คิดถึงมาก! รวม 8 หนังสืออ่านนอกเวลาที่ทุกคนเคยอิน


          สวัสดีค่ะ เชื่อว่าน้องๆ สมัยนี้ น่าจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับหนังสือนอกเวลากันเท่าไหร่ แต่ในสมัยก่อน หนังสือนอกเวลาถูกบรรจุในบทเรียนเลยว่า นักเรียนทุกคนต้องอ่านค่ะ เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและพัฒนาการอ่านของเรา
 

           หนังสืออ่านนอกเวลา เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ในหลักสูตรวิชาภาษาไทย ให้นักเรียนตั้งแต่ ป.1 - ม.6 อ่านกัน ดังนั้น ก็จะมีกันหลายเล่มเลยค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่หนังสือนอกเวลาจะเป็นประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย ที่อ่านสนุก ให้แง่คิดและเนื้อหาดี ไม่น่าเบื่อแน่นอน ใครที่ไม่รู้ว่าหนังสืออ่านนอกเวลาหน้าตาแบบไหน แล้วพี่ๆ สมัยก่อนอ่านอะไรกัน รีบไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

 1.ความสุขของกะทิ (งามพรรณ เวชชาชีวะ)

ตัวอย่างหน้าปก เรื่อง "ความสุขของกะทิ" รูปแบบต่างๆ

          ถึงแม้จะไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน แต่พี่อีฟเชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงจะคุ้นชื่อกับเรื่องความสุขของกะทิแน่นอน เพราะนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2549 เล่มนี้ เคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็ยังคงมีความซาบซึ้งไม่ต่างจากหนังสือต้นฉบับเลยค่ะ
          ความสุขของกะทิ เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงกะทิที่อาศัยอยู่กับยายมาตลอด และไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพ่อแม่ของตนเองเลย จนกระทั่งวันหนึ่งที่กะทิพบว่าแม่ของตัวเองเป็นโรคร้ายแรงและกำลังจะจากไป ถึงแม้ว่ากะทิจะรู้สึกเศร้า แต่ก็มีกำลังใจของทุกคนในครอบครัวให้ผ่านวันเวลาที่เสียใจไปได้ หลังจากอ่านจบ เชื่อว่าน้องๆ จะต้องมองเห็นความสำคัญของครอบครัว และตระหนักว่ากำลังใจจากคนรอบตัว จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้ค่ะ

 2.มอม (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

          ถ้าจะพูดถึงหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มไหนที่พี่อีฟอยากจะเทใจให้กับความซาบซึ้ง ก็ต้องเรื่องนี้เลยค่ะ สำหรับเรื่อง มอม เพราะเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าความประทับใจระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงได้ดีมากๆ เชื่อว่าถ้าใครมีสัตว์เลี้ยงอยู่ที่บ้าน จะต้องอินได้ไม่ยากแน่นอนค่ะ
          
เรื่องของมอม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุนัขและเจ้าของโดยมีฉากหลังของเรื่อง เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ โดยผลกระทบจากสงคราม ทำให้เจ้าของที่เลี้ยงดูมอมมา ต้องไปเป็นทหารร่วมรบ ทำให้มอมต้องพลัดพรากจากเจ้าของที่เลี้ยงดูมาค่ะ นอกจากเราจะได้เห็นความซื่อสัตย์ของสุนัขที่มีให้เราแล้ว เรายังเห็นภาพความสูญเสียจากช่วงสงครามได้อย่างชัดเจน ทั้งความสูญเสียของมอม และความสูญเสียของเจ้านาย ต่างก็เกิดขึ้นจากบาดแผลของสงครามทั้งนั้นค่ะ

 3.อยู่กับก๋ง (หยก บูรพา)

          น้องๆ ที่รุ่นไม่ห่างกับพี่อีฟมาก นอกจากจะได้เคยอ่าน อยู่กับก๋ง เวอร์ชั่นหนังสืออ่านนอกเวลาแล้ว ยังต้องเคยดูอยู่กับก๋ง เวอร์ชั่นละครทีวีแน่นอนค่ะ เพราะจากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ (10 กว่าปีที่ผ่านมา) อยู่กับก๋ง ได้ถูกนำมาทำเป็นละครหลายเวอร์ชั่นแล้วค่ะ
          อยู่กับก๋งดำเนินเรื่องราวผ่าน หยก เด็กชายอายุสิบสามปี ที่อาศัยอยู่กับก๋ง ในห้องแถวเล็กๆ โดยก๋งมีอาชีพช่างฝีมือ ส่วนหยกก็ช่วยทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ นอกจากเรื่องอยู่กับก๋ง จะสะท้อนความสัมพันธ์ของหยกกับก๋ง ที่ถือเป็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแล้ว หนังสืออ่านนอกเวลาเล่มนี้ ยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม การดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะได้ความสนุก ซาบซึ้ง ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมตามไปด้วยค่ะ


 4.เรื่องของน้ำพุ (สุวรรณี สุคนธา)

          หนึ่งในความน่าสนใจของหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องราวใกล้ตัว เพราะเป็นปัญหาจริงในสังคมที่เราสามารถหยิบมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้ คือการที่นวนิยายเล่มนี้ถูกเขียนมาจากเรื่องจริงค่ะ โดยเป็นเรื่องราวของครอบครัวคุณสุวรรณี สุคนธาเอง ที่สูญเสียลูกชายเพราะยาเสพติด
          เรื่องของน้ำพุ เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงน้ำพุ เด็กชายที่หลงผิดไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จนต้องเข้าไปเลิกยาที่วัดถ้ำกระบอก จนหาย ซึ่งคนอ่านก็แอบหวังว่าน้ำพุจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นแบบนั้นค่ะ เพราะน้ำพุก็ยังกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม จนการกลับไปยุ่งเกี่ยวครั้งนี้ ทำให้น้ำพุเสียชีวิตในที่สุดค่ะ ถือเป็นเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจและเป็นอุทาหรณ์ของวัยรุ่นวัยเรียนสมัยนี้ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ


 5.นิทานเวตาล (น.ม.ส. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)

          เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มค่ะที่นอกจากจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่านด้วยค่ะ ซึ่งต้นฉบับ "เวตาลปัญจวีสติ" ฉบับภาษาสันสกฤต มีนิทานถึง 25 เรื่อง แต่ในฉบับที่แปลมาเป็นภาษาไทย มีแค่ 10 เรื่องเท่านั้นค่ะ
          เรื่องราวของนิทานทั้ง 10 เรื่องในฉบับภาษาไทย เกิดมาจากการที่พระวิกรมาทิตย์และบุตรชาย ต้องเดินทางเข้าไปในป่าช้าเพื่อนำศพที่แขวนอยู่บนต้นอโศกมาให้แก่โยคี โดยศพที่ว่า ก็คือเวตาลนั่นเองค่ะ ซึ่งเวตาลก็ยอมไปกับพระวิกรมาทิตย์แต่โดยดีนะคะ แต่มีข้อแม้ว่าถ้าพระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบปัญหากับเวตาลเมื่อไหร่ เวตาลก็จะบินกลับไปที่ต้นอโศกตามเดิมทันที และเวตาลก็เริ่มเล่าเรื่องราวแต่ละเรื่องค่ะ น้องๆ ลองคิดดูว่าเวตาลได้มีโอกาสเล่านิทานถึง 25 เรื่อง (10 เรื่องในฉบับภาษาไทย) รับรองได้ว่านิทานแต่ละเรื่องต้องน่าตอบ น่าถกเถียงด้วยแน่นอนค่ะ ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่านิทานสนุกแค่ไหน ก็รีบไปหามาอ่านกันเลยดีกว่าค่ะ

 6.แมงมุมเพื่อนรัก (E.B. White อี. บี. ไวท์)

          เรื่องราวมิตรภาพระหว่างแมงมุม "ชาร์ล็อตต์" และเจ้าหมู "วิลเบอร์" เป็นเรื่องราวน่าประทับใจที่ถูกนำมาแปลมากกว่า 23 ภาษา แถมน้องๆ สมัยนี้ อาจจะเคยเห็นหน้าปกหลากหลายรูปแบบ เพราะจริงๆ แล้วก็ถูกนำมาตีพิมพ์หลายรอบแล้วค่ะ แถมเคยถูกนำมาเรียกความประทับใจในรูปแบบภาพยนตร์แล้วด้วย
          เรื่องราวน่ารักเริ่มตั้งแต่ตอนที่วิลเบอร์เกิดมา เกือบจะโดนฆ่าเพราะเกิดมาตัวเล็กและไม่แข็งแรง แต่เฟิร์นก็ได้มาช่วยชีวิตไว้ จนวิลเบอร์โตขึ้นแล้วถูกนำไปเลี้ยงที่อื่น จึงได้พบกับชาร์ล็อตต์ จนเกิดเป็นมิตรภาพดีๆ ร่วมกัน แม้ช่วงชีวิตสุดท้ายของชาร์ล็อตต์ก็ได้ช่วยเหลือวิลเบอร์ จนวิลเบอร์ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนหมูตัวอื่น ซึ่งมีประโยคหนึ่งของเรื่องนี้ที่พี่อีฟชอบมากเลย ในตอนที่วิลเบอร์สงสัยว่า "ทำไมชาร์ล็อตต์ถึงช่วยเหลือเขามากมาย ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยทำอะไรให้" แต่ชาร์ล็อตต์ตอบเพียงว่า "แค่วิลเบอร์เป็นเพื่อนเขา ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว" โอ้โหหห! เรียกได้ว่าใครกำลังอินกับเรื่องเพื่อนต้องซาบซึ้งแน่ๆ ค่ะ


 7.สี่แผ่นดิน (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช)

          โด่งดังถึงขนาดเคยเอามาทำเป็นละครวิทยุ ละครเวที และละครทีวีมาแล้วค่ะ สำหรับสี่แผ่นดิน ที่มีเรื่องราวฉากหลังที่อิงประวัติศาสตร์ในช่วงของรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 โดยมีตัวละครเอกคือ พลอย หรือที่เรียกกันในเรื่องจนติดปากว่าแม่พลอยค่ะ
          เรื่องราวของพลอย คุณเปรม และลูกๆ ทั้งหมด ได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่วงเวลาที่พลอยอาศัยอยู่ในวัง โดยผ่านการเล่าและมุมมองของพลอย ซึ่งช่วงเวลาสำคัญๆ ของเหตุการณ์ในชีวิตพลอย ก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการเปลี่ยนผ่านรัชกาลต่างๆ จนกระทั่งแม่พลอยได้เสียชีวิตลงพร้อมกับข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ค่ะ เรียกได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องราว น้องๆ คนไหนที่อยากจะศึกษาขนบธรรมเนียม หรือเกร็ดต่างๆ ของประวัติศาสตร์สมัยนั้น ต้องห้ามพลาดเล่มนี้เลยค่ะ เพราะได้รับคำนิยมว่า สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ยุคนั้นได้ดีมากค่ะ

 8.ลูกอีสาน (คำพูน  บุญทวี)

          เป็นอีกเรื่องเลยค่ะที่ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่าน รวมถึงได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2522 ด้วย ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ คือการที่ผู้แต่งสามารถอธิบายชีวิตและความเป็นอยู่ ของชาวอีสานได้อย่างสมจริง จนทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพความเป็นอยู่ของชาวอีสานสมัยนั้นได้เลยค่ะ
          เรื่องราวเล่าผ่านชีวิตของครอบครัวเด็กชายคูน และครอบครัวอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน ที่สมัยนั้นภาคอีสานยังมีความลำบากและแห้งแล้งอยู่มาก ซึ่งผู้แต่งได้อธิบายขบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ และธรรมชาติของภาคอีสานได้อย่างชัดเจน พร้อมสอดแทรกความสนุกสนานจากวัฒนธรรมไว้ น้องๆ คนไหนที่อยากเรียนรู้การใช้ภาษา รวมไปถึงการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ต้องรีบไปหาอ่านกันให้เร็วเลยค่ะ
 

          เป็นไงกันบ้างคะ กับ 8 หนังสืออ่านนอกเวลาที่บอกเลยว่าในอดีตทุกคนต้องเคยอ่านมา แม้ในปัจจุบัน จะไม่ค่อยเน้นให้นักเรียนในโรงเรียนอ่านกันแล้ว แต่ความน่าสนใจและความคลาสสิกของหนังสืออ่านนอกเวลาก็ยังน่าสนใจอยู่เสมอเลยนะคะ น้องๆ คนไหนสนใจอยากจะอ่านหนังสือนอกเวลา ก็ลองไปหาอ่านกันได้ค่ะ เพราะหลายเล่มก็ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำ เพื่อให้เราได้หาอ่านกันได้ง่าย ใครที่ชอบเรื่องไหน ก็เตรียมอ่านกันได้เลย
 
