ทำน้อยแต่ได้มาก! รู้จักกับกฎ 80/20 ที่จะทำให้เราทำงานง่าย แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

Spoil

  • กฎ 80/20 ว่าด้วยเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
  • ผู้มีอำนาจมีจำนวนน้อย แต่สามารถควบคุมกว่าครึ่งประเทศได้ในอัตราส่วน 20% คุม 80%
  • การวิเคราะห์ด้วยกฏ 80/20 ช่วยทำให้เราเจอจุดที่ทำน้อยๆ แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น

ในชีวิตของเพื่อนๆ เคยเจอเรื่อง หรือเจออะไรที่รู้สึกว่ามันไม่เท่าเทียมกันบ้างไหมครับ? อย่างเช่น ตั้งใจเรียนแทบตายแต่ไหงเกรดออกมาไม่ดี! แต่ทำไมบางคนที่ทำเป็นบางงาน กลับได้เกรดดีกว่า อะไรแบบนี้

มันคือทฤษฎีที่ถูกนำมาเปรียบเทียบในความไม่เท่าเทียมกันของสังคมมนุษย์เรา ที่แม้จะรณรงค์กันเรื่องความเท่าเทียมมากแค่ไหน แต่ความเป็นจริงมันแทบจะมีน้อยมากจนกลายมาเป็น กฎ 80/20 ที่พี่เบสกำลังจะพาเพื่อนๆ ชาว Dek-D ทุกคนไปรู้จักกับมันนั่นเอง

ภาพจาก Unsplash.com
ภาพจาก Unsplash.com

กฎ 80/20 คำอธิบายของความไม่เท่าเทียมในสังคม

กฎ 80/20 หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่าทฤษฎี Pareto เป็นทฤษฎีที่มองว่าทุกอย่างในสังคมล้วนมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น โดยผู้คิดค้นทฤษฎีนี้ก็คือ Vilfredo Federico Damaso Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ที่ค้นพบว่าในประเทศบ้านเกิดของเขาจากจำนวนประชากรมีเพียง 20% ของประเทศที่เป็นกลุ่มมีเงินทุน และมีอิทธิพลภายในประเทศ และอีกกว่า 80% ที่เป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา และ 20% ที่ว่านั้นเองก็เป็นคนควบคุมเศรษฐกิจกว่า 80% ของประเทศเหมือนกัน

ตรงนั้นเองที่ทำให้คุณ Pareto เริ่มสังเกตไปถึงสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากผู้คน ในแวดวงอุตสาหกรรมเองก็เป็นแบบนั้น ลงทุนไปกว่า 80% แต่ได้ผลกำไรกลับมาแค่ 20% เป็นต้น จนยิ่งดูไปยิ่งได้ข้อสรุปไปเลยว่าในแวดวงการเศรษฐกิจกฎ 80/20 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นหลักการที่ดูสากลไปแล้ว

ขั้นตอนการทำงานด้วยกฎ 80/20

หลังจากที่ได้รู้ที่มากันแล้ว เพื่อนๆ ก็คงจะสงสัยกันใช่ไหมล่ะครับว่ามันมีขั้นตอนในการวิเคราะห์ด้วยกฎ 80/20 ยังไงกันบ้าง? ดังนั้นหัวข้อนี้เลยจะพามาดูสเต็ปการวิเคราะห์ไปทีละขั้นที่แม้ตัวกฎ 80/20 จะเกิดขึ้นเพราะเรื่องของเศรษฐกิจ แต่มันก็สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน

  1. วิเคราะห์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน หรือสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
  2. หางานหลักที่เราต้องทำให้เจอ
  3. ตั้งคำถามว่างานไหนให้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับเรา
  4. คิดหาวิธีลดการเสียเวลากับงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ผลลัพธ์ไม่เยอะเท่าไหร่
  5. ตั้งเป้าหมายหาสิ่งใหม่ๆ ทำเพิ่มโดยอาศัยหลักที่ว่าผลลัพธ์ที่ดีต้องมาก่อน
  6. ใช้กฎ 80/20 ในการทำงานย่อยแต่ละอย่างนั้นไปอีกที
  7. วางแผนเน้นทำสิ่งที่ทำแล้วให้งานลุล่วงมากที่สุดไว้ก่อน
ภาพจาก Unsplash.com
ภาพจาก Unsplash.com

แล้วเราสามารถเอากฎ 80/20 มาใช้ทำอะไรได้บ้าง

ทฤษฎีนี้แม้จะดูเกี่ยวข้องกับเรื่องตัวเลข เศรษฐกิจ เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ว่าเราก็สามารถนำเอาความรู้จากจุดนี้มาประยุกต์ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมือนกันนะ ถ้าเปิดตัวกฎ 80/20 มาพูดกันแบบเห็นภาพชัดๆ มันคือการที่เราวิเคราะห์สิ่งๆ นึงที่เราต้องการจะวิเคราะห์ แล้วแบ่งแยกความสำคัญของมันออกเป็นสัดส่วน อันไหนที่ทำไม่เยอะแต่ได้ผลลัพธ์มากกว่าก็จะจัดเป็น 20% อันไหนที่ทำเยอะๆ แต่ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ก็จัดเป็น 80% ไป  โดยยกตัวอย่างสิ่งที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับกฎ 80/20 ได้ เช่น

ทำการบ้าน/อ่านหนังสือสอบ

วิเคราะห์ออกมาว่าวิชาไหนมีคะแนนเยอะ หน่วยกิตหนัก เราก็แยกมันเป็นส่วนของ 20% ส่วนน้อย แต่เป็นส่วนที่ทำให้เราได้คะแนนเยอะกว่าวิชาอื่นๆ เราก็รีบมุ่งทำ มุ่งอ่านอันนั้นให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาตามเก็บอีก 80% ที่เหลือที่เป็นวิชาหน่วยกิตส่วนน้อย

แบ่งเวลาชีวิต

นอกจากเรื่องของการบ้าน เวลาในการใช้ชีวิตเราเองก็ปรับใช้ได้ บางครั้งที่เรารู้สึกว่าทำอะไรเสียเวลาไปกับตรงจุดนี้มากไป ถ้าหากใช้กฏ 80/20 แบ่งเวลาไปทำสิ่งสำคัญ 20% ที่ให้ประโยชน์กับเรามากที่สุดก่อน แล้วค่อยแบ่งไปทำอีก 80% ที่เหลือ ที่จะทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้

บริหารเงิน

อันนี้เองก็ใช้ได้! โดยเฉพาะกับคนกระเป๋าเงินรั่วไหลถูกใจเป็นเปย์ ลองใช้กฎ 80/20 วางแผนการใช้เงินดู ใช้เงินไปกับสิ่งจำเป็น 20% ก่อน แล้วที่เหลืออีก 80% ค่อยว่ากัน

การจัดของ

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่เบสคิดว่าใช้ได้นะ เลือกเอา 20% ของสำคัญที่เราใช้บ่อยๆ มาวางไว้ใกล้ๆ มือ ส่วนอีก 80% นั้นก็เก็บให้เข้าที่เรียบร้อยเพราะนานๆ จะใช้ที เป็นต้น

เพราะความจริงในชีวิตประจำวันของเรา หลายๆ คนมักจะพุ่งตรงมีเป้าหมายเต็มร้อยในการทำทุกอย่างให้ดีเยี่ยม หรือบางคนอาจจะมีกลุ่มที่โฟกัสผิดเป้าหมาย เลือกทำอะไรที่ง่าย และได้ผลน้อยกว่า หากแต่ว่ามนุษย์เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้พร้อมกันได้เป็นอย่างดี อาจจะมีบ้างที่ทำได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบนั้น เพราะฉะนั้นกฎ 80/20 จึงช่วงเรื่องการวิเคราะห์ถึงสิ่งสำคัญที่ควรจะทำก่อนเป็นอันดับแรกได้อย่างดีเลยทีเดียว

ภาพจาก Unsplash.com
ภาพจาก Unsplash.com

ประโยชน์ของการวิเคราะห์ด้วยกฎ 80/20

1.ทำน้อยได้มาก

อย่างที่ได้บอกกันไปแล้วในหัวข้อก่อนว่าการที่เราวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยกฎ 80/20 จะช่วยทำให้เรามีผลลัพธ์ในการทำงานแบบทำน้อย ได้มาก เสียแรงไม่เยอะแต่ได้ผลลัพธ์มากตามต้องการ แต่นอกเหนือจากนั้นมันยังให้ประโยชน์ในส่วนอื่นได้อีก

2.ประหยัดเวลา

นอกจากจะทำให้เราทำงานสบายขึ้นเพราะโฟกัสถูกจุด ได้ผลลัพธ์ตามต้องการแล้ว การวิเคราะห์ด้วยกฎ 80/20 จะทำให้เวลาในการทำงานลดลงไปด้วย เพราะเราได้ทำจุดใหญ่เสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว แล้วค่อยมาเก็บจุดเล็กๆ ตามหลังนั่นเอง

3.มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น

สืบเนื่องจาก 2 ข้อแรก เพราะงานเสร็จไว ได้ผลตามต้องการเลยมีเวลาเอาไปทำอย่างอื่น จะทำงานต่อไป พักผ่อน นอน ดูหนัง เล่นเกม อะไรก็แล้วแต่ตามใจเราต้องการได้เลย

4.จัดการกับข้อมูลเชิงลึกได้ดี

ยิ่งเป็นการทำงานที่เน้นกับข้อมูลหนักๆ ข้อมูลเชิงลึก สถิติตัวเลขเยอะๆ กฎ 80/20 ยิ่งช่วยบริหารการทำงานได้ดีเลยทีเดียว เพราะเดิมทีต้นกำเนิดมันก็มาจากการหาอัตราส่วนด้านเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว

5.แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ก็ใช้งานได้

แม้จะบอกว่ามันเหมาะกับการทำงานด้วยข้อมูลเชิงลึก แต่เรื่องเล็กน้อยก็สามารถใช้กฎ 80/20 ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารพื้นที่ในคอม การบริหารรายรับรายจ่ายของตัวเอง การทำการบ้าน การอ่านหนังสือสอบ เป็นต้น

ภาพจาก Unsplash.com
ภาพจาก Unsplash.com

 

 สำหรับใครที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยมาก แต่ได้ผลลัพธ์ไม่คุ้มเสีย ก็ลองนำวิธีของกฎ 80/20 ไปปรับใช้ดูนะครับ อย่างพี่เบสเองถึงแม้จะพึ่งเคยมารู้จักกับกฎ 80/20 แต่พี่เบสก็ใช้วิธีการแบบนี้มาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะตอนอ่านหนังสือสอบ พี่เบสจะเน้นอ่านวิชาที่เน้นหน่วยกิตเยอะๆ กับดูเนื้อหาแล้วมันแน่นๆ ไว้ก่อนเลย แล้วค่อยมาอ่านเก็บตกวิชาย่อยที่เนื้อหาเบาสบาย หน่วยกิตไม่เยอะตามหลัง เพื่อนๆ เองก็ลองเอาไปทำตามกันดูสิครับ รับรองได้เลยว่าอย่างน้อยๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าทำงานเป็นระบบมากขึ้น เสียเวลากับเรื่องไม่จำเป็นน้อยลงแน่นอน

ถ้าชื่นชอบ หรือมีเรื่องจะแลกเปลี่ยนพูดคุยก็สามารถพิมพ์คอมเมนต์กันเข้ามาได้เสมอเลยนะครับ

 

 

ที่มา:
https://medium.com/pm101/how-you-can-apply-the-80-20-rule-in-your-life-and-work-7d094a78e136
https://www.briantracy.com/blog/personal-success/how-to-use-the-80-20-rule-pareto-principle/
พี่เบส
พี่เบส - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น