ตามติดชีวิตดีไซเนอร์ในอเมริกา: ‘เชอรี่-พัชณิษฐ์’ จากเด็กฝึกงานสู่ผู้ออกแบบโลโก้ #SuperBowl2021

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เชื่อว่าหลายคนที่อยากเรียนต่อคณะด้านการออกแบบ น่าจะเล็ง ‘สหรัฐอเมริกา’ ไว้เป็นอันดับต้นๆ ใช่มั้ยล่ะคะ เพราะนอกจากขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการศึกษาและสาขาที่หลากหลาย ยังเป็นประเทศที่ให้คุณค่ากับงานศิลปะมากๆ แถมรัฐบาลเองยังให้พื้นที่โชว์ศักยภาพกันได้แบบแฟร์ๆ นับเป็นโอกาสเติมเต็มความฝันและสร้างโอกาสก้าวหน้าให้คนที่อยากเดินเส้นทางสายนี้

และไม่นานมานี้เองค่ะ ในต่างประเทศก็มีข่าวงานแข่งขันฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกอย่าง ‘Super Bowl’ โดยปีนี้จัดที่เมือง Tampa ในรัฐ Florida  ไฮไลต์เด็ดคือมีนักร้องดาราระดับฮอลลีวูดมาร่วมโชว์เปิดสนามแบบปังๆ แล้วเชื่อมั้ยว่าโลโก้สุดเก๋ของงานที่เป็นรูปเรือใบในธีมสีแดง-น้ำเงิน ถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์วัยเพียง 24 ชื่อของเธอคือ ‘เชอรี่’ - พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์ บัณฑิตป้ายแดงจาก University of Tampa นั่นเองค่ะ! 

พี่มายมิ้นท์ก็ไม่รอช้ารีบส่งข้อความไปหาเจ้าตัวเพื่อขอสัมภาษณ์ประสบการณ์สุดพีคนี้มาฝากทุกคนทันที เวลาเกือบ 10 ปีที่อเมริกาของพี่เชอรี่จะมีอะไรบ้าง เส้นทางสายดีไซน์เนอร์ของเธอจะสนุกและโหดหินขนาดไหนเรามาติดตามกันเลย

เป็นเด็กโครงการพิเศษวิทย์-คณิตฯ 
แต่รู้ว่าใจไม่ได้ชอบทางนี้

“เราชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาไปร้านหนังสือจะชอบยืนดูหน้าปก เล่มไหนหน้าปกดีไซน์ดีก็ซื้อเลยโดยไม่ค่อยโฟกัสกับเนื้อหา จนวันนึงก็เกิดความคิดแวบเข้ามาในหัวว่า ‘ถ้าเกิดเราได้ออกแบบปกเองบ้างจะเป็นยังไง?' ทำให้ตัดสินใจว่าจะไม่ต่อ ม.ปลายที่ไทย แล้วไปค้นหาตัวเองที่อเมริกาแทน โชคดีครอบครัวโอเค เลยได้ไปแลกเปลี่ยน ม.4 ที่เมือง Tampa ที่รัฐ Florida

Sickles High School
Sickles High School
Photo  credit:  www.tampabay.com

ถึงอเมริกาครั้งแรก
ได้แค่ Yes, No, OK

เริ่มปีแรกเราเรียนที่ โรงเรียนรัฐฯ ชื่อ Sickles High School คนที่นู่นพูดเร็วมากๆ ตอนนั้นภาษาที่เรียนจากไทยมาตลอดไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ โชคดีโฮสต์มัมคอยช่วยคอยแก้ให้เวลาพูดผิด เพื่อนที่โรงเรียนก็ช่วยพูดช้าๆ ให้เราเข้าใจหรือคอยเสริมตรงที่ไม่ทัน ส่วนเราเองก็พก talking dict ไว้เปิดหาศัพท์ด้วย ว่างๆ ก็เปิดซีรีส์ฝรั่งดู พยายามโฟกัสเวลาสื่อสาร ผ่านไปสัก 5-6 เดือนก็เข้าที่ ฟังออก พูดได้มากขึ้น

ที่ประทับใจคือครูทุกคนแฮปปี้ที่จะสอนและช่วยเหลือทุกเรื่อง อย่างเวลาไปถามส่วนตัวหลังเลิกเรียน ก็ช่วยอธิบายให้ละเอียดจนกว่าเราจะเข้าใจ หรือตอนที่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยเข้าที่ เราเคยไม่เข้าใจข้อสอบวิชานึงจนคะแนนออกมาไม่ดี เลยไปขอครูสอบใหม่ เขาก็แฟร์มากๆ คือให้สอบใหม่ทั้งเราและเพื่อนในห้องที่อยากแก้ตัว จากนั้นก็เอาคะแนนรอบที่ดีที่สุดเป็นคะแนนสุดท้ายของการสอบ  อีกอย่างคือเวลาครูสัมผัสได้ว่าเด็กคนไหนลังเลสับสน จะช่วยไกด์ให้ทันที และเพิ่มความมั่นใจให้เราด้วยทำให้เรากล้าเริ่มหรือลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง

พอปรับตัวเรื่องเรียนได้แล้วทุกอย่างก็น่าสนใจไปหมด ที่อเมริกาจะมีวิชาหลักพวกคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ (แต่ไม่มีแยกเรียนแผนวิทย์-ศิลป์เหมือนที่ไทย) แล้วเลือกได้อีกว่าจะเรียนอะไร เราก็เลือกลงวิชาสายศิลปะจัดเต็มมาก แล้วไม่คิดเลยว่าจะได้มาเรียนปั้นหม้อที่อเมริกา! เรียนตั้งแต่พื้นฐานการปั้นด้วยนะ มันทำให้เรายิ่งชอบศิลปะขึ้นไปอีก พอลองนึกดูก็รู้สึกตัดสินใจถูกที่มาอเมริกา ถึงช่วงแรกจะลำบากหน่อยแต่มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย ถ้าอยู่ไทยคงไม่มีวันก้าวออกจาก Comfort zone ได้"

Sickles High School
Sickles High School
Photo  credit:  www.tampabay.com

โรงเรียนรัฐบาล vs เอกชนในอเมริกา

ทำไมถึงย้ายมาเอกชน?

“พอจบ ม.4 เราย้ายโรงเรียนเพราะตัดสินใจแล้วว่าจะไม่กลับไทย พอดีกับที่น้าของเราเปิดร้านอาหารไทยที่ Tampa พอดี ก็เลยค่อนข้างลงตัว เราย้ายไปโรงเรียนเอกชนชื่อ  Bayshore Christian School เหตุผลที่ย้ายเพราะถ้าในอเมริกา นักเรียนต่างชาติต้องได้รับเอกสารรับรองสถานะการเรียน ซึ่งมีแค่โรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่ออกให้ได้ 

พอย้ายมาแล้ว อย่างแรกที่ประทับใจคือสิ่งอำนวยความสะดวกอลังมาก (แต่ค่าเทอมก็แพงแหละ) การเรียนก็หลากหลายและยืดหยุ่น มีแค่วิชาพื้นฐานที่ล็อกไว้ นอกนั้นจัดตารางเรียนเองได้เลย  ทำให้ได้เรียนวิชาที่สนใจจริงๆ อย่างพวกการวาดเขียนสีน้ำมัน การออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ แล้วยังเป็นช่วงที่ได้ค้นหาตัวเองเต็มที่ด้วยนะ

"แล้วเรื่องที่รู้สึกว่า 'เออ แบบนี้เจ๋งอะ'  คือตอนที่อยากเรียนวิชาแอดวานซ์ขึ้น พวกตัดต่อ VDO หรือกราฟิกดีไซน์เน้นๆ ปรากฏว่าพอไปคุยกับอาจารย์ เค้าก็โอเคที่จะสอนเรา แล้วเราก็ยื่นหนังสือถึง ผอ.แจ้งความประสงค์ขอเปิดรายวิชานอกตารางเรียนเป็นวิชาเสริม เขาก็อนุมัติด้วย เราเลยภูมิใจเบาๆ ว่าเรานี่แหละผู้บุกเบิกรายวิชา เป็นนักเรียนคนเดียวในคลาสกราฟิกดีไซน์ //  พีคตรง ผอ.ให้คอมพ์ใหม่ใช้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่เราเต็มใจมากคือต้องทำงานให้โรงเรียน  เช่นเวลามีงานโรงเรียนก็ตามไปเก็บภาพมาลงเว็บโรงเรียน หรือมีวาง layout หนังสือรุ่น ม.6 นอกจากได้ฝึกฝีมือยังมีค่าตอบแทนให้ด้วย"

“จริงๆ ช่วงที่เหนื่อยๆ ก็เคย homesick นะ คิดถึงครอบครัวคิดถึงเพื่อนที่ไทย

แต่พอเราได้ทำในสิ่งที่ใช่ เหมือนเราเจอที่ของตัวเองแล้ว เราก็เลยเลือกจะเต็มที่กับมัน 

ความรู้สึกแบบนั้นก็เลยค่อยๆ หายไปเอง”

Bayshore Christian School
Bayshore Christian School
Photo credit:  www.fox13news.com

กราฟิกดีไซน์ vs สถาปัตย์
 รู้สึกทางไหนใช่กว่า?

“พอจบเกรด12 (ม.6) ก็มาถึงทางแยกของชีวิตระหว่างกราฟิกดีไซน์กับสถาปัตย์ฯ เพราะกราฟิกดีไซน์ของอเมริกาจะเป็นคณะแยกออกมาเลย ไม่ได้เป็นสาขาวิชาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เหมือนของไทย  

เราก็ลองปรึกษาที่บ้านดู เค้าก็เชียร์ให้ไปสถาปัตย์แหละ เพราะที่นี่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (License) ซึ่งมีคนสอบผ่านไม่มากและอาชีพก็เป็นที่ต้องการสูง ส่วนดีไซเนอร์ขอบข่ายงานจะกว้างกว่า ครอบครัวเลยกลัวว่าจะการแข่งขันสูง ใจเราตอนนั้นอะไรก็ได้เพราะ ม.ปลายได้เรียนเขียนแบบเหมือนกัน แล้วเราก็เสพงานศิลปะ เลยรู้สึกว่าสถาปนิกก็ออกแบบบ้านกับอาคารได้ปังเหมือนกัน เงินก็สูง เราเลยตัดสินใจเรียนสถาปัตย์ระบบ College ที่  Hillsborough Community College

Hillsborough Community College
Hillsborough Community College
Photo  credit:  www.visittampabay.com

การสอบเข้าเรียนต่อที่อเมริกาต้องผ่านกี่ด่าน?

  • คะแนน SAT
  • คะแนนภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL ITP : สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
  • Portfolio : คณะทางศิลปะจะต้องส่งผลงานที่เคยทำมาด้วย
  • เรียงความ (essay): เหตุผลที่อยากเข้าเรียนที่นั้นๆ และแพลนการเรียนในอนาคต
  • การสอบสัมภาษณ์จะมีในกรณีนักศึกษาต้องการขอทุน

เรียนสถาปัตย์ที่อเมริกา
สุขภาพพังจนตัดสินใจย้ายสาย!

“ข้อดีของการเรียนระบบ College คือเซฟค่าใช้จ่ายไปเยอะเพราะรัฐฯ มีเงินสนับสนุน เวลาเรียนก็ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่ยอมรับว่ายากจริง หลายคนอาจคิดว่าแค่วาดเขียน ออกแบบบ้าน ตกแต่งภายใน แต่จริงๆ กว่าจะถึงขั้นนั้นต้องเรียนวิชาพื้นฐานมาก่อน เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เรียนเขียนแปลน และอีกเยอะแยะ 

แล้วที่พีคคือต้องทำโมเดลหรือที่เด็กสถาปัตย์เรียกว่า ‘ตัดโม’ นั่นแหละ  จำได้ว่าพอเลิกเรียนตอนเย็น ไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารของน้าถึงดึก แล้วนั่งตัดโมถึงเกือบเช้า เสร็จ 8 โมงเช้าไปเรียนต่อ ใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้เป็นปี ตอนนั้น suffer แล้วเพราะรู้สึกมันไม่ใช่สิ่งที่ชอบจริงๆ (เราอาจจะแค่ชอบดูโมเดลบ้านแต่ไม่ได้ชอบทำอะ)

