เปิดเส้นทางสายวิทย์! จากเด็กต่างจังหวัดที่ชอบฟิสิกส์สู่สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีระดับอินเตอร์

            ใครบอกว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วไม่รุ่ง จบมาก็เป็นได้แค่อาจารย์ทำแต่งานเอกสารเท่านั้น จริงแท้แล้วนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ ขายความคิดได้มูลค่ามหาศาลเลยล่ะ ยุคนี้หนทางเปิดกว้างมากขึ้นแล้วนะ !   

            พี่เกียรติมีเรื่องเล่าประสบการณ์เด็กฟิสิกส์ที่เลือกเส้นทางเรียนตามความชอบ และกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ จนประสบความสำเร็จในฐานะเด็กค่าย สอวน. ผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก เป็นนักเรียนทุนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย และผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัพบริษัท Oxitronics ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคนิคการปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์แบบ high TCR (Temperature Coefficient of Resistance) ด้วย Reactive Bias Target Ion Beam Deposition และผู้ที่เป็นหลายอย่างในเส้นทางฟิสิกส์นี้ ก็คือ อ.หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล 

อ.หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล

อาจารย์หลินเริ่มต้นเล่าว่าชีวิตนักฟิสิกส์ของอาจารย์เริ่มตอน ม.4 ที่เลือกเข้าค่าย สอวน.สาขาฟิสิกส์…

“ตอน ม.4 สมัยเรียนเตรียมอุดม ที่เลือกค่าย สอวน.ฟิสิกส์ตอนนั้นเพราะค่ายเรียนที่เตรียมฯ เลย เราเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพคนเดียว ก็ไม่ต้องเดินทางไกล พ่อแม่จะได้ไม่เป็นห่วง ตอนแรกที่เริ่มเรียนฟิสิกส์ในค่ายก็ฟังครูบรรยายไม่รู้เรื่องเลย เราไม่เคยเรียนฟิสิกส์มาก่อน ตอนเช้าเป็นบรรยาย พอตอนบ่ายเป็นการทดลอง เราชอบทำการทดลอง ทุกวันก็จะรอให้ถึงตอนบ่าย”


          ตอน ม.4 ปีแรกยังไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศ พออีกปีมาสอบใหม่ก็ยังไม่ได้หวังว่าจะต้องเป็นได้ตัวแทน เราแค่อยากไปเข้าค่ายสนุก ๆ ได้ค้างคืนกับเพื่อน จนในที่สุดก็ได้เป็นตัวแทนไทยและเป็นตัวแทนฟิสิกส์ผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งพอเป็นตัวแทนก็จะได้ทุนเรียนต่ออัตโนมัติ เป็นทุน พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ถ้าตอบรับทุนก็ได้ทุนเรียนต่อยาวถึงปริญญาเอกในสาขาฟิสิกส์ เลือกประเทศที่ต้องการได้
           
          ตอนแรกลังเล ก็เหมือนคำถามสมัยนี้แหละ “จบฟิสิกส์มาแล้วเอาไปทำอะไร” ถ้าได้รับทุนแล้วจบมาจะทำอะไร ก็ได้คำตอบมาว่า “จบมาก็เป็นอาจารย์เป็นนักวิจัย” แต่ตัวทุนก็ไม่ได้ผูกมัดว่าต้องกลับมาทำงานกระทรวงไหนเท่านั้น สามารถเลือกสถานที่ใช้ทุนก็ได้ ซึ่งตอนนี้ทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ก็เปิดกว้างยิ่งขึ้น นอกจากอาจารย์หรือนักวิจัยแล้ว สามารถไปทำงานสาย data งานวิเคราะห์ไฟแนนซ์ต่าง ๆ ได้ด้วย ตอนนั้นก็ลองเทียบข้อมูลว่า ถ้าอยู่ไทยก็จะต้องต่อวิศวะ เป็นผู้หญิงเรียนวิศวะจะรุ่งไหม (ตอนนั้นนะ) หรือไปต่างประเทศก็ต้องเรียนฟิสิกส์เท่านั้น
         ซึ่งเมื่อตอนอายุ 18 ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอยากเป็นอาจารย์ไหม เราเป็นสายชอบถาม ชอบทดลอง ไม่ใช่สายทฤษฎี ไม่เคยสอนใคร แต่ความคิดมันก็พลิกไปเรื่อย ๆ เมื่อเจอประสบการณ์ใหม่ อะไรที่เราคิดเมื่อ 10 ปีก่อน มันก็อาจจะไม่ใช่ในวันนี้แล้ว

 



            ตอนแรกพ่อแม่ก็อยากให้เป็นหมอ แต่เราให้เหตุผลไปว่า “เราไม่ชอบท่องจำชีวะ” แม้พ่อแม่จะถามกลับว่า แล้วฟิสิกส์ไม่ต้องท่องจำเหรอ เราก็ตอบไปว่า “มันก็ท่อง แต่ท่องในสิ่งที่ชอบ ท่องในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบมันต่างกัน” ก็เรียกว่าโชคดีที่ได้สัมผัส สอวน. ได้รู้ตัวว่าชอบการทดลอง ได้ทดลองฟิสิกส์ในค่ายแล้วสนุก จึงเลือกรับทุนและต่อปริญญาตรีที่ Cornell University สหรัฐอเมริกา

           ตอนปริญญาตรีต้องปรับตัวมากอยู่ ภาษาด้วย เรียนโหดขึ้นด้วย แต่ข้อดีของหลักสูตร คือ เรียนแต่ฟิสิกส์กับเลขเลย ไม่ต้องเรียนวิทย์ตัวอื่นๆ ซึ่งตอนป.ตรีไม่ได้มีบังคับว่าต้องทำวิจัยจบ แต่เราก็ไปขอเข้ากลุ่มวิจัยตามแล็บที่เราสนใจไว้ก่อน เพราะเรารู้ว่าการเรียนต่อป.โท - เอก มันไม่ได้ใช้แค่เกรด ต้องมีประสบการณ์งานวิจัย มีจดหมายแนะนำตัวจากอาจารย์ต่าง ๆ ด้วย เราก็ได้จดหมายแนะนำจากอาจารย์ที่เรารู้จักตอนเข้าไปร่วมกลุ่มวิจัยในแล็บงานต่าง ๆ นี่แหละ





แล็บฟิสิกส์เป็นอย่างไร ? 

            ฟิสิกส์ก็มีหลายเรื่อง ไปทางสายเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ก็จะอยู่กับเครื่องมือต่าง ๆ มากหน่อย หรือจะชอบศึกษาอนุภาคเล็ก ๆ นอกโลกอวกาศ เป็น Astrophysics ก็ได้ ไปฝึกตามศูนย์วิจัยดาราศาสตร์ต่าง  ๆ   ดังนั้นแล็บฟิสิกส์แต่ละสาขาก็จะไม่เหมือนกัน แต่อย่างที่ทำเรื่องปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์ ก็จะใช้เครื่องสูญญากาศนำศักย์ไฟฟ้าให้ตัวโลหะบริสุทธิ์ เช่น เหล็ก หรือเวเนเดียม ใส่ลงไปที่เครื่อง แล้วเครื่องจะใส่ศักย์ไฟฟ้าให้มันกระตุ้นเกิดเป็นพลังงานขึ้นมานำไปสู่กระบวนการปลูกฟิล์มต่อไป แล้วยังมีการวิเคราะห์สมบัติของตัวงานต่าง ๆ เช็กไฟฟ้า เช็กอุณหภูมิ เช็กคุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือในแล็บหลากหลาย และงานวิจัยทางฟิสิกส์ประยุกต์กลุ่มนี้จะนำไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ semiconductor (สารกึ่งตัวนำ) สารกึ่งตัวนำเป็นวัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แล้วพอเราได้ผลวิจัย เราก็ไม่ได้อยู่แค่ในแล็บ ก็ไปเสนอผลงานในการประชุมต่าง ๆ เพื่อต่อยอดงานวิจัยต่อไป






แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราควรจะทำวิจัยเรื่องอะไร เป็นประโยชน์ในอนาคตได้จริง ?

          เราก็ต้องถามรุ่นพี่ว่างานวิจัยไหนเป็นยังไง แล้วลองลงไปขอทำแล็บดูเลย ที่ขอทำแล็บตั้งแต่ป.ตรีปีสองเลยก็เพื่อจะดูว่า "เออ เราชอบด้านนี้จริงไหม" เผื่อเปลี่ยนเรื่องได้หากเราไม่ชอบด้วย อย่างตอนเรียนปริญญาเอกที่ University of Virginia ตอนแรกก็จะเข้ากลุ่มวิจัยเรื่องเดิมที่เราสนใจตั้งแต่ป.ตรีนี่แหละ แต่พอดีกลุ่มนั้นเต็ม อาจารย์ก็เสนอกลุ่มสาขาคล้าย ๆ เดิมให้เรา เราก็ไม่เลือกงาน อย่างน้อยก็ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนในกลุ่มเดิมที่เราอยากทำได้ ปัจจุบันงานที่ได้สิทธิบัตรก็เป็นตัวที่เราทำตอนปริญญาเอกนี่แหละ เป็นการปลูกฟิล์มบางเวเนเดียมไดออกไซต์ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายในเชิงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พวกคอมพิวเตอร์เมมโมรี่ ตัวสวิตช์ไฟฟ้า หรือนำไปใช้กับฟิล์มเคลือบกระจกกันแสงกันความร้อน เกาหลีก็นำไปทำตัวตรวจจับเซ็นเซอร์ต่าง ๆ 


เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนของทหารก็นำเทคนิคการปลูกฟิล์มบางเวเนเดียมไดออกไซต์ไปประยุกต์ใช้ได้เหมือนกัน 
(ภาพประกอบเพื่อความเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่ภาพงานวิจัยจริง)


นอกจากงานวิจัยแล้ว บทบาทอาจารย์เป็นอย่างไร ?

           ได้ฝึกสอนตอนปริญญาเอก เป็นสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ป.ตรี สอนแล็บ และ discussion section สอนวิเคราะห์คอนเซ็ปฟิสิกส์จากการทดลองในแล็บ การใช้เครื่องมือในแล็บ พอเราได้สัมผัสได้ฝึกสอน คนอื่นก็ฟีดแบ็กมาว่าเราสอนได้เข้าใจ ตัวเราก็รับรู้ว่า เออ เราก็ทำได้นี่หน่า และก็รู้สึกแฮปปี้เวลาสอน



          ตอนนี้ก็กลับมาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชากลุ่มฟิสิกส์ และยังมีวิชาฟิสิกส์ในภาพยนตร์ เป็นวิชา general education ที่เด็กคณะไหนมาลงเรียนก็ได้ คณะสายศิลป์ก็เรียนได้ โดยจะนำคอนเซ็ปต์ฟิสิกต์ขึ้นมาเป็นอธิบายเป็นภาษาพูด ไม่ยกสมการเลย โดยจะพาแต่ดูหนังเป็นตอน ๆ แล้วมาวิเคราะห์ว่า มันสมเห็นสมผลไหม เป็นหลักฟิสิกส์ไหม อย่างสไปเดอร์แมนที่หยุดรถไฟ ดึงขนาดนี้ ประมาณแรงได้ไหม หยุดได้ไหม กล้ามเนื้อคนมันทนไหวไหม คำนวณหลักพลังงานง่าย ๆ เป็นต้น และตอนนี้ก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์วัสดุ University of Virginia เป็นที่ปรึกษางานวิจัยของเด็กที่โน้นหรือทำวิจัยร่วมในงานต่าง ๆ

Credit: youtube.com/watch?v=yRhRZB-nqOU


ตอนนี้วงการนักวิทย์รุ่นใหม่เป็นอย่างไร ?

              
มีกลุ่ม “Reinventing Thailand by Young Scientists” เป็นการรวมกลุ่มของนักวิทย์รุ่นใหม่ เพื่อผลักดันฐานงานวิจัยในไทยให้กว้างขึ้นเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น มีการร่วมกันเขียนสมุดปกขาวรวมเสียงนักวิทย์มาเสนอนโยบายต่อรัฐบาล ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดการนำมาซึ่งทุนวิจัยในงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ จริงไทยเรามีนักวิจัยที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติอื่น แล้วถ้ามีทุนตรงจุดนี้ก็จะสามารถทำวิจัยและกลายเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้ เราเป็นเจ้าของสิทธิบัตร เราสร้างผลงานได้ก่อนชาติอื่น เขาก็จะมาซื้อเราไปใช้ มีแล็บวิจัยต่าง ๆ เกิดขึ้น มีนักวิจัยทำงานมากขึ้น วงการวิจัยไทยก็จะก้าวหน้าขึ้น ฐานรายได้ของคนในสายวิทยาศาสตร์ก็จะยกระดับขึ้นมา



ฝากถึงน้อง ๆ ชาว Dek-D ที่สนใจคณะวิทยาศาสตร์

          แน่นอนว่าเราต้องหาข้อมูลไปบอกพ่อแม่ว่า เรียนคณะนี้ทำอาชีพอะไรได้บ้าง โอเค จบฟิสิกส์ ทำงานที่นั่นที่นี่ เช่น มาตรวิทยา สถาบันนิวเคลียร์ สถาบันพลังงานต่าง ๆ หน่วยวิจัยต่าง ๆ NANOTEC NECTEC หรือ MTEC เป็นนักวิจัยหรือเป็นอาจารย์ก็ได้ แต่จริงๆ อย่าให้การเลือกคณะเป็นการตัดสินอาชีพของเรา อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าเราจะทำอาชีพอะไร จบฟิสิกส์ไปทำไฟแนนซ์ก็ได้ ในต่างประเทศนิยมมาก เพราะเด็กฟิสิกส์มีความคิดที่รวดเร็วเป็นระบบ จึงถูกจ้างไปทำไฟแนนซ์ วิจัยการตลาด ซึ่งบางคนก็นำพื้นฐานฟิสิกส์ไปประยุกต์ทำงานอื่น สามารถเรียนต่อยอดในด้านอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งให้การเลือกคณะตัดสินว่าตัวเราจะทำอาชีพอะไร ให้เราเลือกคณะที่เราแฮปปี้ ให้เรียนเอาประสบการณ์ให้เต็มที่ เรียนรู้ และวางแผนไปสู่อาชีพของเรา สำคัญคือเวลาเราเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ ไม่ต้องทำงานแข่งกับใคร แต่ให้รู้ตัวเองว่าไม่เก่งตรงไหน ก็พยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในจุดนั้น ให้เรียนรู้ว่าต้องพัฒนาเรียนรู้ไปตลอดชีวิต อย่ากลัวที่ลอง ไม่ลองแล้วจะรู้ได้ไงว่าเราชอบหรือไม่ชอบ
 

---------------------------

            ชาว Dek-D ก้าวไปเลย ! จากที่อาจารย์หลินเล่าเรื่องราวมา พี่เกียรติว่าสามารถนำไปประยุกต์ได้ทุกคณะ ทุกสาขาวิชาชีพ วิชาเรียนที่เราชอบเลยนะ ใครชอบวิชาไหนก็เลือกเรียนไปเลย ชอบวิทย์ก็ไปให้สุด ใครจะรู้...เราอาจได้เป็นนักวิทย์ที่มีผลงานใหญ่จนคนทั่วโลกต้องมาขอซื้อขอใช้ผลงานเราก็ได้นะ ต้องลงมือทำให้สนุก ลองทำทุกโอกาสที่เข้ามา พร้อมวางแผนก้าวต่อไปทีละขั้น ๆ พัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ แล้วอนาคตที่สดใสจะรอเราอยู่จ้า
สำหรับน้องๆ ที่มีความฝันอยากต่อยอดความสำเร็จจากสิ่งที่ตัวเองสนใจไปสู่งานวิจัยระดับโลก สามารถวางรากฐานความเข้าใจ ฟิสิกส์ม.ปลาย ผ่านการติวออนไลน์คอร์ส เก่งฟิสิกส์ ม.4 เทอม 1 กับ อ.หลิน ดร. สลิลพร กิตติวัฒนากูล ได้เลย
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด