ติวเตอร์ร้อยสนาม! แชร์ประสบการณ์ “เด็กเอกไทย” สุดพีค พร้อมเทคนิคทำคะแนนสอบ


        เห็นคำผิดจากแชตไลน์ด้านบนนี้ไหมคะ นี่เป็นตัวอย่างการรับ - ส่งสารที่ผิด ทำให้เราเห็นข้อความที่เขียนผิดแบบนี้บ่อย ๆ จนเราอาจจำไปใช้แบบผิด ๆ เขียนผิดเสียเองก็ได้ นี่เป็นหนึ่งในปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็กไทยที่ “อาจารย์แจ๊กกี้” เล่าให้พี่เกียรติฟังค่ะ แต่ไม่ได้มีแค่ปัญหาภาษาไทยนะคะ อาจารย์แจ๊กกี้จะมาเล่าถึงประสบการณ์ในฐานะติวเตอร์มือฉมังผู้สอนภาษาไทยมาแล้วทั่วประเทศ ในฐานะรุ่นพี่นิสิตเอกไทยสายครู ประสบการณ์ฝึกสอนแบบพีค ๆ แถมยังแนะนำเทคนิคการสอบดี ๆ ด้วยจ้า

        “อาจารย์แจ๊กกี้” นิธิโรจน์ สุวัชรธีรนิล เป็นผู้สอนภาษาไทยโครงการ Brand’s Summer Camp และโครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์มาหลายปี เป็นวิทยากรรับเชิญโครงการภาษาไทยต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีประสบการณ์สอนมามากกว่า 14 ปี และเขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น หนังสือติว GAT เชื่อมโยง “GAT get get” ของสำนักพิมพ์ M.I.S. หนังสือชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองวิชาภาษาไทย ของบัณฑิตแนะแนว และหนังสือติว “พิชิต 9 วิชาสามัญภาษาไทย” สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์




        อาจารย์แจ๊กกี้ จบปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แผนกมัธยมศึกษา เอกวิชาภาษาไทย เป็นหลักสูตรครู 5 ปีรุ่นแรก และจบปริญญาโท สาขาวิชาบริหารการศึกษา จากคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ทำไมถึงเลือกเรียนครู

        เราเป็นเด็กต่างจังหวัด บังเอิญตอนมัธยมปลายที่บ้านก็มีรถให้ขับ แล้ววันหนึ่งตอนม.5 เราขับรถออกไปธุระพอติดไฟแดง ก็หันไปเห็นเพื่อนวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ มีสาวนุ่งสั้นๆ เกาะเอวซ้อนหลัง เราก็รู้สึกอยากจะไปมอบความปรารถนาที่ดีให้ ว่า...ถ้าเป็นอะไรมา คนที่บ้านจะรู้สึกอย่างไร นั่นแหละที่เป็นจุดแรกที่ทำให้เรารู้สึกอยากแนะนำผู้คน พอถึงปีสอบเข้าตอนนั้นยื่นโควตาคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้การยื่นคะแนนเอ็นทรานซ์รอบแรกสี่วิชากับวิชาวัดแวดความเป็นครู จากเจ็ดร้อยกว่าคน เราก็เป็นหนึ่งในคนที่ผ่านเข้าไป
 
เอกภาษาไทยในมหาวิทยาลัยต่างจากวิชาภาษาไทยมัธยมอย่างไร

        วิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยต่างจากมัธยมตรงเนื้อหามีความละเอียดลึกซึ้งลงไปมากกว่าเดิม ครุศาสตร์ เอกภาษา ต้องไปเรียนกับเพื่อนต่างคณะ เราไปเรียนกับคณะอักษรศาสตร์ แต่เอกไทยของครุศาสตร์ก็จะไม่ลึกซึ้งเท่าสายภาษาตรง เพราะเรามีวิชาครูด้วย
 
ประสบการณ์เรียนครู
 
        การฝึกสอนทำให้เห็นความแตกต่างของเด็กแต่ละคน บ่อยครั้งที่เราต้องทำแผนการสอนและทำสื่อการสอนจนถึงตีห้า แล้วก็ต้องไปเข้าโรงเรียนตอนเจ็ดโมงเช้าทุกวัน แต่ที่พีค คือ เคยโดนนักเรียนขู่ เพราะไปจับบุหรี่ ต่อมาเด็กก็เดินถือไม้หน้าสามมาหา แล้วถามลอยๆ ว่า "อาจารย์เคยตายไหมครับ" เราก็ไปปรึกษาครูพี่เลี้ยง แล้วครูพี่เลี้ยงก็บอกว่า "โอ้ย ไม่ต้องกลัว เด็กไม่ทำอะไรซึ่งหน้าหรอก สบายใจได้"  ตอนนั้นก็  "อ้าว" ตื่นเต้นมาก

        นอกจากตอนฝึกสอนแล้ว จริงๆ ก็เป็นติวเตอร์ตั้งแต่ปี 3 เดินหิ้วกระเป๋าไปสอนที่ต่างจังหวัดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จนเรียนจบ พอเรียนจบทางโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ก็โทรมา เรียกไปสัมภาษณ์ และเริ่มทำงานอีกวันเลย จึงได้เป็นครูที่ประสานมิตร และทำงานครูโรงเรียนมัธยมอยู่ 2 ปี จึงได้มาเป็นวิทยากรรับเชิญเต็มตัว
 
จบเอกไทยสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง

        สามารถเป็นนักเขียนนิยาย นักเขียนข่าว ทำ PR เป็นนักประชาสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับ อย่างพนักงานที่ประกาศเสียงตามสาย เสียงประกาศจะเพราะพริ้งแค่ไหนก็อยู่ที่การใช้น้ำเสียงและระดับภาษา ในภาษาไทยเราจะเรียนเรื่องการใช้น้ำเสียงในการสื่อสารด้วย และอีกอาชีพน่าสนใจ คือ Copywriter คนคิดคำขวัญให้สินค้า คิดคำโฆษณาให้ติดหูคนฟัง




เด็กไทยมีปัญหากับวิชาภาษาไทยอย่างไรบ้าง
 
        เราไปสอนมาแล้วเกือบทั่วประเทศ ตั้งแต่โรงเรียนตำบลจนถึงโรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนเราก็ไป พบว่าพื้นฐานเด็กในเมืองจะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาได้มากกว่า ส่วนเด็กต่างจังหวัดยิ่งชายแดนด้วยเทียบกันไม่ได้เลย เพราะนอกจากทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมแล้ว ยังมีเรื่องภาษาถิ่นที่ทำให้มีปัญหากับวิชาภาษาไทยที่เจอกับตัวเองเลยก็คือ ภาษาถิ่นส่งผลต่อการผันเสียงวรรณยุกต์ทำให้เด็กทำข้อสอบเรื่องระบบเสียงภาษาไทยไม่ได้ นอกจากนี้เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานความใส่ใจสนใจต่างกันบางคนชอบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แต่ก็ต้องโดนบังคับเรียนภาษาไทย ซึ่งเราต้องเข้าใจเด็ก ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก

        ในเรื่องปัญหาวิชาภาษาไทย มันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของเด็กไทย แต่คนไทยทุกวัยก็มีปัญหา อย่าง คะ ค่ะ นะคะ สะกดผิดกันจนชิน อีกอย่างเดี๋ยวนี้คนก็อ่านหนังสือกันน้อยลง อย่างมากก็อ่านผ่านไลน์กัน มันก็มีโอกาสที่เมื่อคนส่งสารผิด "เจอกันเย็นนี้นะค่ะ" คนรับสารก็รับผิด พอคนเราเห็น นะค่ะ บ่อย ๆ เข้า ก็อาจเคยชินคิดว่าเป็นคำที่เขียนถูกต้อง

 
"คาวมรัก คาวมคิดถึง คาวมสุก คาวมเศร้า"

         ที่สำคัญภาษามันเป็นเครื่องแสดงตัวตนของบุคคลได้ ต่อให้ใส่เสื้อผ้าสวยงามแต่พูดจาสบถ มันก็สะท้อนตัวตนของคนออกมา เรื่องคำหยาบก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการใช้กันบ้าง เพราะภาษามีหลายระดับ อาจพูดหยาบกับเพื่อนได้ แต่เราต้องไม่เลือกใช้ให้เป็นปกติ หรือนำไปใช้ในที่สาธารณะทั่วไป หรืออย่างการสะกดคำง่าย ๆ เช่น คำว่า "ความ" เขียนเป็น “คาวม” ตัวแรกอาจบังเอิญเขียนผิด แต่ถ้าตัวต่อไปก็ยังเขียนผิดอยู่ แสดงว่าพื้นฐานของคนที่เขียนนี้ไม่มีความรู้แหละ

          ดังนั้น ภาษาจึงแสดงตัวตน แสดงถึงการเลี้ยงดูจากทางบ้าน มารยาท แสดงระดับพื้นฐานความรู้ได้ การใช้ภาษาพูดก็ทำให้คนรักเรา เอ็นดูเราแตกต่างกันด้วย คนไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนเลย แค่โพล่งออกมาคำแรกก็อาจทำให้คนเกลียดได้ เพราะภาษาเป็นหน้าต่างของการสร้างความสัมพันธ์อันดีงามในสังคม มนุษย์เราใช้ภาษาในการธำรงสังคม นำภาษามาเขียนกฎหมาย นำภาษามาใช้ทักทายพูดจาปราศรัยกัน



 
เทคนิคการทำคะแนนสอบให้ดีขึ้น


        ถ้าอยากได้คะแนนดี ๆ ไม่ใช่เฉพาะวิชาภาษาไทยนะ ให้ตั้งเป้าหมายของแต่ละวิชาอย่างน้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วเข้าไปดูเนื้อหาของวิชานั้นๆ ว่าออกอะไรบ้าง คัดเนื้อหามา หยิบหนังสือติวขึ้นมาดูสารบัญเลย แล้วเลือกเรื่องที่เราน่าจะทำได้มาครึ่งนึงจากทั้งหมด ทำความเข้าใจกับมัน แล้วเราจะไม่พลาดคะแนนอย่างน้อยก็ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของวิชานั้น ๆ แน่นอน

 
        น้อง ๆ เห็นคำผิดในภาพแรกของบทความหรือยังเอ่ย นี่แค่พิมพ์ไลน์ก็สำคัญแล้วนะ! ใครที่มองว่าเอกวิชาภาษาไทยไม่น่าสนใจ ต้องมองใหม่แล้วค่ะ ยิ่งถ้าใครบอกว่าห้ามเรียนเอกไทย ให้ตีมือเลย! ถ้าชอบวิชานี้ ก็มุ่งหน้าได้เลยค่ะ พี่เกียรติหวังว่าน้องๆ ชาว Dek-D จะได้แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนมากขึ้นนะคะ จะเลือกเรียนเอกไทย จะเลือกเรียนครู หรือจะเลือกเรียนอะไรก็ที่เรารัก แล้วเราจะมีความสุขประสบความสำเร็จในอาชีพการงานวันข้างหน้าจ้า
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น