10 เคล็ดลับการจำวิชาต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษ

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com สมัยเรียนตอนเด็กๆ มักมีบทท่องจำในหลายวิชาที่ทำให้เราจำเนื้อหาได้ไม่ยาก เช่น ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ก็เป็นวิธีท่องจำอักษรกลางที่น่าจะคุ้นเคยกันดีและทำให้จำได้จนโต ในภาษาอังกฤษก็มีเทคนิคท่องจำวิชาต่างๆ เช่นกันค่ะ พี่พิซซ่า จะพาไปดูว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง



Mnemonics คืออะไร


     Mnemonics (อ่าว่า นี-มอ-นิกส์ ตัว m หน้าสุดไม่ออกเสียง) คือเครื่องมือช่วยจำที่ทำให้ผู้ให้เรียนสามารถจดจำข้อมูลเยอะๆ ได้ง่ายขึ้น คำนี้มาจากคำว่า mnēmonikos ในภาษากรีกที่แปลว่าความจำ ซึ่งคล้องกับชื่อของเทพี Mnemosyne (นีมอซินี) ที่เป็นเทพีแห่งความทรงจำด้วยค่ะ

     ตัวเครื่องมือช่วยจำเนี่ย มีหลากหลายวิธีเลยนะคะ เช่น การใช้เพลงช่วยจำ (Music Mnemonics) ที่เราได้ยินกันตั้งแต่เด็กๆ เลยก็เช่นเพลง ABC ค่ะ ถ้าถามว่าพยัญชนะได้ตามหลังตัว L เชื่อว่าหลายคนต้องเริ่มร้องตั้งแต่ A ไล่ไปเรื่อยๆ แน่ๆ แล้วซักพักก็จะรู้ว่า L แล้ว M ค่ะ

     ส่วน "ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งนั้น" ถือเป็นการนำพยัญชนะมาแทนด้วยคำที่เรียงร้อยเป็นเรื่องราวค่ะ แบบนี้เราเรียกว่า Word Mnemonics เพราะมันมาเป็นคำๆ แต่ถ้าเป็นกลอนช่วยจำอย่าง "ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ" แบบนี้จะเรียกว่า Rhyme Mnemonics เพราะ rhyme แปลว่าคล้องจอง

     นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือช่วยจำที่ทำเป็นแผนภาพ (Model Mnemonics), เครื่องมือช่วยจำที่ใช้การสร้างความเชื่อมโยง (Connection Mnemonics) เช่น การจำว่า longitude คือเส้นแนวตั้งจากเหนือลงใต้เพราะมีตัว N ที่แทนทิศเหนือ, เครื่องมือช่วยจำที่ช่วยในการสะกด (Spelling Mnemonics) เช่น "ลำไย" ใช้ไม้มลายเพราะรำคาญเลยต้องไล่มันไปไกลๆ หรือเครื่องมือช่วยจำแบบภาพประกอบค่ะ (Image Mnemonics) อย่างเด็กฝรั่งจะจำว่าแต่ละเดือนมีกี่วันโดยใช้ข้อนิ้วค่ะ เพราะเขาไม่มี -คม -ยน แบบบ้านเรา


Photo Credit: Tijmen Stam / IIVQ

     จากภาพ เมื่อกำมือสองข้างต่อกัน แล้วเริ่มเดือนมกราคมที่ข้อนิ้วก้อยซ้ายแล้วไล่ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเดือนที่อยู่บนข้อเลยมี 31 วัน แต่เดือนที่อยู่ตรงส่วนที่บุ๋มมี 30 วัน (ยกเว้นกุมภาพันธ์แต่ก็ไม่น่าจำยากอะไร)

ทีนี้ลองมาดูตัวอย่าง Mnemonics ที่นักเรียนฝรั่งนิยมใช้ช่วยจำในโรงเรียนกัน


1. FOIL


     คำว่า FOIL (ฟอยล์) นี้เป็นวิธีจำหลักการคูณทวินามค่ะ ถ้าเจอโจทย์ (a+b)*(c+d) ในวิชาคณิตศาสตร์ เด็กนักเรียนต่างชาติก็มักจำว่า FOIL ที่มาจาก First, Outer, Inner, Last นั่นคือให้คูณคู่หน้า คู่นอก คู่ใน แล้วก็คู่หลัง ก่อนนำมาบวกกัน
 
(a+b)*(c+d)
First, Outer, Inner, Last
ac(first) + ad(outer) + bc(inner) +bd(last)


2. I View Xrays.


I View Xrays. ประโยคนี้เป็นวิธีช่วยจำการเขียนเลขโรมัน 1, 5 และ 10 ค่ะ
 
I = 1
V = 5
X = 10

ส่วน 50, 100, 500 และ 1,000 จะมีอีกประโยคคือ Lucy Can't Drink Milk.
 
L = 50
C = 100
D = 500
M = 1,000


3. PEMDAS


     เวลาเจอโจทย์เลขที่มีเครื่องหมายโผล่มาเพียบ เช่น 30 / 5 * 3 + 12 ทีนี้จะทำอะไรก่อนดีเนี่ย นักเรียนอเมริกันก็มีเทคนิคการจำว่า PEMDAS ค่ะ นั่นคือ Parentheses (วงเล็บ), Exponents (ยกกำลัง), Multiply or Divide (คูณหรือหาร), แล้วก็ Addition or Subtraction (บวกหรือลบ)
 
 Parentheses เจอวงเล็บให้ทำวงเล็บก่อน
 Exponents ตามด้วยยกกำลัง
 Multiply or Divide คูณหรือหาร เจอตัวไหนก่อนก็ทำตัวนั้น
 Addition or Subtraction บวกหรือลบ เจอตัวไหนก่อนก็ทำตัวนั้น

     หรือ PEMDAS อาจจะมีชื่อต่างกันไปในแต่ละประเทศค่ะ อย่างที่อังกฤษมักเรียกว่า BODMAS เพราะเขาเรียกวงเล็บว่า Brackets ส่วนกำลังเป็น Orders แล้วก็เรียกหารมาก่อนคูณ ในขณะที่แคนาดาก็มักจำว่า BEDMAS คือเรียกวงเล็บเป็น Brackets แล้วก็เรียกหารมาก่อนคูณเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะจำตามแบบประเทศไหน ลำดับก็ออกมาตรงกันค่ะ มาลองดูกันมั้ยคะ
 
 
เริ่มจาก Parentheses ก็จะได้
ตามมาด้วย Exponents เป็น
แล้วก็ Multiply or Divide ได้
สุดท้ายก็ Addition or Subtraction
20 × 2 − (1/2) × 9.8 × 22
20 × 2 − 0.5 × 9.8 × 22
20 × 2 − 0.5 × 9.8 × 4
40 − 19.6
คำตอบคือ 20.4 ค่ะ


4. Dumb Kids Prefer Cheese Over Fried Green Spinach.


     เด็กโง่ชอบชีสมากกว่าผักโขมทอด เป็นข้อความสำหรับจำลำดับชั้นทางชีววิทยาค่ะ โดยเรียงลำดับเป็น
 
Domain, Kingdom, Phylum, Class, Order, Family, Genus, Species
โดเมน, อาณาจักร, ไฟลัม, ชั้น, ตระกูล, วงศ์ เผ่า


5. My Very Excited Mother Just Served Us Noodles.


     มาลองเดาก่อนมั้ยคะว่าประโยคนี้เป็นเครื่องมือช่วยจำลำดับของอะไร ลองเอาพยัญชนะต้นออกมาเรียงกันดูค่ะ คุ้นๆ มั้ยว่ามันเป็นชื่อของอะไรได้บ้าง

     เฉลยนะคะ ประโยคนี้เป็นวิธีช่วยจำลำดับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลค่ะ เรียงจากใกล้ดวงอาทิตย์แล้วค่อยๆ ออกไป
 
   My         = Mercury
   Very       = Venus
   Excited   = Earth
   Mother   = Mars
   Just       = Jupiter
   Served   = Saturn
   Us         = Uranus
   Noodles = Neptune


6. FANBOYS


     ข้อนี้น่าจะคุ้นเคยกันค่ะ เพราะเป็นเทคนิคที่มีใช้ในเมืองไทยเหมือนกัน FANBOYS เป็นเทคนิคการจำคำเชื่อม (Coordinating Conjunction) ในภาษาอังกฤษค่ะ
 
For, And, Nor, But, Or, Yet, So


7. OSASCOMP


     เป็นอีกหนึ่ง Mnemonics ในการเรียนภาษาอังกฤษค่ะ แต่คำนี้คือลำดับของ Adjective นั่นเอง น่าจะยังจำกันได้อยู่เนอะว่าถ้าจะใช้ Adjective หลายๆ ตัวมาขยายคำนาม จะต้องมีการเรียงลำดับคำด้วยว่าตัวไหนมาก่อนมาหลัง ลำดับที่ว่าก็คือ OSASCOMP นี่แหละค่ะ เป็น 7 ลำดับหลักที่เจอบ่อยๆ
 
     Opinion ความคิดเห็น
     Size ขนาด
     Age อายุ
     Shape รูปทรง
     Color สี
     Origin ที่มา
     Material วัสดุ
     Purpose วัตถุประสงค์


8. Rhythm Helps Your Two Hips Move.


     ประโยคนี้เป็นการช่วยสะกดคำยากค่ะ อย่าว่าแต่เด็กไทยเลย เด็กๆ เจ้าของภาษาเองก็มีปัญหาในการสะกดคำว่า "Rhythm" เช่นกันค่ะ ก็เลยมีทริกช่วยจำเป็น Rhythm Helps Your Two Hips Move. (เวลาใช้จริงๆ คือพูดเอา ไม่ใช่เขียนนะคะ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะสะกดคำแรกไม่ได้) ซึ่งความหมายของประโยคก็เหมาะกับตัวศัพท์มากๆ เลยค่ะ เพราะ rhythm หมายถึงจังหวะดนตรี ฉะนั้นพอจังหวะมา เราก็โยกย้ายส่ายเอวตามจังหวะไปด้วยใช่มั้ยล่ะ


9. Every Good Boy Does Fine.


     Every Good Boy Does Fine. พอดึงเฉพาะพยัญชนะตัวแรกของแต่ละคำออกมาจะได้ EGBDF เห็นแล้วนึกออกมั้ยคะว่านี่คืออะไร ใช่แล้วค่ะ เป็นโน้ตดนตรีนั่นเอง ซึ่งทั้ง 5 ตัวนี้คือโน้ตในตำแหน่งเส้นของบรรทัด 5 เส้นเวลาเขียนด้วยกุญแจซอลค่ะ เรียงจากเส้นล่างสุดขึ้นบน

     ส่วนโน้ตที่อยู่ตรงที่ว่างระหว่างเส้นบรรทัดเวลาใช้กุญแจซอล จะย่อเป็น FACE ค่ะ หลายคนเลือกจำตรงบรรทัดที่ว่างมากกว่าเพราะจำง่ายกว่า เสร็จแล้วค่อยเติมบรรทัดที่มีเส้นทีหลัง


10. Memory Needs Every Method Of Nurturing Its Capacity.


     ข้อนี้พอดึงตัวแรกสุดของทุกคำออกมาก็จะได้คำว่า Mnemonic นั่นเองค่ะ เอาจริงๆ แม้จะแปลว่าวิธีการที่มาช่วยจำ แต่ตัวมันเองกลับเป็นหนึ่งในศัพท์ที่สะกดยากในภาษาอังกฤษด้วยค่ะ นีมอนิกก็เลยต้องมีนีมอนิกส์เป็นของตัวเองอีกที 55555 แถมความหมายยังเกี่ยวข้องกับตัวคำมากๆ ด้วย


   แถมท้าย  


     จริงๆ ถ้าเทคนิคจำของเด็กฝรั่งจำยาก ก็ไม่ต้องพยายามจำก็ได้นะคะ เพราะหลายคำต้องอาศัยการแปลอีกที ถ้าเราเรียนเป็นภาษาไทยก็จำเป็นไทยไปเลยง่ายกว่าค่ะ นอกจากนี้น้องๆ เองก็สามารถคิด Mnemonics ของตัวเองขึ้นมาได้เรื่อยๆ เลยนะคะ อะไรช่วยให้เราจำง่ายก็ทำได้เลย อย่างพี่ก็มีวิธีจำศัพท์บางคำของตัวเองค่ะ เช่น

     อนุญาต - ขออนุญาตจากพ่อแม่ ไม่ใช่จากญาติ
     believe - ในความเชื่อมีคำโกหก (lie) เสมอ
     friend - เพื่อนย่อมมีวันจบกัน (end)
     hear - เราได้ยินด้วยหู (ear)

     น้องๆ ลองคิดนีมอนิกส์ของตัวเองแล้วมาแบ่งปันกันนะคะ โพสต์ลงที่ช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลยค่ะ มาแชร์วิธีช่วยจำกันดีกว่า
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น