ฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชั่นสิงคโปร์!! มหากาพย์เมื่อติวเตอร์ช่วยเด็กโกงข้อสอบ

     สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้ พี่พริ้ม มีเหตุการณ์ที่อ่านแล้วตกใจ นึกว่าพล็อตหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง แต่มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ค่ะ แม้ว่ามหากาพย์โกงข้อสอบในครั้งนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 แต่ศาลเพิ่งตัดสินให้หนึ่งในติวเตอร์ที่ร่วมโกงข้อสอบในครั้งนั้นมีความผิดจริง ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการโกงจึงถูกเปิดเผยออกมา ฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชั่นเหตุการณ์จริงในสิงคโปร์จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยจ้า

 
ใครเป็นใครในฉลาดเกมส์โกงเวอร์ชั่นเหตุการณ์จริงในสิงคโปร์
 
    เพื่อให้น้องๆ เข้าใจถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น พี่ขอแนะนำบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้กันก่อน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโกงข้อสอบครั้งนี้มีหลักๆ 4 คน ประกอบไปด้วย
 
  1. Poh Yuan Nie ผู้อำนวยการของสถาบันกวดวิชา Zeus Education Centre
  2. Tan Jia Yan ติวเตอร์ของสถาบันกวดวิชา Zeus Education Centre
  3. Fiona Poh Min ติวเตอร์ของสถาบันกวดวิชา Zeus Education Centre
  4. Feng Riwen ติวเตอร์ของสถาบันกวดวิชา Zeus Education Centre
     
    ตอนนี้ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับการโกงข้อสอบ GCE O-Level ที่จัดขึ้นในปี 2016 เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนชาวจีน 6 คนสอบผ่านในวิชาคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, ภาษาอังกฤษ และเคมี
 
การสอบ GCE O-Level สำคัญขนาดไหน?

    การสอบ GCE O-Level มีชื่อเต็มๆ ว่า Singapore-Cambridge General Certificate of Education (Ordinary Level) เป็นการสอบวัดผลที่เด็กมัธยมในสิงคโปร์ต้องสอบทุกคน ซึ่งการเรียนมัธยมในสิงคโปร์จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Express course และ Normal Course
 
    โดย Express course จะเป็นเด็กที่มีผลการเรียนระดับประถมศึกษาในเกณฑ์ดี-ดีมาก จึงจะมีสิทธิได้เรียนในสายนี้ โดยจะเรียนทั้งหมด 4 ปี จึงจะได้สอบ GCE O-Level ส่วน Normal Course มีไว้สำหรับเด็กที่มีผลการเรียนระดับประถมศึกษาในเกณฑ์ปานกลาง โดยจะเรียนทั้งหมด 5 ปี เลือกได้ว่าจะเรียนสาย Academic หรือ Technical เมื่อเรียนถึงปีที่ 4 จะต้องสอบวัดผล Singapore-Cambridge General Certificate of Education (Normal Level) ก่อน ถ้าสอบผ่านจึงจะได้เรียนต่อในปีที่ 5 และเมื่อจบปีที่ 5 จึงจะได้สอบ GCE O-Level
 

    จึงเท่ากับว่า เด็กมัธยมสิงคโปร์ไม่ว่าจะผ่านมาจากสาย Express course หรือ Normal Course ก็จะได้สอบ GCE O-Level เหมือนกัน ข้อสอบแบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน เมื่อสอบ GCE O-Level ผ่าน จึงจะได้เรียนต่อในระดับ Junior College หรือเตรียมมหาวิทยาลัยอีก 2 ปี เพื่อสอบ GCE A-Level (Singapore-Cambridge General of Education - Advanced Level) ให้ผ่าน จึงจะมีสิทธิเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็ยังมี GCE O-Level อยู่ในมือ ซึ่งสามารถใช้วุฒินี้ไปยื่นเรียนต่อในสายวิชาชีพ หรือโปลีเทคนิคได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าอยากเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป ยังไงก็ต้องสอบ GCE O-Level ให้ผ่านนั่นเองจ้า
 
นี่คือการโกงข้อสอบที่มีความซับซ้อนมากจริงๆ

    “ขบวนการโกงข้อสอบในครั้งนั้นที่นำโดยผู้อำนวยการ Poh มีความซับซ้อนมากจริงๆ ผู้ช่วยอัยการที่ทำคดีนี้ถึงกับยอมรับว่านี่ไม่ใช่การโกงข้อสอบธรรมดาๆ แบบที่จดคำตอบใส่ยางลบหรือไม้บรรทัดแล้วแอบนำเข้าไปในห้องสอบ แต่นี่เป็นการโกงข้อสอบที่ทำกันหลายคนและใช้เทคโนโลยีมาช่วย

    ในวันสอบติวเตอร์ทั้งสามคน Tan, Fiona Poh และ Feng ได้ช่วยนักเรียนทั้ง 6 คนติดตั้งอุปกรณ์โกงข้อสอบ ซึ่งมีทั้งบลูทูธที่เชื่อมต่อกับไอโฟน (แอบติดไว้ที่เสื้อของเด็ก) และหูฟังแบบ in-ear ที่เป็นสีเดียวกับสีผิว เพื่อไม่ให้ผู้คุมสอบสังเกตเห็น เมื่อติดอุปกรณ์ทั้งหมดแล้วเด็กทั้ง 6 คนจึงเดินเข้าห้องสอบ
 

    ส่วน Tan ได้ลงทะเบียนเข้าสอบเช่นกัน ซึ่งเธอได้ซ่อนไอโฟนไว้ที่เสื้อโดยใช้เทปกาวยึดไว้แล้วสวมเสื้อคลุมทับ เมื่อการสอบเริ่มขึ้น Tan ใช้การ Facetime เพื่อติดต่อกับผู้ร่วมขบวนการที่ประจำอยู่ที่สถาบันกวดวิชา Zeus Education Centre นั่นคือติวเตอร์อีกสองคนและผู้อำนวยการ Poh พวกเขาจึงได้เห็นข้อสอบแบบเรียลไทม์ เมื่อช่วยกันหาคำตอบได้แล้ว พวกเขาจะโทรกลับไปที่เด็กทั้ง 6 คน โดยแบ่งโทรทีละคน เพื่ออ่านคำตอบให้ฟัง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 24 ตุลาคม 2016
 
โกงให้เนียนยังไงก็ไม่พ้นสายตาของผู้คุมสอบ

    แม้จะเป็นการโกงข้อสอบที่ซับซ้อนมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นสายตาของผู้คุมสอบอยู่ดีค่ะ เพราะผู้คุมสอบคนหนึ่งได้ยินเสียงการส่งสัญญาณแบบแปลกๆ ดังมาจาก Chen Yi เด็กนักเรียนชาวจีนวัย 20 ปีที่เข้าสอบวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก็ปล่อยให้เขาสอบจนเสร็จ ก่อนจะเชิญไปค้นตัวแล้วพบอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ในการโกงข้อสอบ เรื่องราวของขบวนการโกงจึงค่อยๆ เปิดเผยขึ้นและนำไปสู่การไต่สวนในชั้นศาลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
    ส่วนเรื่องของค่าจ้าง พนักงานอัยการบอกว่าผู้อำนวยการ Poh จะได้เงินจากเด็กแต่ละคนเป็นค่ามัดจำ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 190,000 บาท) และหากว่าเด็กผ่านการสอบจนสามารถนำคะแนนไปยื่นเข้าเรียนต่อในระดับโปลีเทคนิคได้ ก็จะได้รับอีก 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 23,000 บาท) แต่หากว่าสอบไม่ผ่าน ทางผู้อำนวยการ Poh ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด ส่วนติวเตอร์อย่าง Tan ได้รับค่าจ้างจาก Zeus Education Centre เดือนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 71,000 บาท)
 
    คดีนี้ถือเป็นคดีที่ร้ายแรงมากในสิงคโปร์นะคะ ซึ่งหากว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกศาลตัดสินว่าผิดจริง อาจจะโดนโทษจำคุกข้อหาละประมาณ 3 ปี โดยตอนนี้ Tan โดนไปทั้งหมด 27 ข้อหา ส่วนผู้อำนวยการ Pho โดนไป 38 ข้อหา น้องๆ ก็ลองคำนวณดูละกันว่าพวกเขาจะติดคุกกี่ปี และพี่เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการโกงข้อสอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเราสอบผ่านโดยใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมดที่เรามี ยังไงมันก็ดูน่าภูมิใจมากกว่าอยู่ดีใช่ไหมคะ ^^

 
พี่พริ้ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น