาในการจดจำสีหน้าโกรธและมีความสุขของคนอื่น

รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราอดนอนจนเป็นนิสัย?

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)  ประเทศสหรัฐอเมริกาบอกว่า แม้จะเป็นการนอนหลับไม่เพียงพอในช่วงสั้นๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการวิตกกังวล อารมณ์ไม่มั่นคง  ขี้ลืม และประสิทธิภาพในการเรียนลดลงได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บในระยะยาวอีกด้วย การนอนหลับไม่เพียงพอนี้ยังสามารถลดการทำงานของภูมิคุ้มกัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน และอาการป่วยทางจิต

ต้องนอนแค่ไหนถึงจะเพียงพอ?

คำแนะนำในการนอนหลับจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)  ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวไว้ว่า ความต้องการในการนอนหลับต่อคืนของแต่ละคนแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของเรา

  • ทารก ต้องการ 12-16 ชั่วโมง
  • เด็กวัยเรียน ต้องการ 9-12 ชั่วโมง
  • วัยรุ่น ต้องการ 8-10 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ ต้องการ 7-9 ชั่วโมง
รูปภาพจาก  Freepik.com
รูปภาพจาก  Freepik.com

ถึงแม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ว่าเราจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องนอนหลับนานแค่ไหน แต่มีสิ่ง  หนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คืออาการเมื่ออดนอนจะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อไม่ได้พักผ่อนติดต่อกัน 36 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางความคิดที่ลดลง การตัดสินใจที่ไม่ดี และความบกพร่องทางการพูด ยิ่งเราเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การนอนจึงยิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้สมองรีบูตขณะนอนหลับ และสามารถตื่นขึ้นมาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

เพื่อนๆ ชาว  DEK-D คนไหนที่เคยอดนอนแล้วมีอาการเป็นยังไงอย่าลืมคอมเมนต์พูดคุยกันได้เช่นเคย พี่เบเบสแล้วก็เพื่อนๆ รออ่านอยู่น้าา

 

ที่มาข้อมูลhttps://www.healthline.com/health/healthy-sleep/how-long-can-you-go-without-sleep?fbclid=IwAR0EFWJX5Uz7FugAhvdg2NxWXgBexYHYorYFIO4YcF2E1-74yzDfZPZqj7k#what-happens-after-72-hours

 

พี่เบเบส
พี่เบเบส - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น