ใช่คุณมั้ย? ‘ชาว Workaholic’ พฤติกรรมเสพติดงาน จนชีวิตด้านอื่นไม่สำคัญอีกต่อไป!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D หลายคนทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน คงเคยมีช่วงที่รู้สึกทำงานหนักมากกกกจนต้องหยุดพักหรือหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายใช่มั้ยล่ะคะ แต่สำหรับบางคนนั้น การจะดึงตัวเองออกจากงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พวกเขามักจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปถ้าไม่ได้ขลุกกับงานตลอดเวลา แถมปัดตกเรื่องอื่นในชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับงานไปซะหมด!

พฤติกรรมเสพติดการทำงานนี้เรียกว่า ‘Workaholic’ ค่ะ หลายคนมีความเชื่อว่าหากมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานอย่างหนัก(มากๆ) ก็มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น...ความเชื่อนี้จริงหรือไม่? แล้วแบบไหนที่เข้าข่าย Workaholic? เลื่อนลงมาอ่านต่อกันเลยค่ะ

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

รู้จัก Workaholic กันก่อน

คำว่า Workaholic คิดค้นขึ้นเมื่อปี 1971 โดยนักจิตวิทยาชื่อ Wayne E. Oates ใช้อธิบายพฤติกรรมของคนที่หมกมุ่นกับเรื่องงานอยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถควบคุมได้

และพฤติกรรมที่ว่านี้เกิดจากแรงขับเคลื่อนทางความรู้สึก ทำให้คิดวนเวียนแต่กับเรื่องงาน ถ้าหยุดทำสักหน่อยก็รู้สึกผิดแล้ว ซึ่งจะต่างกับคนที่ทำงานระยะเวลานานๆ (Working long hours) นะคะ เพราะคนกลุ่มหลังนี้จะไม่ได้รู้สึกหมกมุ่นกับงาน พอเลิกงานก็ไม่เก็บเรื่องงานมาคิดต่อ สามารถทำกิจกรรมอื่นได้โดยไม่รู้สึกผิด และต่อให้งานหนักก็ยังปรับสมดุลในการใช้ชีวิตได้ 

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

เปิดลิสต์ 7 สัญญาณอันตราย! 
เรากำลังเป็น Workaholic หรือเปล่า?

วันนี้พี่มายมิ้นท์เลยขอยกบทความของ Forbes ที่แบ่งระดับพฤติกรรมการเสพติดการทำงานออกเป็น 7 แบบ มาให้ทุกคนได้เช็กตัวเองกัน! ใครอ่านแล้วรู้สึกใกล้เคียงเกินครึ่งหรือเกือบเต็ม นั่นหมายความว่าคุณอาจเข้าข่ายเป็น Workaholic แบบรุนแรงแล้วค่ะ  (แถมบางคนก็เป็นโดยไม่รู้ตัวด้วย) ตามไปดูกันดีกว่าอันไหนใช่เราบ้าง? 

  • คุณมักจะครุ่นคิดว่าจะทำยังไงให้มีเวลาทำงานให้เยอะขึ้น
  • คุณใช้เวลาไปกับการทำงานมากกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่มีระยะเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่คุณมักจะทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงอยู่เสมอ
  • เมื่อไม่ได้ทำงาน คุณจะเครียด หดหู่ รู้สึกผิดหรือคิดว่าตัวเองไร้ประโยชน์
  • คนรอบตัวแนะนำให้คุณลดเวลาทำงานลง แต่คุณไม่อยากทำตาม
  • คุณรู้สึกเครียดมากเมื่อมีปัจจัยอื่นมาขัดขวางการทำงานของคุณ
  • คุณไม่มีเวลาสำหรับงานอดิเรก การออกกำลังกาย และไม่มีเวลาว่างเพราะสำหรับคุณ ‘งานต้องมาก่อนเสมอ’
  • คุณทำงานจนเกิดปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างหนัก เช่น เกิดโรคประจำตัวหรือโรคซึมเศร้าจากการทำงาน
Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

อยากรู้มั้ย? อะไรทำให้คนเป็น Workaholic

1. ปัจจัยจากตัวเอง

ชาว Workaholic ส่วนใหญ่จะรู้ตัวว่าตัวเองเสพติดการทำงาน โดยคนกลุ่มนี้ชอบทำงานหนักๆ เพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ชอบความรู้สึกที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน เสพติดการประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆ คือคนกลุ่มนี้มีเป้าหมายไว้พุ่งชนเท่านั้น! และจะวางเรื่องงานไว้เป็นอันดับ 1 เสมอ ปัดตกเรื่องอื่นในชีวิตที่จะทำให้เสียเวลาทำงานไปเสียหมด

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

2. ปัจจัยจากภายนอก

เมื่อก่อนอาจไม่ได้เป็นคนไฟแรง แต่เวลาผ่านไปกลายเป็นคนเสพติดงานตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ หลักๆ ก็จะมาจาก 2 ปัจจัยคือเศรษฐกิจและสังคมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดนั่นเองค่ะ

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ: ลองนึกดูว่าในโลกทุนนิยมที่ทุกๆ อย่างขับเคลื่อนด้วยเงิน ผู้คนต่างก็ต้องขวนขวายเอาตัวรอดให้ได้ ‘เงิน’ จึงเป็นสิ่งที่ ‘ขาดไม่ได้’ แต่จะทำยังไงให้เรามีเงินเยอะๆ ล่ะ? คำตอบก็คือต้องทำงานยังไงล่ะคะ เมื่อเริ่มต้นที่คำว่า ‘ทำงานเพราะอยากรวย’ หลายคนก็เริ่มที่จะหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องงาน งาน และงาน! พอหันกลับมาอีกทีก็กลายเป็นคนเสพติดงานไปซะแล้ว T^T 

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

ปัจจัยด้านสังคม: เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นโควตเด็ดๆ ที่ชาวเน็ตกระหน่ำแชร์กันเช่น ‘คนเราไม่ควรมีรายได้ทางเดียว จะต้องมีทั้ง active income และ passive income’ หรือ ‘อายุ 25 ควรมีเงินเก็บเกิน 1ล้านบาท ควรมีรถ มีบ้าน มีเงินลงทุน แต่งงานมีครอบครัว ฯลฯ’ กันใช่มั้ยล่ะคะ? อ่านแล้วรู้สึกยังไงกันบ้าง? พี่มายมิ้นท์คิดว่าข้อความแบบนี้สร้างแรงบันดาลใจให้บางคน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างมายาคติให้แก่สังคม เพราะการที่คนนึงจะทำสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่ 100% ที่จะทำได้ตามนี้ 

อย่างในกรณีเด็กจบใหม่บางคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่ถึงปี พอถึงวันนัดเจอเพื่อนฝูง ทุกคนกลับเอาแต่พูดเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องความก้าวหน้า กลายเป็นความกดดันให้คุณรู้สึกว่าต้องวิ่งตามค่านิยมของคนในสังคม ถ้าไม่แพ้อยากแพ้ก็ต้องสู้ ทำงานให้หนักเข้าไว้ เป็นเหตุผลที่บางคนเริ่มเสพติดการทำงานในที่สุดค่ะ TT

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

ผลกระทบจาก Workaholic ที่ไม่ควรมองข้าม!

ทำงานหนักเกินไป = ทำร้ายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว

งานวิจัยจาก Kansas State University บอกว่าคนที่เป็น Workaholic มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า! ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่เข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น แต่คุณดันเป็นคนเสพติดการทำงาน เพราะงั้นกว่าจะเลิกงานก็ปาเข้าไปเกือบ 4 ทุ่ม แถมบางคนก็ขนงานกลับไปทำต่อที่บ้านอีกต่างหาก ยอมนอนวันละ 3-4 ชั่วโมงเพื่อให้งานเสร็จตามกำหนด

พอนอนน้อยติดต่อกันนานๆ และไม่มีเวลาออกกำลัง บวกกับการไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน (สังเกตว่าคนบ้างานส่วนใหญ่จะชอบกินอาหารฟาสต์ฟู้ด จะได้ไม่เสียเวลาทำงาน) ผลคือเกิดโรคประจำตัวทั้ง โรคไมเกรน ออฟฟิศซินโดรม ความดันโลหิตสูง โรคไขมันเกินในเส้นเลือด ตามมาด้วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เรียกได้ว่ามากันเป็นแพกเก็จเลยล่ะค่ะ

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

ไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพกายเท่านั้น แต่ ‘สุขภาพจิต’ ก็พังไปตามๆ กัน เพราะชาว Workaholic ส่วนมากไม่สามารถหลีกเลี่ยง ความเครียดจากการทำงาน (Occupational stress) ได้ เมื่อเกิดความเครียดสะสมหนักเข้าก็ส่งผลให้เป็นโรคเครียด โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) บางคนเครียดรุนแรงจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มีค่ะ

ที่จริงแล้วพฤติกรรมที่เข้าข่าย Workaholic ไม่ได้มีแค่เรื่องงานเท่านั้น แต่น้องๆ วัยเรียนคนไหนที่เสพติดการเรียนหรือเคร่งเครียดอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน ไม่ยอมพักผ่อน ก็เรียกว่าเป็น Workaholic ได้เช่นกันค่ะ ยังไงก็ตามการทำอะไรหนักหน่วงเกินลิมิตก็ส่งผลให้สุขภาพพังได้ในเวลาสั้นๆ // ใครที่กำลังทำแบบนี้อยู่ต้องรีบแก้ไขด่วนเลยนะคะ

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

Money-rich, time-poor: เมื่อเวลาสวนทางกับเงิน!

ใช้เรียกปรากฏการณ์ ‘มีเงินแต่ไม่มีเวลา’ ซึ่งเกิดในหมู่คนทำงานช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากการเป็น Workaholic ที่ทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาไปใช้ชีวิตด้านอื่น ไม่มีเวลาพบปะคนรอบตัว ไม่มีเวลาออกไปทำกิจกรรม ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ และไม่มีเวลาให้ตัวเองได้ผ่อนคลายเลย แต่สิ่งที่กลับเพิ่มขึ้นคือ ‘เงิน’ ที่ได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว

แต่สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีค่าแรงขั้นต่ำสวนทางกับค่าครองชีพนั้น ชีวิตคนทำงานน่าเศร้ามากกว่านี้ซะอีกค่ะ เพราะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Money-poor, time-poor’ คือไม่มีทั้งเงินและเวลาเลย ต่อให้เป็น Workaholic ทำงานไม่มีวันหยุดเลยก็ตาม แต่เงินที่ได้มาก็ยังไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำอยู่ดี ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขเองได้ // อ่านแล้วหดหู่ใจเลยล่ะค่ะ

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

หยุดนิสัย Workaholic ก่อนจะสายเกินแก้!

นักจิตวิทยากล่าวว่า สังคมควรมองปัญหา Workaholic ให้เหมือนกับอาการติดสุรา (Alcoholism) ซึ่งผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะต้องได้รับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ แต่น่าเสียดายที่แต่ละประเทศยังไม่มีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้โดยตรง

ถึงอย่างนั้นการแก้พฤติกรรม Workaholic ก็ทำได้ด้วย 2 วิธี ดังนี้

  1. ปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ Work-life balance : หลายคนคงเคยคุ้นหูคำนี้มาบ้างแล้วใช่มั้ยคะ คำนี้เป็นสไตล์การทำงานแบบ ‘ทำงานให้สมดุลกับชีวิต’ โดยการบริหารเวลางานให้ดี จะได้มีเวลาเหลือไปใช้ชีวิตของตัวเองด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หลังเลิกงานถ้าไม่มีเรื่องเร่งด่วนอะไร ก็อย่าขนงานกลับไปทำต่อที่บ้าน ควรทำให้การเลิกงานเป็นการเลิกงานจริงๆ พยายามอย่าคิดหมกมุ่นอยู่กับงานทั้งวันทั้งคืน ส่วนเวลาที่เหลือก็ไปออกกำลังกาย ใช้เวลากับครอบครัว หรือผ่อนคลายตัวเอง ถ้าหากชาว Workaholic สามารถปรับเปลี่ยนเวลาให้สมดุลแบบนี้ได้ ก็จะสามารถแก้ไขอาการเสพติดงานของตัวเองได้อย่างแน่นอนค่ะ

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

 2. Self-awareness ตระหนักรู้ในตัวเอง: การปรับเปลี่ยนจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคนทำงานไม่ตระหนักว่าการหมกมุ่นกับงานมีผลเสียมากกว่าผลดี ชาว Workaholic บางคนชอบปฏิเสธคำเป็นห่วงของคนรอบข้าง และชอบคิดว่าเราไหว เราโอเค เราจะทำงานต่อไป จนสุดท้ายก็เกิดปัญหารุนแรง ตั้งแต่เกิด ภาวะหมดไฟ (Burn out syndrome)  ไปจนถึงการ ทำงานจนตาย (Karoshi)

ดังนั้นจึงควรสังเกตพฤติกรรมตนเอง แล้วพยายามทำใจยอมรับว่าเรากำลังกดดันมากเกินไป ทำงานหนักเกินไป แบบนี้ก็จะช่วยให้ชาว Workaholic วางแผนการทำงานได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

Photo  credit:  www.unsplash.com
Photo  credit:  www.unsplash.com

พี่มายมิ้นท์ก็มีคลิปดีๆ จากช่อง TEDx talks ใน YouTube มาฝากทุกคนค่ะ ชื่อคลิปว่า The Lonely Guide of a Workaholic? บรรยายโดย ‘มีนา อิงค์ธเนศ’ นิสิตจากนิเทศฯ จุฬา ผู้ค้นพบว่าความสำเร็จเรื่องการงานหรือการเรียนไม่ได้เป็นจุดสูงสุดของชีวิตเสมอไป เราจะมองหาจุดสมดุลยังไงให้งานประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกับรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง บอกเลยว่าคลิปนี้เหมาะสำหรับชาว Workaholic มากๆ เลยค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะกับเนื้อหาจัดเต็มเรื่อง Workaholic หลายๆ คนพออ่านแล้วก็อาจจะเพิ่งรู้ว่าเรากำลังเสพติดงานทำงานแบบไม่รู้ตัวอยู่ ยังไงก็ค่อยๆ ปรับแก้กันไปนะคะ พี่มายมิ้นท์เองก็เคยเป็นคนเสพติดการเรียน แต่ก็สามารถแก้ได้ด้วยการเปิดใจยอมรับแล้วหาจุดบาลานซ์ให้เจอว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเท่านั้น พอแก้ไขได้ชีวิตก็แฮปปี้ขึ้นเยอะเลยล่ะค่ะ “เราต่างก็ใจดีกับคนอื่น แต่อย่าลืมใจดีกับตัวเองและรักตัวเองในทางที่ถูกต้องด้วยนะคะ” 

 

Sources:https://unsplash.com/photos/T5lmpSYxnSUhttps://unsplash.com/photos/hko-iWhYdYEhttps://unsplash.com/photos/3I2vzcmEpLUhttps://unsplash.com/photos/YJdCZba0TYEhttps://unsplash.com/photos/UmV2wr-Vbq8https://www.forbes.com/sites/amymorin/2014/09/18/7-signs-you-may-be-a-workaholic/?sh=784a210370d7https://hbr.org/2018/03/how-being-a-workaholic-differs-from-working-long-hours-and-why-that-matters-for-your-healthhttps://unsplash.com/photos/SAYzxuS1O3Mhttps://unsplash.com/photos/WUmb_eBrpjs
พี่มายมิ้นท์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น