เช็กง่ายๆ ที่นี่! เทียบอาการ #COVID-19 กับ 3 โรคที่อาการใกล้เคียง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 กำลังระบาดหนัก สร้างความเสียหายไปทั่วโลก รวมถึงความกังวลให้กับใครหลายคน พี่ฟอร์ย เชื่อว่าจะต้องมีคนตั้งคำถามกับตัวเองเเทบทุกวันแน่ ๆ ว่า "เราติด COVID-19 หรือยัง ?" คิดแล้วก็แอบเครียด วันนี้ พี่ฟอร์ย จึงนำวิธีที่ทุกคนสามารถเช็ก หรือตรวจสอบอาการเบื้องต้นว่า ติดเชื้อโรค COVID-19 หรือเรานั้นคิดไปเองมาฝากกันค่ะ 
 

อาการของโรค COVID-19 เป็นยังไง ?
หากติดเชื้อโรค    COVID-19 มาแล้วมักจะแสดงอาการภายใน 1 - 14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ COVID-19 ส่วนใหญ่ในทางการแพทย์จะเริ่มจากการเป็นไข้สูงมากว่า 37.8    องศา  แต่สำหรับการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ปรับเกณฑ์ต่ำลงเป็น 37.5 องศา เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด เผื่อมีความคลาดเคลื่อนในการวัดอุณหภูมิร่างกาย    มีอาการ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยนั้นมีสุขภาพร่างกายไม่เเข็งแรง หรือภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสเสี่ยง อาการอาจรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ หากพบอาการเหล่านี้ควรไปตรวจเพิ่มเติม กรมควบคุมโรคได้บอกถึงอาการทั่วไปของโรค COVID-19 ที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
1. ไอ
2. มีไข้สูง อาจตัวร้อนตลอดเวลา หนาวสั่นมาก
3. หายใจถี่ หายใจลำบาก 
4.   ในกรณีอาการรุนแรงมาก   อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น   ปอดบวม   ปอดอักเสบ   ไตวาย   หรืออาจเสียชีวิต

 

อาการของ 3 โรคที่มีอาการใกล้เคียงโรค   COVID-19

อาการของโรคหวัด
สำหรับโรคหวัด    หลังจากได้รับเชื้อจะเริ่มเเสดงอาการ 1-3 วัน  คือ  มีไข้ต่ำ ๆ ถึงมีไข้สูง มีอาการไอ เจ็บคอเล็กน้อย แต่ผ่านไป 3 - 4 วัน อาการก็จะเริ่มดีขึ้น มีน้ำมูก มีอาการคัดจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย แต่ไม่ท้องเสีย โดยรวมแล้วอาการจะไม่รุนเเรงมากนัก

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
อาการโรคไข้หวัดใหญ่ จะรุนแรงมากกว่าโรคหวัด    คือ มีไข้สูง 38    - 40 องศา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอจากหลอดลมอักเสบ มีน้ำมูก โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 5 - 7 วัน 

อาการของโรคภูมิแพ้
อาการโรคภูมิแพ้ จะมีอาการที่ไม่รุนแรง  คือ ไม่มีอาการไข้ตัวร้อน อาการปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่จะมีบางรายอาจพบอาการเจ็บคอ แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่คล่อง และผื่นคันขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย

 

ระวัง! กรณีติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน Facebook เมื่อวันที่ 26  มีนาคม   2563    โดยอธิบายเกี่ยวกับโรค COVID-19 ระบุว่า "ไวรัสสามารถแทรกซึมได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่หยุดนิ่ง แถมสิงอยู่ในคนเพื่อให้ตัวเองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก หมายความว่า เมื่อคนหนึ่งติดเชื้อ ในช่วงระยะเวลาฟักตัวก็สามารถแพร่เชื้อได้ และเมื่อเริ่มเกิดอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อได้อีก แต่คนที่ติดเชื้อไวรัสกลับมีอาการน้อย หรือบางคนไม่มีอาการ

อาการน้อยแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ อาการน้อยจริง และแพร่เชื้อน้อย หรืออาการน้อยแต่แพร่เชื้อมาก เหตุผลที่อาการน้อยแต่แพร่เชื้อมากเพราะไวรัสในคนจำนวนหนึ่งมันลงไปที่ปอดอย่างเดียว กินไปที่ปอดลึก ๆ ทำให้คนไข้ไม่มีอาการไอ จาม เพราะไม่ได้อยู่ที่คอ แต่อยู่ด้านล่าง ดังนั้น คนกลุ่มนี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ และเมื่ออาการน้อยแพร่เชื้อเก่ง ทำให้เราโฟกัสไปที่คนติดเชื้อในกลุ่มวัยหนุ่มสาว เป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความแอคทีฟในการทำงาน ท่องเที่ยว พบปะสมาคม ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อได้ดี แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้ท่องเที่ยว กลายเป็นผู้รับเคราะห์ที่ได้รับเชื้อจากคนที่แพร่มา และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากกว่าอีกต่างหาก"


ประเมินความเสี่ยง เบื้องต้น ก่อนไปโรงพยาบาล
เชื่อว่าใครหลายคนต้องสงสัย และกังวลมาก ๆ ว่าตัวเองนั้นติดเชื้อโรค COVID-19 แค่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนเเรงมากนัก ก็กังวลใจอยากไปตรวจให้แน่ใจไปเลย พี่ฟอร์ย อยากให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงของตนเองกันก่อนนะคะ เช่น มีไข้สูง 37.5 มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 และอื่น ๆ ถ้ายังไม่แน่ใจก็สามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงตามเว็บไซต์สถานโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีแบบประเมินความเสี่ยงได้ หรือจะเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคก่อนไปโรงพยาบาลกัน  คลิก  
 
และหากมีข้อสงสัยก็สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค หากเดินทางไปตรวจเลยอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค COVID-19 ได้นั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับวิธีเช็กอาการของเชื้อโรค COVID-19 กับอาการของโรคต่าง ๆ หากใครมีอาการดังกล่าว ก็อย่าตื่นตระหนกตกใจกันไปนะคะ เพราะเราอาจจะไม่ได้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ได้ค่ะ แต่ถ้ามีความเสี่ยงจริง ๆ และจำเป็นต้องไปพบแพทย์เเล้ว ก็ขอให้บอกข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้แพทย์รักษาได้อย่างทันท่วงที เเละเป็นการ Save บุคลากรทางการเเพทย์อีกด้วยค่ะ
พี่ฟอร์ย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
Fen_Chifu Member 21 ก.ย. 63 16:34 น. 4

เป็นภูมิแพ้อยู่ค่ะ จะจามในที่สาธารณะต้องเบาเสียงสุดๆ

หลายเดือนก่อนเราจามในที่สาธารณะคนที่เดินข้างๆตกใจหนีเลยค่ะ แต่เราก็ใส่แมสอยู่นะ

สงสัยจามเสียงดังไปหน่อย555+

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด