Behind the Scenes! รู้จักอาชีพ 'Imagineer' ผู้อยู่เบื้องหลังสร้างสรรค์สวนสนุกดิสนีย์แลนด์

        สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ น้องๆ มีแอนิเมชันเรื่องโปรด หรือสวนสนุกในดวงใจไหมคะ? คาดว่าคำตอบที่หลายๆ คนคิดคงจะเป็นหนึ่งในผลงานของทางดิสนีย์แน่ๆ เลย! แล้วเวลานึกถึงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) สิ่งแรกที่ทุกคนคิดคงเป็นปราสาทสวยๆ เครื่องเล่นที่อิงตามเรื่องราว ไปจนถึงคาแรกเตอร์ที่หลุดออกมาจากแอนิเมชัน
 
        แน่นอนว่าทุกอย่างที่พูดมานี้ต้องผ่านการออกแบบและสร้างขึ้นมา ทำให้ต้องใช้ทั้งศิลปินและวิศวกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางดิสนีย์ก็เรียกรวมผู้อยู่เบื้องหลังเหล่านี้ว่า “Imagineer” นั่นเองค่ะ วันนี้พี่เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับอาชีพนี้กันค่ะ พร้อมแล้วตามมาดูกัน!
 
“ดิสนีย์แลนด์จะไม่มีวันสมบูรณ์หากขาดจินตนาการ” 
วอลต์ ดิสนีย์
 

Imagineer = ผู้ออกแบบดิสนีย์แลนด์

แบ่งเป็นทีมแยกย่อยอีกเพียบ
 

       Imagineer = คำเรียกรวมๆ ของผู้ออกแบบดิสนีย์แลนด์ ตำแหน่งนี้เลยแยกย่อยออกไปหลายทีมมากๆ แล้วก็ประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพสุดๆ ที่น่าสนใจคือมีอาชีพ digital sculptor ซึ่งทั้งวันทำอยู่อย่างเดียวคือออกแบบหินเพื่อแกะสลักค่ะ 
 
        แต่นอกจากนั้นก็มีอาชีพที่เราคุ้นเคยอยู่เหมือนกันนะคะเช่น วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล นักคณิตศาสตร์ นักออกแบบเครื่องเล่น สถาปนิก นักออกแบบกลิ่น ดีไซน์เนอร์ นักแสดงตลก นักแกะสลัก สเปเชียลเอฟเฟกต์ ศิลปิน นักแต่งเพลง ฯลฯ
 

photo credit: imagineer
 

ไม่ใช่แค่ออกแบบสิ่งที่แขก "เห็น"

แต่คือทุกสิ่งที่รับรู้ในทุกประสาทสัมผัส!
 

        ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่าดิสนีย์แลนด์เนี่ยเป็นสวนสนุกขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วย “ธีมพาร์ค” หลายๆ อัน และแต่ละธีมพาร์คก็จะมีธีมของตัวเอง เช่น Animal Kingdom ที่เน้นธีมเกี่ยวกับสัตว์, Pandora ซึ่งเป็นโลกในหนังอวาตาร์ และ Tommorowland ที่เป็นธีมของโลกอนาคต  ธีมที่ดีจะต้องคลุมโทนสถานที่นั้นๆ ชนิดที่เดินไปก้าวแรกก็สัมผัสถึงกลิ่นอายบรรยากาศของสถานที่ชัดเจน แถมต้องระวังไม่ให้หลุมธีมด้วย!
 
        และผู้ที่ทำจินตนาการเหล่านั้นให้เป็นจริงก็คือ Imagineer นั่นเองค่ะ ถ้าถามว่างานละเอียดแค่ไหน? บอกเลยว่าทางดิสนีย์ไม่ใช่แค่ต้องการให้แขกมาเที่ยวสวนสนุกสวยๆ แต่เขาต้องให้แขกรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกดิสนีย์จริงๆ ดังนั้นต้องคิดและออกแบบทุกอย่างที่แขกจะได้รับรู้ในทุกประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตาได้เห็น จมูกได้กลิ่น เสียงที่ได้ยิน อาหารที่ได้กิน สิ่งที่ได้จับต้อง และไปถึงขั้น “ความรู้สึก” ขณะมาเที่ยวและจดจำหลังจากกลับ เรียกได้ว่าต้องใช้ความพิถีพิถันสูงมากกกก
 

photo credit: 
imagineer
 

ตัวอย่างงานของ Imagineer
 

        ทีนี้พอบอกว่าเขาต้องออกแบบละเอียดมากๆ พี่เลยอยากพาไปชมให้เห็นภาพว่าต้องออกแบบอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่า ^^
 
BATTLE FOR THE SUNKEN TREASURE
 
        ธีมโจรสลัดจาก Pirates of the Caribbean ที่เกี่ยวกับการผจญภัยและอิสระ เครื่องเล่นในพาร์คนี้คือเครื่องเล่นสุดดังของดิสนีย์แลนด์ที่คิวยาวแทบทุกประเทศเลยค่ะ เพราะการออกแบบเครื่องเล่น และเรื่องราวที่เล่าออกมาดีมาก แถมเอฟเฟ็กต์และเทคโนโลยีของเครื่องเล่นก็อลังสุดๆ หรือแม้แต่ตึกที่ออกแบบในธีมนี้ก็ยังสื่อถึงการผจญภัยและอิสระได้ดีไม่แพ้กัน
 
        จอฉายภาพสูงเท่าตึก 4 ชั้น ช่วยให้ Imagineer ควบคุมมุมมองของผู้ชมได้ตามใจ ทำให้ผู้ชมเห็นภาพ 3D ได้โดยม่ต้องสวมแว่น
 

photo credit: 
khanacademy
 
        ตึกที่ไม่เป็นทรงเหลี่ยมเป๊ะๆ แต่ทุกตึกจะมีสไตล์ของตัวเองและมีสีสันสดใส สื่อถึงธีมหลักของพาร์ค
 
Animal Kingdom 
 
        เมื่อตะกี้พูดถึงการออกแบบตึกไป ทีนี้เรามาดูรายละเอียดเล็กๆ อย่างการเลือกประตูสักบานไปใช้ใน Animal Kingdom กันบ้าง พาร์คนี้เน้นธีมเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าจะใช้ประตูสักบานประตูบานนั้นก็ต้องคิดหลายอย่างมากเลยค่ะ โดยเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจก็คือดูว่าเหมาะกับธีมธรรมชาติหรือเปล่านั่นเองค่ะ เช่น ประตูต้องทำจากไม้หรือเหล็ก? ถ้าทำจากไม้พื้นผิวควรเรียบหรือขรุขระ? ลูกบิดประตูควรจะเงาวับหรือควรจะขึ้นสนิม? 
Pandora - World of Avatar
 
        โลกของเหล่านาวีจากภาพยนตร์อวตาร์ งานนี้แค่ก้าวเท้าเข้าไปก็รู้สึกเหมือนไปอยู่ต่างดาวจริงๆ เลยค่ะ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนบนโลกเลย! ทั้งภูเขาที่ลอยได้ที่ดูขัดกับแรงโน้มถ่วงสุดๆ ไปจนถึงดอกไม้ที่เรืองแสงในที่มืดสุดแปลกตา
 

photo credit: 
imagineering


photo credit: imagineering
 
        ภูเขาลอยได้ที่ทีม Imagineer ต้องทำงานทั้งด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบฉาก ไปจนถึงการจำลองแบบในคอมพิวเตอร์ รวมกับความรู้ด้านวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อส่งเหล็กและคอนกรีตแกะสลักที่หนักกว่า 6,000,000 ปอนด์ขึ้นไปลอยยในอากาศ (ใช่ค่ะภูเขานี่ทำจากคอนกรีตแกะสลักนะ! แต่เหมือนหินสุดๆ)
 
      
photo credit: imagineering
 
ดอกไม้เรืองแสงที่ใช้เทคนิคสีแบลคไลท์ร่วมกับการจัดแสง 
 
STAR WARS: GALAXY'S EDGE

        อีกหนึ่งพาร์คที่ช่วยยืนยันความยากของงาน Imagineer เพราะพาร์คนี้ต้องออกแบบภายใต้เงื่อนไขที่ว่า Star Wars มีทั้งภาพยนตร์หลายภาค การ์ตูน หนังสือนวนิยาย เกมและรายการทีวี แล้วจะออกแบบพาร์คยังไงให้ละเอียดพอไม่ให้แฟนๆ ของ Star Wars ผิดหวังล่ะ?
 

photo credit: imagineering
 
        อยากจะแต่งตัวตาม  Anakin Skywalker ก็ไปที่ Black Spire Outfitters หรือจะไปทำดาบไลท์เซเบอร์ของตัวเองก็ทำได้ที่ Savi’s Workshop และใครที่อยากจะรู้ว่าเจ้านมสีฟ้ามันรสชาติยังไง Imagineer ก็จัดให้ได้เหมือนกัน! เรียกได้ว่ามาที่นี่สาวก Star wars เหมือนได้เติมเต็มความฝันสุดๆ
 
Main Street 

        กลิ่นของสวนสนุกควรเป็นยังไง? ถนนสายหลักของดิสนีย์แลนด์ที่แขกทุกคนต้องเดินผ่านหลังผ่านจุดตรวจตั๋ว เมื่อแขกก้าวเข้าสวนสนุกก็จะมีกลิ่นที่ทำให้อารมณ์ดีและมีความสุขอย่างป๊อปคอร์น สายไหม ซึ่งกลิ่นที่ว่าไม่ใช่กลิ่นจากของจริงแต่จะติดเครื่องปล่อยกลิ่นซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ค่ะ
 
        เห็นทำงานกันละเอียดขนาดนี้เงินเดือนของเหล่า Imagineer ก็สูงมากเหมือนกันนะคะ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ $89,275 หรือประมาณ 2,678,250 บาทต่อปีเลยทีเดียว
 

ฝันอยากอยู่ในทีม Imagineer

ต้องเรียนด้านไหน?
 

        เห็นทีม Imagineer ประกอบด้วยอาชีพหลากหลายขนาดนี้ แล้วต้องเรียนด้านไหนล่ะเนี่ยถึงจะได้ทำงานนี้?  พี่ไปสืบมาให้แล้วค่ะว่าทางดิสนีย์ก็กำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำไว้เหมือนกันนะโดยส่วนใหญ่ดิสนีย์จะรับคนที่จบตรงกับสายงาน เช่น คนที่จะสมัครเข้ามาทำด้านการออกแบบจะต้องจบปริญญาโทด้านสถาปนิกหรือสายที่เกี่ยวข้อง คนที่สมัครด้านออกแบบการแสดงต้องมีวุฒิปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์ และนักเขียนบทหรือสายงานสร้างสรรค์อื่นๆ ควรมีวุฒิด้านวรรณกรรมหรือภาษาอังกฤษ
 
        “ สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับงานของฉันคือ เมื่อเราได้ยินคำว่าสร้างสรรค์หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หลายครั้งที่เราอาจนึกถึงงานศิลปะ แต่วิศวกรที่นี่ออกแบบอย่างต่อเนื่อง ฉันหมายถึงพวกเราคือนักออกแบบ ดังนั้นเราจึงเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม”
 
ASYA CARA PEÑA วิศวกร
 

 
        เป็นอาชีพที่น่าสนใจมากๆ เลยใช่ไหมคะ? พอเห็นความละเอียดขนาดนี้แล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมดิสนีย์แลนด์ถึงเป็นสวนสนุกระดับโลก พูดแล้วก็อยากไปเลยค่ะ ><
 
Source:
พี่ภัทร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น