Nobody's Perfect! รู้จัก 'Pratfall Effect' เสน่ห์ที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบ

สวัสดีครับชาว Dek-D คราวก่อนพี่มายมิ้นท์พูดถึงเรื่อง ‘Perfectionist’ ที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบทั้งการเรียน การทำงาน การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์  แต่วันนี้พี่มีปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "Pratfall Effect" ที่บอกว่าความผิดพลาดไม่ได้เลวร้ายเสมอไปหรอก เพราะบางครั้งมันอาจช่วยดึงเสน่ห์ในตัวออกมา หรือพาออกนอกกรอบไปเจอผลลัพธ์ที่ดีอย่างไม่คาดไม่ถึงเลยก็ได้

//เอ๊ะ จริงรึเปล่า? ตามไปดูที่มาที่ไปและการทดลองที่สนับสนุนแนวคิดนี้กันครับ

ทุกชีวิตย่อมไม่สมบูรณ์แบบ  

ย้อนไปในปี 1996 มีนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ "เอเลียน อรอนสัน" (Elliot Aronson) ได้ศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ความผิดพลาดของมนุษย์ เช่น การหกล้ม ลื่น สะดุด ทำของร่วง หรืออะไรก็ตามที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ แม้จะเล็กน้อยก็สามารถทำให้คนๆ นั้นเป็นจุดสนใจของผู้คนรอบข้างได้  ยิ่งไปกว่านั้นความผิดพลาดก็อาจไปช่วยดึงเสน่ห์ให้ดูน่าค้นหาน่าดึงดูดขึ้นไปอีก (เหมือนกับบางคนที่ตกหลุมรักคนที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ 100% นั่นแหละครับ) สิ่งนี้แหละเรียกว่า "Pratfall Effect"

Photo Credit:  Heartypsych.com
Photo Credit:  Heartypsych.com

ยกตัวอย่างเช่นนักแสดงสาว เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Lawrence) ที่เผลอสะดุดล้มกลางงานพรมแดงท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ฟังดูน่าอายใช่ไหมล่ะ แต่ปรากฏว่าเธอสามารถจัดการสถานการณ์นี้ได้อย่างมืออาชีพจนบรรดานักข่าวพากันชื่นชม อีกทั้งยังบอกว่าจะมีนักแสดงสักกี่คนที่คาแรกเตอร์โดดเด่นจนทำอะไรก็น่าดึงดูดไปซะหมดแบบนี้? เหมือนกับที่เอลเลียสเคยพูดไว้ว่า ความไม่สมบูรณ์นั้นมักจะดึงเสน่ห์ที่แท้จริงของมนุษย์ออกมา 

จากความเชื่อสู่ทฤษฎี 

Photo Credit: Holysmithereens.com
Photo Credit: Holysmithereens.com

หลายคนคงสงสัยว่าที่พี่พูดมา มันเป็นเรื่องจริงเหรอ?​ เพื่อพิสูจน์ปรากฎการณ์ทางจิตวิทยานี้  เอเลียส ผู้คิดค้นทฤษฎี ได้ทดลองโดยอัดเทปคล้ายรายการเกมโชว์ให้เด็กเรียนและเด็กทั่วไปตอบคำถาม โดยจัดสถานการณ์ให้ต่างกันเป็น 4 แบบดังนี้ 

  • เด็กเรียนตอบคำถามตามปกติ
  • เด็กทั่วไปตอบคำถามตามปกติ
  • เด็กเรียนตอบคำถาม + แกล้งทำกาแฟหก
  • เด็กทั่วไปตอบคำถาม + แกล้งทำกาแฟหก

หมายเหตุ กลุ่มเด็กเรียนตอบคำถามถูก 92% ส่วนเด็กธรรมดาตอบได้ 30%

จากนั้นเอเลียสก็ให้กลุ่มอาสาสมัครจำนวน 48 คนนั่งดูทั้ง 4 เทปดังกล่าวแล้วทำแบบสอบถาม ปรากฏว่าเป็นไปตามคาด อาสาสมัครส่วนใหญ่ชอบกลุ่มเด็กเรียนที่ทำกาแฟหกมากกว่าเด็กเรียนอีกกลุ่ม โดยพวกเขาชอบตอนที่คนตกใจแล้วพูดว่า “โอ้พระเจ้า กาแฟหดใส่ชุดตัวใหม่ของฉันแล้ว!”

เห็นแล้วบางคนก็อยากลองทำกาแฟหกใส่ตัวเองกันใช่ไหมล่ะ? แต่อย่าเพิ่งครับ จากการทดลองในครั้งนั้น เอเลียสได้คำตอบอีกมุมหนึ่งว่า กลุ่มเด็กทั่วไปที่ทำกาแฟหกใส่ตัวเองและตอบคำถามได้น้อย ก็ทำให้เสน่ห์และความน่าดึงดูดลดลงไปด้วยเหมือนกัน

Photo by Pezibear on Piixabay.com
Photo by Pezibear on Piixabay.com

อีกผลการศึกษาของ อดัม เฟอร์เรียร์ (Adam Ferrier) นักจิตวิทยาด้านการตลาด เขาให้กลุ่มผู้ทดลอง 626 คนเลือกคุกกี้ 2 ชนิดคือ "คุกกี้ขอบแตก" และ "คุกกี้ขอบเรียบ" ผลคือคน 66% เลือกคุกกี้ขอบแตกมากกว่า ทำให้รู้ว่าความไม่สมบูรณ์แบบแค่เล็กน้อยไม่ได้ลดทอนความน่าดึงดูดลงไป

อย่างสายการบินเปิดใหม่แห่งหนึ่งก็นำทฤษฎี Pratfall Effect นี้มาใช้เช่นกัน โดยในตอนแรกยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนที่นั่งและน้ำหนักกระเป๋า จึงนำเสนอโปรโมพิเศษลดค่าตั๋วลง ลูกค้าหลายคนก็ยอมรับข้อเสนอนี้จนเป็นข้อดีให้สายการบินดำเนินกิจการต่อไปได้ 

เปิดฉากเด็ดหนังที่เกิดจากความผิดพลาด
แต่กลับดังไกลไปทั่วโลก 

Photo Credit:  Her.ie
Photo Credit:  Her.ie

จากภาพคือหนึ่งในซีนของภาพยนต์เรื่อง The Princess Diaries ผู้ชมอย่างเราๆ คงคิดว่านี่คือฉากลื่นล้มปกติ แต่ใครจะรู้ว่ามันไม่ได้อยู่ในบรีฟสักหน่อย นักแสดงเผลอลื่นจริงต่างหากครับ แต่ผู้กำกับไม่ตัดออกเพราะมองว่าการลื่นล้มก็เหมาะกับคาแรกเตอร์ของนางเอกที่มีนิสัยซุ่มซ่ามอยู่แล้วนั่นเอง

Photo Credit: Bollywoodlife.com
Photo Credit: Bollywoodlife.com

The Dark Knight ความจริงหลังกดรีโมท ระเบิดควรทำงานทันที แต่ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิค ฮีธ เลดเจอร์ ผู้สวมบทเป็นโจ๊กเกอร์ก็เลยต้องตีเนียนเล่นบททำหน้ากวนๆ เคาะรีโมทไปมารอระเบิดทำงาน เรียกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีสุดๆ

Photo Credit: Reddit.com
Photo Credit: Reddit.com

หรืออย่างหนังในตำนานเรื่อง The Lord of The Rings : The Two Towers จะมีซีนนึงที่อารากอร์นเตะหมวกเหล็ก จริงๆ มันก็อยู่ในบทนั่นแหละ แต่ดันมีเสียงร้องของอารากอร์นแถมมาด้วย ปรากฏว่าผู้กำกับถูกใจจนใส่เพิ่มเข้าใปในหนัง แต่หลังจากคัทฉากไป 3 รอบถึงรู้ว่าจริงๆ นักแสดงร้องออกมาเพราะนิ้วเท้าหักจากการเตะนั่นเองครับ (สงสารเลย TT)

เปิดสูตร(ไม่)ลับที่เกิดมาพร้อมความบังเอิญ

Photo by  Allybally4b on Piixabay.com
Photo by  Allybally4b on Piixabay.com

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามาก่อนว่า เต้าหู้เกิดขึ้นเพราะความไม่ได้ตั้งใจ โดยพ่อครัวเผลอทำเกลือตกลงไปในน้ำนมถั่วเหลือง หลังจากนั้นก็เกิดการจับตัวกันเป็นก้อน จนได้เป็นเต้าหู้ที่เรานำมาใช้ทำอาหารกันในทุกวันนี้ครับ 

Photo by Joshuabedford on Unsplash.com
Photo by Joshuabedford on Unsplash.com

หรือจะเป็นคุกกี้ช็อกโกแลตของโปรดใครหลายคน (ของโปรดพี่นี่แหละ5555) ก็เกิดจากการที่แม่ครัวมีวัตถุดิบทำคุกกี้ไม่เพียงพอ จึงต้องหันช็อกโกแลตเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมให้เข้ากับตัวแป้ง แต่ใครจะไปรู้ว่ามันกลับได้รสชาติใหม่ที่กลายมาเป็น คุกกี้ช็อกโกแลตชิพ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ 

Photo  by  Kapa65 on  Piixabay.com
Photo  by  Kapa65 on  Piixabay.com

อีกหนึ่งอาหารเช้ายอดฮิตอย่างคอร์นเฟลกส์ ก็มาจากความบังเอิญเหมือนกัน โดยหมอในรัฐมิชิแกนได้คิดสูตรอาหารเพื่อสุขภาพให้กับคนไข้ แต่จะทำยังไงก็ไม่ถูกใจคนไข้สักที วันหนึ่งน้องชายของเขาได้ต้มข้าวสาลีเอาไว้จนเละ แต่ด้วยความเสียดายจึงนำมาอบลองให้คนไข้กิน ผลคือคนไข้กลับชอบเอามากๆ กินจนหยุดไม่ได้ หลังจากนั้นเขาก็ลองเปลี่ยนจากข้าวสาลีเป็นข้าวโพด กลายเป็นคอร์นเฟลกส์ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนั้นเอง 

อย่าพึ่งเข้าใจผิด! พลาดมากก็ไม่ดีเสมอไป 

หลายคนอาจสงสัย อ้าววว ก็พี่เป็นคนบอกเองว่าความผิดพลาดทำให้เราน่าดึงดูดขึ้น ก็ใช่แหละ แต่! ถ้าย้อนไปในทฤษฎีของเอเลียส เขาบอกไว้ใช่ไหมครับว่า ถ้าหากเราทำพลาดมากเกินไปก็อาจทำให้เสน่ห์ของเรานั้นหายไปเลย TT อีกอย่างถ้าลองคิดกลับกันเรื่องบางเรื่องเราก็ต้องอาศัยทักษะและความแม่นยำมากๆ อย่างการทำงาน หรือการพบปะผู้คน หากพลาดขึ้นมามันก็อาจจะส่งผลทั้งภาพลักษณ์ของเราและคนรอบข้างด้วย เอาเป็นว่าพลาดให้น้อยเข้าไว้จะดีที่สุดครับ

 

นับเป็นอีกทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดใช่จะแย่เสมอไป บางครั้งก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเหนือความคาดหมาย และการออกนอกกรอบก็อาจดึงเสน่ห์ของสิ่งนั้นออกมาก็ได้ (แต่อย่าลืมนะครับว่าพลาดให้น้อยสุดจะดีกว่า 555) สำหรับน้องๆ ที่อยากแชร์มุมมองอื่นๆ ที่น่าสนใจหรือแตกต่าง ก็สามารถคอมเมนต์กันเข้ามาได้เลยนะครับ สำหรับวันนี้พี่ก็ขอตัวลาไปก่อน เจอกันใหม่บทความหน้าน้าาา 

    

 

  Sourcehttps://everydaypsych.com/the-pratfall-effect/https://boxpiper.com/posts/the-pratfall-effecthttps://firstwefeast.com/eat/2013/09/foods-invented-mistake/https://www.theguardian.com/media-network/2015/oct/28/pratfall-effect-brands-flaunt-flaws    
พี่ไพร
พี่ไพร - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น