ทฤษฎี 4 เตาแก๊ส กับเหตุผลที่ทางสายกลางไม่ได้ดีสำหรับทุกคน

Spoil

  • การใช้ชีวิตทางสายกลางทำให้ยากต่อการประสบความสำเร็จ
  • ทฤษฎี 4 เตาแก๊ส ว่าด้วยเรื่องของ 4 จุดหมายที่สำคัญของชีวิต
  • เป็นเรื่องยากในการดูแลเตาทั้ง 4 ไปพร้อมกับการอยากประสบความสำเร็จอย่างสูง

ทางสายกลาง คือหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่โด่งดังที่สุด และเชื่อกันว่าคือคำสอนหนึ่งที่ดีสุดๆ สำหรับการใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ ดำเนินทุกอย่างไปอย่างปกติสุข เท่าเทียม เป็นเส้นตรง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องวุ่นวาย ทำทุกอย่างตามความสามารถที่มี บริหารทรัพยากรในมือที่มีอย่างเพียงพอและพอเพียง จะทำให้ชีวิตสงบสุขพ้นภัย ไร้สิ่งกวนใจทุกประการ หากแต่ว่า บางครั้งการใช้ชีวิตแบบทางสายกลางจนเกินไป มันก็เป็นข้อเสียเหมือนกันนะ

เพราะบางครั้งการเสี่ยงทำให้คนเรามีอะไรก้าวหน้ามากขึ้นดั่งได้เห็นในประวัติศาสตร์กันมาแล้วนักต่อนัก เพราะงั้นในวันนี้พี่เบสเลยจะพาทุกคนมาดูกันถึงสาเหตุที่ว่าทำไมการใช้ชีวิตแบบเพลย์เซฟ ทางสายกลาง ที่แม้จะปลอดภัยไร้อันตราย แต่มันก็เป็นข้อเสียใหญ่ในการทำให้เราล่าช้าต่อความสำเร็จ

แต่ต้องขอบอกก่อนเลยนะว่าพี่เบสไม่ได้จะมาเขียนดิสเครดิตการใช้ชีวิตแบบ Work Life Balanced แต่อย่างใดนะครับ แค่แสดงอีกแง่มุมให้เห็นเฉยๆ ว่ามันทำให้เราเสียอะไรบางอย่างไปเหมือนกัน

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

รู้จักกันก่อนว่า Work life Balanced คืออะไร?

Work life Balanced หรือแปลเป็นไทยได้ว่าสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ที่ถือเป็นสองอย่างที่สำคัญของชีวิตคนเรา หากวางน้ำหนักได้ไม่ดีทำงานหนักเกินไป สุขภาพก็จะแย่ ไม่มีเวลาหาความสุข แม้จะมีเงินแต่ก็ไม่มีความสุข หรือถ้าบริหารหาความสุขให้ชีวิตมากเกินไปจนไม่เป็นอันทำงาน ก็จะไม่มีเงินจนทำให้ชีวิตแย่ และไร้ความสุขไปอีกเหมือนกัน 

มันจึงเป็นปกติที่คนส่วนใหญ่ และบริษัทส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีนี้ในการดูแลพนักงานของตัวเองเพื่อให้มีความสุขอยู่เสมอ อย่างเช่น เวลาเข้างานที่ยืดหยุ่นได้เสมอ หากมาทำงานไม่ไหวก็สามารถหยุดทำงานที่บ้านได้ เป็นต้น การผ่อนคลายยืดหยุ่นแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างที่บอกไปว่าแม้แต่ทางสายกลางอย่าง Work Life Balanced ก็มีจุดที่ไม่ดีอยู่เหมือนกัน

ทฤษฎี 4 เตาแก๊ส

เอาล่ะ ทีนี้เราก็มาดูกันดีกว่าว่าเพราะอะไร ทำไมการใช้ชีวิตแบบทางสายกลางถึงมีข้อเสียด้วยการยกทฤษฎี 4 เตาแก๊สขึ้นมาเป็นตัวเปรียบเทียบให้ทุกคนได้เห็นภาพกันไปเลยว่ามันเป็นยังไง และที่สำคัญการยกมาพูดครั้งนี้มันไม่ได้อยู่แค่ในบริบทของการทำงานเท่านั้น มันยังเป็นบริบทของวิถีการใช้ชีวิตของคนเราด้วย

ผู้คิดค้นทฤษฎีนี้คือคุณ David Sedaris เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันของนิตยสาร The New Yorker ที่เปรียบเทียบพลังงานชีวิตของเราเป็นแก๊สที่ต้องไปหล่อเลี้ยงเตาทั้ง 4 อันประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญต่าง ๆ ของชีวิตเรา ดังนี้

  • เตาที่ 1 คือครอบครัว
  • เตาที่ 2 คือเพื่อนฝูง
  • เตาที่ 3 คือสุขภาพ
  • เตาที่ 4 คือหน้าที่การงาน

พอเห็นแบบนี้ทุกอย่างล้วนแล้วแต่สำคัญหมดเลย แต่จุดหมายสำคัญของเจ้าทฤษฎี 4 เตาแก๊สนั่นก็คือ  ถ้าเราเลือกจะรักษาสมดุลเตาแก๊สทั้ง 4 พร้อมๆ กัน ไฟของแก๊สทุกตัวก็จะติดด้วยความร้อนที่เท่ากัน แต่จะไม่มีเตาอันไหนที่ไฟจะแรงสุดเลยสักเตา เพราะพลังงานมันแบ่งไปเท่ากันหมดนั่นเอง สรุปได้ว่าถ้าเราอยากจะให้เตาไฟเตานึงมันแรงกว่าใครเพื่อน เราก็ต้องเลือกดับ หรือหรี่ไฟอีกเตานึงไป และถ้าอยากให้มันแรงมากกว่าเดิม ก็ต้องดับไปอีกเตา

เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของการย้ำเตือนให้คนเรารู้ว่า ในชีวิตเราไม่อาจจะเลือกทุกสิ่งทุกอย่างได้พร้อมกัน ถ้าอยากจะมุ่งมั่นกับอย่างนึง เราก็จะต้องสูญเสียอีกอย่างนึงไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่ปัญหาชีวิตคนทำงานมักจะเจอกันบ่อยๆ ถ้าเรามุ่งตั้งใจทำงาน หน้าที่การงานเราก็จะดีขึ้น ได้เลื่อนขั้น ประสบความสำเร็จได้เร็ว แต่กลับกันสุขภาพก็จะแย่ เวลากับครอบครัวก็อาจจะมีน้อยลงไปด้วย

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

ถ้าอิงจากทฤษฎีนี้จะทำให้เราเห็นเลยว่าการใช้ชีวิตแบบ Work Life Balanced เป็นเหมือนการเติมแก๊สให้เตาแบบเท่าเทียมกันทั้งหมด  ยิ่งพอมาเทียบกับการใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเราแบ่งเวลาทำทุกอย่างเท่าๆ กัน เราก็สามารถรักษา และพัฒนาทุกอย่างไปได้แบบเรื่อยๆ ช้าๆ ทำให้การประสบความสำเร็จในระดับสูงมันค่อนข้างจะทำได้ลำบากอยู่เหมือนกัน

แต่ว่ามนุษย์อย่างเราๆ มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด แม้จะอยากเป็นหนึ่งในใต้หล้าแต่ก็ยังอยากจะรักษาเตาทั้ง 4 เอาไว้ให้พร้อมเพียงกัน ถึงจะบอกว่าไม่มีชัยชนะใดที่ได้มาโดยไร้ซึ่งความเสี่ยง แต่ด้วยความที่ยุคสมัยนี้อะไรต่างๆ มันก็ง่ายขึ้นเยอะ ทำให้ James Clear นักเขียนชาวอเมริกันของนิตยาสารชื่อดัง New York Time ได้คิดค้นแนวคิดการรักษาเตาแก๊สทั้ง 4 โดยที่ตัวเราก็ยังสามารถมุ่งหาสู่จุดหมายได้ไปพร้อมๆ กันอย่างท้าทาย

3 แนวคิดรักษาเตาแก๊สทั้ง 4 ผู้เป็นสมดุลแห่งชีวิต

วิธีที่ 1 แก้ปัญหาด้วยการเปย์

เพราะนี่คือยุคที่เงินตราเป็นใหญ่ อยากจะประหยัดเวลา หรืออยากได้ความสะดวกสบายเงินคือสิ่งที่สามารถช่วยได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราไปสั่งข้าวร้านตามสั่งเพราะขี้เกียจทำกับข้าวกินเอง การไปร้านซักอบรีดเพราะขี้เกียจจะซักผ้าเอง การนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านเพราะขี้เกียจขับรถเอง เป็นต้น พอลองเอาการที่เราซื้อความสะดวกสบายให้กับตัวเองได้แบบนี้ ทำไมไม่ลองเอามาปรับใช้กับการใช้เงิน"ซื้อ"การดูแลเตาทั้ง 4 ดูล่ะ?

ในบรรดาเตาทั้ง 4 สิ่งที่ทำให้เราเสียเวลาจนไปทำอย่างอื่นไม่ได้นั่นก็คืออาชีพการงาน มันเป็นเตาที่จำเป็นที่สุด ต้องใช้เวลาให้ความร้อนกับมันอยู่ตลอดเวลา และเป็นเตาที่จะไม่ดับไปจนกว่าเราจะมีเงินเก็บพอ หรือเกษียณอายุตามราชการไปแล้ว แต่ว่าการใช้เงินแก้ปัญหาสำหรับเตาแห่งงานก็มีให้เห็นอยู่เยอะเลย อย่างงานบริษัท เจ้าของบริษัทก็ใช้เงินจ้างให้คนอื่นมาทำงานแทนตัวเองนี่ยังไงล่ะ

หรือจะเป็นในส่วนของเตาครอบครัวเองเราก็สามารถใช้เงินทดแทนได้ อย่างการจ้างพี่เลี้ยงเด็กเพื่อมาเลี้ยงลูกเอย หรือจะเป็นการจ้างพยาบาลมาดูแลผู้ป่วย หรือคนชรา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพอลองคิดดูมันก็ทดแทนกันได้ แต่มันก็แค่ช่วยทดแทนการทำงานได้แค่ส่วนนึงเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนได้อย่างเต็มที่หรอก เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการลงมือทำด้วยตัวของเราเองอยู่แล้ว

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

วิธีที่ 2 สู้ภายในข้อจำกัด

ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยง เวลาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มนุษย์เราไม่อาจจะฝืนมันได้เลย เพราะงั้นก็จงอย่าคิดจะฝืนโชคชะตา อย่าคิดเพียงแต่ว่ามีเวลาไม่พอ ลองมาปรับความคิดดูว่าในเวลาเท่านี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราสามารถทำได้เท่าไหร่จะดีมากกว่า

ตัวอย่างเช่นในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงตลอดวันที่เราทำงาน เราสามารถทำอะไรให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลานั้นได้บ้าง หรือภายใน 3 ชั่วโมงที่เรามีเวลาออกกำลังกาย เราสามารถออกกำลังอย่างไรให้รักษารูปร่างของตัวเองได้?

นี่คือเรื่องของการบริหารจัดการเวลาชีวิต เราต้องเน้นบริหารมันให้เป็นไปตามทิศทางที่เรามุ่งไป ใครอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็เน้นตรงนั้นให้หนักหน่อย ใครอยากมีครอบครัวแสนสุขก็เน้นตรงนั้นให้มากหน่อย ใครอยากมีสุขภาพดีก็เน้นเวลาออกกำลังกายหน่อย แต่ถึงแม้การจัดการเวลาจะช่วยทำให้เรารีดเอาข้อจำกัดของเวลามาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด แต่สุดท้ายภายใต้กรอบจำกัด 24 ชั่วโมง เราก็ไม่อาจจะเติมเต็ม 4 เตาไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบอยู่ดี

วิธีที่ 3 จัดช่วงเป็นฤดู

ขนาดฤดูกาลในบ้านเรายังมีตั้ง 3 ฤดู ร้อน ฝน หนาว ที่มันจะแบ่งช่วงสับกันมาเพื่อสร้างความสมดุลให้กับประเทศนี้ แล้วทำไมเราถึงไม่ลองเอาแนวคิดการผลัดฤดูแบบนี้มาใช้กับการบริหารจัดการเตาแก๊สทั้ง 4 ในชีวิตของเราดูบ้างล่ะ?

ในช่วงชีวิตของคนเราความสำคัญสำหรับเตาแก๊สทั้ง 4 ก็จะมีความไม่เท่ากัน และผกผันได้ตลอดเวลา ตอนเรายังเด็กเตาที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นครอบครัว หรือไม่ก็เพื่อน พอโตเข้ามายังวัยทำงานก็จะเป็นหน้าที่การงาน หรือไม่ก็สุขภาพ พออายุมากขึ้น และเริ่มมีลูกหรือพ่อแม่เริ่มแก่ชรา หน้าที่การงานก็จะต้องมาคู่กับครอบครัว ก่อนสุดท้ายพอแก่ตัวครอบครัว สุขภาพ เพื่อนฝูงจะเริ่มกลับมาสำคัญอีกครั้ง

มันยังคงตรงตามหลักการอยู่ตรงที่ว่าเรายังต้องเลือกทิ้งไปสักเตาสองเตาในแต่ละช่วง แต่เราก็จะวนกลับมาดูแลมันใหม่ตามช่วงอายุต่างๆ ของเราที่ความสำคัญของพวกมันต่างผุดขึ้นมาไม่เท่ากัน อาจจะไม่ได้พุ่งเก่งกาจไปจนถึงขั้นสุด แต่การบริหารแบบผลัดฤดูแบบนี้ก็นับว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจที่สุดแล้วล่ะสำหรับการคงเส้นที่อยากจะประสบความสำเร็จ และการบริหารชีวิตให้สมดุลไปด้วย

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

 

แม้คุณ James Clear จะคิดวิธีการไปสู่ความสำเร็จไปด้วย ดูแลรักษา 4 เตาไฟแห่งชีวิตไปด้วยกันได้ แต่เขาก็ยังยอมรับ และสรุปเหมือนกันว่าบทเรียนที่เขาได้จากการคิดค้น และลองทำตามแนวคิดของตัวเองคือ เขายอมรับว่ามันยังเป็นเรื่องที่ยาก และเขาก็ไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่ที่การเลือกดับเตาไฟสักเตามันทำให้ง่ายต่อการไปสู่ความสำเร็จมากกว่า

อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราแล้วล่ะครับว่าเรามุ่งมั่นพอจะรักษาเตาไฟทั้ง 4 แห่งชีวิตไปด้วย และพยายามปีนป่ายขึ้นสู่หน้าผาแห่งความสำเร็จไปได้ด้วยกันรึเปล่า แต่ยังไงพี่เบสเชื่อว่าหนทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ถ้าใครผ่านมันไปได้ก็จะกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าใครไปเลยล่ะ เพราะงั้นอยู่ที่ตัวเพื่อนๆ แล้วล่ะว่าจะเลือกแบบไหน? 

 

 

ข้อมูลจาก:https://jamesclear.com/four-burners-theoryhttps://www.tameday.com/four-burners-theory/https://yourstory.com/2016/09/work-life-balance-disadvantages
พี่เบส
พี่เบส - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น