อ่านยังไงให้ได้เรื่อง! 8 วิธีอ่านหนังสืออย่างมีคุณภาพ

Spoil

  • การอ่านหนังสือเหมือนการอัปเดตซอฟต์แวร์ของมนุษย์
  • อ่านหนังสือทั้งทีต้องอ่านหนังสือที่มีคุณภาพ
  • อ่านแล้วเข้าใจมากที่สุดคือต้องอ่านซ้ำๆ

สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาว Dek-D ทุกคน เนื่องในโอกาสที่ใกล้จะเปิดเรียนใหม่กันอีกรอบแล้วจากประกาศของกระทรวงศึกษาธิการที่จะกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ สำหรับการที่ต้องหยุดเรียนไป หรือไม่ก็ต้องเรียนออนไลน์มันทำให้เพื่อนๆ ทุกคนถูกลดทอนศักยภาพในการเรียนรู้ไปเยอะแยะเลยจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตไม่ดี การเรียนออนไลน์มันมีสมาธิยาก เป็นต้น สิ่งเดียวที่จะทำให้เราพร้อม และเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ได้เต็มที่ คือการอ่านหนังสือยังไงล่ะ

ว่ากันว่าการอ่านหนังสือนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการจดจำ แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ และจดจำไปในตัวด้วย แม้เราจะอ่านหนังสือคณิตแล้วจำสูตรได้ หรืออ่านประวัติศาสตร์แล้วจำสงครามต่างๆ ได้แต่ถ้าเราไม่เข้าใจก็ไม่อาจนำความรู้นั้นไปใช้ได้อย่างจริงจัง การอ่านหนังสือให้เข้าใจนั้นเปรียบเสมือนกับการอัปเดตซอฟต์แวร์สำหรับมนุษย์เลยทีเดียว ทำให้เราก้าวหน้าขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้น และมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ เยอะขึ้นด้วยจากหนังสือ

เพราะงั้นในวันนี้ พี่เบสเลยจะพาทุกคนมาพบกับ 8 วิธีการอ่านหนังสือเรียนให้เข้าใจเข้าจิตอย่างถ่องแท้ มาอัปเดตซอฟต์แวร์ในหัวของทุกคนกันเลยดีกว่า!

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

1.เลือกให้ดี เลือกอ่านให้ถูกเล่ม

แม้การอ่านหนังสือเยอะๆ จะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็มีบางเล่มที่เราต้องดูให้ดีก่อนว่าจะอ่านดีไหม? เรื่องของคุณภาพหนังสือมันไม่ได้เกี่ยวแค่เฉพาะกับการ์ตูน หรือนิยายที่จะต้องเน้นภาพสวยงาม เนื้อหาน่าสนใจ หรือคำเขียนสวยงามบรรยายได้เห็นภาพเท่านั้น หนังสือเรียนเองก็มีคุณภาพของตัวมันเหมือนกัน โดยหนังสือเรียนที่ดีคือต้องมีเนื้อหาที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนความจริง หลักๆ เพียงเท่านี้ก็พอจะอ่านได้แล้ว แต่ถ้าหาเล่มที่มีการเรียบเรียงได้ดี มีภาษาสนุกน่าอ่าน จะยิ่งช่วยให้เราสนุกกับการเรียนได้ขึ้นเยอะ

แต่แล้วเราจะรู้ได้ยังไงจนกว่าจะลองอ่านล่ะว่าหนังสือเล่มนี้มันดีหรือไม่ดีล่ะ? ก่อนอื่นเลยแม้หน้าหนังสือ หรือปกจะไม่อาจจะบ่งบอกได้ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นยังไง แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องอ่านจนจบเล่มเราก็รู้ได้แล้วว่ามันมีคุณภาพพอจะอ่านรึเปล่า เพียงแค่อ่านสารบัญเพื่อดูหัวเรื่องที่น่าสนใจ เลือกมาสัก 2-3 บทที่เราชอบ แล้วลองอ่านมันดูสัก 10 นาที เน้นโฟกัสตรงหัวข้อใหญ่ที่ใส่ตัวหนาๆ เอาไว้ เพียงเท่านี้ก็พอประเมินได้แล้วว่าหนังสือเล่มนั้นมีคุณภาพรึเปล่า

2.เลือกอันที่สนใจมาก่อน

นอกเหนือจากคุณภาพสิ่งที่สำคัญในการหยิบหนังสือมาอ่านคือความสนใจของตัวเราเอง อย่างในเรื่องของการอ่านหนังสือสอบก็ควรจะเริ่มอ่านจากวิชาที่ถนัด วิชาที่เราชอบเพราะมันจะทำให้เราจดจำข้อมูลได้ง่ายกว่า ไวกว่า จนทำให้มีเวลาเหลือมากกว่าเดิมในการที่ต้องไปอ่านวิชาที่เราไม่ถนัด แล้วต้องทนกัดฟันอ่านอย่างทรมาน นอกจากจะไม่เข้าหัวเท่าไหร่แล้วยังโดนกดดันจากเวลา แถมต้องเร่งเพื่อไปอ่านวิชาอื่นๆ ที่เราคิดว่าถนัดแล้วไว้อ่านทีหลัง แต่พอเวลางวดลงอาจจะไม่ทันจนสุดท้าย ความพยายามก็อาจจะสูญเปล่าไปเลยก็เป็นได้

อย่างตัวพี่เบสเองก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เลือกอ่านวิชาที่ชอบก่อนเพราะอ่านแป๊บเดียวก็จำเข้าจิตเข้าใจได้แล้ว หลังจากนั้นถึงค่อยไปอ่านวิชาที่เนื้อหาแน่น ทฤษฎีเยอะจนทำให้มีเวลามากพอจะเตรียมตัว และมีคะแนนสอบออกมาที่น่าพึงพอใจ

3.จำไม่ได้ก็ต้องจดสิ 

เหตุผลที่เวลาเรียนสมัยประถม มัธยมที่คุณครูอยากให้เด็กนักเรียนจดตามบนกระดาน นั่นเป็นเพราะว่าการอ่านแล้วจดมันจะช่วยทำให้เราจำได้ดียิ่งเสียกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียวซะอีก เพราะการที่เราได้จดนั้นทำให้เราได้อ่านข้อความทุกตัวอักษรแน่นอน และทำซ้ำด้วยการจดไปอีกจึงมีโอกาสในการจดจำเยอะยิ่งกว่าการอ่านปกติ เพราะงั้นถ้าเราอยากจะจำหนังสือเรียนที่เราอ่าน การอ่านไปด้วย จดไปด้วยถือว่าเป็นอะไรที่ช่วยได้มากจริงๆ

หรือในบางวิชาที่มีโจทย์ให้แก้ มีคำถามให้ลองทำอย่างเช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มันจะยิ่งทำให้เราจดโน้ตได้ง่ายขึ้นอีกโดยไม่จำเป็นต้องตามจดทุกอย่างเองแล้ว หรือถ้าใครขยันหน่อยก็นำที่เราอ่าน เราจดไว้มาสรุปย่อยข้อมูลอีกทีเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ทำเป็นแผนภาพ แผนผัง สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน ทำความเข้าใจหาเมนไอเดียมาเป็นหลักในการเริ่มต้น เพื่อการย้อนกลับมาอ่านอีกครั้งแบบมีประสิทธิภาพ

หรือถ้าทำแบบนั้นไม่ได้ก็แนะนำให้ลองวิธีจดแบบ Feynman ที่ตั้งชื่อตามผู้คิดค้นอย่าง Richard Feynman นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ที่มีวิธีในการจดแบบจินตนาการว่าตัวเองกำลังลิสต์ความรู้จากหนังสือที่อ่านแบบสั้น กระชับ และเข้าใจง่ายที่สุดราวกับจะนำความรู้นี้ไปสอนให้กับเด็กเล็กๆ โดยการเขียนชื่อหนังสือไว้เป็นหัวข้อ และข้างล่างนั้นคือคำอธิบายโดยย่อของหนังสือที่เราอ่านไปนั่นเอง

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

4.แชร์กับเพื่อนๆ สิ

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีมากๆ สำหรับการอ่านหนังสือ เพราะมันมีตัวช่วยหลากหลายฟังก์ชันเลยหากเราเลือกที่จะอ่านร่วมกันกับคนที่เราสนิท หรือคนที่เราไว้ใจมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งกันอ่านตามความถนัด แล้วจากนั้นค่อยมาสรุปแยกย่อยความรู้รวมกัน เท่านี้ก็เหมือนกับได้อ่านกันทุกคนแล้วโดยที่แต่ละคนไม่ต้องเสียเวลาไปอ่านหนังสือทั้งเล่ม หรือไปอ่านในจุดที่ตัวเองไม่ถนัด และทำให้ได้รับความรู้จากการอ่านน้อยลงไปอีก