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก :
https://library.kku.ac.th/ulib/dublin.php?ID=38525#.WX7DtYiGPIU
http://readery.co/9786161817459
http://www.yimtamphan.com/
http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/970/899/original_K10351201-0.jpg?1384784182
https://library.kku.ac.th/ulib//_fulltext/cover/30358/20150917123837_2771.jpg
http://a.lnwfile.com/_/a/_raw/py/ot/vi.jpg
http://library.chaiwit.ac.th/bookphoto/BC010502X.JPG
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Anyamaneejantra Member 27 ก.ย. 60 23:06 น. 5

ชอบนิทานเวตาลที่สุดเลยค่ะ ชอบตอนที่บรรยายถึงหน้าตาผู้หญิง เพราะมันสุดแสนจะเว่อวังอลังการมากๆ

0
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

CloverG Member 1 ส.ค. 60 23:30 น. 1

มีอีกเรื่องที่เราชอบมาก คือ "เจ้าชายน้อย" มันดูเรียบง่ายแต่ซ้อนอะไรไว้จริงๆ บางทีเราก็ควรเก็บความเป็นเด็กไว้บ้าง

1
เกย์อักษรฯเอกปรัชญา 4 ส.ค. 60 13:49 น. 1-1

อันนั้นวรรณคดีฝรั่งเศสเชียวนะ ผมเพิ่งได้อ่านตอนโตล่ะครับไม่ใช่ตอนเด็ก ใช่ครับมันซ่อนอะไรไว้เยอะมากเป็นปรัชญายากกันเลยทีเดียว

ถ้า คห.#1 ชอบเจ้าชายน้อย ขอทราบได้ไหมครับว่าชอบเนื้อเรื่องส่วนไหน ทำไมถึงชอบ มันให้ความรู้สึกยังไง :)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
แพนโดร่า ~fay102~ Member 5 ส.ค. 60 01:13 น. 3

เห็นละคิดถึงตอนสมัยประถม-ม.ต้น คือถ้าว่างจะไปสิงอยู่ห้องสมุดแล้วอ่านพวกวรรณกรรมเยาวชนตลอดอ่ะ ชอบหลายเรื่องนะ แต่เรื่องที่ชอบที่สุดมี 3 เล่ม คือ

1. เจ้าหมีน้อย เป็นวรรณกรรมแปลออกแนวสารคดี เล่าถึงชีวิตของหมีขั้วโลกตัวหนึ่ง อ่านละเศร้า กลายเป็นคนรักสัตว์ไปเลย

2. เกาะแห่งกาลเวลาที่หายไป เป็นวรรณกรรมแปลที่แจกฟรีทุกโรงเรียน ชอบในความครีเอทีฟที่เอาจดหมายมาแทรกในเนื้อเรื่องด้วย ให้อารมณ์แฟนตาซี+เพ้อฝันหน่อยๆ จนเราอยากให้มีเกาะนั้นจริงๆ เลย

3. แจ็ค ณ ขอบฟ้า เป็นวรรณกรรมไทยที่ชนะเลิศรางวัลแว่นแก้ว จำไม่ได้แล้วว่า พ.ศ. ไหน อ่านแรกๆ แอบงงว่าชนะมาได้ไง พออ่านจบแค่นั้นแหละ...บางข้อคิดในเล่มเรายังยึดมาใช้จนถึงปัจจุบันเลย ทั้งฮาทั้งดีงามอ่ะ


คิดถึงสมัยนั้น 555 ตอนนี้อยู่มหาลัยละแทบไม่ได้แตะต้องหนังสืออ่านนอกเวลาเลย นานๆ ทีอ่านสักเรื่อง

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
Anyamaneejantra Member 27 ก.ย. 60 23:06 น. 5

ชอบนิทานเวตาลที่สุดเลยค่ะ ชอบตอนที่บรรยายถึงหน้าตาผู้หญิง เพราะมันสุดแสนจะเว่อวังอลังการมากๆ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด