รวมไว้ให้แล้ว 6 เรื่องเล่าหอมกลิ่นดอกไม้จากตำนานเทพเจ้ากรีก


 


สวัสดีน้องๆ เด็กดีทุกคนจ้า สำหรับวันนี้พี่ซูม ในฐานะผู้ชื่นชอบตำนานเทพกรีกจับใจ ขอถือโอกาสมาเล่าเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับ "6 เรื่องเล่าจากดอกไม้ในตำนานเทพเจ้ากรีก" ให้น้องๆ ฟังกันค่ะ คิดว่าดอกไม้หลายๆ ดอก น่าจะคุ้นหูหรือเคยผ่านตาน้องๆ นักอ่านแห่งหมวดนักเขียนของเรามาบ้าง ไม่มากก็น้อย ว่าแล้ว พี่ซูมก็ขอเข้าเรื่องเลยดีกว่า มาดูซิว่า มีดอกไม้อะไรบ้างที่น่าสนใจ และมีตำนานที่ตราตรึงใจจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานต่อกันมาจนถึงวันนี้ 

 

นาร์ซิสซัส หรือ แดฟโฟดิล

ประเดิมกับดอกไม้ดอกแรก อย่าง “นาร์ซิสซัส” หรือ “แดฟโฟดิล” ดอกไม้ดอกนี้มีหลายเรื่องเล่าค่ะ โดยในบทความนี้พี่ได้นำ 2 เรื่องที่เด่นๆ มาฝาก 

ตำนานที่ 1 : แผนจับคู่อลวนรัก

เรื่องนี้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไหร่ เพราะหน้าตาของ ดอกนาร์ซิสซัส ในเรื่องนี้แตกต่างจากรูปภาพด้านบนค่ะ ลักษณะภายนอกของดอกนาร์ซิสซัสเป็นสีม่วงสดสลับกับสีเงิน เทพซุส เป็นผู้เนรมิตดอกไม้ชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยน้องชายเจ้าแห่งยมโลก ฮาเดส ให้นำไปลักพาตัว เทพีเพอร์เซโฟเน นางในดวงใจ 

เมื่อได้ดอกไม้แล้ว ฮาเดสก็วางแผนให้นางในดวงใจของพระองค์เห็นดอกไม้ชนิดนี้เข้า และก็เป็นไปตามแผน ขณะกำลังเก็บดอกไม้อยู่กับเพื่อน ๆ ในหุบเขา เพอร์เซโฟเนก็มองเห็น ดอกนาร์ซิสซัสเข้า และเผลอเดินออกห่างจากกลุ่มเพื่อนไม่รู้ตัว ทันทีที่นางเด็ดดอกไม้ แผ่นดินก็แยกออกจากกัน ราชรถของฮาเดสผุดขึ้นมาจากพื้นโลก อุ้มนางไปอยู่ด้วยกันยังดินแดนใต้พิภพทันที สรุปเป็นอันว่าแผนช่วยน้องชายจับคู่ของเทพซุสสำเร็จไปแบบสวยๆ

ตำนานที่ 2 : ผมหลงรักตนเอง

ตำนานที่ 2 น่าจะเป็นเรื่องราวที่คนได้ยินอยู่บ่อยๆ คือตำนานของพ่อหนุ่มจอมหลงตนเองอย่างหาใครเทียบ นามว่า “นาร์ซิสซัส” เล่ากันว่าชายหนุ่มผู้นี้มีรูปโฉมงดงาม เป็นที่หมายปองของเหล่าสตรี เเต่ด้วยความหล่อเลือกได้ นาร์ซิสซัสไม่เคยมองผู้หญิงคนไหนเลย เเถมยังชอบหักอกสาวเล่นไปวันๆ

ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่โดนหักอก แม้แต่นางไม้สุดสวยอย่าง เอคโค่ ที่โดนเทพีเฮราสาป ให้เธอสามารถพูดทวนได้แค่คำสุดท้ายในประโยคของอีกฝ่าย ก็มาตกหลุมรักนาร์ซิสซัสด้วยอีกคน เมื่อเอคโค่ได้พบนาร์ซิสซัสก็ต้องช้ำรัก เพราะเธอทำได้แค่พูดทวนคำสุดท้ายที่ชายหนุ่มพูด เวลาต่อมานาร์ซิสซัสก็ได้รับผลแห่งการกระทำอันน่าหมั่นไส้นี้ เพราะมีหญิงสาวคนหนึ่งที่เคยโดนนาร์ซิสซัสหักอกได้สวดอ้อนวอนเทพเนเมสิสว่า ขอให้คนที่ไม่เคยรักใครอย่างผู้ชายคนนี้รักแต่ตนเองไปซะ

หลังจากคำขอร้องนั้น นาร์ซิสซัสได้ไปเห็นเงาสะท้อนของตนเองในน้ำ คนหลงตัวเองอย่างเขาก็เฝ้ามองเเต่เงาของตนเอง ไม่ยอมละสายตาไปไหนสุดท้ายก็ตรอมใจตายอยู่ตรงนั้นแต่ไม่มีใครพบศพ แม้พวกนางไม้จะหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ พบเพียงดอกไม้ดอกหนึ่งที่บานอย่างงดงามอยู่ตรงนั้น ดอกไม้นี้จึงมีชื่อตามเขาว่า “นาร์ซิสซัส” ค่ะ

 ไฮยาซินธ์


เรื่องนี้อ่านไปอ่านมาก็จะรู้สึกได้ถึงความเปิดกว้างเพราะเป็นเรื่องมิตรภาพแบบวายๆ ไฮยาซินธ์เป็นชื่อของหนุ่มน้อยรูปงามคนหนึ่ง เขาเป็นเพื่อนสนิทมาก (จนเกินไป) กับเทพอพอลโลค่ะน้อง ๆ


วันดีคืนดี สองคนนี้แข่งกันขว้างจักร อพอลโลเผลอกะระยะพลาด ทำให้จักรนั้นพุ่งใส่ไฮยาซินธ์นอนจมกองเลือดและสิ้นใจตายในอ้อมแขนของเพื่อนรักนั่นเอง อพอลโลร้องไห้เสียใจมาก พลางบอกว่าเขายินดีแลกชีวิตกับสหายผู้นี้ได้โดยไม่เสียดาย ทันใดนั้นหญ้าที่เปื้อนเลือดพลันเขียวขจีขึ้นมา ทั้งยังมีดอกไม้ผลิบานสะพรั่ง อพอลโลผู้กำลังเสียใจกับการสูญเสีย ได้จารึกอักษรลงบนกลีบดอกไม้ แต่บางตำนานเล่าว่าอพอลโลสลักอักษรย่อชื่อไฮยาซินธ์ลงไป บ้างก็ว่าเป็นอักษรสองตัวแทนคำว่า “อนิจจา” ในภาษากรีก นับว่าเรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนใจให้เทพเจ้าอพอลโลไปอีกนาน

แต่อีกตำนานหนึ่งกลับมีจุดแตกต่างออกไปเล็กน้อยค่ะ โดยเล่ากันว่า เซเฟอร์หรือลมตะวันตก หลงรักหนุ่มน้อยไฮยาซินธ์หัวปักหัวปำ เกิดอาการหึงหวงหน้ามืดตามัวไม่ชอบใจที่เห็นอีกฝ่ายไปสนิทกับเทพอพอลโล จึงจัดการเป่าลมใส่กงจักรให้ปลิวไปโดนไฮยาซินธ์ตายในที่สุด สรุปจบกันไปแบบ Bad End ทั้งสองตำนาน

 

อะดอนิส หรือ อเนโมเน่

ตำนานเกี่ยวกับดอกอะดอนิส หรือ อะเนโมเน่ มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งเทพีอะโฟรไดท์ หลงรักทารกน้อยอะดอนิสทันทีที่ได้พบสบตา และตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่ายังไงเด็กคนนี้ก็ต้องเป็นของฉันแต่จะให้เทพีแห่งความงามมานั่งกระเตงเด็กทารกไปไหนมาไหนด้วย เรตติ้งจะตกเอา จึงจัดการนำไปฝากให้เทพีเพอร์เซโฟเนช่วยเลี้ยงดูแทน ก็โชคร้ายไปอีกเมื่อเพอร์เซโฟเนนั้นหลงรักอะดอนิสอีกคน และไม่ยอมคืนให้เทพีอะโฟรไดท์ กลายเป็นการถกเกียงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร เดือดร้อนเทพซุสต้องมาไกล่เกลี่ยให้ โดยผลการตัดสินคือช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว อะดอนิสจะใช้เวลากับราชินีแห่งยมโลก และช่วงฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อนกับเทพีแห่งความรัก ดูเป็นการตัดสินที่เที่ยงธรรมที่สุดแล้ว 

เวลาผ่านไป หนุ่มน้อยอะดอนิสนั้นชอบออกล่าสัตว์มาก เทพีอะโฟรไดท์เห็นชอบอะไรก็ตามใจไปเสียหมด นางมักจะขี่ราชรถที่ลากด้วยหงส์ บินตามไปดูการล่าสัตว์ของเด็กหนุ่มแทบทุกครั้ง โชคร้ายมีครั้งหนึ่งที่นางไม่ได้ไปด้วย อะดอนิสกำลังไล่ล่าหมูป่าคลั่งตัวหนึ่ง และพลาดพลั้งโดนเขี้ยวหมูป่าแทงจนเลือดอาบ เทพีฮะโฟรไดท์ผู้กำลังขับราชรถอยู่เหนือพื้นโลกได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของอะดอนิส จึงรีบเหาะลงมาหาอย่างรวดเร็วเเต่ก็ยังช้าเกินไป เลือดสีเข้มไหลอาบไปทั่วหิมะ เด็กหนุ่มไม่รู้สึกถึงจุมพิต รวมทั้งคำรำพันจากเทพีแห่งความงามอีกแล้ว เขาขาดใจตายในอ้อมอกของเทพีอะโฟรไดท์ เลือดของเขาที่หยดลงบนหิมะจึงกลายเป็นดอกไม้สีแดงผลิบานในชื่อ “อะดอนิส” หรือ “อะเนโมเน” อยู่ตรงนั้น  

 

 พีโอนี่ / โบตั๋น

ปกติเวลาพูดถึงดอกพีโอนี่ หรือโบตั๋น เรามักจะคุ้นกับชื่อเรียกทางเอเชียมากกว่า โดยเฉพาะในภาพลักษณ์แบบจีนจากเรื่องตำนานรักดอกเหมย (พอยกตัวอย่างก็จะรู้อายุกันเลยทีเดียว><) แต่ใช่ว่าในตำนานเรื่องเล่าของกรีกจะไม่มีนะคะ ชื่อของดอกพีโอนี่ มาจากเทพชื่อพีออน เป็นเทพเจ้าฝึกหัดเกี่ยวกับการรักษา เขาเป็นลูกศิษย์ของเลโต เเต่บางตำนานก็ว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของเทพเจ้าอัสเคิลพิอุส แต่ที่พี่ซูมได้อ่านมานั้น เทพพีออนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เขาเป็นผู้รู้จักต้นกำเนิดของเวทมนตร์บนภูเขาโอลิมปัสซึ่งสามารถช่วยลดความเจ็บปวดของมารดาที่คลอดบุตรได้ด้วย

ทว่าพอเรื่องของเทพพีออน รู้ไปถึงหูอัสเคิลพิอุส ก็เกิดความไม่พอใจเนื่องด้วยตนเองเป็นเทพเกี่ยวกับการแพทย์อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการที่เทพพีออนทำแบบนี้ มันข้ามหน้าข้ามตาชัด ๆ อัสเคิลพิอุสจึงขู่จะฆ่าเทพพีออนทันที เลโตซึ่งตอนนั้นได้เป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม คิดว่าไม่ควรมีผู้บริสุทธ์ต้องได้รับผลจากสิ่งที่ตนไม่ได้ก่อ จึงไปถามเทพซุสว่ามีวิธีใดจะช่วยเทพพีออนจากความโกรธของอัสเคิลพิอุสได้บ้าง ซึ่งเทพซุสผู้ทรงปัญญาได้แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนเทพพีออนเป็นดอกไม้หน้าตาน่ารักตามชื่อของเขานั่นเอง


 

 ทานตะวัน

ถ้านึกถึงประโยคนี้ “รักสามเศร้าเราสามคน” ต้องมอบมงให้ดอกทานตะวันไปเลยค่ะ ช้ำไม่หยุดฉุดไม่อยู่จนวินาทีสุดท้ายจริง ๆ เรื่องนี้มันก็มีอยู่ว่า นางไคลธีหลงรักสุริยเทพเฮลิออสถึงขั้นยอมศิโรราบทุกอย่าง จงรักภักดีแต่เขาผู้เดียว กระนั้นก็ช่างโชคร้ายที่ความรักครั้งนี้เป็นรักข้างเดียว เฮลิออสไม่ได้สนใจไคลธีเลย ตรงข้ามเขากลับสนใจน้องสาวของนางไคลธีคือ ลูโคเทีย มากกว่า ถึงขั้นยอมลงทุนปลอมเป็นมารดาของนางเข้าไปร่วมหลับนอนในห้องทีเดียว ด้วยความเจ็บใจจากเหตุการณ์นั้นนางจึงรีบวิ่งไปฟ้องบิดาคือ กษัตริย์ออร์คาร์มัส ทันที เรื่องงามหน้าบัดสีเช่นนี้ปล่อยไว้ในราชสำนักไม่ได้ นางลูโคเทียจึงถูกจับฝังทั้งเป็นตามคำสั่งของผู้เป็นบิดา 

ส่วนเฮลิออสเมื่อไร้นางลูโคเทีย ก็ใช่ว่าเขาจะเปลี่ยนใจมามองนางไคลธีนะคะ ตอนนี้เขากลับเกลียดนางมากในขนาดที่หน้าก็ยังไม่มอง ฝ่ายนางไคลธีก็เสียใจคร่ำครวญถึงเทพเฮลิออสสุดที่รักตากแดดตากลม ไปอีก 9 วัน 9 คืน บนก้อนหิน โดยปราศจากน้ำและอาหาร ท้ายที่สุดนางก็ตรอมใจตายอยู่ตรงนั้น กลายเป็นดอกทานตะวันที่ซื่อสัตย์มั่นคงในความรัก เพราะ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นฉันใด ดอกทานตะวันสีเหลืองสดสวยจะหันหน้าเข้าหาพระอาทิตย์ฉันนั้นเสมอ

 

เฮลลิบอร์

สำหรับดอกเฮลลิบอร์เป็นดอกไม้ที่มีตำนานแปลกไปจากดอกไม้ชนิดอื่นๆ ขนาดพี่ซูมเองก็เพิ่งมารู้จักตอนที่เขียนบทความนี่แหละค่ะ เเละเพราะมันมีความแปลกนั่นเองพี่ซูมจึงอยากหยิบมาเล่าให้ฟัง กล่าวกันว่าต้นเฮลลิบอร์เป็นต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางการแพทย์ที่หลากหลาย ครั้งหนึ่งมันเคยถูกใช้รักษาอาการบ้าคลั่งของธิดาแห่งกษัตริย์อาร์กอสอีกด้วย โดยอาการบ้าคลั่งดังกล่าวเกิดจากคำสาปของเทพไดโอนีซุสผู้เป็นเทพเจ้าไวน์จอมขี้เมา มาทำให้ผู้หญิงในเมืองอาร์กอสต่างเปลือยกาย ร้องไห้ กรีดร้องโวยวาย สติแตกและวิ่งพล่านไปทั่วถนน

โชคดีที่มีนักสีไวโอลินผู้สามารถคุยกับเหล่าสรรพสัตว์ชื่อ เมลัมปุส จากไพลอส ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับต้นเฮลลิบอร์ มาช่วยรักษาอาการป่วยเสียสติของผู้หญิงเหล่านี้ให้หายเป็นปลิดทิ้ง ทุกอย่างจึงได้จบลงอย่างงดงาม ไม่มีเหตุการณ์ประหลาดมากกว่านี้อีกค่ะ 

 

ส่งท้ายกันด้วยเกร็ดความรู้สักนิด : รู้หรือไม่ดอกไม้พวกนี้มีความนัยสื่อว่าอะไรกันบ้าง


อ่านจบแล้วเป็นยังไงกันบ้างเอ่ย กับเรื่องเล่าจาก ดอกไม้ทั้ง 6 ของตำนานเทพเจ้ากรีก ที่นอกจากจะได้ฟังเรื่องราวสนุก ๆ แล้ว เรายังได้เห็นภูมิปัญญาทางความคิด การหาเหตุผลอธิบายที่มาที่ไปของสิ่งรอบตัวจากมนุษย์ในยุคกรีกโรมันที่แสดงให้คนยุค 2017 อย่างเราได้เห็นว่า วิถีชีวิตของเราช่างใกล้เคียงกับธรรมชาติมากเลยว่าไหมคะ แต่นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะน้อง ๆ ยังมีดอกไม้อีกหลายชนิดที่มีเรื่องเล่าสุดสนุกแบบนี้อยู่หลายเรื่องทั่วโลก ไม่ได้มีแค่ตำนานของกรีกเท่านั้น ถ้าใครสนใจลองไปอ่านเพิ่มเติมดูได้ สำหรับวันนี้พี่ซูมขอตัวก่อน 

ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้านะคะ >W< //

ด้วยรักและห่วงใย

พี่ซูม

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

เอดิธ แฮมิลตัน.  (2557).  ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพเจ้าและวีรบุรุษกรีก โรมัน นอร์ส. แปลโดย นพมาส แววหงส์.  พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

http://www.flowermeaning.com

https://blog.freddiesflowers.com/2016/11/14/flowers-greek-myths-five-common-flower-names-legendary-backstories/

http://www.proflowers.com/blogpeony-meaning

http://www.dulcerodrigues.info/lendas/uk/legends_peonia_uk.html

https://thesecretlanguageofflowers.wordpress.com/tag/peony/

http://pss.uvm.edu/ppp/articles/hellebore.html

พี่ซูม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กุกุ 25 ก.ย. 60 22:24 น. 1

อเนโมเน่นึกถึง eureka 7 เลย "นายรู้ไหมว่าดอกไม้มันมีความหมายว่าอะไร...ความหวังที่พลาดไป" เล่นเขาโดมินิกไปไม่เป็นเลย หลังจากนั้นก็จำความหมายมันได้ตลอดเลย เรื่องมันเศร้า

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด