#dek61 เตรียมจด! เคล็ดลับการอ่าน "พี่มะเฟือง" คว้า PAT1=278 คะแนน


          สวัสดีค่ะ น้องๆ #dek61 คนไหนยังลังเล ไม่รู้จะเริ่มอ่านหนังสือจากตรงไหน วันนี้พี่อีฟขอพาไปรู้จักกับแอดมิชชั่นไอดอล ที่มีเทคนิคในการจด short note ที่เก่งมาก แถมยังมีตารางการอ่านหนังสือที่น่าทำตามอีก ขอพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับ พี่มะเฟือง มณิชญา สุคนพาทิพย์ ที่ความพยายามของพี่มะเฟือง ทำให้ติดแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โครงการความถนัดทางภาษาอังกฤษ แถมยังคว้าคะแนนใน GAT PAT แบบ 200+ อีก เราไปเตรียมจดเคล็ดลับพี่มะเฟืองกันได้เลยค่ะ
 

 แนะนำตัวกันหน่อย
          สวัสดีค่ะ ชื่อ มณิชญา สุคนพาทิพย์ ชื่อเล่น มะเฟือง ตอนนี้สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการความถนัดทางภาษาอังกฤษ จบ ม.ปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์-คณิตฯ (gifted คณิตฯ) เกรดเฉลี่ย 3.97 ค่ะ

 จุดเริ่มต้นของการอยากเรียน "หมอ"
          จริงๆ พ่อแม่มะเฟืองก็ไม่ได้เป็นหมอนะคะ และก็ไม่ได้บังคับว่าให้เรียนอะไร ก็จะมีช่วงที่เราลังเลเหมือนกันค่ะ ว่าจะเรียนอะไรดี คุณพ่อคุณแม่ก็จะให้แง่มุมใหม่ๆ กับตัวเลือกของเรา แต่ไม่ได้โน้มน้าวหรือบังคับเลย ท่านบอกว่าดีทุกอย่างเลยถ้ามะเฟืองชอบ 55555 แต่เพราะมะเฟืองถนัดเรียนแนวสายวิทย์ อาชีพแพทย์เลยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สนใจ ก็มองว่าตัวเราเองอยากจะศึกษาเกี่ยวกับร่างกาย สนใจในความซับซ้อนของการทำงานของร่างกาย แล้วก็อยากเอาความรู้ที่ศึกษามาแล้วไปใช้ช่วยชีวิตคนอื่นได้ค่ะ
          พอมีความสนใจอาชีพ ก็เลยได้มีโอกาสคุยกับรุ่นพี่ที่เรียนหมอ หรือบางคนที่มีญาติเป็นหมอก็เล่าให้เราฟัง นอกจากนั้นเราก็ลองไปเข้าค่ายของคณะแพทยศาสตร์ด้วยค่ะ ก็เลยรู้ตัวว่าเราสนใจจะเรียนจริงๆ และรับได้กับชีวิตการเรียน การทำงาน ที่แน่นอนว่าหนัก แต่ก็เชื่อว่าจะมีความสุขกับงานที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นค่ะ

 
ตั้งแต่ขึ้น ม.6 มา สอบรับตรงที่ไหนไปบ้าง
          สอบติดรับตรงแพทยศาสตร์ รามาฯ, แพทยศาสตร์ ม.บูรพา แต่ว่าก็ขอสละสิทธิ์ ไม่ได้ไปสัมภาษณ์ค่ะ แล้วก็มาติดรับตรงแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โครงการรับตรงทางภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นโครงการที่มะเฟืองอยากเข้ามากๆ แต่เนื่องจากเป็นปีแรกและรับน้อยมาก ตอนแรกเราเลยรู้สึกว่าโอกาสได้ยาก เวลาเตรียมตัวมะเฟืองก็เลยเตรียมตัวสำหรับสอบ กสพท มาตลอดค่ะ ซึ่งพอติดโครงการรับตรงทางภาษาอังกฤษแล้ว สนาม กสพท เราก็ยังตั้งใจสอบให้เต็มที่อยู่ค่ะ เพราะจากที่เราตั้งใจและเตรียมตัวมาตลอด เลยทำให้อยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้ดีสุดแค่ไหนค่ะ

 เตรียมตัวยังไงบ้างช่วง ม.4-ม.6
          ช่วง ม.4-5 มะเฟืองจะเรียน และเน้นสอบในโรงเรียนให้เต็มที่ก่อนค่ะ เพราะจริงๆ เราก็มีทำกิจกรรมเยอะ แต่ก็พยายามทำเกรดในโรงเรียนด้วย ข้อดี คือ ข้อสอบที่ยากๆ ของโรงเรียนจะช่วยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเราด้วย คือถ้าตั้งใจเตรียมตัวสอบทุกๆ เทอม เราก็จะผ่านการอ่าน ผ่านการทำสรุป และการทำโจทย์มาพอสมควร พอขึ้น ม.6 เราก็สามารถทบทวนเนื้อหาเองได้เร็ว ไม่ต้องเรียนซ้ำ แล้วเอาเวลาที่เหลือไปฝึกทำโจทย์ โดยจะมีวิชาคณิตฯ กับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญในทุกๆ สนาม และต้องใช้เวลาฝึกฝนทักษะ มะเฟืองก็เลยจะเรียนล่วงหน้ามากกว่าวิชาอื่นๆ ค่ะ
          ช่วง ม.6 ก็จะเน้นทำโจทย์ เพราะมะเฟืองไม่ชอบอ่านหนังสือ คือจะเบื่อๆ อยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าทำโจทย์เราจะโฟกัสกว่า สนุกด้วย เพราะเราต้องพยายามทำให้ได้คะแนนเยอะๆ ในเวลาที่จำกัด แล้วก็มาตรวจว่าผิดตรงไหน ข้อถูกก็อ่านเฉลยละเอียด เผื่อได้วิธีคิดที่น่าสนใจ แล้วก็กลับมาทวนเนื้อหาบทที่ไม่แม่นเรื่อยๆ ค่ะ
 

 เคล็ดลับการอ่านหนังสือฉบับมะเฟือง
          ม.4-5 ก็จะสะสมไปเรื่อยๆ ก่อนค่ะจะได้ไม่หนัก พอ ม.6 ก็มาอ่านแบบจริงจัง มะเฟืองจะเขียนแพลนเป็นวันๆ ไปค่ะ ว่าวันนี้เราจะอ่านเล่มไหนบ้าง ในหนึ่งวันก็อ่านหลายวิชา ในหนึ่งสัปดาห์ก็ต้องมีครบทุกวิชาที่จะสอบ จะได้ไม่เบื่อ และทุกวิชาก็จะมีความต่อเนื่อง เพราะถูกนำมาทวนอยู่ตลอด ก็จะทำให้จำได้และทำคล่องค่ะ เห็นได้ชัดเลยคือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไม่ได้ทำเลขนาน พอกลับมาทำ ก็รู้สึกว่าคิดช้าลงและลืมบางบทด้วย
           นอกจากนั้น ก็จะเป็น
การทำโจทย์คละบท คือ เราไม่ต้องมานั่งอ่านเนื้อหาเบื่อๆ แล้วก็จะได้ทวนทุกๆ บทอยู่ตลอดค่ะ นอกจากนี้ยังได้ฝึกจับเวลาและลองมองโจทย์เพื่อเลือกข้อมาทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำให้เราชินกับบรรยากาศที่ต้องเจอในห้องสอบ ตอนอ่านหนังสือก็จะเอาโทรศัพท์ไว้นอกห้อง และมีที่จับเวลาด้วย เพราะจะรู้สึกโฟกัสกับโจทย์มากกว่า หลังจากอ่านได้ 1-2 ชม.ก็จะค่อยมาพักเล่นโทรศัพท์ ตอนกินข้าวก็จะดูการ์ตูนไปด้วย เราจะมองว่าตอนอ่านก็จะตั้งใจอ่าน แล้วเดี๋ยวก็จะได้พัก
          
ที่สำคัญคือ มะเฟืองจดใส่ตารางแล้วอัพลงไอจีทุกวันด้วยค่ะ มันก็ช่วยบังคับตัวเองดีนะ เราจะเขียนบ่นเป็นไดอารี่ของแต่ละวัน มีทั้งท้อที่คะแนนน้อย บ่นว่าตัวเองขี้เกียจ และดีใจที่วันนี้ทำได้ดี ที่ชอบอีกอย่างคือจะมีเพื่อนๆ น้องๆ คอยให้กำลังใจและอ่านหนังสือไปด้วยกันตลอด เป็นช่วงที่เหนื่อยแต่มะเฟืองมีกำลังใจมาก ต้องขอบคุณทุกคนในตอนนั้นจริงๆ ค่ะ


 เคล็ดลับการอ่าน GAT พาร์ทเชื่อมโยง เน้นอะไรบ้าง
          มะเฟืองเตรียมตัวจากพาร์ทเชื่อมโยงของความถนัดแพทย์เลยค่ะ เพราะจะยากขึ้นไปอีก step พาร์ทนี้เน้นเข้าใจหลักการ (สัญลักษณ์ กับ คำบ่งชี้) และอ่านให้ละเอียดรอบคอบ ฝึกทำเยอะๆ เราก็จะทำคล่องและเข้าใจหลักการมากขึ้นค่ะ

 มีวิธีทำความเข้าใจพาร์ทเชื่อมโยงแบบง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำน้องๆ ไหมคะ
          พอรู้ว่าสัญลักษณ์ต่างๆ ใช้ยังไง ก็ลองทำโจทย์วัดความเข้าใจเลยค่ะ เราก็จะเห็นภาพมากขึ้น ว่าคำพูดประมาณไหน ต้องโยงยังไง ที่สำคัญ น้องๆ จะได้เห็นจุดที่เราพลาด และจุดที่ข้อสอบชอบหลอก ก็ต้องสังเกตคำพูดพวกนี้ไว้ดีๆ จะได้ไม่ผิดอีก เช่น แยกให้ออกว่าจะเชื่อมตัวใหญ่หรือตัวย่อย อีกอย่างคือยึดตามที่บทความบอก ไม่คิดไปเองด้วยค่ะ
 

 เคล็ดลับการอ่าน GAT พาร์ท Eng เน้นอะไรบ้าง
          อย่างแรกคือศัพท์ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกพาร์ท มะเฟืองจะอ่านศัพท์วันละนิดสะสมไป ส่วนใหญ่จะท่องเป็นกลุ่มตามsynonym พาร์ท reading ต้องฝึกบ่อยๆ ค่ะ เป็นพาร์ทที่สำคัญทุกสนามสอบเลย ลองฝึกอ่าน skim, หา keyword, ตัดตัวเลือก ฯลฯ ก็จะทำได้เร็วขึ้น ส่วนพาร์ทที่เน้น grammar ถ้าแม่นกฎ ก็ทำพาร์ทนั้นๆ ได้ไม่ยากค่ะ นอกจากนี้มะเฟืองจะฝึกเพิ่มจากข้อสอบที่ยากกว่าเผื่อไว้ด้วย อย่าง 9 วิชาสามัญ ซึ่งศัพท์ยากกว่าและเวลาน้อยกว่า พอฝึกแบบนี้ไป ก็ช่วยสนามอื่นๆ ได้อีกค่ะ

 ข้อสอบพาร์ท Eng มีตรงไหนที่น่าสนใจ หรือน้องๆ สามารถเก็บคะแนนได้ง่ายๆ ไหมคะ
          สำหรับมะเฟืองคือส่วนที่เป็น grammar ค่ะ เช่น error,cloze test เพราะพอลองทำโจทย์จะรู้เลยว่าส่วนไหนของบทที่ข้อสอบจะเอามาวัดความเข้าใจเป็นประจำ และเป็นพาร์ทที่มีกฎตายตัว ถ้าเข้าใจกฎ, ข้อยกเว้น, จุดเน้น ก็จะเก็บได้ง่ายและเร็วเลยค่ะ หรือพาร์ท conversation ก็เก็บง่ายค่ะ เพราะคำตอบค่อนข้างตรงตัว

 ถ้าทำข้อสอบพาร์ท Eng แล้วได้คะแนนน้อยทุกครั้ง มีวิธีแก้ยังไงบ้างคะ
          ต้องดูว่าเราไม่ได้เรื่องไหน เช่น ทำ reading ไม่ทัน ก็ต้องมองลงไปอีกว่า ทำไม่ทันเพราะไม่รู้ศัพท์เลยอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจคำถาม หรืออ่านช้าเพราะอ่านละเอียดไป ก็แก้ตามนั้นเลย การรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง รวมถึงลักษณะข้อสอบของแต่ละสนาม แล้วเลือกข้อทำให้เหมาะก็จะช่วยเพิ่มคะแนนได้ทุกวิชาเลยค่ะ

 แรงบันดาลใจที่ทำให้ชอบภาษาอังกฤษ
          จริงๆ ตอนแรกไม่ค่อยชอบ ก็เลยกลายเป็นไม่ถนัดด้วย โดยเฉพาะทักษะฟัง, พูด เพราะมะเฟืองไม่ค่อยดูหนัง, ฟังเพลงฝรั่งเลย มีเรียนแนวอ่าน, เขียน ไว้สำหรับสอบเข้า แต่ถึงจุดหนึ่งที่มะเฟืองรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องฝึกแล้ว คือตอนที่สอบได้โครงการความถนัดทางอังกฤษ ทุกคนจะคิดว่าเราเทพอังกฤษ แต่มะเฟืองรู้ตัวเองว่าไม่ใช่ และการที่ได้เจอเพื่อนที่เก่งมากๆ ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ก็พยายามเปิดใจ ลองหาอะไรสนุกๆ จากภาษาอังกฤษ และคิดว่าวิชานั้นจะเป็นประโยชน์กับเราจริงๆ ก็จะช่วยให้ชอบมากขึ้นค่ะ

 มีหนังสือ หรือเพลง หรือเกม ที่อยากจะแนะนำน้องๆ ว่าดีเหมาะสำหรับการฝึกภาษาอังกฤษไหมคะ
             ช่วงนี้มะเฟืองจะฝึกจาก TED ค่ะ เพราะเป็นวิดีโอสั้นๆ ฟังวันละ 1 เรื่องก็โอเคเลยค่ะ และมี subtitle ด้วย ถ้าไม่รู้จักคำไหนก็จดไว้ได้เป็นศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก และการเลือกหัวข้อที่เราสนใจก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกด้วย
          จริงๆ มีหลายอย่างให้น้องเลือกตามความชอบเลย ทั้งดูหนัง ฟังเพลง หรือดู youtube channel ของฝรั่ง เรื่องอะไรก็ได้ที่สนใจค่ะ เพราะได้ทั้งพักผ่อนและเรียนภาษาไปในตัว ทั้งทักษะการฟัง ศัพท์ สำนวนต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือลองอ่านบทความ/ข่าว เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะได้การใช้ภาษาแนวทางการขึ้นมาอีกแบบค่ะ
 

 เคล็ดลับการอ่าน PAT1 เน้นอะไรบ้าง เตรียมตัวยังไง
          มะเฟืองสอบแค่รอบแรก โชคดีที่ข้อสอบรอบนั้นง่ายขึ้น และเราเตรียมตัวไปพร้อมด้วย ก็เลยได้มา 278 คะแนนค่ะ
          วิชาเลขเป็นวิชาที่เราควรทุ่มเวลาให้กับการทำโจทย์มากกว่า เพราะเนื้อหามีนิดเดียว ตอน ม.4-5 ก็อ่านเนื้อหา+ฝึกโจทย์แบบแยกบทก่อน อย่างที่บอกไปคือมะเฟืองอ่านวิชาเลขล่วงหน้าก่อนวิชาอื่น ตอนจบ ม.5 มะเฟืองก็เก็บเลขครบทุกบทแล้ว และก็เริ่มทำข้อสอบคละบทเลย แรกๆ ก็จะทำข้อสอบเอนท์เก่าอย่าง 25 พ.ศ. แล้วค่อยทำ PAT1 ค่ะ ตอนที่ทำคละบทก็มีลืมสูตรบ้าง ทำไม่ได้บ้าง ซึ่งก็ไม่แปลกและก็ดีมากที่เราจะได้รู้ส่วนที่เรายังไม่แน่น และรู้จุดที่ข้อสอบชอบออกด้วย ทำให้เราเน้นอ่านได้ตรง เช่น บทที่มะเฟืองจะเก็บแน่ๆ คือ แคลคูลัส สถิติ log&expo set เพราะออกแต่แนวเดิมๆ ซึ่งไม่ยากด้วย

          อีกอย่างที่ชอบคือการไปสอบ pretest ค่ะ อย่างเช่น Dek-D pre-admission สนามสอบจำลองแบบนี้ ทำให้ชินกับบรรยากาศการสอบ ทั้งคนรอบข้าง และการบริหารเวลาทำข้อสอบ ที่สำคัญคือ มีเฉลยให้เรากลับไปแก้ไขตัวเองด้วย เป็นการเตือนตัวเองให้ฝึกเพิ่มเรื่อยๆ จนถึงวันสอบค่ะ

 มีวิชาไหนที่เราเทใน PAT1 บ้างไหม หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ จะแนะนำน้องๆ ว่ายังไง
          คิดว่าไม่ควรเทบทไหนเลยนะคะ พยายามทำความเข้าใจ ลองทำข้อสอบแล้วประเมินว่าถนัด/ไม่ถนัดบทไหน ให้รู้ตัวเอง แต่จะไม่กำหนดว่าต้องทำเฉพาะบทที่ถนัด เพราะบางบทที่ไม่ถนัด อาจจะมีข้อง่าย หรือบทที่ถนัดดันเจอข้อยาก แล้วฝืนทำ ก็จะเสียเวลา
          ที่สำคัญ คือ หนึ่งข้ออาจไม่ได้ใช้ความรู้แค่บทเดียว บางบทที่ยากๆ แล้วเราเทไป อาจจะออกสูตรง่ายๆ คู่กับบทที่เราทำได้ ถ้าเราไม่ใส่ใจส่วนง่ายของบทนั้นเราก็จะเสียคะแนนไปแบบน่าเสียดายมาก ส่วนข้อไหนที่ยากจริงๆ ก็ปล่อยมันไป ข้อแบบนั้นมีไม่เยอะ ถ้าเก็บข้ออื่นๆ ได้ก็ได้คะแนนดีแน่ๆ ค่ะ


 เคล็ดลับการอ่าน PAT2 เน้นอะไรบ้าง เตรียมตัวยังไง
          อย่างแรก คือ PAT2 กับ 9 วิชาสามัญ แนวค่อนข้างต่างกัน และ PAT2 เตรียมตัวยากกว่ามะเฟืองจะเตรียมเนื้อหาตาม 9 วิชาสามัญเป็นหลัก ส่วน PAT2 ก็ทำข้อสอบเก่า มันจะมีข้อที่ยากมากๆ ก็ปล่อยมันไป แล้วเลือกข้อทำให้ได้มากที่สุดเหมือนเดิม ลองทำข้อสอบปีที่แล้ว ได้ 219 ค่ะ
          สำหรับน้องๆ ที่ต้องใช้คะแนน ก็ต้องดูแนวข้อสอบ และรู้ว่าตัวเองถนัด/ไม่ถนัดอะไร สำหรับมะเฟืองคิดว่า เคมี ยากที่สุด รองลงมาเป็น ฟิสิกส์ และชีววิทยา ตามลำดับ (ดาราศาสตร์ ไม่ได้อ่านเพราะไม่ออกสอบ 9 วิชาสามัญ) จริงๆ มะเฟืองถนัดเคมีนะ แต่พอทำข้อสอบแล้วรู้แบบนี้เราก็ต้องอ่านชีวะให้มากขึ้น เพราะเป็นส่วนที่เก็บคะแนนได้ง่ายกว่า

 

 สนามสอบความถนัดแพทย์ เป็นยังไงบ้าง สอบยากไหม เตรียมตัวยังไง
          เป็นสนามที่ตื่นเต้นกว่าสนามอื่นๆ เลยค่ะ เพราะรู้สึกถึงความไม่แน่นอน55555 แล้วก็ยังเป็นคะแนนที่สำคัญมากด้วย (30%) ถ้าทำได้ดีก็จะสบายใจกว่ากับการเตรียมสอบอีก 70% ที่เหลือ
     พาร์ทเชาวน์ : ฝึกทำโจทย์ให้คล่องๆ หลากหลายแนว จะได้ฝึกคิดหลายๆ แบบ ข้อสอบปีนี้ง่ายขึ้น ทำได้เยอะขึ้นก็ดีใจหน่อย 55555
     พาร์ทจริยธรรม : ให้พอรู้กฎหมายบางอย่างบ้าง ที่เหลือคือตอบแบบที่เป็นตัวเอง ตามที่เราสบายใจเลยค่ะ ปีนี้รู้สึกว่ายากสุดเลย แบบตัวเลือกมันใกล้เคียงกันมาก
     พาร์ทเชื่อมโยง : ก็ฝึกทำโจทย์ให้คล่อง+เข้าใจ+รอบคอบ เหมือนที่บอกใน GAT เลย ก็จะตื่นเต้นหน่อยเพราะเป็นพาร์ทที่หวังว่าจะได้เต็ม ถ้าเผลอผิดนิดนึงก็อาจจะโดนหักหลายคะแนน


 สนามสอบ 9 วิชาสามัญ เป็นยังไงบ้างกับการเตรียมตัว แล้วคิดว่าวิชาไหนยากที่สุด วิชาไหนง่ายที่สุด
          สำหรับวิชาอังกฤษ คณิตฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ช่วงแรกที่เตรียมตัวก็จะอ่านเนื้อหา+ทำโจทย์ตามบทให้แม่น ช่วงหลังก็จะฝึกทำโจทย์รวม จับเวลาเหมือนสอบจริง แล้วถ้ามีตรงไหนผิด ก็ค่อยกลับไปทวนเป็นบางเรื่องค่ะ อยู่ในห้องสอบก็ต้องมีสติรอบคอบด้วย เพราะเวลาน้อยอาจจะไม่ได้กลับไปทวน
          วิชาภาษาไทยเน้นแนวคิดวิเคราะห์ ก็ต้องเข้าใจหลักการตอบ อ่านดีๆ ส่วนสังคมเนื้อหาค่อนข้างกว้าง มะเฟืองก็จะจำประเด็นสำคัญไปแล้วฝึกตัดตัวเลือกแทนค่ะ เปอร์เซ็นต์น้อย เตรียมตัวยาก และไม่ถนัดด้วย
          คิดว่าวิชาที่ง่ายสุดคือฟิสิกส์ เพราะแนวคล้ายเดิม คิดไม่ซับซ้อน ใครที่คิดว่าไม่เก่งวิชานี้ก็อย่าเทนะคะ เพราะถึงไม่เก่ง แต่รู้แนวก็ทำคะแนนเยอะได้ ส่วนวิชาที่ยากที่สุด คือ สังคม ค่ะ เพราะเนื้อหากว้าง มีรายละเอียดเยอะซึ่งมะเฟืองไม่ค่อยจำไปด้วย


 เคล็ดลับการทำฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ กับคณิตศาสตร์ O-NET ให้ได้ 100 คะแนนเต็ม มีอะไรบ้าง
          สำหรับฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ ก็ต้องเข้าใจหลักการและดูแนวข้อสอบ ข้อสอบไม่เน้นคำนวณตัวเลข แต่จะติดในรูปตัวแปร แค่เข้าใจวิธีคิด ก็ทำได้เลย นอกจากไม่ต้องคิดเลขแล้ว เรายังสามารถตัดตัวเลือกได้บ้าง โดยแทนตัวเลขลงไปให้มันเกิดข้อขัดแย้ง อีกอย่างคือ ข้อสอบไม่ค่อยเปลี่ยนแนว ถ้าฝึกทำข้อสอบเก่าก็จะช่วยโฟกัสเนื้อหาได้ดีเลยค่ะ แต่ที่อยากให้เข้าใจหลักการไว้เพราะเผื่อเป็นแนวที่ไม่เคยเจอ เราก็จะได้ประยุกต์เป็น
          ส่วนคณิตศาสตร์ O-NET มะเฟืองไม่ได้อ่าน เพราะใช้ความรู้จากที่เคยเตรียมสอบ PAT1, 9 วิชาสามัญ ซึ่งมะเฟืองคิดว่าเราก็เตรียมตัวมาเต็มที่และมากพอแล้ว แต่ถ้าน้องๆ อยากให้ชัวร์ ก็ลองทำข้อสอบเก่าไป ก็น่าจะพอแล้วค่ะ เพราะข้อสอบไม่ยาก ตอนสอบถ้าคิดเลขรอบคอบ ไม่ประมาท ก็จะได้คะแนนดีแน่นอน
 

 เรื่องการสอบที่เครียด+เหนื่อยที่สุดในชีวิต ม.6 ของมะเฟือง คืออะไร
          ต้องย้อนกลับไปอ่านไดอารี่ที่เคยเขียนไว้เลยค่ะ55555 พออ่านแล้วจะเห็นว่าเรามีเรื่องกังวลเล็กๆ น้อยๆ อยู่ทุกวันเลย อย่างเช่น อ่านได้น้อยเพราะเล่นเยอะไป หรือยังทำวิชานี้ไม่ดีเลย
          ช่วงที่หนักใจสุดคงเป็นช่วงสอบเข้าโครงการความถนัดทางภาษาอังกฤษค่ะ (ยังไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย) ตั้งแต่รอบแรกที่สอบข้อสอบรับตรง ตอนนั้นเกือบถอดใจแล้ว เพราะทำเลขไม่ทัน ซึ่งสอบเป็นวิชาแรก และเป็นวิชาที่เราถนัด เราเลยมีความหวังกับวิชานี้มาก แต่ก็พยายามตั้งใจสอบวิชาต่อๆ ไปให้เต็มที่ก่อน จะได้ไม่เสียดายทีหลัง สุดท้ายก็ติดรอบแรกค่ะดีใจมากๆ

          พอรอบสองเป็นรอบสัมภาษณ์ ครั้งนี้หนักใจกว่าเดิมเพราะคัดออกครึ่งต่อครึ่ง และเรารู้ตัวว่าอังกฤษเราไม่ได้ดีแบบเพื่อนคนอื่น ตอนนั้นก็พยายามฝึกอยู่นะคะ แต่แปปเดียวมันไม่ทันหรอก เราก็ค่อนข้างเครียด ซึ่งปกติไม่เคยเครียดเรื่องเรียนแบบจริงจังเลยค่ะ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ เพราะมีคุณพ่อคุณแม่คอยรับฟัง และให้กำลังใจมะเฟืองตลอด ท่านจะบอกเสมอว่า ผ่านรอบแรกมาก็เก่งมากแล้ว รอบนี้ทำให้เต็มที่ก็พอ วันที่ประกาศว่าติด ก็รู้สึกดีใจมากๆ ทั้งกับความพยายามของตัวเองและที่เห็นพ่อแม่ดีใจด้วยค่ะ

 สุดท้ายนี้ ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์เราหน่อยค่ะ
          อยากให้น้องๆ เปิดใจกับการอ่านหนังสือสอบ ไม่ปิดกั้นความสามารถของตัวเอง พี่เชื่อว่าทุกคนถ้าตั้งใจยังไงก็ทำได้ค่ะ^^ เจออะไรยากๆ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป อย่าหยุดทำ แล้ววันหนึ่งเราจะผ่านมันไปได้แน่นอน เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยนะคะ และขอให้น้องๆ สอบติดตามที่หวังไว้ มีอะไรก็เข้ามาปรึกษากันได้ เฟืองยินดีช่วยน้องๆ ทุกคนเลยค่ะ :D
 

          เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องราวของพี่มะเฟือง เปิดเคล็ดลับแบบจัดเต็มให้น้องๆ เลยนะคะ ใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มอ่านหนังสือตรงไหน หรือไม่รู้จะวางแผนอ่านยังไง ลองเอาเทคนิคของพี่มะเฟืองไปปรับใช้ได้เลยนะคะ ส่วนใครที่อยากสอบถามหรือพูดคุยกับพี่มะเฟือง พี่มะเฟืองก็ฝากมาบอกว่าไปปรึกษาพูดคุยกันได้เลยที่ IG : @ffim.medcu60 ค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ไวท์ช๊อกโกแลต Member 4 ส.ค. 60 21:25 น. 2

ขอสอบถามได้มั้ยคะ ข้อสอบเก่า โจทย์เก่านี้ พี่ซื้อมาเป็นเล่มเป็นหนังสือเลย(ช่วยแนะนำหนังสือด้วยค่ะ)หรือว่าดาวโหลดตามเว็บต่างๆคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
郑齐圣 Member 7 ส.ค. 60 01:04 น. 4

ชอบตรงที่ถามแบบเจาะลึกของกระทู้นี้ คนอ่านแบบเราๆนี้ได้ประโยชน์เยอะเลย

อ่านจบแล้วรู้สึกเฮ้ยยยย ไปอ่านหนังสือ ><

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด