แชร์เทคนิคจากที่ 1 ม.เคมบริดจ์! เขียนตอบเป็นภาษาอังกฤษอย่างไรให้ถูกใจอาจารย์

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หลังจากผ่านช่วง ม.ปลาย เข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมคือน้องๆ จะได้โบกมือลาข้อสอบแบบช้อยส์ แล้วมาเจอความช็อกที่ข้อสอบแทบทั้งหมดเป็นแบบเขียนเรียงความ (อัตนัย) แทบทั้งหมด เจอแบบนี้ถ้าเตรียมตัวมาไม่ดีก็มีโอกาสส่งกระดาษเปล่าเหงาๆ แน่นอนค่ะ

       แต่ข่าวดีคือไม่นานมานี้พี่ไอซ์ไปเจอคลิปนึงที่น่าสนใจมากกก เป็นคลิปที่ “อาลี” (Ali Abdaal) นักศึกษาคะแนนท็อปจาก ม.เคมบริดจ์ (University of Cambridge) เขามาแชร์เทคนิคที่เขาใช้ตอบคำถามแบบเรียงความ ซึ่งน้องๆ หยิบไปปรับใช้กับวิธีของตัวเองเพื่ออัปคะแนนได้เลย 

     อาลีบอกว่าหลักๆ แล้วเทคนิคของเขามีทั้งหมด 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ ขั้นตอนการร่างเรียงความล่วงหน้า และขั้นตอนการจำโครงร่างบทความ


   Step 1 : ร่างเรียงความล่วงหน้า


     การเขียนเรียงความที่ดี เราควรวางโครงร่าง (Outline) ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันการเขียนออกนอกประเด็น หรือเขียนวกวนจนเวลาเขียนไม่พอ คราวนี้มาดูกันว่าอาลีแนะนำเทคนิคการร่างเรียงความล่วงหน้าให้ดีไว้ยังไงบ้าง

   1. ศึกษาแนวข้อสอบ


Photo Credit: Unsplash

     วิธีศึกษาแนวข้อสอบที่ดีที่สุดคือ “การทบทวนข้อสอบเก่า” เพื่อให้พอรู้แนวว่าอาจารย์มักถามคำถามแบบไหน หรือแม้กระทั่งคำถามที่อาจารย์ไม่เคยออกสอบ แต่มันดูน่าสนใจมากๆ (ถ้าหาข้อสอบเก่าไม่ได้จริงๆ อาจสอบถามหรือขอคำแนะนำจากอาจารย์เลยว่าควรเน้นตรงไหนเป็นพิเศษก็ได้ค่ะ)

   2. รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง


Photo Credit: Unsplash

     สิ่งต่อมาที่เราต้องทำก็คือ เปิด Google รวบรวมข้อมูลจากวิจัยหรือเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นภาษาของเราเองค่ะ เหตุผลเพราะคนส่วนใหญ่มักเขียนเรียงความโดยอิงจากเลกเชอร์หรือหนังสือเรียน จึงอาจทำให้คำตอบในเรียงความคล้ายๆ กันและเกิดการเปรียบเทียบได้ง่าย

     ดังนั้น ยิ่งถ้าเรามีแหล่งข้อมูลนอกเหนือจากเลกเชอร์หรือหนังสือเรียนมากเท่าไหร่ เรียงความของเราก็จะยิ่งโดดเด่นและน่าสนใจกว่าคนอื่นๆ มากเท่านั้นค่ะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าให้เราทิ้งข้อมูลในหนังสือเรียนหรือเลกเชอร์ไปเลย แต่ต้องนำเขียนมาควบคู่กันด้วย

   3. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงร่าง


   1. โครงสร้างบทความ - เรียงความที่ดีจะต้องมีทั้งบทนำ (Introduction) เนื้อหา (Body) และสรุป (Conclusion) โดยเฉพาะบทนำ เราจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษค่ะ เพราะมันจะช่วยให้อาจารย์เข้าใจและเห็นภาพรวมของคำตอบของเราได้มากยิ่งขึ้น และบทนำที่ดีควรมีดังนี้

     1) เริ่มด้วยข้อมูลพื้นฐาน เช่น ความเป็นมาของเนื้อหาในเรียงความ
     2) เขียนชัดเจนว่าคำตอบของเราคืออะไร พร้อมทั้งบอกเหตุผล
     3) เขียนให้กระชับ ให้คนอ่านรู้เพียงว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องเจอเท่านั้น

   2. ความชัดเจนตรงประเด็น - สิ่งสำคัญคือน้องๆ ต้องอ่านโจทย์อย่างรอบคอบ แล้วตอบให้ "ตรงคำถาม" และครบ "ทุกประเด็น" ไม่ใช่แค่หว่านสิ่งที่เรารู้ลงไปในนั้น

   เช่น โจทย์ถามว่า Discuss a piece of advertisement. How does it portray the main character? Do you feel that it is problematic and why? เราจะเห็นว่าคำถามนี้ทั้งหมด 4 คำถาม คือ 

     1) เราต้องพูดถึงโฆษณานี้
     2) เราต้องตอบว่าตัวละครหลักถูกมองว่าเป็นอย่างไร
     3) เราต้องตอบว่าเรารู้สึกว่าโฆษณานี้เป็นปัญหามั้ย
     4) เราต้องตอบว่าทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น 

   3. ไหวพริบ - ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่เขียนลงในเรียงความ ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ แล้วยังนำไปวิเคราะห์ต่อได้อีกด้วย ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การใส่ความคิดเห็นหรือคำแนะนำของเราลงไปในส่วนสรุป (Conclusion) นั่นเองค่ะ


   Step 2: จำโครงร่างเรียงความ

     หลังจากเขียนโครงร่างเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจำเพื่อนำไปตอบ อาลีได้แนะนำการจำ 3 วิธีดังนี้

   1. ย่อหน้า : แฟลชการ์ด 1 ใบ


     วิธีนี้ช่วยให้เราจำข้อมูลและโครงร่างเรียงความได้ง่ายกว่าการจำทั้งหมดจากกระดาษโดยตรง เช่น ถ้าโจทย์ให้เราอธิบายโรคดาวน์ซินโดรม เราก็ต้องแบ่งจำเป็น (1) สาเหตุ (2) อาการ (3) การรักษา คือแบ่งเขียนแยกเป็นส่วนละ 1 ใบ ทั้งจำง่ายและพกไปอ่านได้ทุกที่ด้วยนะคะ

     ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะเจอคำถามที่คาดไม่ถึง แต่ข้อมูลในการ์ดแต่ละใบก็ยังคงเกี่ยวข้องกับคำถามอยู่ เรายังสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างคำตอบใหม่ได้อีกด้วยค่ะ เช่น ถ้าโจทย์ให้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างดาวน์ซินโดรมกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ เราก็สามารถนำข้อมูลบนแฟลชการ์ดเรื่องอาการของโรคไปประยุกต์หรือพลิกแพลงคำตอบได้ด้วยเหมือนกัน

   2. แผนที่ความคิด (Mind map)


     แผนที่ความคิด (Mind map) ก็เป็นอีกวิธีที่ดีค่ะ เราจะสามารถจำภาพรวมโครงร่างเรียงความได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ เช่น โจทย์ของเราคือ ให้อภิปรายว่าทำไมการกินมังสวิรัติจึงดีกว่าการกินเนื้อสัตว์ ก็ให้เราเขียนหัวข้อนั้นไว้ตรงกลาง แล้วค่อยๆ โยงคำตอบที่เกี่ยวข้องออกไปทีละหัวข้อ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถจำได้ง่ายขึ้นว่าโครงร่างเรามีอะไรบ้าง

   3. ทบทวนบทเรียนตามการจดบันทึกและการตอบคำถาม


     วิธีนี้ยืนยันว่าดีจริงๆ เพราะพี่เอามาใช้กับการอ่านหนังสือเหมือนกันค่ะ อาลีบอกว่าเขามักจดบันทึกหัวข้อที่เรียนมาทั้งหมด แล้วเขียนว่าอ่านอะไรไปบ้าง และอ่านวันไหน เพื่อให้รู้ว่ายังเหลือหัวข้อไหนที่ยังไม่ได้อ่านหรือทบทวนมานานแล้วบ้าง

     นอกจากนี้ เขายังพยายามตั้งคำถามต่างๆ เพื่อทดสอบว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาในแต่ละหัวข้อหรือไม่อีกด้วยค่ะ ถ้าหากเขาสามารถตอบได้ดี เขาก็จะไฮไลต์สีเขียวเอาไว้ ถ้าเขาตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาก็จะไฮไลต์สีเหลือง แต่ถ้าเขาแทบตอบไม่ได้เลย เขาก็จะไฮไลต์สีแดง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เขารู้ว่าเขาต้องทบทวนเรื่องไหนซ้ำอีกนั่นเองค่ะ

*อาลีเคยลงวิธีการทบทวนบทเรียนนี้เป็นคลิปแยกด้วยค่ะ ดังนั้น ถ้าน้องๆ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถคลิกที่นี่ได้เลยค่า
 

       เป็นเทคนิคที่มีประโยชน์มากเลยว่ามั้ยคะน้องๆ? พี่ที่เรียนอักษรศาสตร์อินเตอร์ แล้วต้องเขียนเรียงความแนวนี้บ่อยๆ พอได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่ามีประโยชน์มากกก เพราะก็มีบางเทคนิคที่พี่มองข้ามไปเหมือนกัน หลังจากดูคลิปเลยลองเอาไปใช้ดู ก็คือเวิร์กสุดๆ จนอยากมาบอกต่อนี่แหละค่ะ > <
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น