แล้ววันที่เป็นจุดเปลี่ยนก็คือตอนตัดโมถึงเช้า แล้วขับรถไปเรียนต่อ เรามีอาการชัก! ตอนนั้นหมอบอกว่าเราใช้ร่างกายหนักเกินไป พักผ่อนน้อย สุขภาพพังมากกกก ทำให้เราคิดได้นะว่าจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรอ? ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่โอเคแล้ว เราก็ปรึกษาที่บ้านเลยว่าจะย้ายไปเรียนดีไซน์ ขอเลือกชีวิตตัวเองดีกว่า พอวางแพลนเสร็จก็ใช้เวลา 2 ปีที่ College เก็บวิชาพื้นฐานให้หมด โชคดีตรง 2 คณะนี้มีวิชาพื้นฐานเหมือนกันหลายวิชา ทำให้เก็บหน่วยกิตได้ ตอนนั้นสุขภาพดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด"

“เราเชื่อเสมอว่าไม่มีใครไม่เคยทำพลาดหรอก อย่างน้อยก็ต้องเคยทำอะไรผิดสักครั้งในชีวิต แต่สำคัญอยู่ที่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้ว...เราเรียนรู้อะไรจากมันบ้างแค่นั้นเอง”

จากสถาปนิกสู่เส้นทางดีไซเนอร์:
ในที่สุดเราก็เจอสิ่งที่ใช่แล้ว

University of Tampa
University of Tampa
Photo  credit:  www.usnews.com

“เราเรียนระบบ College ได้ 2 ปีเก็บหน่วยกิตวิชาพื้นฐานเสร็จก็โอนหน่วยกิตมาเรียนในระบบมหาวิทยาลัยที่ University of Tampa ก็คือมาเริ่มปี 3 ที่นี่เลย ระบบการศึกษาอเมริกาไม่ค่อยจุกจิกเท่าไหร่ และถ้าอยากขอทุนก็ขอได้เลยไม่ค่อยมีข้อผูกมัด เราโชคดีที่ได้ทั้งทุนทั้งโอนหน่วยกิตมาได้ ตอนนั้นเลยรู้สึกว่า ‘เอาล่ะ...ทุกอย่างลงล็อกหมดแล้ว เหลือแค่เรามุ่งมั่นเท่านั้น’ 

มารู้จักกับ University of Tampa สักหน่อย

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Tampa และเป็นอันดับต้นๆ  ของรัฐ Florida เลยทีเดียวค่ะ ที่นี่ประกอบไปด้วย 4 Colleges แต่ละแห่งจะมีคณะแยกย่อยต่างกัน

  • College of Arts and Letters เช่น Art and Design, Communication, English and Writing, Film, Animation and New Media, Languages and Linguistics
  • Sykes College of Business : คณะที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัย
  • College of Natural and Health Sciences เช่น Biology, Chemistry, Biochemistry and Physics, Health Sciences and Human Performance และ Nursing
  • College of Social Sciences, Mathematics and Education เช่น History, Sociology, Geography and Legal Studies, Mathematics, Political Science and International Studies และ Psychology
ดูรายละเอียดหลักสูตรที่นี่

“จุดขายของมหา’ลัยอย่างแรกคือตั้งอยู่ใจกลางเมืองและมีพื้นที่กว้างมาก เข้าไปตอนแรกเราว้าวกับแคมปัสมากๆ อะ แล้วยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกจัดเต็มให้สมควร จริงๆ คณะเราไม่ได้ใหญ่มาก แต่อุปกรณ์ที่ต้องใช้มีครบ แล้วนักศึกษาก็ส่งเสียงไปถึงผู้บริหารได้ว่าอยากได้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง เขาจะรับฟัง”

“ส่วนคณะ Business นี่ไม่ต้องพูดถึง อลังการล้านแปดมากค่ะคุณ เค้ามีห้องไว้สอนเทรดหุ้นโดยเฉพาะเลย แล้วนักศึกษาทั้งมหา’ลัยก็มาเรียนคลาสนี้ได้หมด จะมีโซนให้นักศึกษามาหาคอนเนกชัน พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ทำให้มีธุรกิจ start-up จากม.เราเยอะมาก”

กราฟิกดีไซน์เรียนอะไรบ้าง? 

“วิชาเรียนเฉพาะทางมีเยอะมาก แต่เรายกให้ 5 วิชานี้น่าสนใจสุด

  • วิชา Printmaking (ศิลปะภาพพิมพ์): เรียนเกี่ยวกับการสร้างงานทัศนศิลป์ 2 มิติ อาจจะมีการแสดงมิติที่สามโดยการสร้างขึ้นโดยการประกอบกันองค์ประกอบหรือหลักการของทัศนศิลป์ (Elements and Principal of Art) โดยอาศัยแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การแกะสลักแม่พิมพ์หรือการพิมพ์สกรีน (screen printing) 
  • วิชาแกลอรี : วิชานี้ไม่ได้สอนแค่การจัดแกลลอรี คัดเลือกงานไปขึ้นโชว์ แต่เขาสอนไปยันการเตรียม portfolio การถ่ายผลงานของเรายังไงให้น่าสนใจ เตรียมตัวเราให้พร้อมกับการยื่นขอฝึกงานหรือการสมัครงานจริงๆ
  • วิชาถ่ายภาพ : เป็นเบสิกที่เด็กกราฟิกทุกคนต้องทำให้ได้ เรียนตั้งแต่ถ่ายกล้องฟิล์มไปจนถึงจัดแสงในสตูดิโอ อย่างตอนเรียนถ่ายรูปฟิล์มคือสนุกมากๆ อาจารย์ให้ทำตั้งแต่ล้างฟิล์มไปยันอัดรูปเอง เราได้สกิลผสมน้ำยาล้างฟิล์มจากคลาสนี้แหละ
  • วิชาอักขระ (Typography) :  วิชานี้เรียนตั้งแต่ที่มา ประเภท และองค์ประกอบของตัวอักษร เรียนเทคนิคและศิลปะในการนำไปประยุกต์ใช้ตัวอักษร และหลักการออกแบบต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มีความหมายชัดเจน มีความน่าสนใจ รวมไปถึงการครีเอตฟอนต์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เลย

"ด้วยความที่คณะและมหา'ลัยมีอิสระในการเลือกเรียนมาก เลยมีวิชาชื่อ 'Individual Study' (ไทยก็มีนะถ้าจำไม่ผิด) เราเลือกเรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นคณะที่คณะไม่มีสอน ที่สำคัญคือเราจะเป็นคนเดียวที่เรียนวิชานี้ เขียน adenda ของวิชาเรียนเองเลย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและประเมินงานเรา อย่างเช่นตอนนั้นเราสนใจพวก UI and UX Design ที่คณะไม่ได้สอนแขนงนี้ละเอียดเท่าไหร่ เราก็เลยลงเพื่อโฟกัสเพิิ่มเติม เป็นวิชาที่ท้าทายมากเพราะเรียนคนเดียว ได้ค้นหาทดลองทำเองทุกอย่าง"

"ที่นี่จะตัดคะแนนแบบ A+, A, AB (ชื่อจะแปลกหน่อย แต่เป็นแบบ A, B, C, D นั่นแหละ) ซึ่ง% คะแนนคือโหดมากกกก ตัด A ที่ 95% จ้า ใครที่จะได้เกรดสวยๆ ผลงานต้องปังจริงๆ อะ ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ยตามมาด้วยค่าใช้จ่ายค่าอุปกรณ์มหาศาลเลยนะ เรียนคณะทางสายนี้ต้องทำใจไว้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างที่บอกว่าทางมหา’ลัยมีทุนช่วยเรื่องค่าเทอม ราวๆ 30,000 ดอลลาร์ต่อปีก็ดีที่ยังมีทุนช่วย เราก็เลยลงเงินตัวเองไปกับอุปกรณ์อย่างเดียวเลย”

Culture เจ๋งๆ แบบอเมริกันสไตล์

“ที่นี่ซีเรียสความสุภาพอยู่แล้วตามมารยาทพื้นฐานทางสังคม แต่จะไม่ยึดโยงไว้กับอายุอะไรแบบนั้น เรารู้สึกนักศึกษากับอาจารย์ไม่มีระยะห่างกันมาก มีอะไรพูดกับเค้าได้โดยตรงแบบไม่ต้องกังวลเรื่องความอาวุโส เวลาเลิกคลาสนักศึษาก็ชวนอาจารย์ไปดื่มคลายเครียดกันได้ ชิลล์ๆ เลย” แล้วพอความสัมพันธ์ไม่มีกำแพงมากั้น"

"เวลาคอมเมนต์งานอาจารย์ก็จะไม่ใช้คำแบบเสียดสีหรือดูถูกงานนักศึกษา แต่จะรักษาน้ำใจเราสุดๆ คือเค้าบอกว่าศิลปะไม่มีถูกผิด แต่หลักการมันก็มีอยู่นะถ้างานเรามันไปไกลแบบหลุดไปเกิน เค้าก็จะแนะนำว่า ‘งานของคุณดีนะ...ไอเดียดีเลยแต่ถ้าเพิ่มอันนี้ไปด้วยจะดีกว่ามั้ย’ นักศึกษาก็จะใจฟูแล้วว่าเราไม่ได้โดนด่าแต่อาจารย์ติเพื่อก่อจริงๆ แล้วที่อิมแพ็คเรามากๆ อีกอย่างคือมหา’ลัยใส่ใจ mental health ของนักศึกษา ถ้าเครียดหรือมีปัญหาอะไรก็ไปหานักจิตวิทยาได้เลย เค้าไม่ได้มองว่าการเข้าไปตรงนั้นคือเราป่วย แต่หมายถึงเราต้องการทางออกเฉยๆ พอได้รับการแก้ไขเราก็ไปต่อได้”

“การศึกษาที่ดีไม่ควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกแย่ เราว่ามันต้องดีมาตั้งแต่โครงสร้างการศึกษา มาจนถึงเรื่องของบุคลากรเลย การเรียนการสอนที่ให้เกียรติกันและกันเราว่ามันสะท้อนคำว่า สังคมอุดมปัญญามากที่สุดแล้ว”

ตอนปี 4 ทำโปรเจกต์จบชื่อ ‘Note to Self’

"Note to Self เป็นแคมเปญให้คนได้มีพื้นที่แสดงออก โดยมีกระดาษโน้ตให้เขียนข้อความถึงตัวเอง อาจเป็นสิ่งที่อยากบอกตัวเองตอนนี้หรือในอนาคตก็ได้ เราได้แรงบันดาลใจจากวิชาปรัชญาที่เราลงเป็นวิชาเลือก ซึ่งทำให้เราเข้าใจโลกและตัวเองมากขึ้่น เรามองว่าการเข้าใจตัวเองสำคัญมากเลยอยากส่งต่อให้คนอื่น อยา่งน้อยที่เล็กๆ ตรงนี้จะให้คุณได้เล่าเรื่องในใจออกมาบ้าง"

"คณะเราจะมีวันจัดแสดงผลงาน ซึ่งจัดที่แกเลอรีของมหา’ลัย นักศึกษาก็จะไปจองพื้นที่ที่เหมาะกับผลงานตัวเองกัน เป็นการรวมพลคนสายศิลป์เลยแหละ ใครที่จองที่กว้างเอาไว้ก็เตรียมเหนื่อยจ้าเพราะต้องจัดที่ให้คุ้มๆ ซึ่งคนคนนั้นคือเราเอง5555 เป็นการพรีเซนต์โปรเจกต์ที่เหนื่อยแต่ภูมิใจมากกกก แล้วก็ได้ใช้ความรู้ทุกวิชาที่เรียนมาตลอด 4 ปีเลย”

เปิดประสบการณ์ฝึกงานครั้งแรก: 
เส้นทางดีไซเนอร์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“ด่านนี้เป็นก้าวสำคัญมากสำหรับชีวิตนักศึกษาของเราเลย ตอนนั้นต้องยื่นฝึกงานแล้วก็เรียนซัมเมอร์ควบคู่กันไปด้วย เราก็ยื่นเลย...ยื่นไปหลายที่มากทั้งเมืองอื่นและที่ Tampa แต่เชื่อมั้ยว่าเค้าปฏิเสธเราหมด (ใจแป้วไปแล้วจุดนั้น) ยกเว้น Schifino Lee เป็นเอเยนซีเดียวที่รับเราเข้าฝึกงาน บริษัทนี้ทำเกี่ยวกับงานโฆษณาแบบครบวงจร"

แล้วสิ่งที่เราเซอร์ไพรส์สุดเลยคือเค้าดูแลโปรเจ็กต์ออกแบบโลโก้งาน Super Bowl 2021 อยู่ด้วย! จริงๆ เราประทับใจขั้นตอนการรับสมัครเด็กฝึกงานของอเมริกาอยู่เหมือนกัน คือเค้าจะไม่ได้ให้ส่งรูปถ่ายหรือระบุเชื้อชาติมาในใบสมัครเลย เพราะเค้าเลี่ยง bias สุดๆ อะ เค้าจะดูที่ผลงานกันล้วนๆ เราเลยคิดว่าแบบนี้แฟร์ดี

งาน Super  Bowl 2021 
งาน Super  Bowl 2021 
Photo  credit:  www.tampabay.com

จากเด็กฝึกงานสู่เจ้าของไอเดียโลโก้งานแข่งขันระดับโลก!

“อย่างที่บอกว่าเอเยนซีนี้รับผิดชอบเรื่องออกแบบโลโก้งาน Super Bowl Fan Experience ซึ่งโลโก้นี้ก็จะไปอยู่บนโปรดักต์ที่เกี่ยวกับงาน อย่างของระลึกเช่น กระเป๋า เสื้อ พวงกุญแจ เอาไปสกรีนลายหน้ากากอนามัย ตอนนั้นเราไม่คิดว่าบอสจะให้เด็กฝึกงานคือเรากับเพื่อนอีกคนได้ลองเสนอไอเดียเลย แต่บอกแล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรที่นี่แฟร์มาก ไม่ได้แบ่งชนชั้นอะไรขนาดนั้น บอสเลยเสนอว่าให้เด็กฝึกงานออกแบบโลโก้งานนี้แข่งกับบอส เราก็แบบ ‘หา? บอสเอาจริงหรอ? เราเนี่ยนะ’ อะไรประมาณนี้ ถึงบอสจะบอกให้คิดซะว่าเป็นกิจกรรมฝึกฝีมือเล่นๆ แต่เรากลับไม่คิดงั้นนะ เราอยากทำให้เต็มที่ที่สุดและซีเรียสกับมันมากๆ ด้วย

โจทย์ที่เค้าให้มาคือทำยังไงก็ได้ให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนบอลเห็นโลโก้นี้แล้วคิดถึงเมือง Tampa (=ทำผลงานให้เข้าถึงง่าย) เราก็เริ่มโดยการนั่งรีเสิร์ชหาข้อมูลประวัติเมืองนี้ 2 วันเต็มๆ แล้วได้แรงบันดาลใจจากทีมฟุตบอลของ Tampa ด้วย จากนั้นก็ไปเดินถามคนใน ม.ทีละคนว่า 'ถ้าพูดถึงเมืองนี้ จะนึกถึงอะไร?'  สุดท้ายได้คอนเซ็ปต์เรือใบโจรสลัด ซึ่งเกี่ยวกับประวัติของ Tampa และเมืองนี้ยังอยู่ติดทะเล มีอ่าว Tampa Bay ด้วย"

"โจทย์ต่อไปคือต้องออกแบบโลโก้ที่มีรายละเอียด 20 อย่างให้ออกมามินิมอล 5555 ตอนได้ยินครั้งแรกเราอึ้งไปเลย ยังไงนะคะ? ที่บรีฟมาเมื่อกี้เอาแบบมินิมอลจริงๆ หรอ? แต่หน้าที่ของดีไซเนอร์คือทำตามความต้องการของลูกค้าค่ะ เราก็โอเคเริ่มร่างแบบโดยที่ดูจากโลโก้งานปีก่อนๆ ว่าเค้าชอบประมาณไหน แบบที่ร่างไว้เยอะมากจนนับไม่ไหวเลยอะ "

"ระหว่างทำโปรเจ็กต์ทางเอเยนซีก็คอยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์กับสถานที่ และมีทีมงานคอยช่วยเด็กฝึกงาน จนเราได้ชิ้นที่เป็นไฟนอลมาแล้ว แต่บังเอิญวันนั้นเราติดงานที่มหา’ลัยพอดีมาพรีเซนต์เองไม่ได้ เลยฝากบอสพรีเซนต์ให้ลูกค้าแทนเรา"

โอกาสที่ได้มาแบบไม่คาดฝัน

“หลังจากนั้นบอสโทรหาเราแล้วบอกให้เข้าออฟฟิศด่วนมากๆ ต้องมาเลยมาเดี๋ยวนี้! เราก็แปลกใจแล้วว่าต้องมีอะไรสักอย่าง พอเราเข้าไปออฟฟิศบอสก็มารอรับหน้าประตูเลย แล้วบอกว่า ‘ลูกค้าเลือกผลงานเธอนะ’ เท่านั้นแหละเราเหมือนหูดับไปเลย คืออึ้งมากๆ แบบมากที่สุด ความคิดแรกคือบอสหลอกเราแน่ๆ แกล้งเราเล่นชัวร์ จนบอสต้องไปเปิดอีเมลที่ลูกค้าส่งมาให้เราดูเป็นการยืนยัน เราก็กรี๊ดเลย5555 ไม่เคยคิดว่าเค้าจะเลือกผลงานของเด็กฝึกงานอะ ดีใจมากกกก"

"แต่ความรู้สึกต่อมาคือความกลัวนะ ถ้าพูดกันจริงๆ อายุงานเราน้อยมากในสายดีไซเนอร์ แล้วงานระดับใหญ่มากเรียกได้ว่า Super Bowl เป็นงานที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลกแล้ว แต่เราก็โชคดีที่มีบอส มีทีมงานในเอเยนซีที่ช่วยกันตลอด ไม่เคยปล่อยเราเคว้งเลย และเค้าก็ให้เกียรติเราเสมอในฐานะเจ้าของไอเดีย ซึ่งเราแฮปปี้กับตรงนี้มากๆ เวลา 3 เดือนที่ทำโปรเจกต์นี้มีคุณค่าสำหรับดีไซเนอร์ฝึกหัดอย่างเราจริงๆ และตลอดเวลาที่ฝึกงาน เอเยนซีและทีมให้โอกาสเด็กฝึกงานเยอะมากจนเราประทับใจและรู้สึกขอบคุณมาจนถึงทุกวันนี้"

“ตอนนั้นเราคิดเล่นๆ ว่าถ้าผลงานของเราไปอยู่ในงานที่มีมูลค่าสูงขนาดนั้นได้จะเป็นยังไงนะ? เราก็เลยไม่ทำแบบเป็น exercise สำหรับเด็กฝึกงานแต่เราทุ่มเทกับมันมากๆ แม้มันจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เราได้มาอยู่จุดนี้ แต่เราก็จะคว้าโอกาสนั้นไว้แล้วทำให้เต็มที่”

“ความรู้สึกตอนเห็นผลงานเราไปอยู่ในงานและได้เห็นคนถือโปรดักต์ที่มีโลโก้ของเราอยู่...ตอนนั้นภูมิใจมาก ความพยายามของเราออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ไม่เคยเสียใจที่เปลี่ยนมาเรียนกราฟิกดีไซน์เลย คิดว่าเรามาถูกทางแล้ว ต่อจากนี้เราก็พร้อมที่จะเรียนรู้เส้นทางนี้ และเราก็จะทำทุกงานออกมาให้ดีที่สุด”- เชอรี่ พัชณิษฐ์

เป็นยังไงกันบ้างคะกับประสบการณ์เส้นทางกราฟิกดีไซเนอร์สไตล์พี่เชอรี่ ช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่อเมริกาเปลี่ยนเธอให้สตรองและมีมุมมองที่กว้างมากๆ เลยล่ะค่ะ จะเห็นว่าการสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาสักอย่างนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้ที่สั่งสมมา ความทุ่มเท ความอดทนต่ออุปสรรคและที่สำคัญต้องมีใจรักที่จะทำสิ่งนั้นด้วย 

พี่มายมิ้นท์เชื่อว่าถ้าเราเริ่มต้นด้วยความชอบ เราก็จะมีความสุขที่ได้ทำและอยากจะทำมันออกมาให้ดีที่สุด ยิ่งบวกกับความคิดสร้างสรรค์เข้าไปด้วยผลงานจะต้องออกมาเป็นที่น่าพอใจแน่นอน ในอนาคตเราก็คงจะได้เห็นผลงานที่มีคุณค่าของดีไซเนอร์ที่ชื่อว่าเชอรี่-พัชณิษฐ์ในงานระดับโลกต่อไปอีกหลายๆ ผลงาน มาเป็นกำลังใจให้เธอในเส้นทางสายนี้กันนะคะ ส่วนพี่มายมิ้นท์ก็จะขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการค้นหาตัวตนให้เจอและได้ทำในสิ่งที่รักเช่นกันค่ะ ส่วนเรื่องราวประสบการณ์เด็กนอกในครั้งหน้าจะเป็นอะไร ติดตามได้ที่เว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ ของ Dek-D ค่ะ ^ ^ 

พี่มายมิ้นท์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น