ยิ่งค้นหายิ่งว่างเปล่า: หรือเราตกอยู่ใน ‘Identity Crisis’ วิกฤตชีวิตในการค้นหาตัวตนที่หายไป?

สวัสดีครับ น้องๆ ชาว Dek-D เคยมั้ยครับ? นั่งเรียนในคลาสฟังอาจารย์สอน แล้วอยู่ๆ ก็มีความคิดแวบเข้ามาว่าเราชอบสิ่งที่กำลังเรียนอยู่จริงๆ แน่เหรอ? อาชีพที่เราวาดฝันไว้คือตัวตนที่เราตามหาอยู่จริงๆ รึเปล่า? ทำไมระหว่างทางถึงรู้สึกเหมือนไม่ใช่เลยล่ะ? 

ถ้าใครเคยมีความคิดแบบนี้อาจกำลังเผชิญสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตอัตลักษณ์” หรือ “วิกฤตค้นหาตัวตน” (Identity Crisis) ที่มักเกิดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่นเมื่อต้องตัดสินใจเลือกทางเดิน หลักๆ ก็หนีไม่พ้นการเรียนและอาชีพที่อยากทำในอนาคต  แต่แม้จะพยายามค้นหาคำตอบให้ตัวเองมากแค่ไหนแต่ก็ยังเหมือนหลงอยู่ในเขาวงกตอยู่ดี เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักภาวะนี้และหาวิธีรับมือกันดีกว่าครับ

ไขความลับของตัวตน 
ตกลงแล้วเราเป็นใครกัน?  

Photo  Credit: Theinclusionsolution.me
Photo  Credit: Theinclusionsolution.me

เจ้าของแนวคิดเกี่ยวกับ Identity Crisis คือ “เอริค เอริคสัน” (Erik Erikson) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันนั่นเองครับ เขาเชื่อว่า “ตัวตน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะมันจะเติมเต็มช่วงเวลาในวัยรุ่น และมักจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเราได้เผชิญกับสถานการณ์ท้าทายใหม่ๆ อีกทั้งความรู้สึกส่วนตัวของเราก็อาจถูกความความเชื่อและทัศนคติของคนอื่นๆ ในสังคมเข้ามามีอิทธิพล ผลคือเราอาจจะให้น้ำหนักกับความคิดตัวเองน้อยลง แล้วหันไปค้นพบตัวเองในแบบที่สังคมอยากให้เป็นแทน ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของเราก็ได้ครับ 

Photo Credit: Chihealth.com
Photo Credit: Chihealth.com

แล้วต่อมาเจมส์ มาร์เซีย (James Marcia) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน ก็นำทฤษฎีของเอริคมาขยายความต่อยอดไปอีก โดยเขาได้ศึกษาและพิจารณาปัจจัย 3 อย่างที่มีผลกระทบต่อตัวตนวัยรุ่น คือ บทบาทในอาชีพ ความเชื่อค่านิยม และเพศ จากนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิด 4 สถานะดังนี้

  • สถานะแรก Foreclosure =  วัยรุ่นที่มีทางเลือกไม่มากนัก เพราะความมุ่งมั่นของตัวเองมีแรงชักจูงที่มาจากความคิด หรือความเชื่อของผู้ปกครอง และคนรอบข้าง
  • สถานะที่สอง Identity Diffusion = วัยรุ่นที่พยายามตามหาประสบการณ์หลากหลาย เพื่อค้นหาตัวตนตามคำมั่นสัญญาของตัวเอง
  • สถานะที่สาม Identity Moratorium = วัยรุ่นที่ชอบความสันโดษอยู่ในโลกส่วนตัว ตัดขาดกับความคิดของบุคคลภายนอก และไม่แสวงหาตัวตน
  • สถานะที่สี่ Identity Achievement = วัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จในการค้นหาตนเอง มีแรงผลักดันความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นๆ

เจมย์ยังบอกอีกครับว่าจริงๆ มันก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนให้เกิดแรงผลักดันในการออกตามหาตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองหน้าที่ในครอบครัว ความรักความสัมพันธ์ หรือแม้แต่งานอดิเรกของเราเอง

แม้ผ่านไปครึ่งชีวิต
บางคนอาจยังหาคำตอบไม่เจอ

Photo Credit: Helpguide.org
Photo Credit: Helpguide.org

ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้นที่ต้องเจอกับประสบการณ์เหล่านี้ น้องๆ รู้ไหมครับว่า ชาว Baby boomers (ผู้ที่เกิดช่วง ค.ศ. 1946-1964) หรือวัยผู้ปกครองของใครหลายคนที่ทำงานหนักมาเกินครึ่งชีวิต ก็ต้องกลับมาเผชิญกับปัญหานี้อีกครั้งหลังเกษียณเหมือนกัน หลายคนอาจรู้สึกเคว้างคว้าง เพราะชีวิตที่ผ่านมามีจุดโฟกัสคือการทำงาน แต่พอต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ ก็รู้สึกฟุ้งซ่านไม่น้อย บางคนก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นยังไง จะทำอะไรดี? เหมือนญาติของพี่พอเกษียณ หลายคนก็หาวิธีแก้ไขคือ หันมาลองทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน บ้างก้ไปเรียนตัดผม บ้างก็ลงคอร์สฝึกภาษาเพิ่ม บางคนก็หันเข้าสู่สายธรรมะ  และอีกไม่น้อยก็มุ่งมั่นไปที่การออกกำลังเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี 

 ผู้สูงอายุมักจะมองว่ามันเป็น “วิกฤต” มากกว่าการค้นหาตัวตนเพราะเหมือนกับการรีเซต กลับมาลองเรียนรู้ใหม่ว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ เราถนัดเรื่องไหนบ้าง หรือเริ่มฝึกสกิลใหม่ๆ ไม่ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เราสนุกเสมอไปก็ได้ครับ  

เช็กลิสต์ให้รู้ 4 สัญญาณเตือน
บอกว่าเรากำลังหลงทาง

Photo  Credit:  I0.wp.com
Photo  Credit:  I0.wp.com

1.ความคิดเปลี่ยนเพราะสภาพแวดล้อม

เวลาทำงานร่วมกับผู้อื่นหรืออยู่ท่ามกลางสังคม เรามักจะไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไหร่ แต่มักทำตามคนอื่น ใครพูดอะไรก็เห็นด้วย คล้อยตามโดยไม่กล้าสอดแทรกความคิดของตัวเองลงไป

2. พยายามเก็บซ่อนความรู้สึกของตัวเอง 

กังวลและระแวงเวลาอยู่กับคนที่เพิ่งรู้จักหรือกลุ่มเพื่อนใหม่ ต้องการเป็นที่ยอมรับจนถึงกับยอมเปลี่ยนทัศนคติ งานอดิเรก หรือปรับสไตล์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ แม้ในใจจะแอบไม่เห็นด้วยอยู่บ้างก็ตาม 

3.เบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่ 

หมดใจทั้งเรื่องงาน กิจวัตรประจำวัน หรือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ แต่ก็ไม่กล้าเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวผิดพลาดแล้วจะดูแย่กว่าเดิม

4.ไม่ไว้ใจตัวเองตอนทำงาน 

ชอบย้อนมองตัวเองในอดีตตอนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงความคิดอย่างกะทันหัน ทำให้ตัวเองรู้สึกขาดความมั่นใจและไม่เชื่อในตัวเอง

เลือกในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ 
แล้วจะพบตัวตนที่แท้จริง 

Photo Credit: Allisonfallon.com
Photo Credit: Allisonfallon.com

สุดท้ายแล้ว “ตัวตน” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ค้นหาจนเจอ แต่ตัวตนคือส่วนผสมของการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เจอในชีวิต ซึ่งอาจผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วนก็ได้ครับ บางคนอาจค้นพบว่าจริงๆ สิ่งที่ชอบมาตลอดมันกลับไม่ใช่ แต่กลับไปถนัดเรื่องที่ไม่อยู่ในสายตาเรามาตั้งแต่แรก 

บางคนก็มีข้อจำกัดไม่สามารถออกตามหาทางเดินของตัวเองได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องปิดกั้นตัวเอง อาจจะเริ่มต้นหาแรงผลักดันจากสิ่งใกล้ตัวก่อน ค่อยเป็นค่อยไปตามสเตป ประสบการณ์จะช่วยสอนเรา อย่าหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อไป 

Photo  Credit:  Dancetabs.com
Photo  Credit:  Dancetabs.com

อย่างฮีเทน พีเทล (Hetain Patel) ศิลปินชาวอเมริกัน ก็บอกว่าการค้นหาตัวตนของเขา เริ่มจากการเลียนแบบศิลปินที่เขาชื่นชอบในวัยรุ่น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเจอจุดแตกต่างที่ไม่ได้มาจากการทำตาม แต่เป็นความชอบที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สิ่งนั้นก็คือตัวตนของเรานั้นเองครับ 

 

เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่วัยรุ่นทุกคนต้องเจอ อย่างที่บอกครับว่าการจะรู้จักตัวเองได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายคนอาจต้องใช้เวลาหลายปี จนกว่าจะเข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วเราชอบอะไรกันแน่ ถึงจะไม่ใช่วันนี้ เดือนนี้ หรือปีนี้ ก็อย่าได้กังวลหรือท้อ เรียนรู้จากสิ่งที่ชอบ เก็บประสบการณ์กันไปเรื่อยๆ พี่เชื่อว่าสักวันน้องๆ ทุกคนจะเจอกับเส้นทางของตัวเองกันอย่างแน่นอนครับ ^^ 

 

 

Source https://www.forbes.com/sites/prudygourguechon/2019/06/02/the-second-identity-crisis-10000-boomers-face-it-every-day/?sh=77885f1034c0 https://www.psychologytoday.com/us/blog/fulfillment-any-age/201203/are-you-having-identity-crisis https://www.healthline.com/health/mental-health/identity-crisis#TOC_TITLE_HDR_1 https://www.harleytherapy.co.uk/counselling/who-am-i-identity-crisis.htm
พี่ไพร
พี่ไพร - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น