ตายแล้วไม่ต้องฝังก็ได้! มาดู 5 พิธีกรรมแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ 'ความตาย' จากรอบโลก

    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะถ้าเห็น พี่นิทาน เขียนเรื่องเกี่ยวกับความตายให้อ่านกันอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าพี่เป็นคนดาร์กหรืออะไรนะ แต่วันนี้พี่ไปเจอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย' ที่แปลกไปจากเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เช่น ในไทยเราก็จะจัดงานศพและเผาศพตามปกติเวลามีใครเสียชีวิต แต่ที่ต่างประเทศนั้นมีพิธีที่เกี่ยวกับงานศพที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง เลยคิดว่าน่าสนใจและรู้ไว้ไม่เสียหายค่ะ 


หอคอยแห่งความเงียบสงบ 

(Zoroastrian Towers of Silence) 

ประเทศอิหร่าน/อินเดีย

 

    ส่วนมากเรามักเห็นพิธีกรรมของความตายเป็นแค่การฝังศพหรือเผาศพเท่านั้น แต่ในประเทศอิหร่านและอินเดียที่มีคนนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) จะมีหอคอยเฉพาะสำหรับการทำพิธีศพที่เรียกว่า Towers of Silence หรือ หอคอยแห่งความเงียบสงบ โดยพวกเขาเชื่อว่าการฝังศพจะทำให้เกิดมลภาวะและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่พวกเขาเคารพ 

    ดังนั้นการจะหลีกเลี่ยงมลภาวะที่จะเกิดขึ้นกับธาตุเหล่านั้นก็คือการนำศพคนตายไปวางเรียงไว้บนหอคอยแห่งนี้ และปล่อยให้สัตว์ล่าเหยื่อต่างๆ เช่น นกแร้ง มากำจัดศพไปเองตามธรรมชาติ หอคอยแห่งความเงียบสงบนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล มีลักษณะเป็นหอคอยสูงขึ้นมา โดยจะมีวงกลม 3 วงอยู่ภายใน วิธีการเรียงศพของชาวโซโรอัสเตอร์คือวางศพผู้ชายไว้ที่วงกลมนอกสุด ศพผู้หญิงอยู่วงกลมตรงกลาง และศพเด็กๆ จะอยู่ที่วงกลมในสุด และเมื่อศพถูกวางเรียงไว้บนหอคอยแล้ว นกแร้งจะมาทึ้งกินศพจนหมดภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง 

 

    หลังจากที่ศพถูกกินโดยนกแร้งและเหลือแต่กระดูกแล้ว แสงอาทิตย์จะช่วยทำให้กระดูกแห้งและเปื่อย เปรียบได้เหมือนกับการทำให้ศพบริสุทธิ์ จากนั้นซากกระดูกจะถูกนำไปเก็บไว้ในโกศภายในหอคอย 

    ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นได้ในประเทศอิหร่านและอินเดียในเขตที่ชาวปาร์ซี (Parsi) อาศัยอยู่ ก่อนหน้านี้ที่อิหร่านยังคงมีการใช้หอคอยแห่งนี้เพื่อทำพิธีศพแบบโซโรอัสเตอร์อยู่ แต่ภายหลังโดนรัฐบาลสั่งห้ามในช่วงปี 1970 ค่ะ 


ตัดนิ้วคนเป็น เมื่อมีคนตาย 

ชนเผ่าดานิ ปาปัวนิวกินี

 

    เมื่อสมาชิกครอบครัวหรือญาติพี่น้องเสียชีวิตลง แน่นอนว่าความโศกเศร้าย่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่สำหรับชนเผ่าดานิแล้วมีการแสดงออกที่แตกต่างไปกว่านั้นค่ะ ชนเผ่าดานิเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของปาปัวนิวกินี ซึ่งในแถบนั้นมีประชากรอยู่ประมาณ 25,000 คน และเผ่าดานิก็เป็นหนึ่งในนั้น และพวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มชนเผ่าที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มชาวปาปัว 

    ต้องขอบอกก่อนว่าในปัจจุบันไม่มีประเพณีตัดนิ้วนี้แล้วนะคะ ด้วยหลายๆ สาเหตุที่เราพอจะเดาได้ว่าไม่ใช่เรื่องสมควรเท่าไหร่แม้ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความเสียใจต่อคนตายก็ตาม ประเพณีการตัดนิ้วนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงงานศพของครอบครัวคนในชนเผ่า พวกเขาเชื่อว่านิ้วเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความปรองดอง ความสามัคคี ความแข็งแรง และนิ้วทั้ง 5 นั้นเมื่อรวมกันก็จะใช้งานต่างๆ ได้ดีขึ้น เปรียบเสมือนครอบครัวที่ต้องมีสมาชิกหลายคนมารวมกัน 

    ดังนั้นเมื่อสมาชิกในครอบครัวตายไป การตัดนิ้วออกตามจำนวนคนที่ตายจึงเป็นการแสดงความโศกเศร้าและเจ็บปวดต่อการสูญเสีย และป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เกิดขึ้นหลังจากสมาชิกตายไป นอกจากนั้นพวกเขายังเชื่อว่าการตัดนิ้วจะทำให้วิญญาณของผู้ตายมีความสุขและไม่เร่ร่อนด้วยค่ะ

    สิ่งที่ช็อคที่สุดก็คือผู้ที่ถูกตัดนิ้วนั้นจะต้องเป็น 'ผู้หญิง' ที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัว แต่บางครั้งก็อาจเป็นผู้ชายถ้าภรรยาตายไป ปัจจุบันแม้ว่าประเพณีนี้จะถูกแบนไปแล้ว แต่คนรุ่นเก่าๆ ในชนเฝ่าดานิก็ยังคงแอบทำกันอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ 


กระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี

ประเทศอินเดีย

 

    เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่ามาก่อนว่าที่ประเทศอินเดียในบางแห่งนั้น เมื่อสามีตายแล้วภรรยาจะตรอมใจ โศกเศร้า และกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี เมื่อก่อนตอนที่พี่ได้ยินเรื่องนี้มาก็คิดว่าคงไม่จริงหรอก อาจจะเป็นแค่เรื่องเล่า แต่ความจริงแล้วพิธีกรรมนี้เคยมีอยู่จริงๆ ค่ะ โดยจะเรียกกันว่า สตี (Sati) จะเกิดขึ้นในพิธีเผาศพของชาวอินเดีย โดยผู้เป็นภรรยาที่เพิ่งเสียสามีไปมักจะถูกบังคับ หรือไม่ก็สมัครใจตายตามสามีโดยการเดินเข้าไปในกองไฟที่เผาศพสามีจนกระทั่งเสียชีวิตตาม และจะถือว่าพิธีกรรมสิ้นสุดค่ะ 

    นอกจากวิธีเดินเข้ากองไฟแล้วตายตามแล้ว พิธีสตีนี้ยังมีในอีกหลายรูปแบบบ้าง เช่นการโดนฝังทั้งเป็นไปพร้อมกับศพของสามี ฟังดูน่ากลัวมากจริงๆ ค่ะ พิธีสตีนี้ได้ชื่อมาจากพระแม่สตี (หรือพระทักษายณี) เทพเจ้าแห่งการมีอายุยืนของอินเดียที่ตัดสินใจสังเวยชีวิตตัวเองเพราะทนไม่ได้ที่พ่อของเธอลบหลู่เกียรติของสามี จากนั้นชาวอินเดียจึงนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในอินเดียทางตอนใต้ 

    ถึงแม้ว่าในบางกรณีนั้น ฝ่ายภรรยาเลือกที่จะตรอมใจตายตามสามีเอง ด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น สามีเป็นที่พึ่งหลักของเธอ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อสามีตายภรรยาจึงรู้สึกหมดหวังและไม่เหลือใคร เลยตัดสินใจตายตาม แต่ถึงอย่างไรวิธีการนี้ก็ไม่เหมาะสม พิธีสตีเลยถูกแบนในปี 1920 ในที่สุด 


วันปาร์ตี้กับคนตาย (พิธี Famadihana) 

มาดากัสการ์

 

    ในช่วงหน้าหนาว ชาวมาดากัสการ์ที่อาศัยอยู่ตอนเหนือ หรือที่เรียกว่าชาวเมรินา (Merina) จะจัดเทศกาลที่เกี่ยวกับความตายชื่อว่า 'Famadihana' เป็นวันปาร์ตี้กับคนตาย ฟังดูน่ากลัวและสยองๆ เล็กน้อย แต่พวกเขาทำเพื่อจะเคารพญาติๆ ที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยความรื่นเริงสนุกสนานแทนที่จะโศกเศร้าเหมือนคนทั่วๆ ไป 

 

    เมื่อเทศกาลนี้เริ่มขึ้น พวกญาติๆ จะทำการขุดศพของผู้ตายขึ้นมาจากหลุมศพและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ศพเหล่านั้นด้วยผ้าไหมแพงๆ พร้อมเครื่องประดับมากมาย จากนั้นจึงฉีดน้ำหอม และห่อศพด้วยผ้าคล้ายๆ พรมขนาดใหญ่เพื่อไม่ให้เครื่องประดับหรือสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกรรมหลุดร่วงลงมา ก่อนจะขนศพเหล่านั้นไปประกอบพิธีโดยการเต้นรำ กินดื่ม ก่อนจะนำศพกลับมาฝังลงในหลุมก่อนพระอาทิตย์ตก 

    พิธีนี้จะจัดขึ้นทุกๆ 2-5 ปี แล้วแต่ฐานะของครอบครัวนั้นๆ เพราะการจะจัดงานนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าครอบครัวไหนที่มีฐานะหน่อยก็จะจัดถี่กว่า และจะทำแบบนี้ไประมาณ 4-5 ครั้งโดยเฉลี่ย สาเหตุที่มีการขุดศพญาติๆ และนำมาประกอบพิธีแบบนี้อยู่บ่อยๆ เนื่องจากชาวเมรินาเชื่อว่าญาติๆ ที่เสียชีวิตไปแล้วจะคอยปกป้องและคอยระวังภัยให้พวกเขาค่ะ 


แขวนโลงศพไว้บนหน้าผา 

ประเทศฟิลิปปินส์

 

    ชาวเผ่าอิโกรอต (Igorot) ที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาของประเทศฟิลิปปินส์มีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพมายาวนานและไม่เหมือนที่อื่นๆ คือการ 'แขวนโลงศพ' ไว้ที่หน้าผาแทนที่จะฝังหรือเผาเหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ โดยการแขวนโลงศพนี้จะใช้การตอกโลงศพเหล่านี้ด้วยตะปูเพื่อยึดอยู่กับหน้าผาสูงๆ ค่ะ

    สาเหตุที่ชาวเผ่าอิโกรอตต้องแขวนโลงศพคนตายไว้บนหน้าผาเพราะเขาเชื่อว่ายิ่งศพอยู่สูงเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่ายิ่งใกล้กับวิญญาณบรรพบุรุษเบื้องบนมากเท่านั้น และอีกเหตุผลที่ไม่ฝังศพลงดินเหมือนที่อื่นๆ ก็เพราะการฝังศพลงในดินจะทำให้ศพเน่าและย่อยสลายไปอย่างรวดเร็วและอาจถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ มาขุดคุ้ยหรือมากินได้ การเก็บศพไว้ในโลงบนที่สูงอย่างหน้าผาจะทำให้ศพปลอดภัยและคงสภาพไปได้นาน

 

    การบรรจุศพลงในโลงก่อนจะขึ้นไปแขวนที่หน้าผาจะต้องใช้เถาวัลย์ของพืชเพื่อผูกศพไว้กับตัวโลง คลุมด้วยผ้า ก่อนจะรมควันศพเพื่อให้ศพย่อยสลายช้าลงและป้องกันกลิ่นเหม็นเน่า ปัจจุบันพิธีกรรมนี้เหลือน้อยมากแล้วเพราะชาวบ้านส่วนมากมักได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้พวกเขาหันมาทำพิธีศพแบบธรรมดา เช่นการฝังศพในหลุม ดังนั้นเด็กๆ ชาวอิโกรอตสมัยนี้อาจไม่ค่อยรู้จักการปีนขึ้นหน้าผาเพื่อไปเคารพศพญาติๆ กันแล้วค่ะ 

 

     เมื่อมีวัฒนธรรมที่ต่างกันก็มักจะมีความเชื่อและพิธีกรรมที่ต่างนะคะ บางครั้งอาจแปลกหลุดโลกไปจากวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยไปหน่อย แต่ไม่ว่ายังไงก็เป็นการเคารพผู้ที่ตายไปแล้วเหมือนกันหมดค่ะ และพิธีกรรมบางอย่างที่ไม่ควร ก็มักมีการแบนไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในที่สุดค่ะ 

อ้างอิง
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด