Teen Coach EP.1 : "เพื่อนข้าใครอย่าแตะ" หวงเพื่อนมากกก ทำไงดี?

Spoil

  • สำหรับวัยรุ่น เพื่อนคือคนที่ห่วงใย เข้าอกเข้าใจกัน จึงมีความสำคัญมากๆ
  • อาการหวงแหน ทำให้เราย้อนกลับไปเป็นเด็ก  ต้องการที่พึ่งทางใจ การดูแลเอาใจใส่
  • ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันและเป็นความสบายใจให้กัน จะเวิร์กที่สุด

สวัสดีค่ะ โค้ชพี่นักเก็ต คู่หูคนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่โค้ชให้น้องๆ ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่าง Happy ทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ กับครอบครัว หรือแม้แต่กับคนที่แอบปิ๊ง! (อุ๊ยๆๆ) และจะยังช่วยโค้ชให้น้องๆ รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ผ่านหลักจิตวิทยาที่เข้าใจง้าย ง่าย ด้วยนะ!

สำหรับ Teen Coach EP.1 พี่นักเก็ตก็สำรวจมาแล้วว่า ปัญหาที่น้องๆ วัยรุ่นว้าวุ่นเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือ "ปัญหาเรื่องเพื่อน" หลายคนนี่หวงเพื่อนมาก ชนิดมีสโลแกนเลยว่า "เพื่อนข้าใครอย่าแตะ!" เพื่อนจะไปไหน ทำอะไร กับใคร เราต้องรู้หมด ถ้าวันดีคืนดีไถ Story IG เจอว่าเพื่อนซี้หนีไปแฮงเอาท์กับเพื่อนแก๊งอื่น งานดราม่าก็จะมาเต็ม ทั้งนอยด์ ทั้งน้อยใจ คิดไปไกลเลยว่าเพื่อนจะเทเราแล้วใช่มั้ย T^T หรือพูดง่ายๆ เลยก็คือ อาการหวงเพื่อนกำเริบ

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจงงแล้วว่า เอ๊ะ เป็นเพื่อนกันหวงกันได้ด้วยเหรอ!? ความรู้สึกแบบนี้มันต้องเป็นกับแฟน หรือคนที่ปิ๊งๆ กันรึเปล่า?  พี่นักเก็ตก็บอกเลยค่ะว่า "เพื่อนกันหวงกันได้แน่นอน"  อาการหวงไม่จำเป็นต้องเกิดแค่กับคนที่เราปิ๊งๆ เท่านั้น  แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่เรารัก เช่น เพื่อนซี้ แม้จะไม่ได้รู้สึกเกินเลยอะไร เป็นความรู้สึกไม่อยากให้เพื่อนหายไป หรือสนิทกับใครมากกว่า ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ และรับมือกับมันค่ะ

ก่อนจะไปถึงเรื่องหวงเพื่อน พี่นักเก็ตก็ขอมาโค้ชให้น้องๆ ทำความเข้าใจกับพัฒนาการของคำว่า เพื่อน กันก่อน 

ย้อนไปช่วงวัยเด็ก  เราอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเพื่อนสำคัญอย่างไร เพราะในความคิดเราตอนนั้น เพื่อนเป็นเพียงแค่คนที่เล่นด้วยกัน แบ่งขนมกัน หรือเดินกลับบ้านด้วยกัน จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น จังหวะนี้แหละเพื่อนจะค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะวัยนี้เราเริ่มเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม (abstract)  ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนสนิทเริ่มเปลี่ยนไป จากที่แค่เป็นคนแบ่งขนม เล่นเกมด้วยกัน นั่งเรียนข้างกัน ก็กลายเป็น คนที่ซื่อสัตย์ต่อกัน ไว้ใจกัน แชร์เรื่องราวต่างๆ ต่อกัน ไม่ว่าเรื่องทัศนคติหรือความชอบต่างๆ ทำให้เพื่อนสนิทในช่วงวัยรุ่น เป็นคนที่มีความห่วงใย เข้าอกเข้าใจกัน เราจึงให้ความสำคัญกับเพื่อนในวัยนี้มากสุดๆ

 ความรู้สึกหวงแหน เกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย (insecurity) เหมือนเวลาตอนเด็กๆ ที่เรามักกลัวคุณแม่หายไป หรือกลัวคุณพ่อคุณแม่จะรักน้องมากกว่า เป็นความรู้สึกที่เกิดจากความกลัวจะสูญเสียคนที่เรารัก รวมกับความไม่มั่นใจในตนเอง และการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้เมื่อเรารู้สึกผูกพันไว้ใจใคร ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือแฟน ก็จะรู้สึกหวงแหนขึ้นมา

 และเจ้าความหวงแหนนี่แหละ ในบางครั้งก็จะไปปลุกความเป็นเด็กในตัวเรา ทำให้เราต้องการที่พึ่งพิง ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ส่งผลให้เราน้อยใจ-เสียใจเมื่อรู้สึกว่าถูกลดความสำคัญ ทีนี้ เมื่อเราน้อยใจ ตัดพ้อ งอน หรือโกรธใส่เพื่อนมากๆ เข้า ก็อาจทำให้อีกฝ่ายอึดอัด ไม่เป็นตัวเอง รู้สึกเหมือนเราเข้าไปควบคุม-เจ้ากี้เจ้าการชีวิตเขามากเกินไป จนสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเราและเพื่อนได้! 

ใครที่รู้สึกว่าตัวเองมาถึงจุดนี้แล้ว ต้องรีบเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแก้ไขเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนดีๆ เอาไว้ด่วนๆ เลยค่ะ 

แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ? พี่นักเก็ตเข้าใจนะคะว่าน้องๆ ก็ไม่ได้ผิดเลยที่จะรู้สึกน้อยใจเพื่อน แต่คิดดูดีๆ เพื่อนก็ไม่ผิดอะไรเหมือนกันที่จะมีสังคม หรือคนรอบตัวใหม่ๆ ดังนั้นวันนี้พี่นักเก็ตจึงมีวิธีจัดการกับความรู้สึกหวงเพื่อนมาเสนอให้ลองทำกัน ก่อนความรู้สึกลบๆ แบบนี้จะเป็นตัวการทำให้ทั้งตัวน้องๆ และความสัมพันธ์กับเพื่อนซี้แย่ลง 

1.    สูดลมหายใจลึกๆ แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจ

ช่วงแรกๆ เราอาจจะเสียใจมาก น้อยใจมาก จนคิดจินตนาการในแง่ร้ายไปต่างๆ นานา พี่นักเก็ตบอกเลยว่า Stop! ก่อนค่ะ สูดลมหายใจลึกๆ แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า โอเค...อาการหวงเพื่อนไม่ใช่เรื่องแปลก และตอนนี้เรากำลังหวงเพื่อนอยู่ แต่หวงเพราะอะไรล่ะ? ลองค่อยๆ คิดหาเหตุผล แล้วกล่อมตัวเองเบาๆ ให้ยอมรับความจริงว่า เพื่อนยังมีอีกหลายสังคม ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ลองเปรียบเทียบกับตัวเองดูก็ได้ว่าแม้แต่เรายังมีเพื่อนหรือสังคมอื่นๆ เหมือนกันเลย

 2.    เปิดใจ เล่าความรู้สึกให้เพื่อนฟัง

พี่นักเก็ตเชื่อว่า กว่าจะมาถึงความน้อยใจขนาดนี้ได้ น้องๆ ต้องผ่าน story มามากมาย เช่น ไปเจอเพื่อนนัดกันแต่ไม่ชวนเรา หรือมีบางเรื่องเพื่อนไม่เล่าให้เราฟัง แต่ไปเล่าให้คนอื่นฟัง  สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราคิดในแง่ร้าย จินตนาการเรื่องราวไปเอง พี่นักเก็ตจึงขอแนะนำว่าเป็นเพื่อนกันทั้งที เปิดใจพูดคุยกันให้ชัดเจนไปเลยดีกว่า หรือไม่ก็ลองทบทวนอีกทีว่าเราไม่ได้คิดมากไปเองใช่มั้ย? เพื่อนให้ความสำคัญเราน้อยลงจริงรึเปล่า?  ที่สำคัญ อย่าลืมคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำ จะให้ดีรอจนอารมณ์เย็นลงก่อนก็ได้ค่ะ

3.    ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งความน้อยใจก็เกิดจากความผิดหวัง ผิดหวังว่าเพื่อนจะรักเรามากที่สุด จะคิดถึงเราเป็นคนแรก จะบอกเราในทุกๆ เรื่อง  เพราะเราเห็นเพื่อนเป็นคนสำคัญ เพื่อนก็ต้องให้ความสำคัญกับเราเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงเราบังคับใครให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ ท่องให้ขึ้นใจเลยค่ะว่า "เพื่อนก็ต้องมีชีวิตของเพื่อน" ต่อให้เราสำคัญแค่ไหน เราก็ไม่ใช่เจ้าของชีวิต สิ่งที่ทำได้คือเราต้องเปิดใจยอมรับ และเข้าใจว่าเพื่อนยังมีคนอื่นๆ อยู่รอบตัว และมีสังคมอื่นๆ ด้วย

เขียนมาก็ตั้งยาว งั้นพี่นักเก็ตขอสรุปอีกทีว่า ไม่มีใครสามารถยึดติดใครไว้ได้ตลอดเวลา เพราะทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ขอเพียงแค่พวกเราไว้ใจ และสบายใจที่จะอยู่ด้วยกัน อย่ามัวให้ความรู้สึกหวงหรือน้อยใจที่แวบขึ้นมา เข้ามาทำให้ความสบายใจที่เคยมีสั่นคลอนได้ เพราะความไม่สบายใจนี่แหละ จะทำให้เราหรือเพื่อนค่อยๆ ออกห่างจากกัน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์มากขึ้นไปอีก

นอกจากความสัมพันธ์กับเพื่อนซี้จะแย่ลงแล้ว ความหวงแหนยังส่งผลลบต่อตัวเราเองด้วยนะ เพราะจะทำให้เกิดความน้อยใจและรู้สึกไร้ค่า โดดเดี่ยว ขาดความมั่นใจ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกด้านลบนานๆ มาเริ่มเปิดใจ และปรับความเข้าใจกับเพื่อนดูเถอะค่ะ

ใครมีประสบการณ์เรื่องความหวงเพื่อน หรือถูกเพื่อนหวงอยากระบาย พี่นักเก็ตยินดีรับฟังนะคะ พิมพ์ลงในคอมเมนต์ได้เลย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงhttps://goop.com/wellness/https://www.researchgate.net/
โค้ชพี่นักเก็ต

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด