What is Love? เปิด 5 ทฤษฎีตีแผ่เรื่องราวของหัวใจ...ทำไมมนุษย์ถึงต้องรักใครสักคน

ความรักหน้าตาเป็นแบบไหน ความรักจะใจดีแบบเธอมั้ย~ ไหนใครร้องเพลงนี้ได้ยกมือขึ้น!(ไม่ได้จะหลอกถามอายุนะคะ5555) เพลงเค้าฮิตติดหูทุกเพศทุกวัยจริงๆ) สวัสดีค่าชาว Dek-D ใกล้ถึงวันวาเลนไทน์แล้ว หันไปทางไหนก็มีแต่บรรยากาศสีชมพูเต็มไปหมด แต่เอ๊ะ! ทุกคนเคยสงสัยกันมั้ยคะว่าทำไมคนเราถึงมีความรักกันน้า?

ห้วงรักแสนโรแมนติกและสวยงาม ความรู้สึกลุ่มหลงมัวเมา การอกหัก หรือแม้แต่ความรู้สึกแตกสลายเมื่อไม่สมหวัง อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้เมื่อมนุษย์ ‘ตกหลุมรัก’ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าต้องเผชิญกับหลากหลายอารมณ์แต่คนเราก็ยังเลือกที่จะรักใครสักคน

เมื่อไม่นานมานี้พี่มายมิ้นท์ได้มีโอกาสดูคลิปจาก TED-Ed ใน YouTube ที่หยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับความรักมานำเสนอ โดยเนื้อหากล่าวว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าความรักจากมนุษย์มีความรักเพราะกลไกในการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ หรือไม่ก็เป็นเพราะการตอบสนองความต้องการทางเพศ แต่สำหรับคลิปนี้ Skye C. Cleary ก็ได้ยก 5 ทฤษฎีว่าด้วย ‘การตกหลุมรัก’ จาก 5 นักปรัชญาชื่อดังที่เราคุ้นเคยมาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้างเรามาติดตามกันเลย!

‘Love makes us whole, again’ 
ความรักเติมเต็มเราให้สมบูรณ์อีกครั้ง

Photo credit: www.popularmechanics.com
Photo credit: www.popularmechanics.com

ทฤษฎีนี้เสนอโดยเพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกโบราณ ที่คาดว่ามีชีวิตอยู่ในช่วง 347-427 ปีก่อนคริสตกาล คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะผู้สร้างอาคาเดมี ในกรุงเอเธน ซึ่งต่อมาภาษาอังกฤษก็บัญญัติศัพท์คำนี้ว่า Academy หมายถึงสถาบันการเรียน นอกจากเรื่องวิชาการแล้วเพลโตก็ยังสนใจเรื่องความรักไม่แพ้กัน ดังนั้นเขาจึงเสนอทฤษฎีที่บอกว่า คนเรารักใครสักคนเพราะต้องการการเติมเต็ม

โดยเขาได้เชิญแขกมาเลี้ยงมื้อค่ำ แล้วให้อริสโตฟานีส (Aristophanes) สหายผู้เป็นนักประพันธ์บทละครชวนหัว วาดรูปถ่ายทอดเรื่องราวความรักตามแบบฉบับของเพลโตให้ทุกคนดู เขากล่าวว่าเดิมทีมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสี่แขน สี่ขา สองใบหน้า อยู่มาวันหนึ่งมนุษย์ดันไปทำให้เทพเจ้าพิโรธ จึงถูกเทพซุสลงโทษโดยการแยกร่างมนุษย์ออกจากกัน จากนั้นเป็นต้นมามนุษย์ทุกคนจึงเหลือเพียงตัวคนเดียวที่มีสองแขน สองขา หนึ่งใบหน้า และพลัดพรากอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต ดังนั้นทุกคนจึงตกหลุมรักเพราะต้องการตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตัวเองที่เรียกว่า soulmate หรือเนื้อคู่ คนที่จะมาเติมเต็มเราให้สมบูรณ์แบบอีกครั้งนั่นเองค่ะ ฟังดูโรแมนติกมากเลยใช่มั้ยล่ะคะ><

Photo credit:  www.unsplash.com
Photo credit:  www.unsplash.com

..................................

‘Love tricks us into having babies’ 
ความรักหลอกล่อให้เรามีทายาท

Photo credit: www. internetpoem.com
Photo credit: www. internetpoem.com

  มาต่อกันที่ทฤษฎีเรื่องที่สอง ซึ่งดูเหมือนจะแปลกแหวกแนวจากมุมมองความรักอื่นๆ ที่เคยได้ยินมาอยู่มากทีเดียวค่ะ นักปรัชญาชาวโปแลนด์ชื่อว่า อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) ผู้โด่งดังในช่วงปีค.ศ. 1788-1860 ได้เสนอแนวคิดมองโลกตามความจริง ซึ่งเป็นแนวคิดตรงกันข้ามกับการมองโลกในแง่ดี และนั่นก็รวมถึงการมองเรื่องความรักเป็นเหมือนภาพลวงตาหลอกล่อให้มนุษย์เกิดการสืบพันธุ์ตามกลไกธรรมชาติ

อาร์เธอร์กล่าวว่าความรักก็คือความพึงพอใจทางเพศ เป็นภาพลวงตาที่ยั่วยวน คนเราตกหลุมรักเพราะเชื่อว่าอีกฝ่ายจะทำให้เรามีความสุขได้ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดถนัดเลย เราไม่ได้รักเพราะเราอยากจะรัก แต่เป็นเพราะธรรมชาติล่อลวงเราให้มีความรักเพื่อจะให้กำเนิดทายาทดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป และเมื่อมีลูกความรักก็จะไปรวมกันอยู่ที่ลูก ส่วนความรักระหว่างพ่อแม่ก็จะเริ่มจืดจางลงตามกาลเวลา หลายคนอาจจะมองแนวคิดของอาร์เธอร์ว่าแข็งทื่อไร้หัวใจ แต่เจ้าตัวเขาก็ไม่ได้แคร์ค่ะ เพราะทุกๆ ทฤษฎีของเขานั้นมักอิงตามความเป็นจริงโดยพยายามตัดปัจจัยหยุมหยิมจำพวกอารมณ์ความรู้สึกออกไปนั่นเองค่ะ

“ปรัชญาของผมไม่มีการปลอบใจอะไรทั้งนั้น เพราะผมพูดเรื่องจริง ส่วนคนอื่นๆ ที่มั่นใจเสียเหลือเกินว่าสิ่งที่พระเจ้าสร้างมานั้นดีอยู่แล้ว ก็ไปหาพระเจ้าเถอะ อย่ามายุ่งกับนักปรัชญาอย่างพวกเราเลย!” —อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์

..................................

“Love is escape from our loneliness” 
ความรักคือการหนีจากความเดียวดาย

Photo credit: www.internetpoem.com
Photo credit: www.internetpoem.com

  ทฤษฎีความรักเรื่องต่อไปเสนอโดยเบอร์ทรันด์ อาร์เทอร์ วิลเลียม รัสเซลล์ (ค.ศ.1872-1970) นักปรัชญาชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลโนเบล เขาเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักปรัชญา แนวคิดของรัสเซลล์ส่วนใหญ่จึงอิงกับสัจนิยมแบบธรรมชาติ (natural realism) พูดง่ายๆ ก็คือมองโลกผ่านความเป็นจริงตามธรรมชาตินั่นเองค่ะ

รัสเซลล์กล่าวว่า คนเรามีความรักเพื่อที่จะตอบสนองทั้งความต้องการของร่างกายและจิตใจ จริงๆ แล้วมนุษย์ถูกกำหนดหน้าที่ให้ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป แต่เมื่อไม่มีอารมณ์รักใคร่กระบวนการสืบพันธุ์ก็ไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่นัก บวกกับความกลัวของมนุษย์ที่มีต่อโลกอันโหดร้ายก็ส่งผลเราสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกันตัวเองจากภายนอก

แต่ความรักก็ช่วยปัดเป่าความกลัวในจิตใจและทำให้ก้าวข้ามกำแพงที่ปิดกั้นตัวเองออกมาได้ รัสเซลล์ยังบอกอีกว่าการได้รักใครสักคนนั้นเป็นสิ่งพิเศษอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ และเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตประสบความสำเร็จเลยล่ะค่ะ

Photo credit:  www.unsplash.com
Photo credit:  www.unsplash.com

..................................

“Love is a misleading affliction” 
ความรักคือความทุกข์ที่ทำให้ใจไขว้เขว

Photo credit: www.meemodo.com
Photo credit: www.meemodo.com

  ทฤษฎีนี้เกิดจากนักปราชญ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะพระศาสดาผู้ตื่นรู้ ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเองค่ะ คอนเซปต์นี้สำหรับพุทธศาสนิกชนอาจจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เจ้าของคลิปต้นฉบับของ TED-Ed กล่าวว่ามุมมองนี้ตรงข้ามกันกับทฤษฎีของรัสเซลล์ โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่ามนุษย์มีความรักเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน แต่ความรู้สึกหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘กิเลส’ ‘การยึดติด’ รวมถึงความรักที่หอมหวานก็เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์อีกด้วย

เมื่อมนุษย์มีความรักก็เกิดกิเลส เกิดความรู้สึกผูกพันยึดติด ต่อมาก็เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ค้นพบ 8 หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ได้สำเร็จ นั่นก็คือ หลักธรรมมรรค 8 //ความรู้ในวิชาพระพุทธศาสนาก็มาค่ะ เมื่อเข้าใจหลักการนี้ก็จะเข้าสู่นิพพานหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Nirvana ศาสนาพุทธเชื่อว่าสภาวะเข้าสู่นิพพานจะสามารถวางเฉยได้กับทุกความรู้สึก ไม่รักไม่เกลียด เมื่อจิตใจสงบก็ไม่เกิดความทุกข์นั่นเองค่ะ// สำหรับศาสนิกชนอื่นๆ ปรัชญาของพระพุทธเจ้าก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่น่าสนใจมากเลยล่ะค่ะ

..................................

“Love lets us reach beyond ourselves”  
ความรักคือการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง

Photo credit: www.lithub.com
Photo credit: www.lithub.com

  มาถึงทฤษฎีสุดท้ายซึ่งนำเสนอโดย ไซมอน เด โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) กวีหญิงชาวฝรั่งเศสในช่วงค.ศ. 1908-1986 แม้ว่าเธอจะไม่มองตัวเองว่าเป็นนักปรัชญา แต่แนวคิดของเธอกลับมีอิทธิพลกับสังคมฝรั่งเศสอย่างมากโดยเฉพาะกับลัทธิสตรีนิยม (Feminism)

เธอกล่าวว่าความรักคือการที่คนเราอยากจะอยู่ร่วมกับใครสักคนที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย อย่างไรก็ตามทฤษฎีของโบวัวร์ไม่ได้โฟกัสที่เหตุผลของการตกหลุมรัก แต่ให้ความสนใจกับวิธีที่จะทำให้ความรักสมหวังไร้อุปสรรค

  เธอพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของความรักแบบเดิมๆ คือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามทำให้คนรักเป็นอย่างที่เราคาดหวัง จนนำไปสู่การควบคุมตัวตนของอีกฝ่ายและกลายเป็นการเอาชนะกัน ซึ่งโบวัวร์ก็ได้เสนอว่า ความรักที่ดีควรเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่ดีต่อกัน อย่างเช่นการช่วยให้อีกคนค้นพบตัวตนของตัวเอง รวมถึงการก้าวข้ามอุปสรรคของตนเองด้วย ดังนั้นความรักที่ดีจึงเป็นการทำตัวเองให้มีคุณค่าแล้วก็ใช้ชีวิตไปด้วยกันไม่ใช่การผูกมัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฟังดูโรแมนติกตามแบบฉบับชาวฝรั่งเศสเลยนะคะเนี่ย  

Photo credit:  www.unsplash.com
Photo credit:  www.unsplash.com

เป็นยังไงกันบ้างคะกับทฤษฎีความรักจากหลากหลายมุมอง แม้ว่าบางทีความรักก็ทำให้คนเราสุข บางทีก็ทำให้ทุกข์ บางคนค้นหาตัวเองเจอเพราะความรัก ในขณะที่บางคนสูญเสียตัวเองไปเพราะอกหักก็เพราะความรักอีกเช่นกัน แต่เชื่อเถอะว่าความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องจะต้องดีเสมอแน่นอนค่ะ

และพี่มายมิ้นท์ก็เชื่อนะคะว่าความรักที่ทุกคนควรมีเป็นอันดับแรกคือ การรักตัวเองที่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว รักแบบที่มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ใฝ่หาสิ่งที่ดีให้ตัวเอง(และไม่เดือดร้อนคนอื่น) วาเลนไทน์นี้เพื่อนๆ คนไหนมีคู่ก็ขอให้ความรักหวานขึ้นไปอีก ใครที่กำลังแอบชอบก็ขอให้สมหวัง ส่วนใครที่ยังโสดก็รักตัวเองกันเยอะๆ นะคะ สำหรับใครอยากแชร์นิยามความรักในแบบฉบับของตัวเองก็คอมเมนต์เล่าสู่กันฟังได้เลยค่ะ ส่วนเรื่องราวครั้งหน้าจะเป็นอะไร ติดตามได้ที่เว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ ของ Dek-D นะคะ ^ ^

Source: https://unsplash.com/photos/X3DZ1c7MPa4https://unsplash.com/photos/X3DZ1c7MPa4https://www.youtube.com/watch?v=yJSiUm6jvI0https://unsplash.com/photos/vzFTmxTl0DQhttps://unsplash.com/photos/Aj6mvFNBXAAhttps://unsplash.com/photos/G2BRwDpsuXohttps://internetpoem.com/arthur-schopenhauer/images/82292/https://theconversation.com/learning-from-bertrand-russell-in-todays-tumultuous-world-95405http://www.meemodo.com/PRA%20SITTATTA.htmlhttps://lithub.com/looking-for-pariss-old-left-bank-in-the-footsteps-of-simone-de-beauvoir/https://www.popularmechanics.com/science/a33372667/earth-cubes-plato-theory/

 

พี่มายมิ้นท์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด