คุยกับ “ฝ่ายเทวสัมพันธ์” ทีมหยุดฟ้าหยุดฝน หนึ่งในฮีโร่ที่ช่วยให้หลายกิจกรรมราบรื่น!


 
Spoil
  • การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจไม่ช่วยให้งานราบรื่นขึ้น แต่ช่วยให้หลายๆ ฝ่ายมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
  •  ไม่ใช่แค่ไหว้เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการพยากรณ์ด้วย
  • การรวบรวมความเชื่อจากหลายๆ แหล่ง ทำให้เกิดขุมความรู้ใหม่ๆ จากเพื่อนต่างถิ่น กลายเป็นการเผยแพร่และดำรงรักษาให้ประเพณีของแต่ละท้องถิ่นยังคงอยู่
__________________

 
                    เคยไหมคะ? เวลาไปร่วมกิจกรรมหรืองานเทศกาลใหญ่ๆ แล้วเห็นเมฆดำมืด ฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล จนน่าหวาดเสียวว่างานจะต้องยกเลิก แต่แล้วจู่ๆ เมฆดำก็หายไป ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสดใสเหมือนไม่เคยมืดครึ้มมาก่อน! ราวกับมีปาฏิหาริย์แบบนี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เชื่อว่าเกิดจาก  สิ่งศักดิ์สิทธิ์    ที่เมตตาช่วยเหลือ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า ต้องมีทีมงานฝ่ายพิเศษคอยทำหน้าที่ติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์น่ะสิ?

                    วันนี้พี่เอจะพาไปรู้จักกับ        'ฝ่ายเทวสัมพันธ์'   ของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย   ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายๆ งาน ว่ากันว่าทีมนี้นี่แหละที่สามารถหยุดฟ้าหยุดฝนได้จริงๆ ราวกับซี้กันกับเทวดา อยากรู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นยังไง  ที่บอกว่าสามารถหยุดฝนได้นั้นจริงแค่ไหน เรามาคุยกับพวกเขากันค่ะ

 
ภาพจาก : องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
ฝ่ายเทวสัมพันธ์  อีกหน้าด่านสำคัญ ในการทำกิจกรรม
                    พี่ดอย   หัวหน้าฝ่ายเทวสัมพันธ์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   เล่าความหมายของคำว่า “เทวสัมพันธ์”  ให้เราฟังว่า   "ความหมายก็จะตรงตัวเลย คำว่า เทวะ ย่อมาจากคำว่า เทวดา เทพ หรือสิ่งที่เรามองไม่เห็น สัมพันธ์ คือการติดต่อสื่อสาร ฝ่ายเทวสัมพันธ์จึงมีความหมายว่า ฝ่ายที่ทำหน้าที่บอกกล่าวกับเทพหรือสิ่งศักดิ์ก่อนเริ่มทำพิธีต่างๆ เพราะการจัดงานหรือทำกิจกรรมใดๆ    เราต้องขอก่อน เพื่อให้เกิดความสิริมงคลและความราบรื่น    ผ่านการทำพิธีกรรม การไหว้ การบวงสรวง หรือการขอเจ้าที่เจ้าทาง"

 
ภาพจาก Twitter @Prince1DHoran

 
 ไม่ได้แค่ไล่ฝน แต่รวมถึงทำพิธีกรรมต่างๆ
                  แต่ไม่ใช่แค่ยกมือไหว้บวงสรวงง่ายๆ นะ เพราะฝ่ายนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบอีกมากมาย ตามที่พี่เบส หัวหน้าฝ่ายเทวสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   ได้อธิบายให้เราฟังเพิ่มเติม   "หลายคนอาจเข้าใจว่าฝ่ายเราทำหน้าที่แค่ไล่ฝนหรือหยุดฝน   แต่จริงๆ แล้วหน้าที่หลักที่เรารับผิดชอบ  คือ การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ บวงสรวง ปักตะไคร้ รวมถึงไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เรามีความเชื่อ เช่นเจ้าที่ ศาล    หรือพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย พูดรวมๆ คือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อนั่นเอง"

 

 
ตำแหน่ง "ปักตะไคร้" ไม่ใช่ใครก็ได้!
                  ส่วนตำแหน่งปักตะไคร้ นางเอกของงานที่ใครๆ ก็รู้กันว่าต้องใช้สาวพรหมจรรย์นั้น แท้จริงแล้วยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก ตามที่พี่เบส ฝ่ายเทวสัมพันธ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ให้ข้อมูลเรามา      "การเลือกคนมาปักตะไคร้ไล่ฝน   เรายึดตามหลักความเชื่อที่มีแต่ดั้งเดิม   คือ   ต้องเป็นผู้หญิง เกิดวันจันทร์ เป็นลูกสาวคนโต  และ ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน  หรือเป็นบุคคลที่เส้นพรหมจรรย์ยังไม่ขาด  ทั้งนี้ อาจจะยืดหยุ่นได้บ้าง   โดยเราใช้การถามเพื่อนของเพื่อน   ว่าคนนี้มีคุณสมบัติตรงหรือเปล่า"  
 
                  ส่วนวิธีการพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นมีคุณสมบัติตรงจริงหรือไม่ พี่อาร์ตตี้ หัวหน้าฝ่ายออร์แกไนซ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า    "การจะหาคนที่มีคุณสมบัติตรงแบบนี้นั้นยาก แต่เราอาศัยความเชื่อใจ   ถ้าเขามีศรัทธาในการช่วยงานเรา เขาจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เล่นๆ ได้ เพราะเรามีความจริงจังอยู่พอสมควร ดังนั้นคนที่เข้าใจจุดนี้ก็จะการันตีได้ประมาณหนึ่ง  แต่จะบอกว่ามีวิธีดูไหมว่าคุณสมบัติเขาถูกต้อง 100% ยังไงมันก็พิสูจน์ได้ยากมากๆ"

 
ภาพจาก : องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
ไม่ใช่แค่เรื่องไสยศาสตร์ แต่ยังใช้วิทยาศาสตร์เข้าช่วยด้วย
                    แต่หากใครคิดว่าสาเหตุที่กิจกรรมต่างๆ ผ่านไปอย่างราบรื่นนั้นเกิดขึ้นจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมต่างๆ      พี่ดอย หัวหน้าฝ่ายเทวสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ออกมายืนยันว่า จริงๆ แล้วต้องใช้หลายศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน     " นอกจากการทำพิธีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว เราก็ต้องประเมินสภาพอากาศในวันจัดกิจกรรมด้วย  ว่าระดับน้ำ    ฝนเป็นยังไง ความชื้นอากาศมากแค่ไหน เมฆ พายุ เป็นช่วงมรสุมหรือเปล่า โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา มันต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ศาสตร์หลายอย่าง  ใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ประยุกต์เข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่ความเชื่ออย่างเดียว สมัยนี้วิทยาศาสตร์สำคัญที่สุด"

 
   ภาพจาก : facebook.com/photokku

 
เมื่อเราทำงานด้วยใจ ความสำเร็จก็คือรางวัลตอบแทน
                   " การทำงานตรงนี้จะใช้เงินจากงบประมาณกลาง  ในการเตรียมสถานที่ สิ่งของ และค่าปัจจัยในการนิมนต์พระ-จัดรถรับส่งพระ    มีข้าวของที่มัคทายกช่วยเตรียมให้พวกเรา  หรือ  บางครั้งคนในฝ่ายก็ต้องออกเงินเองบ้าง แต่เราทุกคนสมัครใจมาช่วยงานตรงนี้อยู่แล้ว ไม่มีใครได้ค่าตอบแทนอะไร"     พี่อาร์ตตี้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบเรา เมื่อถูกถามถึงค่าตอบแทนของคนในฝ่าย
 
                   "จริงๆ   ไม่รู้เรียกว่าค่าตอบแทนได้ไหม แต่แค่งานตรงนั้นมันสำเร็จ ฝ่ายเราก็โอเคแล้ว ไม่ได้เงินก็ไม่เป็นไร    เพราะเป็นการทำงานให้มหาวิทยาลัยโดยองค์การนิสิต"     พี่เบส จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจ

 
ภาพจาก :   องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
ไม่เชื่อไม่เป็นไร    ขอ แค่ไม่ก้าวก่ายกัน
                     เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย พี่อาร์ตตี้ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล่าให้เราฟังว่า     " จริงๆ คนไม่เชื่อก็มี เพราะเด็กยุคใหม่จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องพวกนี้มาก แต่ด้วยความที่มหาวิทยาลัยของเราเป็นสังคมเปิดกว้างและเป็นสังคมที่หลากหลาย ใครที่ไม่เชื่อก็อย่าไปว่าคนที่เขาเชื่อ เพราะการทำสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรในเชิงกิจกรรมหรือสุขภาพ ธูปที่ใช้ก็เป็นธูปไร้ควันและศึกษามาอย่างดีแล้วว่าไม่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ดังนั้นใครไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แค่อย่ามาก้าวก่ายให้เสียกำลังใจก็พอ แต่เพื่อนส่วนใหญ่ก็จะแค่แซวกันขำๆ มากกว่า"

 
งานของฝ่ายเทวสัมพันธ์คือทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
                      พี่อาร์ตตี้ยังเสริมอีกว่า    "สังคมไทยเรามีความเชื่อทางศาสนา ทั้งในภูมิภาคและเมืองหลวง สังเกตได้จากพระราชพิธีต่างๆ ที่จะมีเรื่องของพราหม์    ฮินดู หรือพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ช่วยให้งานราบรื่นขึ้น แต่มันช่วยด้านจิตใจ ทำให้ผู้ร่วมงานและทีมงานมีกำลังใจที่ดี    เหมือนที่เราพูดกันว่าศาสนาคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ   งานของฝ่ายเทวสัมพันธ์ก็คือทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ พูดตรงๆ ว่าต่อให้ระหว่างงานมีเมฆฝนเข้ามาจริงๆ   เราก็คงไม่สามารถไล่ได้ แต่อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรสักอย่างบ้าง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย"

 
ภาพจาก :   องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
กำไรของฝ่ายเทวสัมพันธ์ คือการเรียนรู้ความเชื่อจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์
                     พี่นัทโด   ประธานฝ่ายพิธีการ องค์การฝ่ายนักศึกษาและเทวสัมพันธ์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ทิ้งท้ายให้เราว่า   "การมาทำงานในฝ่ายเทวสัมพันธ์ ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ต่างจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามารวมตัวกัน    เมื่อความเชื่อไหลบ่ามาพร้อมกับคน มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ลักษณะความเชื่อแต่ละพื้นที่ว่าเป็นเช่นไร ทำพิธีต่างกันอย่างไร เพราะเมื่อมาจากตำราคนละบทกัน แม้แต่อุปกรณ์การไหว้ก็ยังไม่เหมือนกัน จึง ทำให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิต  ได้เรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเขา มีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่มีสอนในบทเรียนจาก เพื่อนต่างถิ่น กลายเป็นการนำมาเผยแพร่ และดูแลรักษาให้ความเชื่อนี้ยังคงอยู่"

 
                   สิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดกิจกรรม   คือ   งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   การทำพิธี หรือ   การไล่ฝน   ก็เหมือนเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์   ถึงแม้ไม่สามารถพิสูจน์ได้แบบ   100%   แต่ในเมื่อทำแล้วไม่เสียหายอะไร   ทำแล้วสบายใจก็ทำไปเถอะค่ะ   และ   น้องๆ   คนไหนมีฝ่ายแปลกๆ   หรือน่าสนใจแบบนี้   คอมเม้นมาเล่าให้พี่เอฟังได้นะ  

 
พี่เอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น