หรือจะเป็นการสอนคนอื่นเองก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายจนทำให้เราพัฒนาการอ่านหนังสือเรียนไปได้เยอะอยู่เหมือนกัน เพราะทั้งแรงกดดันจากการที่เราต้องหาความรู้มาสอน มันก็ทำให้เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น หรือในสำหรับบางคนก็อาจจะเป็นการทบทวนความรู้เดิมที่เคยได้อ่านผ่านมาแล้วเป็นอย่างดีเหมือนกัน แต่ย้ำนะว่าเป็นการสอนกัน ไม่ใช่ไปอ่านมาแล้วบอกคำตอบให้เลย แบบนี้ไม่โอเคครับ

5.แผนภาพต้นไม้ช่วยได้นะ

หนังสือมันก็เหมือนกับต้นไม้นี่แหละ ความรู้ในหนังสือก็เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเป็นลำต้น แล้วงอกเงยเป็นกิ่ง ก้าน ใบ แผ่กระจายไปทั่วเหมือนความรู้ของเราที่เติบโตขึ้นหลังได้อ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเปรียบเทียบหรอก เพราะถ้าเราอยากเข้าใจในเรื่องๆ ใดโดยเฉพาะ การเขียนแผนภาพต้นไม้เชื่อมโยงความรู้โดยยึดเอาเรื่องหนึ่งเป็นศูนย์กลาง แล้วเอาความรู้จากหนังสือแต่ละเล่มมาเรียงกัน ก็จะช่วยให้เราได้ความรู้ที่แน่นปึกมาในทันที

เช่น การอ่านวิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องช่วงอยุธยาจนไปเจอจุดสังเกตในยุคของพระนารายณ์มหาราชว่าในหนังสืออีกเล่มมันมีเนื้อหาที่ต่อเนื่องกัน หรือมีเกร็ดเพิ่มเติมอยู่ สิ่งที่เราควรทำคือรีบเขียนรีบจดในสิ่งที่ได้อ่านจากเล่มแรก และไปเปิดหาต่อในอีกเล่มเพื่อเขียนสร้างแผนผังต้นไม้ในทันที เพื่อเชื่อมต่อความรู้ และเวลาย้อนกลับมาอ่านจะได้ทำความเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น

6.อ่านก่อนนอน

จากผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ใน Psychological Science วารสารทางวิทยาศาสตร์ที่สำรวจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบความจำของสมอง พบว่าการนอนหลังจากที่อ่านหนังสือไป นอกจากจะทำให้ลดระยะเวลาในการอ่านหนังสือลงไปเพราะการได้นอนที่เพียงพอแล้ว มันยังช่วยเพิ่มการเก็บรักษาความทรงจำในระยะยาว จนทำให้เราจำอะไรต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกต่างหาก

ในการทดลองนั้นนักวิจัยแบ่งกลุ่มคนที่พูดฝรั่งเศสได้ทั้ง 60 คนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะถูกควบคุมตามใจนักวิจัย กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ได้นอนหลับ ส่วนอีกกลุ่มคือไม่ได้นอนหลับเลย โดยที่ทั้ง2 กลุ่มจะต้องเรียนรู้ และจดจำคำศัพท์ฝรั่งเศสที่แปลมาจากภาษาสวาฮิลีที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในภาษาที่ยากที่สุดในโลก 16 คำ

การทดลองดำเนินไปเป็นสัปดาห์ ยาวไปจนถึง 6 เดือน ก่อนจะได้ผลสรุปออกมาว่า กลุ่มที่ได้นอน และกลุ่มที่โดนควบคุมจะจำคำศัพท์ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอน แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือกลุ่มที่ได้นอนก็ยังมีความทรงจำยิ่งกว่ากลุ่มที่ควบคุมโดยนักวิจัยเสียอีก มันเลยเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่าอ่านก่อนนอนช่วยให้จำได้ดีขึ้นจริงๆ แต่ก็ระวังอย่าอ่านหนังสือแบบใช้ไฟน้อยๆ หรือแอบอ่านแบบหรี่ไฟละ ถ้าจะอ่านก่อนนอนจริงๆ ก็ควรจะใช้ไฟนุ่มนวลสบายตา อ่านเสร็จปุ๊บก็พร้อมนอนโดยไม่ระคายตาเพราะแสงไฟได้เลย

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

7.อ่านให้มากกว่า 1 เล่ม

ที่บอกให้อ่านมากกว่า 1 เล่มไม่ใช่แค่ให้อ่านหนังสือหลายวิชาหรอกนะ แต่เฉพาะแค่วิชาเดียวเราก็ควรจะอ่านหลายๆ เล่มเหมือนกันเพื่อเสริมภูมิความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ได้มากขึ้น อย่างที่เคยพูดไปในข้อแผนภูมิต้นไม้นั่นแหละ ดึงความรู้จากหนังสือหลายๆ เล่มมารวมกัน 

เพราะคนเรามักใช้ความรู้ในหัวเวลาตัดสินใจอะไรสักอย่าง และมันจะน่ากลัวมากถ้าความรู้นั้นมาจากหนังสือเพียงเล่มเดียว การอ่านหนังสือหลายเล่มจากหัวข้อเดียวกันนอกจากจะให้ความรู้เพิ่มเติมจนทำให้เรารู้ลึกขึ้นแล้ว มันยังเป็นการได้อ่านความคิด ความเข้าใจจากมุมมองของผู้เขียนหลายๆ คนอีกด้วย มันจะยิ่งฝึกให้เรามองอ่านความคิดของคนอื่นๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะงั้น อ่านหลายๆ เล่มน่ะดีกว่าอยู่แล้วล่ะ

8.มันต้องซ้ำ

แน่นอน การอ่านหนังสือมันคือการเพิ่มพูนความรู้ในหัวของเรา แต่ว่านะ การอ่านเพียงแค่รอบเดียวมันก็เป็นเพียงแค่การสแกนได้ความรู้ดิบๆ ไปเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ยิ่งหนังสือเล่มไหนที่มันค่อนข้างลึก หรืออ่านยากอย่างหนังสือวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เนี่ย บอกได้เลยว่าอ่านไปรอบเดียวมันก็เหมือนแกะความรู้ไปได้แค่ 10% เท่านั้นเองแหละ

ดังนั้น เราควรต้องอ่านมันซ้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อ่านจนกว่าเราจะเข้าใจบทเรียนในนั้นได้อย่างถ่องแท้ อ่านมันเข้าไปจนตัวเรามั่นใจจริงๆ แล้วว่าเรารีดความรู้ออกมาจากหนังสือเล่มนั้นได้หมดจดแล้วจริง ๆ หรือจนกว่าเราจะพอใจว่าเอาเท่านี้คือเพียงพอแล้ว

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

 

เป็นยังไงกันบ้างกับทริคการอ่านหนังสือที่พี่เบสเอามาฝากกัน นอกจากจะเป็นการอ่านหนังสือเรียนแล้วนั้น ในบางข้อก็สามารถนำมาปรับใช้กับการอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ได้เหมือนกันนะ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่ดี อ่านแล้วสนุกขอบอกได้เลยว่าถ้าเราทำทุกข้อตามคำแนะนำนี้ได้ละก็ เราจะได้ความรู้ ความสนุกจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นแบบ 200% ไปเลย พี่เบสเองก็เป็นคนนึงที่ชอบอ่านมากๆ อ่านซ้ำอยู่นั่นแหละ แม้จะเพิ่งมารู้วิธีการอ่านแบบนี้เป็นครั้งแรก แต่หลายๆ ข้อพี่เบสก็ทำเป็นปกติอยู่แล้วเหมือนกันนะ

ยังไงก็เป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ชาว Dek-D ทุกคนที่กำลังจะเปิดเรียนนะครับ สำหรับใครที่เป็นสายอ่าน ตั้งใจอ่านหนังสือตามเทคนิคที่บอกไปแล้วผลเป็นยังไงก็มาคอมเมนต์บอกกันได้เหมือนเดิมนะครับ

 


ข้อมูลจาก:
https://www.mayooshin.com/how-to-retain-what-you-read/https://jamesclear.com/reading-comprehension-strategies
พี่เบส
พี่เบส - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น