ต้องทำยังไง? เมื่อตกอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” (Anhedonia) ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนเราให้เป็น 'คนไร้ความรู้สึก'

 

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เคยเป็นมั้ย? อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นคนไร้อารมณ์กับทุกอย่างในชีวิต เฉยชากับสิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข แถมโลกดูไม่สดใส ทุกอย่างรอบตัวเต็มไปด้วยว่างเปล่า ถ้ากำลังเผชิญความรู้สึกนี้อยู่ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจกำลังเผชิญสภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เรียกว่า ‘ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia)’ ก็ได้ค่ะ แต่ภาวะอาการที่ว่านี้มีลักษณะยังไง?  อาการแบบไหนที่บอกว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคนี้? มีแนวทางการรักษายังไงบ้าง? ถ้าพร้อมแล้วเราตามไปเช็กตัวเอง พร้อมทำความรู้จักกับภาวะนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ :)

Photo Credit:
Photo Credit:
 https://pixabay.com/photos/sadness-depressed-woman-girl-alone-3434515/ 

ภาวะสิ้นยินดีคืออะไร?

Anhedonia หรือ ภาวะสิ้นยินดี มีที่มาจากคำศัพท์ภาษากรีกที่แปลตัวได้ว่า “ไร้ซึ่งความพึงพอใจ” (without pleasure) เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์รูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกในสุขและทุกข์ รวมถึงไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำแล้วรู้สึกมีความสุขสดชื่น ทั้งนี้ ภาวะสิ้นยินดีนับเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า และสามารถพบได้ในโรคที่เกี่ยวกับภาวะความผิดปกติทางจิตอื่นๆ ด้วยค่ะ

เล่าก่อนว่าปกติถ้าเราทำกิจกรรมที่สนุกสนานเพลิดเพลิน สมองจะหลั่งสารเคมีแห่งความสุขที่เรียกว่าโดปามีน (dopamine) ออกมา แต่นักวิจัยคาดว่า ในกรณีของผู้ที่ป่วยในภาวะสิ้นยินดี การทำงานของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความคิดนั้นทำงานผิดปกติไปจนนำไปสู่อาการหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยทำแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ดนตรี ความสัมพันธ์ การสัมผัส การพูดคุยกับคนอื่น การเข้าสังคม หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ ราวกับว่าสมองส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจของเราได้ปิดตัวเองลงอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ภาวะสิ้นยินดียังแตกต่างจาก "ภาวะไร้อารมณ์" (apathy) ในแง่ที่ว่า ภาวะไร้อารมณ์นั้นเป็นความผิดปกติที่ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว มักแสดงสีหน้าเฉยเมยตลอดจนไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมาให้เห็น ในขณะที่ภาวะสิ้นยินดีเป็นอาการที่ส่งผลให้ความสุขหรือความพึงพอใจ (pleasure) ที่เคยมีต่อการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นขาดหายไปค่ะ

อาการแบบไหนที่เข้าข่าย?

Photo Credit: https://www.freepik.com
Photo Credit: https://www.freepik.com

อาการเบื้องต้นคือรู้สึกไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง รู้สึกเฉยชากับทุกเรื่อง และไม่อยากทำในสิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข เช่นจากคนที่เคยชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ มาวันนี้กลับไม่รู้สึกมีความสุขกับการอ่านอีกต่อไปแล้ว  การอ่านเป็นชีวิตจิตใจแต่อยู่ๆ อาจรู้สึกไม่มีความสุขที่จะอ่านหนังสืออีกต่อไป T_T

เดี๋ยวเรามาเช็กพฤติกรรมเสี่ยงในลิสต์ต่อไปนี้กันค่ะ

  • รู้สึกหมดกำลังใจ มีอาการเศร้าและสิ้นหวัง
  • ไม่ตอบสนองเมื่อได้รับการปลอบโยนจากผู้อื่น
  • ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่สนุกสนานกับชีวิต
  • หวาดระแวงผู้อื่นอย่างไม่มีเหตุผล แยกตัวออกจากสังคม รวมถึงมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว
  • ป่วยบ่อย เช่น เป็นหวัด ไข้ขึ้น เป็นต้น
  • ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางสังคมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่อยากพูดคุยกับใครจนเหมือนกับว่าไม่มีตัวตนอยู่ ณ ที่นั้นๆ
  • ไม่สนใจรับฟังเรื่องราวของคนอื่น
  • ปฏิเสธการดูแลและความช่วยเหลือ
  • มีความรู้สึกด้านลบต่อตัวเองและคนอื่น
  • นึกไม่ออกบอกไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง ไม่อยากแสดงความรักผ่านทางร่างกาย
  • เริ่มมีความรู้สึกดิ่ง คิดอยากฆ่าตัวตาย และไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกอีกต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นภาวะสิ้นยินดี

จริงๆ แล้วมีหลายสาเหตุเลย แต่หลักๆ คาดว่าเกิดจากการที่สารเคมีในสมองขาดความสมดุล โดยสมองส่วนการให้รางวัล (Brain reward system) ทำงานผิดปกติจนทำให้สารโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้คนเรามีความสุขนั้นถูกหลั่งออกมาในระดับต่ำเกินไป จนเป็นผลให้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้ได้ค่ะ อย่างไรก็ดีในส่วนของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดก็อาจส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ภาวะสิ้นยินดียังเป็นอาการย่อยที่พบได้ในโรคที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางจิตประเภทอื่นๆ เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว, โรคจิตเภท, โรควิตกกังวล, ภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นต้น ที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคคลั่งผอม โรคหัวใจ และโรคเบาหวานก็เข้าข่ายเป็นภาวะนี้ได้อีกด้วย

ภาวะสิ้นยินดีมีกี่ประเภท?

ภาวะสิ้นยินดียังแบ่งออกเป็นภาวะย่อยๆ ได้อีกหลายประเภทเลยค่ะ ส่วนใหญ่จะส่งผลให้ขาดความสุขและความพึงพอใจต่อการทำกิจกรรม งานอดิเรก และการใช้ชีวิตประจำวันในหลายด้าน แบ่งได้ดังนี้ค่ะ

  1. Sexual anhedonia หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า Ejaculatory anhedonia คืออาการที่ไม่รู้สึกมีความสุขเมื่อถึงจุดสุดยอดนั่นเองค่ะ อาการนี้มักเกิดกับผู้ที่ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า รวมถึงอาจเกิดจากสภาวะสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลก็ได้
  2. Social anhedonia คืออาการของที่ทำให้ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะการพูดคุยกับคนอื่นไม่มีผลต่อความรู้สึกเลย ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกด้วยนะคะว่าอาการที่ว่านี้อาจเชื่อมโยงกับสภาวะของสมองที่ทำงานบกพร่องจนทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่เข้าใจถึงการแสดงสีหน้าทางอารมณ์ของผู้ร่วมสนทนา
  3. Musical anhedonia คืออาการของผู้ที่ไม่สามารถมีความสุขหรือเพลิดเพลินกับการฟังเพลงได้ โดยนักวิจัยคาดว่าอาการนี้เกิดจากระบบประสาทสัมผัสส่วนการได้ยินกับส่วนศูนย์สุขี (reward centers) ในสมองทำงานไม่เชื่อมโยงกัน และนั่นทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดความรู้สึกใดๆ เมื่อฟังเพลง หรือแม้กระทั่งเพลงอกหักก็ไม่ทำให้น้ำตาไหลได้
Photo Credit:  https://pixabay.com/
Photo Credit:  https://pixabay.com/

แนวทางการรักษา

ถ้าใครเช็กแล้วมีแนวโน้ม ทางที่ดีควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ เลยค่ะ ซึ่งแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือใช้การบำบัดและใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นอกจากนี้การกินยาเพื่อปรับกระบวนการการทำงานของสมองส่วน Brain reward system ให้เกิดความสมดุลก็ช่วยได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะนี้โดยตรง แต่จะเป็นชนิดยาที่ใช้ร่วมกับการรักษาโรคซึมเศร้า  โรคอารมณ์สองขั้ว ฯลฯ โดยยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs จะเป็นกลุ่มยาที่แพทย์นำมาใช้รักษาบ่อยที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคนด้วยว่าถูกกับยาชนิดไหนมากที่สุด 

ทั้งนี้ หลังเข้ารับการรักษาผู้ป่วยบางรายยังพบว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเค้าเปลี่ยนไป เช่น มีสมาธิมากขึ้น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป บริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งจะเพิ่มความสุขและความพึงพอใจในชีวิตให้มากขึ้นตามไปด้วย

Photo Credit:  https://pixabay.com/
Photo Credit:  https://pixabay.com/

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดีนี้ตลอดไป เพราะนอกจากกิจกรรมที่ชอบจะดึงความสุขเรากลับมาไม่ได้ ถ้าปล่อยให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ ก็อาจรุนแรงถึงขึ้นทำให้มีความคิดทำร้ายตัวเองได้ด้วย ในปัจจุบันนี้สิ่งรอบข้างเต็มไปด้วยเรื่องเครียดและการแข่งขัน ภาวะนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว ดังนั้นถ้าพบว่าตัวเองเข้าข่ายก็พยายามหาเวลาไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้รักษาได้ทันท่วงที และดึงความสุขของตัวเองกลับมาให้ได้นะคะ ^^

Sources:https://solaramentalhealth.com/anhedonia-symptoms-treatment/ https://www.goodtherapy.org/blog/psychpedia/anhedonia https://www.webmd.com/depression/what-is-anhedonia#1 https://www.theatlantic.com/health/archive/2017/03/please-dont-stop-the-music-or-do-stop-the-music-i-dont-really-mind/519099/ https://www.healthline.com/health/depression/anhedonia 
พี่ไก่กุ๊ก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
이브KazYuto Member 4 ธ.ค. 63 18:22 น. 3

ตามอาการผมคิดว่าผมเคยเป็นอยู่ช่วงนึงและหาวิธีจนหายมาสักพักแล้วhttps://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-big-13.png ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
이브KazYuto Member 4 ธ.ค. 63 18:22 น. 3

ตามอาการผมคิดว่าผมเคยเป็นอยู่ช่วงนึงและหาวิธีจนหายมาสักพักแล้วhttps://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-big-13.png ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด