เปิดฉาก ‘Sightwaves’ งานแสดงศิลปะของเด็กอาร์ตเลือดใหม่ พาไปสัมผัสคลื่นเสียงที่มองเห็นได้!

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D ถ้าใครหลงรักในเสียงดนตรีและชอบติดตามข่าวสารวงการเพลงอยู่เสมอ ก็คงทราบดีว่าปัจจุบันนี้มีศิลปินหน้าใหม่ที่ยังอยู่ในวัยเรียนแจ้งเกิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเวทีประกวด และแนวเพลงนอกกระแสที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนแล้วช่วยกันแต่งเพลงเพื่อร้องเล่นเอง โดยใช้โอกาสโชว์ฝีไม้ลายมือผ่านโลกออนไลน์ หรือพื้นที่แสดงงานศิลปะกันบ้างเป็นครั้งคราว...
   
   
เครดิต : Talingchan Vibes
   
‘Talingchan Vibes’ คือหนึ่งกลุ่มคนดนตรีที่เกิดจากการวมตัวของนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีความสนใจในดนตรีเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเพลงแบบเฉพาะตัวของแต่ละวง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาก็ได้ด้วยการทยอยปล่อยซิงเกิลออกมาตามอารมณ์และเวลาว่าง อีกทั้งยังมีการแสดงดนตรีตามอีเวนต์ต่างๆ ของมหา'ลัย ที่เหล่านักศึกษาช่วยกันจัดขึ้นเองค่ะ 
   
เครดิต : Talingchan Vibes
   
แต่สำหรับคอลัมน์แนะนำกิจกรรมของเราในวันนี้ พี่ส้มขอบอกเลยว่าเราจะพาไปพบกับทีเด็ดของพวกเขาที่มีมากกว่าแค่ผลงานเพลง เพราะล่าสุด Talingchan Vibes ได้แท็กทีมกับ Rhythm of  Architecture นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกันฉีกกรอบการเล่นคอนเสิร์ตแบบเดิมให้กลายเป็นงานแสดงศิลปะที่มีชื่อว่า "Shightwave คลื่นเสียงที่มองเห็นได้" ด้วยการจัดเต็ม 4 วงดนตรีเลือดใหม่ ผนึกกำลังกับกองกำลังเด็กสถาปัตย์ผู้ครีเอตงานศิลปะการจัดวาง (Installation art) และศิลปะทางด้านภาพ (Visual art) ที่จะนำมาจัดแสดงไปพร้อมๆ ทันทีที่เสียงดนตรีเฟดขึ้น 
   
เจมส์ - ณัฐพล อินทร์หนู และ เจมส์ - อารยะ รุ่งอภิญญา
  
เรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีที่เราได้พูดคุยกับพ่องานตัวจี๊ดของทั้งสองฝั่ง เริ่มจากด้าน Talingchan Vibes ได้แก่เจมส์ - ณัฐพล อินทร์หนู และอารยะ - อารยะ รุ่งอภิญญา ที่ได้เปิดเผยถึงที่มาของงานว่า "นี่คือก้าวใหม่ของการสร้างสรรค์ผลงานของพวกผมเลยก็ว่าได้ เพราะจุดเริ่มต้นของพวกเราก็แค่วัยรุ่นทั่วไปที่ชอบดนตรี จะมาจอยกันทำเพลงเล่นดนตรีก็ตามเวลาว่าง แต่ครั้งนี้คืองานจริงจังที่เราเคยฝันกันไว้นานแล้วว่าอยากจัดคอนเสิร์ตกันเอง ทำเองทั้งหมด และอยากให้มันไม่ธรรมดา"
   
เครดิต : Rhythm of Architecture
  
เจมส์เล่าว่า "ไอเดียจัดงานนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปิดเทอมที่ผ่านมาครับ ด้วยความที่เราอยากให้มันพิเศษกว่าคอนเสิร์ต และพอดีว่ามีหนึ่งในสมาชิกของเราเป็นเพื่อนกับ เพลง, ปาล์ม, หลุย, จ๊อบ และบาส ที่เรียนสถาปัตย์ ม.กรุงเทพ ซึ่งพวกเขาก็ชอบฟังเพลงและอยากจะสร้างงานแสดงศิลปะเจ๋งๆ อยู่เหมือนกัน ก็เลยเกิดการชักชวนมาทำงานนี้ขึ้นครับ"
    
เครดิต : Rhythm of Architecture
  
และอารยะก็ได้กล่าวถึงความไม่ธรรมดาของ Sightwaves ให้ได้เห็นภาพว่า "คอนเซ็ปต์การจัดงานของเราคือคลื่นเสียงที่มองเห็น มาจากการระดมสมองของพวกเราที่ไม่อยากให้งานแสดงดนตรีเป็นแค่ช่วงเวลาที่ให้คนมาฟังเพลงเท่านั้น มันควรเป็นการสัมผัสถึงศิลปะได้ถึงประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วยครับ ซึ่งของแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในต่างประเทศ แต่ยังไม่บูมในบ้านเรา พวกผมเคยได้เห็นและศึกษามาบ้างเลยอยากลองทำมันขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้ลองสัมผัสมันบ้างครับ"
   
ตัวอย่างศิลปะการจัดวาง หรือ Installation art ฝีมือ Rhythm of Architecture
  
ส่วนทางฝั่งเด็กสถาปัตย์อย่าง เพลง - พิศวัสต์ โพธิ์จันทร์, ปาล์ม - วศิน เจ๊กจันทึก, หลุย - ณัฐภัทร ศรีวุ่น, จ๊อบ - เศรษฐพงษ์ ใจหาญ และบาส - ภูริณัฐ สุวีร์วรกิตติ ก็ได้บรรยายถึงกระบวนการทำงานของพวกเขาว่า "ตามหลักของการออกแบบ เราต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และความเป็นไปได้ เมื่อเราได้โจทย์แล้วว่าจะทำให้คนดูได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นนอกจากการฟังรับรู้งานศิลปะ ก็เลยมาคิดว่าถ้าจะเอาให้ครบทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง จะให้ไปชิมงานศิลปะคงยาก (หัวเราะ) สุดท้ายเลยตกผลึกว่าจะใช้งานศิลปะการจัดวางที่เราถนัด และศิลปะทางด้านภาพด้วยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ในการสร้างงานนี้ขึ้นมาให้สมบูรณ์ครับ"
   
เครดิต : Rhythm of Architecture
  
"ด้วยความที่พวกเราทุกคนชอบฟังเพลงทุกแนว งานเลยไหลลื่นไปง่ายๆ คือหลังจากที่ตกลงแล้วว่าเราจะทำงานด้วยกัน จุดเริ่มก็คือมานั่งคุยกันกับเพื่อนทาง Talingchan Vibes ว่าเขาเลือกจะเล่นเพลงอะไรบ้าง คุยกับตัวศิลปินเลยว่าเพลงเป็นแบบไหน แล้วพวกเราก็ช่วยกันฟังเพลงแล้ววิเคราะห์ความรู้สึกที่เราสัมผัสได้จากเพลงว่ามันควรจะเป็นภาพอะไร ที่มองแล้วยิ่งเสริมให้คนฟังเข้าถึงอารมณ์เพลง และเพลงก็เสริมให้คนดูเสพงานศิลปะได้ล้ำลึกมากขึ้น แล้วมาวางแผนกันว่าจะสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง" ปาล์มและเพลงกล่าวเสริม
   
เครดิต : Rhythm of Architecture
  
พอได้ถามเจาะเข้าไปถึงแก่น พี่ส้มก็ยิ่งรู้สึกทึ่งในความสามารถของการสื่อสาร "ภาษาอาร์ต" ของน้องๆ ทั้งสองกลุ่มนี้จริงๆ ค่ะ เพราะแผนการจัดแสดงงานศิลปะของพวกเขาคือการแสดงดนตรีภายในฮอลล์ที่มีชิ้นงานศิลปะการจัดวาง พร้อมกับ Visual art หรือภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงซึ่งซ่อนไปด้วยแนวคิดที่เกิดจากการนั่งฟังด้วยกัน แล้วหยิบยกเอาความรู้สึกที่ตรงกันของพวกเขามาเป็นตัวกำหนดทิศทางว่า "คลื่นเสียงที่ได้ฟัง ต้องออกมาเป็นภาพแบบไหน?"
   
เครดิต : Talingchan Vibes
     
อารยะอธิบายว่า "ทางฝั่งของเราที่รับผิดชอบเรื่องดนตรี จะมีการตีความปลีกย่อยลงไปถึงเฉดสีที่บ่งบอกคาแร็กเตอร์วงดนตรีทั้ง 4 วง ได้แก่ Noise figure ที่ใช้กีต้าร์สร้างแนวดนตรีสุดเข้มข้นเป็นจุดเด่น แทนด้วยสีน้ำเงินเข้ม,  FORD TRIO วงที่ชอบมีลวดลายของการเล่นขัดแย้งหยอกล้อกันไปมาในชนิดที่ว่าคนฟังเดาทางไม่ถูก แทนด้วยสีแดง, Sick n' Tired ที่เน้นคำร้องดาร์คๆ บดขยี้ลงบนตัวโน้ตผ่านประสบการณ์ชีวิตของสมาชิกในวง แทนด้วยสีขาว-ดำ และ Pooklookque วงที่หลงใหลในการนำเอาเรื่องราวของดวงจันทร์มาเรียงร้อยไว้ในบทเพลง ถูกแทนด้วยสีเหลืองครับ" 
   
  
"เราได้ทำคาแร็กเตอร์ตรงนี้ไปบรีฟเพิ่มเติมกับเพื่อนฝั่ง Rhythm of Architecture อีกที เพื่อให้เขาได้จินตนาการภาพงานของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งพอพวกผมได้ดูดราฟต์แรกของ Visual art ที่เพื่อนๆ ทำมาให้ ก็ถูกใจเลยครับ อาจจะมีปรับแก้บ้างนิดหน่อย แต่แกนหลักแล้วเราตีความออกมาได้ตรงกันจริงๆ ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่านี่คือภาษาของศิลปะ ที่ต่อให้ใครจะตีความออกมาต่างกันตามประสบการณ์ของใครของมัน แต่ในที่สุดแล้วมันจะมีจุดร่วมบางอย่างที่เราสัมผัสมันได้เหมือนกัน และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่มางานของเราจะได้รับไปครับ"
    
เครดิต : Talingchan Vibes
  
ส่วนปาล์ม ก็ได้เล่าถึงขั้นตอนการสร้างสรรค์ศิลปะการจัดวางที่เขาและเพื่อนๆ ได้เป็นผู้รับผิดชอบหลักว่า "สำหรับ Installation art จริงๆ แล้วคือศาสตร์พื้นฐานการออกแบบที่เราเคยเรียนกันมาตั้งแต่ปี 1 ครับ ว่าด้วยการสร้างศิลปะที่เกิดจากความรู้สึกของมนุษย์ที่สื่อความหมายลึกกว่าแค่มองเห็นแล้วผ่านไป ไม่เหมือนเห็นรูปช้างก็เข้าใจแค่ว่านี่คือช้าง แต่คืออะไรที่ส่งผลต่อความรู้สึกของเราได้ลึกกว่านั้น เช่น งานนี้ที่เราเอาเพลงมาเป็นโจทย์ เราฟังดนตรีแล้วสัมผัสได้ถึงความขัดแย้ง เราก็สร้างชิ้นงานขึ้นมาแต่ไม่จำเป็นต้องวาดรูปคนฆ่ากัน แต่เป็นชิ้นงานอะไรก็ได้ที่คนมองเห็นหรือสัมผัสด้วยมือแล้วเข้าใจว่านี่คือความขัดแย้งจริงๆ"
   
เครดิต : Talingchan Vibes
  
หลุยและเพลง "เรียกว่าระยะการทำงานของเราสั้นมากๆ ครับ แล้วก็ใช้งบประมาณไม่เยอะ หนึ่งพันบาทเอง แต่ไม่ง่ายนะ (หัวเราะ) รวมเวลาตั้งแต่คิดงานจนเริ่มซ้อมทำจริงก็ประมาณเดือนเดียวเท่านั้น เราเลือกสร้างชิ้นงานจากพลาสติกแร็ปติดตั้งไว้ในฮอลล์แสดง ซึ่งกว่าจะได้ก็ต้องมีการซักซ้อมจัดวางทำมุมกับแสงไฟ รื้อออก จับเวลาติดตั้งใหม่ให้แม่นยำ เพราะต้องไปทำกันสดๆ ในงาน เหนื่อยนะครับแต่ก็สนุกมาก และพวกผมก็ลุ้นมากๆ ว่าวันจริงมันจะออกมาดีครับ"
      
    
     ยิ่งได้ทราบถึงเบื้องหลังของงานกันขนาดนี้ คงไม่มีเหตุผลใดที่จะยกมาปฏิเสธว่างานแสดงศิลปะที่เกิดจากเด็กอาร์ตเลือดใหม่กลุ่มนี้มีความน่าสนใจและควรค่าที่จะได้รับการสนับสนุนให้ได้จัดขึ้นอีกเรื่อยๆ นะคะ ว่าแต่ใครที่อ่านคอลัมน์นี้แล้วรู้สึกประทับใจในความคิดสร้างสรรค์และความกล้าของชาว Talingchan Vibes และ Rhythm of Architecture ก็สามารถไปสัมผัสคลื่นเสียงที่มองเห็นได้กันสดๆ ที่งาน "Sight Waves" ณ De Commune วันที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไปค่ะ หรือถ้าเพื่อนผู้รักศิลปะคนไหนเกิดอยากมาร่วมกันจัดงานดีๆ แบบนี้ ทางทีมจัดงานก็บอกเลยว่าพร้อมลุยโปรเจกต์หน้าแล้ว และเชิญมาจอยกันๆ ครับผม!!!
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด