จากการ์ตูนสู่ชีวิตจริง: เช็กลิสต์ 10 อาการซินโดรมจากตัวละครเรื่องโปรด! (เรากำลังเป็นอยู่มั้ย?)

สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคนน ในวัยเด็กมีใครเคยชอบอ่านหนังสือนิทานกันบ้าง // ยกมือ สำหรับพี่เรื่องที่ชอบสุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องปีเตอร์แพนกับการผจญภัยในดินแดนเนเวอร์แลนด์ นอกจากเป็นจะนิทานคลาสสิกในตำนานแล้ว น้องๆ รู้ไหมว่าชื่อตัวละครในนิทานหรือวรรณกรรมที่เรารู้จักเหล่านี้ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มอาการซินโดรม (Syndrome) ให้ผู้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น อารมณ์แบบเห็นแค่ชื่อก็จะร้องอ๋อออ เดาอาการออกได้ทันที

ฟังดูก็น่ารักดีใช่ไหมล่ะ แต่! บอกไว้เลยว่าอาการของมันไม่ได้น่ารักเหมือนกับชื่อ มีผู้ป่วยมากมายที่ต้องทนทุกข์จากกลุ่มอาการเหล่านี้ วันนี้พี่จะพาน้องๆ มาทำความรู้จักกับ 10 กลุ่มอาการซินโดรม ที่ตั้งชื่อมาจากตัวละครในนิทานและวรรณกรรมสุดแสนคลาสสิก จะมีอะไรกันบ้างนั้นตามไปดูพร้อมกันเลย

..................................

อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ ซินโดรม 
(Alice in Wonderland Syndrome: AIW) 

Photo Credit: Bookstr.com
Photo Credit: Bookstr.com

เห็นชื่อแล้วคุ้นเคยกันดีใช่มั้ยครับ Alice's Adventures in Wonderland หรือ Alice in Wonderland คือวรรณกรรมแนวแฟนตาซีชื่อดังที่เล่าเรื่องราวของเด็กสาวชื่ออลิซที่ตกลงไปในโพรงกระต่าย แล้วโพรงนั้นก็พาเธอไปเจอกับอีกโลกที่เหนือจินตนาการ

จากนั้นเธอก็มาเจอบ้านปริศนาที่มีขวดยาแปะป้าย “Drink me” ตั้งอยู่ หากดื่มไปแล้วจะทำให้ตัวขยายใหญ่ขึ้นเหมือนยักษ์ และตรงกันข้ามถ้ากินเค้กที่เขียนว่า “Eat me” จะทำให้ตัวหดเล็กลง ฉากนี้แหละกลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่มอาการ AIW ที่ผู้ป่วยมีปัญหาระบบประสาทด้านการมองเห็น โดยอาจจะเห็นสิ่งรอบตัวขยายใหญ่ขึ้นหรือย่อเล็กลงไปจากความเป็นจริง บางทีอาจเห็นนิ้วเท้าตัวเองยาวเป็นฟุต ประตูห้องน้ำที่หดเล็กจนเหมือนห่างไกลไปหลายไมล์เลยก็ได้ แน่นอนว่าใช้ชีวิตลำบากขึ้นหลายเท่าเลยครับ

..................................

แมด แฮทเทอร์ ซินโดรม 
(Mad Hatter Syndrome หรือ Erethism mercurialis) 

Photo  Credit: Mickeyblog.com
Photo  Credit: Mickeyblog.com

ต่อกันที่ ‘แมด แฮทเทอร์’ อีกหนึ่งตัวละครที่มาจากเรื่อง Alice in Wonderland ด้วยอุปนิสัยที่ดูไม่เต็มสักเท่าไหร่ทำให้ถูกตั้งฉายาว่า “ช่างทำหมวกสุดเพี้ยน” นั่นเอง ซึ่งบางคนก็เชื่อว่าชื่อของตัวละครนี้มีที่มาจาก แมด แฮทเทอร์ ซินโดรม โรคที่เกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 จากการสัมผัสและรับสารปรอทเข้าร่างกายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

 เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่างทำรองเท้าเลยยังต้องใช้สารปรอทในการลอกหนังสัตว์มาทำรองเท้าอยู่ อย่างที่รู้กันว่าการรับสารปรอทอย่างต่อเนื่องส่งผลเสียต่อร่างกายมาก หากสะสมนานก็อาจทำให้เห็นภาพหลอน ควบคุมตัวเองไม่ได้ สูญเสียความทรงจำชั่วคราว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโวยวายง่าย คล้ายกับลักษณะของตัวละครในเรื่องนั่นเองครับ

..................................

เมาคลี ซินโดรม 
(Mowgli Syndrome)

Photo Credit: Awn.com
Photo Credit: Awn.com

เมาคลีล่าสัตว์...เมาคลีล่าสัตว์… อีกหนึ่งเรื่องราวที่พี่เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นเรื่องราวของทารกที่ถูกลืมทิ้งไว้ในป่า และถูกเสือช่วยชีวิตเลี้ยงดูจนโต จึงไม่ต้องสงสัยเลยครับว่าทำไมในเรื่องเมาคลีถึงมีพฤติกรรมดุร้ายเหมือนสัตว์ป่า

สำหรับเมาคลี ซินโดรม จัดเป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางจิต อาการจะแสดงออกมาในรูปแบบของความไม่มั่นคงทางอารมณ์ บางคนอาจซึมเศร้า บางคนอาจก้าวร้าว ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่ครอบครัวละเลยไม่ใส่ใจเหมือนกับเมาคลีผู้ถูกทอดทิ้ง หรืออาจจะมีความทรงจำที่เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทำร้ายจากคนรอบข้างอย่างคนในครอบครัว จนทำให้มีพฤติกรรมที่ปิดกั้นตัวเอง และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง 

..................................

 ปีเตอร์แพน และเวนดี้ ซินโดรม  
(Peter Pan and Wendy Syndrome) 

Photo  Credit:  Inews.co.uk
Photo  Credit:  Inews.co.uk

เมื่อนึกถึงปีเตอร์แพนก็มีภาพเกาะเนเวอร์แลนด์ (Neverland) ที่ทุกคนบนเกาะจะเป็นเด็กไปตลอดกาล ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโจรสลัด นางเงือก หรือแก๊งเด็กหลงที่รักการผจญภัย

การเป็นเด็กไปตลอดกาลนั้นไม่ได้มีแค่ในนิทานเท่านั้น น้องๆ เชื่อมั้ยครับว่ามันมีกลุ่มอาการที่ชื่อปีเตอร์แพน ซินโดรมอยู่ด้วย และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการคือผู้ป่วยจะไม่เชื่อว่าตัวเองมีอายุเพิ่มมากขึ้น มักจะทำตัวเหมือนเด็กตลอดเวลา ก้าวร้าวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ รักอิสระ ชอบกังวล ขาดความมั่นใจ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ และทนความลำบากไม่ค่อยได้ด้วยเช่นกัน หลักๆ แล้วมีสาเหตุมาจากการถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงมตามใจตั้งแต่เด็กๆ จนส่งผลให้มีพฤติกรรมข้างต้นติดตัวมาถึงตอนโตนั่นเองครับ

Photo  Credit: Images.moviesanywhere.com
Photo  Credit: Images.moviesanywhere.com

มีปีเตอร์แพนไปแล้วก็ต้องมีเวนดี้ เด็กสาวที่ร่วมผจญภัยในดินแดนเนเวอร์แลนด์ด้วย ถ้าใครเคยดูเรื่องนี้คงเห็นผ่านตาว่าเวนดี้คือคนที่คอยดูแลน้องๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะคอยจัดการงานบ้าน เล่านิทาน พาเข้านอน ฯลฯ เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ ครับ

พออ่านแบบนี้หลายคนคงเดาได้ว่า 'เวนดี้ ซินโดรม' (Wendy Syndrome) คือขั้วตรงข้ามกับข้อเมื่อกี้นี้เลยครับ  คำนี้จะใช้อธิบายถึงผู้ที่มีพฤติกรรมปฏิบัติกับคู่รักหรือคนใกล้ชิดเสมือนเป็นแม่หรือผู้ปกครอง (มักพบในเพศหญิงมากกว่า) ไม่ว่าจะออกตัวปกป้องจนเกินพอดี การยกความรับผิดชอบของคนใกล้ชิดมาจัดการเองหมด มักจะชอบคิดและตัดสินใจแทนคนรอบข้าง ซึ่งพวกเธอมองว่าการดูแลด้วยวิธีนี้คือการแสดงออกถึงความรักแหละ แต่ผลคือบางทีคำพูดและการกระทำก็อาจไปบั่นทอนความมั่นใจของคนรอบข้างก็ได้ครับ

..................................

เจ้าหญิงนิทรา ซินโดรม 
(Sleeping Beauty Syndrome หรือ Kleine-Levin Syndrome: KLS) 

Photo Credit: Philnews.ph
Photo Credit: Philnews.ph

คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักกับ Sleeping Beauty เรื่องราวของเจ้าหญิงออโรร่าที่ต้องคำสาปจากแม่มดมาเลฟิเซนต์ ถูกเข็มเครื่องปั่นด้ายตำนิ้วจนต้องหลับไหลไปชั่วนิรันดร์ และจะฟื้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับจุมพิตจากเจ้าชายผู้เป็นรักแท้เท่านั้น ฟังดูก็เหมือนเป็นแค่พล็อตในนิทาน แต่เชื่อมั้ยครับว่าอาการหลับยาวแบบนี้มีอยู่จริงบนโลกด้วยนะ

การหลับไหลของออโรร่าถูกนำมาเรียกเป็นชื่อในกลุ่มอาการของเจ้าหญิงนิทรา ซินโดรม เป็นอาการของคนที่นอนหลับเกือบทั้งวัน (ประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน บางคนอาจจะหรืออาจยาวนานถึง 1 สัปดาห์)  และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น ความน่ากลัวของโรคนี้คือเราจะไม่สามารถแยกได้เลยว่าตอนนี้เราตื่นหรือนอนหลับอยู่ สับสนระหว่างความฝันกับความจริง ยิ่งไปกว่านั้นคือหลังตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน ก็ต้องสูญเสียประสาทการรับรู้ไปชั่วขณะ ส่งผลให้ทำตัวเชื่องช้าและทำงานไม่ได้เต็มที่ด้วยครับ  

..................................

ต่อกันที่ฝั่งวรรณกรรมยุโรปและอเมริกันบ้างดีกว่า หลายคนก็อาจจะไม่เคยเห็นหน้าค่าตาหรือรู้จักวรรณกรรมเหล่านี้ แต่รู้ไหมครับว่านิสัยของตัวละครในแต่ละเรื่องก็คล้ายกับกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคน จนต้องเอาชื่อตัวละครมาตั้งเป็นชื่อเรียกอาการกัน จะมีอะไรบ้างนั้นตามมาดูไปพร้อมกันเลย 

มาดามโบวารี ซินโดรม 
(Madame Bovary Syndrome) 

Photo Credit: Libriantichionline.com
Photo Credit: Libriantichionline.com

ซินโดรมนี้มาจากนวนิยายอันโด่งดังของกูสตัฟ ฟลอแบร์ (Gustave Flaubert) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ก่อนที่จะถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์และรีเมคในหลายๆ เวอร์ชัน ‘Madame Bovary’ เป็นเรื่องราวของอ็องมา (Emma) หญิงสาวผู้ทะเยอทะยานตามหาชีวิตที่หรูหรา เธอได้แต่งงานกับชาร์ลส์ โบวารี หมอที่ดูเพียบพร้อมทุกอย่าง สุดท้ายชีวิตก็ไม่ได้เป็นดั่งที่ฝัน เธอรู้สึกเบื่อและท้อแท้กับชีวิตหลังแต่งงาน ถึงขั้นกับป่วยหนักจนต้องเดินทางไปรักษาตัวในเมือง 

เวลาผ่านไปเธอก็เริ่มนำเงินเก็บของชาร์ลส์มาใช้เพื่อเติมเต็มชีวิตที่เคยฝัน ก่อหนี้สินทิ้งไว้มากมาย ในที่สุดก็ถึงจุดที่กลายเป็นคนถังแตก อ็องมาถูกยึดทรัพย์สินจนหมด ด้วยความอับอายบวกกับผิดหวัง เธอจึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกินยาฆ่าแมลง จากนั้นไม่นานครอบครัวของเธอก็ล้มละลาย ชาร์ลส์ตัดสินใจฆ่าตัวตายตาม ทิ้งให้ลูกอยู่คนเดียวเพียงลำพัง 

เพราะความฟุ่มเฟือยเกินลิมิตของอ็องมาเลยกลายมาเป็นที่มาของกลุ่มอาการที่มีชื่อเรียกว่า ‘มาดามโบวารี ซินโดรม’ คนที่ชอบใช้จ่ายเงินแบบไม่มีการวางแผน ขอแค่ได้สนองรสนิยมของตัวเองก็พอ รู้ตัวอีกทีก็มีหนี้ก้อนโตรออยู่ตรงหน้าแล้ว! 

..................................

ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม 
(Dorian Gray Syndrome) 

Photo  Credit: Liminamundi.wordpress.com
Photo  Credit: Liminamundi.wordpress.com

อีกหนึ่งนวนิยายที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2009 เรื่องราวของดอเรียน (Dorian) หนุ่มไร้เดียงสาผู้เดินทางมายังกรุงลอนดอน ระหว่างทางเขาก็ได้เจอกับจิตรกรที่ชื่อว่า บาซิล ฮอลวอร์ด ผู้ที่หลงใหลในตัวชายหนุ่มจนต้องวาดภาพเพื่อเก็บความงามนั้นเอาไว้  ใครจะไปรู้ว่าภาพวาดนั้นจะทำให้เขาได้รับร่างกายที่เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ความเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งอายุขัย ก็จะถูกภาพวาดรับเอาไว้แทนราวกับว่าวิญญาณของเขาเข้าไปสิงอยู่ในนั้น 

ความอมตะที่ได้มาจากภาพวาดของดอเรียน ถูกนำมาเรียกเป็นชื่อในกลุ่มอาการของ  ‘ดอเรียน เกรย์ ซินโดรม’ (Dorian Gray Syndrome)  ผู้ที่มีอาการยึดติดกับความเยาว์วัย มักกังวลกับรูปลักษณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา ชอบรู้สึกว่าตัวเองแก่ขึ้น หน้าตาไม่หมือนเดิม ขาดความมั่นใจเวลาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคม บางคนถึงขั้นเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน

..................................

โอเทลโล่ ซินโดรม 
(Othello Syndrome)

Photo  Credit: Ikissedtheeereikilledthee.files.wordpress.com
Photo  Credit: Ikissedtheeereikilledthee.files.wordpress.com

พูดถึงนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษก็ต้องมีวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) อยู่แน่นอนครับ สำหรับนวนิยายนาฏกรรมแห่งรักอย่าง โอเทลโล่ (Othello) ก็เป็นอีกเรื่องที่โด่งดังมากๆ ซึ่งเนื้อหาก็พูดถึงเรื่องราวของชายผู้เป็นแม่ทัพแคว้นเวนิสที่ถูกความอิจฉาครอบงำ จนพลั้งมือฆ่าภรรยาของตัวเองเพียงเพราะเข้าใจผิดว่าเธอเป็นชู้กับคนอื่น และเหตุนั้นก็เกิดจากผ้าเช็ดหน้าแค่ผืนเดียว 

กลายเป็นที่มาของกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘โอเทลโล่ ซินโดรม’ (Othello Syndrome) คนที่มีอาการหึงหวงอย่างรุนแรง ไม่ชอบให้คนอื่นที่ไม่รู้จักเข้ามามีความสัมพันธ์กับคนที่ตัวเองสนิทมากๆ โดยเฉพาะคนรัก เพื่อนสนิท หรือคนที่ไว้ใจ มีอาการระแวง กังวล ไม่เชื่อใจกันอยู่ตลอดเวลา เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้อึดอัดกันทั้งสองฝ่าย  

..................................

โพลีแอนนา ซินโดรม 
(Pollyanna Syndrome)

Photo Credit:  Exploringyourmind.com
Photo Credit:  Exploringyourmind.com

‘โพลีแอนนา’ วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกของอเมริกา เรื่องราวของเด็กสาวที่มีชื่อว่าโพลีแอนนา (Pollyanna) อาศัยอยู่กับน้าสาวที่ค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย แต่กลับไม่ค่อยสนใจและมักมองว่าเธอเป็นภาระของบ้าน ถึงอย่างนั้นแอนนาก็มักจะมองโลกในแง่ดี ทำตัวร่าเริง เห็นอกเห็นใจคนอื่น และความใจดีของเธอ ก็ได้เปลี่ยนให้เมืองธรรมดาแสนน่าเบื่อให้เป็นเมืองที่มีความสุขมีแต่รอยยิ้ม

แม้ในตอนท้ายเธอจะประสบอุบัติเหตุจนต้องฝึกเดินใหม่ แต่ก็ยังคิดในแง่บวกว่า อย่างน้อยก็ได้ใช้ขาสองข้างช่วยเหลือคนอื่น ชื่อของเธอจึงถูกยกมาตั้งชื่อกลุ่มอาการ ‘โพลีแอนนา ซินโดรม’ (Pollyanna Syndrome) คือคนที่มักจะจดจำแต่เรื่องราวดีๆ กีดกันความคิดที่ไม่ดีออกไปจากหัว บางครั้งก็มีทัศนคติมองโลกในแง่ดีมากเกินไป มากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตตัวเอง ซึ่งลึกๆ แล้วในใจก็แอบซ่อนเรื่องเลวร้ายเอาไว้มากมายแต่ไม่กล้าแสดงความรู้สึกออกมาให้ใครเห็นก็แค่นั้น 

..................................

มึนช์เฮาเซ่น ซินโดรม 
(Munchausen Syndrome หรือ Factitious Disorder By Proxy: DSM-V)

Photo  Credit:  Tellerreport.com
Photo  Credit:  Tellerreport.com

ปิดท้ายไปกับ บารอน มึนช์เฮาเซ่น (Baron Munchausen) ตัวละครจอมลวงโลกสุดกวนที่อยู่ในนวนิยายเรื่อง The Adventures of Baron Munchausen เขาเป็นขุนนางชาวเยอรมันที่สวมรอยเล่าเรื่องโกหกเกี่ยวกับผลงานความสำเร็จของตัวเอง โกหกเนียนจนคนอื่นจับไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวกันเจ้าตัวก็เผ่นหายไปกับฝุ่นเรียบร้อยแล้ว (ตัวละครนี้สร้างมาจากขุนนางที่มีอยู่จริงด้วยนะ) 

สำหรับอาการของมึนช์เฮาเซ่น ซินโดรม ก็มาจากพฤติกรรมของคนที่ชอบโกหกนั้นเองแหละครับ มักจะพูดเรื่องที่เกินจริง ทำไปเพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น บางคนถึงขั้นเลียนแบบอาการโรคร้ายแรง รู้ข้อมูลอาการของโรคเป็นอย่างดี ถึงขั้นกินยารักษาของโรคนั้นก็มีครับ สาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในวัยเด็ก อยากให้ผู้อื่นเข้ามาสนใจ ดูแลความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น 

..................................

เห็นแต่ละอาการแล้วก็พอคาดเดาได้อย่างที่พี่บอกไปเลยใช่ไหมครับ ถ้าไม่มีชื่อเรียกจากตัวละครในนิทานหรือวรรณกรรม ก็อาจไม่รู้เลยว่ามีผู้ป่วยอาการแบบนี้อยู่ในชีวิตจริง :( 

 ส่วนน้องๆ คนไหนอยากจะแชร์อาการที่มีชื่อมาจากตัวละครอื่นๆ นอกจากที่พี่เล่าให้ฟังก็ได้เลยนะ สำหรับวันนี้พี่ไพรก็ขอตัวลาไปก่อน เจอกันใหม่บทความหน้านะครับ ^^ 

 

Source  https://www.writerswrite.co.za/10-literary-maladies-syndromes-named-after-literary-characters/ https://www.nbcnews.com/better/lifestyle/are-you-relationship-peter-pan-here-s-how-tell-ncna1046531 https://www.healthline.com/health/peter-pan-syndrome https://www.neurologylive.com/view/alice-wonderland-syndrome http://www.powerwithinwomen.com/the-wendy-syndrome/ https://steptohealth.com/wendy-syndrome-caring-others-neglectinghttps://culturacolectiva.com/books/medical-conditions-inspired-by-literary-charactershttps://irevuo.art/2019/10/15/ten-psychological-conditions-named-after-literary-characters/https://en.psychologyinstructor.com/7-syndromes-named-after-literary-characters/   
พี่ไพร
พี่ไพร - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น