โดนกันตั้งแต่โบราณ! 7 ตัวละครจากวรรณคดีไทยที่โดนบูลลี่หนักมาก!

การบูลลี่ (bully)
ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้กระทั่งในวรรณคดีที่เราอ่าน !!

 

          สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน จากเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมา หากได้ติดตามข่าวสารตามช่องทางต่างๆ เราคงได้เห็นข่าว “ซอลลี่” ศิลปินเกาหลีที่ฆ่าตัวตายจากการถูกบูลลี่อย่างหนัก เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่วงการบันเทิงมาก ซึ่งเราคงได้เห็นข่าวลักษณะนี้บ่อยๆ เพราะนี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น มีศิลปิน ดาราคนดังอีกหลายคนที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ จริงๆ แล้วเรื่องการบูลลี่เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองว่าแค่ขำๆ แค่ล้อเล่น แต่ถ้ามันสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นในทางลบแล้วล่ะก็ นั่นก็เรียกว่าการบูลลี่แล้วแหละ อย่างที่พี่บอกไปว่าปัญหานี้มันมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณเลยด้วยซ้ำเพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ใส่ใจ แล้วคิดว่ามันไม่มีอะไรจึงมองข้ามมันไป ซึ่งจากการที่พี่ได้อ่านวรรณคดีหลายๆ เรื่องมาแล้วลองคิดตาม ก็ทำให้พี่ได้เห็นว่าการบูลลี่นั้นมีแม้กระทั่งในวรรณคดีที่เราเคยอ่าน! วันนี้พี่ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะหยิบยกเรื่องการบูลลี่ในสมัยก่อนมาพูดถึง แต่ก่อนอื่นพี่ขออธิบายเรื่องการบูลลี่ก่อนสักนิด แล้วเดี๋ยวเราไปดูกันว่าการบูลลี่ในวรรณคดีนั้นมีเรื่องไหนบ้างที่พี่นำมาฝากกัน
 

การบูลลี่ (bully) คืออะไร?

          บูลลี่ คือ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่อ่อนแอกว่า โดยพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ ความเจ็บปวด ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลายาวนาน การกลั่นแกล้งในสังคมมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การแสดงกิริยาก้าวร้าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคำพูดที่แสดงถึงการล้อเลียน เสียดสี เหยียดหยาม ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา ท่าทาง ปมด้อย เพศ รสนิยม ทัศนคติ การศึกษา ความสามารถ หรือแม้กระทั่งความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสถานศึกษา สังคมที่ทำงาน และบนโลกออนไลน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งรูปแบบไหนก็นับว่าเป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะแค่เพียงไม่กี่คำหรือพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจสร้างบาดแผลไว้ในใจของคนโดนแกล้งไปอีกนาน บางคนอาจมองว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องสนุกสนาน ที่ได้ซ้ำเติมหรือทำให้ผู้อื่นด้วยกว่าตนเอง แต่จริงๆ แล้วปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบทางลบอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทุกวันและเป็นปัญหาที่สังคมกำลังให้ความสนใจ การบูลลี่กันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป แต่เป็นภัยร้ายที่ใกล้ตัวและเป็นอันตรายมากกว่าที่คาดคิด
 

          เราคงได้เห็นเหตุการณ์การบูลลี่กันในปัจจุบันมาเยอะแล้ว ทีนี้ก็มาพูดถึงการบูลลี่ในวรรณคดีที่ได้เกริ่นไปข้างต้นกันบ้าง ซึ่งวันพี่หยิบยกเอาเหตุการณ์การบูลลี่ที่เคยเห็นในวรรณคดีมาเล่าให้ฟัง โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ค่ะ
 

กรณี 1 ถูกล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ - กรณีนี้พี่ขอยกตัวอย่างมา 4 ตัวละคร ดังนี้

          01 : นางแก้ว (จากเรื่อง แก้วหน้าม้า) หญิงสาวที่มีรูปหน้ายาวรีคล้ายม้าตั้งแต่กำเนิด และมีท่าทางที่กระโดกกระเดกเหมือนม้าดีดกะโหลก ผู้คนจึงพากันรังเกียจและมักจะล้อเลียนนางเสมอ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนางแก้วมีจิตใจที่แสนดี มีคุณธรรมและเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันผู้อื่น นางกล้าที่จะตอบโต้ และแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่น เหตุการณ์ในตอนที่ พระปิ่นทองมาขอว่าวคืน นางก็ยื่นข้อเสนอขอให้พระปิ่นทองรับนางเข้าวังในฐานะพระมเหสี พระพี่เลี้ยงของพระปิ่นทองก็ต่างเยาะหยันว่านางไม่เจียมตัว ด้วยความอยากได้ว่าวคืนพระปิ่นทองจึงตกปากรับคำไปส่งเดช ไม่คิดจะรับนางเข้าวังจริงๆ เพราะนึกรังเกียจหน้าตาของนาง แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับนางเข้าวังตามที่ได้รับปากไว้ พวกชาววังที่มารับเห็นนางแก้วแต่งตัวเหมือนคนไม่เต็มเต็ง ต่างพากันหัวเราะแกล้งยอว่างดงามราวนางฟ้านางสวรรค์ นางก็ดีใจแต่พอได้ไปอยู่ในวังนางก็ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ท้าวภูวดลก็พยายามหาทางกำจัดนาง แต่ทุกครั้งนางก็สามารถเอาตัวรอดได้ จนในที่สุดความดีของนางทั้งหมดที่ได้ทำมาก็สามารถเอาชนะใจทุกคนจนยอมรับนางได้
 

          ผลกระทบและการรับมือ : จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่นางแก้วถูกกระทำ ถูกล้อเลียน ทำให้ชีวิตนางต้องยากลำบากมากขึ้น ต้องเผชิญอุปสรรคเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ถึงนางจะดูเป็นคนที่ร่าเริง ไม่คิดมากกับคำพูดล้อเลียน แต่ลึกๆ ในใจพี่ว่านางก็คงเจ็บปวดไม่น้อย นางก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองไม่สวยยิ่งคนอื่นมาตอกย้ำนางก็ต้องทุกข์ใจบ้างแหละ เอาจริงๆ นางก็เลือกเกิดไม่ได้ใช่ไหมล่ะ (ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากเกิดมาอัปลักษณ์หรอก) แต่ก็ต้องชื่นชมที่นางสามารถรับมือได้ แสดงให้เห็นความกล้าหาญของนางที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง ด้วยการพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าถึงหน้าตานางจะอัปลักษณ์แต่นางก็มีดี และจิตใจของนางต่างหากที่สวยงามอย่างแท้จริง
 


 

          02 : เจ้าเงาะ หรือพระสังข์ (จากเรื่อง สังข์ทอง) เจ้าชายรูปงามที่อำพรางรูปลักษณ์ภายในเอาไว้ด้วยรูปเงาะ ที่เมื่อสวมใส่แล้วจากรูปร่างงดงามก็ขี้ริ้วขี้เหร่ ตัวดำผมหยิก บ้าใบ้ไม่รู้เรื่อง ใครๆ ก็ต่างรังเกียจไม่อยากเข้าใกล้ ท่าทางและคําพูดของชาวเมืองบ้างก็ต่างหัวเราะในรูปลักษณ์ บ้างก็ต่อว่ารูปลักษณ์ว่าน่าเกลียด บ้างว่าน่ากลัวราวกับผี ยกเว้นนางรจนาที่มองเห็นเนื้อแท้อันงดงาม เปล่งประกาย ของพระสังข์ภายใต้ชุดเงาะนั้น นางจึงได้เลือกเจ้าเงาะมาเป็นคู่ครอง ท้าวสามลเห็นเช่นนั้นก็รู้สึกอับอาย จึงไล่ให้นางรจนากับเจ้าเงาะไปอยู่ที่กระท่อมปลายนา ท้าวสามลพยายามใช้วิธีต่างๆ เพื่อกําจัดเจ้าเงาะ ด้วยการให้เขยทุกคนแข่งขันกัน หาปลา หาเนื้อ เดิมพันด้วยการประหารชีวิตหากใครหาได้น้อย เพราะคิดว่าเจ้าเงาะไม่มีทางหาได้แน่ๆ แต่เจ้าเงาะก็สามารถเอาชนะทั้งหกเขยและท้าวสามลได้ทุกครั้งไป จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เจ้าเงาะต้องถอดรูป มาช่วยตีคลีรักษาบ้านเมืองให้ท้าวสามลจนเอาชนะพระอินทร์ได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างท้าวสามลกับเจ้าเงาะได้คลี่คลายลงและได้รับการยอมรับในที่สุด
 

          ผลกระทบและการรับมือ : ชีวิตของเจ้าเงาะกับนางแก้วก็ไม่ต่างกัน เพราะรูปลักษณ์ (ภายนอก) ที่ดูอัปลักษณ์ ทำให้ผู้คนรังเกียจนำปมด้อยนั้นมาล้อเลียน ผู้คนพากันมองแค่เพียงภายนอกแล้วตัดสินว่าเจ้าเงาะไม่ดี ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักดีด้วยซ้ำ ถึงเจ้าเงาะจะดูบ้าใบ้ไม่รู้เรื่องแต่นั่นก็เป็นเพียงการแสดงตบตา ความจริงเจ้าเงาะรู้เรื่องและเข้าใจหมด การรับมือกับเรื่องนี้ของเจ้าเงาะก็สุดแสบ ตอนที่ท้าวสามลสั่งให้ไปหาปลาหาเนื้อ เจ้าเงาะก็ได้ถอดรูปเป็นพระสังข์แล้วร่ายมนต์มหาจินดาเรียกปลา เรียกเนื้อ มาหาตัวเองหมด หกเขยที่หาปลาหาเนื้อไม่ได้เลยจึงต้องมาขอแบ่ง โดยต้องแลกกับการถูกเชือดปลายจมูกและเชือดใบหู (เจ้าเงาะน่าจะแค้นสะสม ฮ่าๆๆ) 
 


 

          03 : ท้าวแสนปม (จากเรื่อง ท้าวแสนปม) ที่ตั้งใจทำให้ตัวเองดูอัปลักษณ์ เพราะแท้จริงแล้ว ท้าวแสนปมนั้นคือ พระชินเสน โอรสของท้าวศิริไชยเจ้าเมืองศรีวิชัย แต่เหตุที่ต้องทำให้ตัวเองดูอัปลักษณ์ก็เพราะว่า ได้ยินเสียงเล่าลือถึงความงามของ นางอุษา ธิดาของท้าวไตรตรึงษ์ ก็เกิดความสงสัยและอยากจะไปดูให้เห็นกับตาว่านางอุษางดงามอย่างที่คนพูดกันจริงหรือไม่ จึงได้ปลอมตัวเป็นชายหนุ่มรูปร่างอัปลักษณ์ที่มีปุ่มปมทั่วทั้งใบหน้าและลำตัว จนได้พบพบนางอุษาก็เกิดตกหลุมรักขึ้นมา จึงแกะสลักมะเขือเกี้ยวพาราสีส่งเป็นสาสน์รักปะปนไปกับบรรดาผักอื่นๆ ถวายนางอุษา จนทั้งคู่มีใจให้กันและได้เสียจนนางอุษาตั้งครรภ์และให้กำเนิดพระโอรสออกมา เมื่อท้าวไตรตรึงษ์รู้ความจริงว่าท้าวแสนปมคือสามีของนางอุษาก็รู้สึกอับอายเพราะคิดว่าพระธิดาเล่นชู้กับคนเลวต่ำชาติ จึงขับพระธิดาออกจากเมือง ทั้งยังด่าว่าท้าวแสนปมสารพัด ท้าวแสนปมจึงกล่าวว่าถึงขับไล่ก็ไม่วิตก เพราะมีพละกำลังมากพอจะสร้างเมืองให้นางอุษาได้แน่และได้บอกว่าถ้าตนตีกลองขึ้นมาทหารคงจะเข้ามาเต็มเมือแน่นอน ท้าวไตรตรึงษ์ได้ฟังก็ยิ่งไม่ชอบใจ จนท้าวแสนปมตีกลองเรียกไพร่พลเข้ามา ท้าวไตรตรึงษ์ก็ตกใจและรู้ว่านี่เป็นทัพของพระชินเสนซึ่งปลอมตัวมา และหากมีการปะทะกันตนไม่มีทางชนะได้แน่ จึงอ้อนวอนให้อยู่ครองเมืองไตรตรึงษ์ต่อไป แต่พระชินเสนตัดสินใจพานางอุษาและลูกกลับไปเมืองศรีวิชัยแทน
 

          ผลกระทบและการรับมือ : สำหรับเรื่องนี้ท้าวแสนปมไม่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายก็จริง แต่พี่ว่าทางด้านจิตใจก็มีผลกระทบไม่น้อย จากคำด่าว่าของท้าวไตรตรึงษ์ แค่รูปร่างอัปลักษณ์ก็ถูกมองว่าเป็นคนเลวต่ำชาติซะแล้ว จึงทำให้ท้าวแสนปมอยากจะเอาชนะขึ้นมา ด้วยการตอกกลับความจริงที่ทำเอาท้าวไตรตรึงษ์แทบหงายหลัง (สะใจเบาๆ) ถือว่าพระชินเสนรับมือได้ดี ท้าวไตรตรึงษ์ไม่กล้าขัดขวางใดๆ จนสุดท้ายก็ต้องยอมหลีกทางให้
 


 

          04 : นางผีเสื้อสมุทร (จากเรื่อง พระอภัยมณี) น่าจะเป็นตัวละครที่เรารู้จักกันมากที่สุดตัวหนึ่งในวรรณคดี ถึงในเรื่องจะไม่มีบทบาทมากนัก แต่ก็ถือเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์หลายๆ อย่างในเรื่องเกิดขึ้น ด้วยความแตกต่างของนางที่เป็นยักษ์ ร่างกายสูงใหญ่ หน้าตาอัปลักษณ์ ผู้คนจึงมักจะจดจำนางในแง่ร้ายซะส่วนใหญ่ จากเหตุการณ์ที่นางลักพาตัวพระอภัยมณีมาขังไว้ ด้วยความหวังว่าเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ พระอภัยมณีจะหลงรักนางเอง นางทำทุกอย่างเพื่อให้พระอภัยมณีพอใจ ทั้งแปลงกายเป็นสาวงามเวลาที่อยู่กับพระอภัยมณี หาอาหารมาปรนเปรอไม่ขาด ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีมาโดยตลอด แต่สุดท้ายพระอภัยมณีกับสินสมุทรก็ตัดสินใจหนีจากนาง นางก็แปลงกายเป็นยักษ์ออกตามหา แต่ทั้งคู่ก็ไม่คิดจะกลับไปอยู่กับนางอีก แถมสินสมุทรยังต่อว่านาง ว่าอัปลักษณ์ ช่างน่าสมเพช ไม่มีราศี และไม่คู่ควรกับพระอภัยมณี แม้กระทั่งลูกก็ยังรังเกียจนาง (คำพูดของสินสมุทรก็รุนแรงเกินไป ยังไงนางก็เป็นแม่นะ) นางทั้งเจ็บปวดและโกรธแค้นไม่ว่าจะอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่เป็นผล จนสุดท้ายนางก็ทนเสียงปี่ของพระอภัยมณีไม่ไหวขาดใจตายในที่สุด
 

          ผลกระทบและการรับมือ : เรื่องราวของนางผีเสื้อสมุทรนั้นน่าสงสารไม่น้อย หากมองให้ลึกซึ้งถึงจิตใจของนางผีเสื้อสมุทรแล้ว นางก็เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากจะมีคนรัก มีครอบครัวเหมือนอย่างผู้หญิงทั่วๆ ไป พอได้มาเจอกับพระอภัยมณีก็เกิดหลงรักและอยากจะครอบครอง แต่นางก็รู้ตัวดีว่ารูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ของนาง คงไม่มีทางที่พระอภัยมณีจะหันมาสนใจนางเป็นแน่ จนนางตัดสินใจทำแบบนั้นลงไป พี่คิดว่าในส่วนลึกนางก็คงกังวลไม่น้อยที่ต้องโกหก แล้วพอความจริงถูกเปิดเผยทั้งลูกและสามีก็รับไม่ได้ (คำด่าว่าจากคนที่เรารักนี่แหละเจ็บที่สุด) และน่าเสียดายที่นางไม่สามารถรับมือได้ สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสงสาร
 

          กรณีนี้สะท้อนอะไร : จากเหตุการณ์ของทั้ง 4 ตัวละคร ที่ได้ยกตัวอย่างมา สะท้อนให้เห็นว่าอย่ารีบตัดสินคนอื่นจากด้านเดียวที่เราเห็นหรือได้ยินมา ทั้งทียังไม่รู้จักเขาดีพอ แค่เพียงเห็นรูปลักษณ์ภายนอกที่อัปลักษณ์ก็ตัดสินว่าเขาไม่ดีเสียแล้ว การนำปมด้อยของคนอื่นมาล้อเลียนอย่างสนุกปาก โดยไม่คำนึงว่าคนที่ถูกกระทำเขาจะรู้สึกอย่างไร จากเหตุการณ์ของ นางแก้ว, เจ้าเงาะ, ท้าวแสนปม ก็ได้สอนให้รู้ว่า ไม่ว่าใครจะว่าเราอย่างไร เราก็อย่าได้แคร์ ทำตัวเราให้ดีที่สุดก็พอ ส่วนเหตุการณ์ของนางผีเสื้อสมุทร ก็ให้ดูไว้เป็นบทเรียนละกันเนอะ การล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ไม่ใช่เรื่องตลกเลย ลองคิดดูว่าหากเป็นเราเองที่โดนแบบนี้ก็คงไม่ชอบใจใช่ไหมล่ะ
 

กรณี 2 ถูกรังแกกลั่นแกล้ง - กรณีนี้พี่ขอยกตัวอย่างมา 2 ตัวละคร ดังนี้



 

          01 : นางเอื้อย (จากเรื่อง ปลาบู่ทอง) หลังจากที่แม่ตาย เอื้อยก็ถูกนางขนิษฐีและลูกๆ รวมหัวกันกลั่นแกล้งสารพัดอย่างเป็นประจำ เพราะเห็นว่าเอื้อยไม่มีแม่คอยปกป้องแล้ว แถมเศรษฐีทารกก็ยังทำเป็นไม่รับรู้ ไม่สนใจอีก พวกนางขนิษฐีก็ยิ่งได้ใจ และยิ่งเห็นเอื้อยได้ดิบได้ดีไปอยู่ในวังก็ยิ่งอิจฉา จึงวางแผนหาทางกำจัดเอื้อย โดยส่งจดหมายไปบอกว่าเศรษฐีทารกนั้นป่วยหนักขอให้กลับมาเยี่ยมที่บ้าน พวกนางขนิษฐีได้วางแผนทำกระดานกลไว้เพื่อให้เอื้อยเหยียบแล้วตกลงไป ซึ่งใต้กระดานกลนั้นก็มีหม้อน้ำร้อนเดือดจัดรอรับอยู่ เมื่อเอื้อยกลับมาบ้านแล้วดันเหยียบกระดานกลนั้นก็ตกลงไปในน้ำร้อนจนถึงแก่ความตาย พอได้ไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้า นางอ้ายก็ไม่วายคิดจะกำจัดอีก แต่ก็ยังโชคดีที่เอื้อย (ในร่างนกแขกเต้า) นั้นหนีมาได้ จนมาพบพระฤๅษีที่เวทนาชีวิต จึงได้เสกให้เอื้อยกลับมาเป็นคนอีกครั้ง
 

          ผลกระทบและการรับมือ : เรื่องราวของเอื้อยนี่ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งที่รุนแรงมาก จากการกลั่นแกล้งจิกหัวใช้งาน รังแกต่างๆ จนลามไปถึงการทำร้ายขั้นชีวิตเพราะความอิจฉาริษยา ทั้งๆ ที่เอื้อยไม่ได้ทำอะไรผิดเลยด้วยซ้ำ และที่เลวร้ายที่สุดก็คือผู้กระทำเป็นคนในครอบครัวด้วยกันเอง ถึงจะไม่ถูกใจกันแต่พี่ว่าก็ไม่น่าจะทำกันขนาดนี้เลย แล้วยิ่งเอื้อยไม่สู้คน ไม่เคยคิดร้ายกับใครก็ไม่รู้เท่าทัน ไม่มีการรับมือ เอื้อยจึงตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งนี้อย่างสมบูรณ์ พี่คิดว่าถ้าเอื้อยกล้าที่จะฮึดสู้ปกป้องตัวเองบ้าง บางทีพวกนางขนิษฐีก็อาจจะไม่กล้าเล่นงานเอื้อยขนาดนี้ก็ได้ เป็นคนดีตลอดก็ใช่ว่าจะได้ดีตลอดนี่นาถ้าจะร้ายเพื่อปกป้องตัวเองบ้างพี่ว่าก็ไม่ผิดนะ
 


 

          02 : นางกุจจี (จากเรื่อง รามเกียรติ์) เป็นแม่เลี้ยงของพระนางไกยเกษี พระชายาคนที่สองของท้าวทศรถ พระมารดาของพระพรต บุตรคนรองในทั้งหมด 4 คนของท้าวทศรถ นางกุจจีนั้นรูปร่างอัปลักษณ์คือหลังค่อม จึงถูกคนเยาะเย้ยถากถางมาตลอด นางเก็บความน้อยเนื้อต่ำใจไว้กับตัว โดยอาศัยนางไกยเกษีที่ตัวเองเลี้ยงมากับมือตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้ที่พอจะทำให้นางได้ลืมตาอ้าปากมีฐานะกับคนอื่นเขาบ้าง ในสมัยที่พระรามและน้องๆ ทั้งสามยังเป็นเด็ก วันหนึ่งขณะกำลังฝึกยิงธนูกัน พระรามหาเป้าเหมาะๆ ยิงไม่เจอ เผอิญเหลือบไปเห็นนางกุจจีเดินอยู่ พระรามจึงบอกน้องๆ ว่าเดี๋ยวจะโชว์ฝีมือการยิงธนูขั้นเทพให้ดู แล้วพระรามก็แผลงศรไปที่หลังค่อมๆ ของนางกุจจี หลังที่ค่อมก็โก่งไปข้างหน้า พอแผลงศรไปด้านหน้า ส่วนที่โก่งก็เด้งกลับไปค่อมใหม่อีกครั้ง พวกมหาดเล็กที่ยืนอยู่แถวนั้น ก็ปรบมือชอบใจ เฮฮากันดังลั่นอย่างสนุกสนาน นางกุจจีจึงโกรธแค้นพระรามที่ทำให้นางต้องอับอาย จึงเก็บความแค้นไว้ในใจตลอดมาหวังว่าต้องเอาคืนให้ได้สักวัน ซึ่งภายหลังนางกุจจีก็ไปเป่าหูนางไกยเกษี ให้ทวงสัญญาจากท้าวทศรถ ขอให้พระพรตขึ้นครองเมืองแทนพระราม และให้เนรเทศพระรามไปอยู่ป่าเขานานถึง 14 ปี
 

          ผลกระทบและการรับมือ : สำหรับเรื่องนี้ผลกระทบไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเอาชีวิต แต่สิ่งที่พระรามกระทำต่อนางกุจจีก็ถือว่าร้ายแรง เพราะพระรามนั้นล้อเล่นกับปมด้อยของนางกุจจีที่หลังค่อม มองว่านางเป็นตัวตลก และกลั่นแกล้งอย่างสนุกสนานจนนางต้องอับอาย ต่อให้นางจะหลังค่อม หรือรูปร่างอัปลักษณ์ยังไง พระรามก็ไม่ควรที่จะไปรังแกนางเช่นนั้น เพราะนางก็เป็นคนเหมือนกัน แค่ถูกคนอื่นเยาะเย้ยถากถางนางก็เจ็บปวดมากแล้ว พระรามยังมาซ้ำเติมนางแบบนี้อีก ถ้านางจะโกรธแค้นก็ไม่ผิดหรอก (เป็นพี่ก็คงโกรธเหมือนกัน) ในเมื่อพระรามทำกับนางเช่นนี้ นางก็ต้องเอาคืนบ้างเรื่องอะไรจะยอมให้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว บางคนอาจจะมองว่านางร้าย แต่โดยส่วนตัวพี่คิดว่าถ้าพระรามไม่ทำนางก่อน นางก็คงไม่ต้องร้ายแบบนี้หรอก
 

          กรณีนี้สะท้อนอะไร : จากเหตุการณ์ของทั้ง 2 ตัวละคร ที่ได้ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่าตัวละครทั้ง 2 คนนี้เป็นเหมือนที่ระบายอารมณ์เลย นางเอื้อยก็ถูกกลั่นแกล้งสารพัดเหตุเพราะความอิจฉาริษยาของพวกนางขนิษฐี ส่วนนางกุจจีก็ถูกรังแกเพราะความนึกสนุกของพระราม ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า การรังแกกลั่นแกล้งกันนั้นเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉยและมองว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างนางเอื้อยที่ถูกรังแก แต่แทนที่พ่อจะช่วยกลับทำเป็นไม่สนใจ และพระรามที่ยิงนางกุจจี แทนที่คนอื่นๆ จะห้ามปรามกลับยิ่งยุยงส่งเสริม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิดเป็นอย่างมาก ใช่ว่าเรามีกำลัง มีอำนาจเหนือกว่าแล้วจะรังแกใครอย่างไรก็ได้ และสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำกับคนอื่นไว้มันก็จะย้อนกลับมาหาตัวเอง ตอนแกล้งเขาก็สนุก แต่พอตอนที่ต้องมารับกรรมขำไม่ออกเลยทีเดียว
 

กรณี 3 ถูกล้อเลียนเรื่องชาติกำเนิด ต้นตระกูล - กรณีนี้พี่ขอยกตัวอย่างมา 1 ตัวละคร ดังนี้



 

          01 : ขวาน (จากเรื่อง ขวานฟ้าหน้าดำ) พี่ขอเล่าถึงที่มาในการเกิดก่อนสักนิด เรื่องนี้เริ่มต้นมาจากชะตากรรมของ “สุทธาเทพ” เทวดาชั้นผู้น้อยที่มักถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ พระอิศวรจึงได้ประทานขวานฟ้าให้ไว้ป้องกันตัว แต่เขากลับใช้อาวุธในทางที่ผิด พระอาทิตย์จึงไปปราบจนสุทธาเทพพ่ายแพ้และได้รับแผลไหม้เกรียมที่ใบหน้า จากนั้นพระอินทร์ก็สาปให้สุทธาเทพจุติลงไปเกิดบนโลกมนุษย์โดยที่ยังคงมีใบหน้าดำไหม้ติดตัวเพื่อชดใช้กรรม
          สุทธาเทพได้จุติลงมาเกิดเป็น “ขวาน” ลูกของ นายอุทัยกับนางสำลี ผู้มีฐานะยากจน อาศัยอยู่นอกหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เหตุที่ขวานที่ได้ชื่อนี้เพราะมีขวานฟ้าติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อวันแรกเกิดนั้นหมอตำแยได้เห็นขวานมีหน้าดำเป็นแถบผิดจากเด็กธรรมดา ซ้ำยังถูกขวานฟ้าเล่นงานเนื่องจากคิดจะยักยอกขวานฟ้าไปเป็นของตัวเอง หมอตำแยจึงแพร่ข่าวไปว่าขวานเป็นเด็กปีศาจ หน้าตาอัปลักษณ์ บางคนยังพูดอีกว่าทารกนั้นเป็นลูกผี ต่อมาภายหลังเพื่อนบ้านทั้งหมดก็พากันเชื่อว่าเด็กทารกนั้นเป็นลูกผีปีศาจจริงๆ ทำให้ชาวบ้านต่างเกลียดชังและหวาดกลัวครอบครัวของขวานมาก แต่แม้จะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรังเกียจเดียดฉันท์จากสังคมรอบข้าง แต่ขวานก็เป็นเด็กดี มีความอดทนอดกลั้น เชื่อฟังพ่อแม่ ขยันขันแข็งช่วยงานบ้านทุกอย่าง ชีวิตของขวานก็ได้ออกผจญภัยเจออุปสรรคมากมาย เวลาเห็นใครเดือดร้อนก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือเต็มที่ หลังจากประกอบคุณงามความดีเหล่านี้แล้วขวานก็กลับไปสวรรค์อีกครั้ง
 

          ผลกระทบและการรับมือ : จากการที่ขวานเกิดมาแปลกประหลาดกว่าเด็กคนอื่นๆ จึงส่งกระทบต่อชีวิตของขวานที่ว่า คนอื่นมองว่าเขาเป็นตัวประหลาด เป็นปีศาจที่อัปลักษณ์และน่ากลัว ไม่ควรที่จะคบค้าสมาคมด้วย ผู้คนต่างพากันเกลียดชัง แต่ถึงอย่างนั้นพ่อกับแม่ก็รักขวานมาก พยายามเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดี ขวานก็เป็นเด็กดี เข้มแข็งต่อคำครหาต่างๆ หมั่นประกอบคุณงามความดี โดยไม่สนใจต่อคำพูดด่าว่า ถึงจะเกิดมาแตกต่างก็ขวานก็เป็นคนเหมือนกัน
 

          กรณีนี้สะท้อนอะไร : จากเหตุการณ์ของ 1 ตัวละคร ที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะเป็นได้ อย่างขวานเองก็เลือกที่จะเป็นคนดี ถึงแม้จะเกิดมาแปลกจากคนอื่น ต้องถูกด่าว่า ล้อเลียนเรื่องชาติกำเนิดสักแค่ไหน แต่ขวานก็ไม่ได้เก็บคำพูดเหล่านั้นมาใส่ใจ แต่พี่ก็คิดว่าขวานเองก็คงมีบ้างแหละที่รู้สึกเจ็บปวดกับคำพูดไม่ดีเหล่านั้น การล้อชาติกำเนิด ล้อต้นตระกูลสำหรับพี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะ เพราะเขาไม่ใช่แค่ว่าเราแต่ลามไปถึงครอบครัวของเราด้วย อย่างทุกวันนี้พี่ก็ยังเห็นมีการล้อเรื่องชาติกำเนิดหรือเรื่องครอบครัวอยู่นะ อย่างเช่นประโยค “ลูกไม่มีพ่อ” “เด็กเก็บมาเลี้ยง” “ลูกเมียน้อย” ประโยคพวกนี้คนพูดอาจจะสนุกปาก แต่คนที่ฟังเจ็บปวดไม่น้อย เพราะเลือกเกิดไม่ได้นี่นาใครจะอยากเกิดมามีปมด้อยล่ะจริงไหม
 

………………………………...
 

          จากที่พี่เล่ามาทั้งหมดน้องๆ คงได้เห็นแล้วว่า เรื่องการบูลลี่กันเนี่ยมันอยู่ทุกที่จริงๆ ไม่ว่าจะสมัยไหนเรื่องแบบนี้ก็ยังอยู่ มิหนำซ้ำยังเป็นเรื่องที่ยิ่งทวีความรุนแรงอยู่ตลอด แต่ในสมัยก่อนอาจจะไม่รุนแรงเท่าสมัยนี้ เพราะทุกวันนี้การบูลลี่กัน มันสามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องบูลลี่กันต่อหน้าก็ได้ แค่เพียงจรดปลายนิ้วลงบนคีย์บอร์ด แล้วเผยแพร่ทางโซเชียลก็สามารถทำร้ายกันได้แล้ว บางคนก็ไม่รู้จักกันด้วยซ้ำแต่ก็ไปร่วมบูลลี่กันได้ เพราะอินเทอร์เน็ตมันไร้ขอบเขต ยังดีนะที่สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียล ไม่งั้นคงมีเรื่อง Cyberbullying เหมือนสมัยนี้แน่ๆ ดูได้จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีเหยื่อตกเป็นเป้าของการบูลลี่มากมาย บางคนก็รับมือได้ บางคนก็รับมือไม่ไหวจนเลือกที่จะหนีปัญหาด้วยการจบชีวิต มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ถึงผู้คนจะเริ่มสนใจและตระหนักถึงปัญหาการบูลลี่บ้างแล้ว แต่พี่คิดว่าปัญหานี้มันไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ถาวรหรอก มันมีเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกวัน แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือแค่คิดต่าง ก็เป็นประเด็นให้บูลลี่ได้แล้ว แต่ถึงเราจะแก้ไขมันไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ การไม่สร้างมันขึ้นมา เราห้ามความคิด หรือห้ามคนอื่นไม่ให้บูลลี่ไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างความคิด แต่เราห้ามตัวเองได้นะ ในเมื่อเรารู้ว่ามันไม่ดีทั้งกับตัวเราเองและคนที่เราไปบูลลี่ เราก็ไม่ควรทำ ให้ระลึกไว้ว่า สิ่งไหนที่เราไม่ชอบก็อย่าไปทำกับคนอื่น ให้ดูจากกรณีที่พี่นำมาเล่าไว้เตือนตัวเอง เห็นไหมหลายๆ คนที่ไปบูลลี่เขาในภายหลังก็ได้รับผลกรรมที่ตัวเองไปทำกับคนอื่นไว้
 

          หากใครที่กำลังเจอปัญหาการบูลลี่แบบนี้ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ เราไม่จำเป็นต้องฟังทุกคำจากคนอื่น คำไหนดีเราก็เก็บไว้เป็นกำลังใจ คำไหนดีก็อย่าเก็บมาใส่ใจ ทำเป็นหูทวนลมไปก็ได้ คิดซะว่าเสียงแมลงวี่ เราต้องปกป้องตัวเองนะคะ ให้เข้มแข็งแล้วต่อสู้กับมันนะ และสำหรับใครที่ได้อ่านบทความนี้ แล้วนึกได้ว่ามีตัวละครไหนอีกที่ถูกบูลลี่ก็มาแชร์กันอีกได้นะ พี่จะรออ่าน วันนี้พี่ก็ต้องลาไปก่อน สวัสดีค่ะ
 

พี่น้ำ ^^
 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://sites.google.com/site/thai0049/home/reuxng-yx-thaw-saen-pm
http://darkgrimreaper.exteen.com/20130609/apaimanee-ogre
http://oknation.nationtv.tv/blog/julapong/2013/06/06/entry-2
http://jijirawan1121.blogspot.com/2016/09/blog-post_23.html

https://alchetron.com/Kaikeyi-3108798-W
https://th.wikipedia.org/wiki/ขวานฟ้าหน้าดำ
https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาบู่ทอง

 

พี่น้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น