เปิดใจ "พี่ธัญญ่า" เคล็ดลับ+ความตั้งใจ ดันตนเองจนซิ่วติดหมอศิริราชฯ กสพท

          สวัสดีค่ะ ใครที่กำลังกังวลกับการสอบระบบใหม่ หรือกำลังท้อคิดจะซิ่ว คงรู้สึกอยากยอมแพ้ หลายคนมองสนามแอดมิชชั่นว่ายากแล้ว และสนาม กสพท ที่มีอัตราการแข่งขันที่สูงลิ่วจะยากกว่า แต่ก็มีรุ่นพี่หลายคนของเราค่ะ ที่ไม่ยอมแพ้กับความฝัน
          แอดมิชชั่นไอดอลของเราในวันนี้ พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับรุ่นพี่ของเรา ที่ขอยอมซิ่วเพื่อคณะในฝัน ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์ ในรอบ กสพท ที่ทุกคนพร้อมใจกันบอกว่าเป็นสนามที่หินสุดๆ เราไปเตรียมพร้อมรับแรงบันดาลใจ รวมถึงเคล็ดลับดีๆ ในการอ่านหนังสือของ พี่ธัญญ่า 
ธัญพิชชา ท้วมศรี กันเลยค่ะ
  

 
      แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักกันหน่อยค่ะ
          สวัสดีค่ะ ชื่อ ธัญพิชชา ท้วมศรี ชื่อเล่นว่า ธัญญ่า ค่ะ ธัญญ่า คนเดียวกับ ทันย่าไงจะใครล่ะ ที่เขียนกระทู้ รีวิวซิ่วหมอศิริราชนะคะ แค่เขียนคนละแบบ 5555 เป็นเด็กซิ่วจากปี 59 ค่ะ ตอนนี้กำลังจะเรียนปี1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนหอวัง ค่ะ

 แรงบันดาลใจ กับ "คณะแพทยศาสตร์"
          เหตุผลที่ทำให้สนใจเรียนคณะนี้มีอยู่หลายๆ เหตุผลด้วยกันนะคะ เริ่มต้นเลยมาจากความสงสัยและอยากรู้ค่ะ ว่าถ้าป่วยแบบนี้เป็นอะไร เกิดจากอะไร รักษายังไงถึงจะหาย โดยส่วนตัวมีความชอบในด้านนี้และคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบร่างกายและการรักษาค่ะ อาชีพหมอเป็นอาชีพที่น่าสนุก เพราะว่าเราจะได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมีความสุขทางใจ ที่ได้คอยช่วยเหลือคนไข้ให้พ้นจากความเจ็บป่วย คือเราไม่ได้ช่วยแค่ผู้ป่วยนะคะ แต่เรายังช่วยบรรเทาความทุกข์ให้แก่ญาติๆ ผู้ป่วยด้วยค่ะ สุดท้ายเพราะหมอเป็นอาชีพที่มีเกียรติค่ะ มีเกียรตินี้ไม่ใช่เกียรติที่ดูจากการที่เราเก่งหรือมีความสามารถ แต่เป็นเกียรติจากการที่  หมอเป็นผู้เสียสละ และช่วยเหลือผู้อื่น ค่ะ

ตอนนั้นค้นหาตัวเองยังไงบ้าง
          ค้นหาจากหลายๆ แหล่งข้อมูลค่ะ มีการลองทำแบบทดสอบในวิชาแนะแนว ศึกษาจากในหนังสือ ในอินเตอร์เน็ต ไปร่วมงานแนะแนวการศึกษาต่างๆ ก็จะมีรุ่นพี่มาคอยให้คำแนะนำและปรึกษาค่ะ พอมีคณะที่ชอบไว้ในใจ แล้วก็ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนี้ให้ลึกขึ้นค่ะ ดูว่าเหมาะสมกับเราแค่ไหน สามารถเรียนได้ไหม มีข้อดี ข้อเสีย ยังไง จินตนาการว่าถ้าเราทำอาชีพนี้แล้วโอเคไหม มีความสุขไหม สามารถอยู่กับอาชีพนี้ได้ไปตลอดรึเปล่าค่ะ
 

คิดว่าทำไมปีก่อนเราถึงพลาดฝัน
      "มีความพยายาม แต่มันไม่ตรงจุด" ที่ผ่านมารู้สึกว่าอ่านหนังสือถือว่าเยอะพอสมควรนะคะ แต่บางทีมันไม่ก็เข้าหัว 5555 เหมือนกับว่าได้จับหนังสือไว้เพื่อความสบายใจว่าเราอ่านแล้วนะ และอีกอย่างคือเราอ่านหนังสือเพื่อให้จำเนื้อหาได้เป็นหลัก  แต่ฝึกทำโจทย์น้อยเกินไป ทำให้ยังมีทักษะในด้านนี้ไม่พอ "ในสนามสอบเราแข่งกันทำโจทย์ ไม่ได้แข่งกันอ่านหนังสือ"
          นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการ "ทำไม่ทัน" ค่ะ เป็นเพราะเราบริหารเวลาตอนทำข้อสอบไม่ดี และเวลาทำโจทย์ก็ไม่เคยฝึกจับเวลาทำอย่างจริงจัง ทำแบบทำไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เวลาอยู่ในสนามสอบเราต้อง "แข่งกับเวลา" ด้วย (เคยไปสอบสนามหนึ่ง แล้วทำไม่ทัน ไม่ทันแบบจะดิ่ง ฝนยังไม่ทันเลยค่ะ 55555)
 
 จากวันที่เลือกจะซิ่ว เตรียมตัวยังไงบ้าง
          อันดับแรกเลย เราก็หาข้อมูลก่อนค่ะ ลองหาแนวทางการเตรียมตัวซิ่วจากในอินเตอร์เน็ตค่ะ เช่น ในเว็บเด็กดี ถือว่าเป็นที่พึ่งให้เราได้ดีมากเลยค่ะ มีข้อมูลเยอะ ทั้งที่รุ่นพี่มาเขียนกระทู้เรื่องการซิ่วของตัวเอง หรือจากบทความแอดมิชชั่นไอดอลค่ะ พออ่านแล้วก็มีกำลังใจมากขึ้นนะคะ เพราะมีหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ ลองดูหลายๆ วิธีการจากที่ศึกษามาแล้วก็เอามาปรับใช้ในแบบของเราค่ะ
          แต่ก่อนที่เราจะเริ่มต้นใหม่ เราต้องหาให้ได้ก่อนเลยว่าที่ผ่านมาพลาดตรงไหนบ้าง แล้วก็หาวิธีแก้ไข ปรับวิธีการอ่านใหม่ วางแผนและจัดตารางการอ่านหนังสือเอง เรียกได้ว่า ทำที่บ้านให้กลายเป็นโรงเรียน โดยที่มีเราเป็นครูใหญ่ คอยควบคุมให้ตัวเราเข้าเรียน ตั้งใจเรียนตั้งใจอ่าน ไม่เล่นมือถือในเวลาที่อ่านหนังสือค่ะ

เคล็ดลับการอ่านหนังสือฉบับเฉพาะตัวของธัญญ่า
          เวลาอ่านจะใช้การเขียนและการออกเสียงคู่ไปด้วยค่ะ เพราะจะทำให้เรามีสมาธิและจำได้มากขึ้น เมื่ออ่านจบก็เขียนแผนผังสรุปแบบง่ายๆ เพื่อเป็นการทบทวน อาจจะไม่ต้องสวยมาก เพราะไม่อยากให้เสียเวลากับส่วนนี้มากค่ะ ในจุดไหนที่ต้องเน้น หรือจำเยอะๆ ก็ท่องออกมา มันจะทำให้จำได้ดีขึ้นค่ะ เวลาทำโจทย์หรือไปสอบ เราจะนึกได้เองค่ะ

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการซิ่ว
          สิ่งที่ยากที่สุดคือ "เรื่องของจิตใจ" ค่ะ  ก่อนซิ่วต้องทำใจให้ได้ว่าเราจะซิ่วนะ เพื่อนๆ เขามีที่เรียนแล้ว เราจะช้ากว่าเขาปีนึง  แต่ไม่เป็นไรเรามีจุดหมายและความฝันที่ต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้น "เวลาแค่ปีเดียวมันก็คุ้มที่จะแลก"
          ต่อมาคือระหว่างซิ่วค่ะ ค่อนข้างเหนื่อยนะคะ เนื้อหามีเยอะมาก บางทีรู้สึกขี้เกียจ อยากนอนเล่น อยากดูซีรีส์ 5555 อาจจะรู้สึกเศร้าๆ ท้อๆ บ้าง กลัวว่าจะซิ่วไม่ไหว แต่ทั้งหมดมันก็อยู่ที่ใจค่ะ "ถ้าใจสู้ มันก็ไหว ตัดได้หมด ทั้งความท้อ ความเหนื่อย ความขี้เกียจ"
 
 คิดว่าเหตุผลอะไรที่ควรจะมีพลังมากพอให้เราตัดสินใจซิ่ว
          ธัญญ่าคิดว่าเหตุผลง่ายๆ เลย คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากทำตามความฝัน ค่ะ ธัญญ่าคิดว่า ช่วงรอยต่อระหว่างจะเข้ามหาลัย เป็นช่วงที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตเลยค่ะ เพราะความรู้หรือคณะที่เลือกเรียนไป จะเป็นอนาคตของเรา และเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ตอนนี้ยังมีโอกาสให้เราได้แก้ตัวเรา และแค่อีกหนึ่ง มันก็ไม่ได้นานหรือว่าแก่เกินไป เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสได้สู้ มันก็ต้องลองสักครั้ง เพื่อวันข้างหน้าจะได้ไม่ใจเสียภายหลัง
 
 ถ้าปีนี้ซิ่วไม่ติดอีก ปีต่อไปจะยังซิ่วไหม
          คำถามนี้เป็นคำถามที่ถามตัวเองก่อนที่คิดจะซิ่วเลย ซึ่งคิดไว้ว่า ถ้าปีนี้ไม่ติดอีก ก็จะซิ่วต่อ แต่คงจะซิ่วโดยที่เข้าเรียนปี 1 สักหนึ่งคณะที่เราชอบรองลงมาค่ะ แต่ถ้าจะซิ่วอีกรอบนี้ ก็ต้องกลับมานั่งทบทวนกับตัวเองให้มากๆ เลยว่า เราให้เวลากับตัวเองมาหนึ่งปีแล้วนะ เกิดอะไรขึ้น พลาดตรงไหน ทำไมถึงไม่ติดค่ะ
 
 คิดว่า 3 สิ่งที่ควรทำ ถ้าเราอยากจะตัดสินใจซิ่ว คืออะไร
          สำหรับทันย่ามีเพียงสิ่งเดียวค่ะ คือ "ต้องมุ่งมั่นตั้งใจ" ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจนั้น มันจะมีแนวทางให้เราเองค่ะ ว่าเราจะควรทำอะไร เช่น 
     "
เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว จะไม่เล่นสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกชนิด" ใช้เฉพาะที่ต้องตามข่าวสารเรื่องการสอบเท่านั้น  ร้านไหนดีร้านไหนเด็ด ขนมไหนดังลืมไปได้เลย  
     "
เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว จะมีวินัยกับตัวเองอย่างเคร่งครัด" ซิ่วอยู่บ้าน ไม่มีคนมาเช็กชื่อเช็กเวลา เช็กแถวสาย  เพราะฉะนั้นจะต้องจัดระเบียบการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง จะพลาดไม่ได้เลย
     "
เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว จะอดทนและไม่ยอมแพ้" คนที่ไปไม่ถึงปลายทางบางครั้งไม่ใช่เพราะ ระยะหนทางที่ไกล แต่อาจเป็นเพราะใจที่มันยอมแพ้ระหว่างทาง
          
ดังนั้น เมื่อเรา "มุ่งมั่นตั้งใจแล้ว เราจะทำในสิ่งที่ควรทำค่ะ"
 

 
 สนามสอบความถนัดแพทย์ เป็นยังไงบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย สอบยากไหม เตรียมตัวยังไง
          สนามสอบความถนัดแพทย์ถือว่าสำคัญนะคะ เพราะว่ามีคะแนนถึง30% ข้อสอบจะแบ่งเป็น 3 พาร์ทค่ะ คือ พาร์ทไอคิว พาร์ทจริยธรรม และพาร์ทเชื่อมโยง เล่าถึงการเตรียมตัวก่อนนะคะ สำหรับสนามนี้ในช่วงแรกๆไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาค่ะ เพราะว่าต้องแบ่งเวลาไปอ่าน 9 วิชาสามัญด้วย  แต่ก็อ่านมาเรื่อยๆ แล้วค่อยไปเน้นหนักในช่วง 2-3  เดือนสุดท้ายค่ะ พาร์ทที่ฝึกเยอะหน่อยจะเป็นพาร์ทเชื่อมโยงค่ะ เพราะว่าพาร์ทนี้เก็บคะแนนได้ไม่ยาก และคนส่วนใหญ่จะได้เต็มกัน ส่วนพาร์ทอื่นๆ ก็ฝึกทำโจทย์ค่ะ โดยจะเน้นไปที่การจับเวลาเพราะเคยทำไม่ทัน  เราลองไปสอบพรีเทสของเด็กดีมาก่อนด้วยค่ะ เพื่อจะได้ซ้อมดูว่าทำทันไหม ติดตรงไหนยังไง
          สำหรับการสอบสนามนี้ค่อนข้างเข้มงวดนะคะ ไม่อนุญาตให้นำเครื่องเขียนไปเอง  ทางศูนย์สอบจะเตรียมดินสอกับยางลบไว้ให้ และต้องประทับลายนิ้วมือด้วย ช่วงเช้าสอบพาร์ทไอคิวก่อนเลย ในปีนี้คิดว่าง่ายกว่าปีก่อนนะคะ ข้อสอบเป็นเชาวน์ทั่วไป เช่น แนวมิติสัมพันธ์ อนุกรมเลข โจทย์เลข วิเคราะห์บทความค่ะ พาร์ทจริยธรรมเป็นคำถามจริยธรรมทั่วๆ ไปเลย ไม่ได้ออกลึกเกี่ยวกับการแพทย์มาก แต่ความยากมันอยู่ตรงที่จำนวนข้อเยอะ โจทย์ค่อนข้างยาวและตัวเลือกกำกวม ต้องรีบคิดรีบทำค่ะ ส่วนพาร์ทเชื่อมโยงเป็นบทความเดียว 20 คำตอบ ซึ่งไม่ยากมาก อาจจะมีบางจุดที่ลังเลเล็กน้อย ซึ่งถ้าผิดจุดนี้อาจจะเสียไปหลายคะแนนได้ เลยกังวลนิดหน่อยค่ะ ยิ่งออกจากห้องสอบมาเจอกระทู้แชร์คำตอบกัน ใจยิ่งหวั่นๆ มีหลายทีม หลายคำตอบมาก

สนามสอบ 9 วิชาสามัญ เป็นยังไงบ้างกับการเตรียมตัว แล้วคิดว่าวิชาไหนยากที่สุด วิชาไหนง่ายที่สุด
          สนามนี้นอกจากทำให้ได้แล้ว ต้อง "ทำให้ทัน" ด้วยค่ะ แต่ละวิชามีเวลาต่อข้อน้อยมาก ทำกันแบบแทบไม่ได้หายใจ (ยกเว้นวิชาสังคมฯ นะคะ เป็นวิชาเดียวที่ฟุบหลับได้ 5555) วิธีการเตรียมตัว แบ่งเป็น วิชาทักษะ กับ วิชาท่องจำค่ะ 
     - วิชาทักษะ ได้แก่  คณิตฯ, ฟิสิกส์, เคมี, อังกฤษ, เชื่อมโยง, ชีววิทยา(พันธุศาสตร์)  ให้อ่านเนื้อหาหลักการคร่าวๆ แล้วลุยทำโจทย์เลย ทำโจทย์แบบแยกบทก่อน แล้วค่อยฝึกทำโจทย์แบบรวมบท
     - วิชาอ่าน ได้แก่ ชีววิทยา, สังคมฯ, เคมี (บางบท) ให้อ่านให้เข้าใจ แล้วทำสรุป ไม่ต้องเน้นทำโจทย์มาก แต่ให้ลองเอาข้อสอบเก่ามาทำดู เพื่อดูแนวทางว่าจะออกตรงไหน จะได้รู้ว่าควรอ่านตรงไหนบ้าง
          วิชาที่ยากจะเป็นคณิตฯ กับเคมีค่ะ คณิตฯ ยากตรงที่ออกไม่ตรงกับแนวที่เราเตรียมมา ส่วนเคมี ตอนทำรู้สึกว่าไม่ยาก แต่ทำออกมาแล้วก็ไม่ได้คะแนนตามที่คาดไว้ น่าจะมีจุดหลอกอยู่เยอะค่ะ วิชาที่ง่ายที่สุดเป็นภาษาไทยค่ะ เพราะเป็นข้อสอบส่วนใหญ่แนวอ่านแล้ววิเคราะห์ จับใจความ ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากค่ะ
 
คะแนน กสพท. กับ 4 อันดับที่เลือก เป็นยังไงบ้าง
          อันดับ 1 แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
          อันดับ 2 แพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
          อันดับ 3 แพทยศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
          อันดับ 4 แพทยศาสตร์ มศว ค่ะ
          จริงๆ ก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรในการจัดอันดับนะคะ คือ เลือกตามความชอบ แล้วจัดเรียงตามคะแนนค่ะ  เลือกหมอทั้ง 4 อันดับเลย เพราะว่าตั้งใจจะเข้าคณะนี้  อันดับ 4 เลือกคะแนนที่ไม่สูงมากเพื่อจะไม่ได้หลุดคณะแพทยศาสตร์ค่ะ 

วินาทีที่รู้ผลว่าสอบติดหมอแล้ว เป็นไงบ้าง ตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ 
          ตื่นเต้นนะคะ เพราะว่าเรารอลุ้นมาตั้งแต่ช่วงที่คะแนน 9 วิชาสามัญ ออกแล้วค่ะ ก่อนหน้านี้เข้าเว็บเด็กดีบ่อยมาก ตามกระทู้ที่แชร์คะแนนสอบ  ปีนี้ส่วนใหญ่จะได้คะแนนสูงๆ กัน คะแนนเราที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะติดหมอค่ะ แต่ต้องลุ้นว่าจะติดอันดับไหน ก่อนที่ผลจะออกเรากำลังจะตัดสินใจว่าจะหลับรอไปเลย ค่อยมาดูตอนเย็น แต่ว่ามีรุ่นน้องส่งมาบอกว่าผลออกแล้วพอดี ก็เลยไม่ได้นอนค่ะ 5555 ผลที่ออกมาคือติดมีรายชื่อในคณะที่เราเลือกอันดับ1 ดีใจมากเลยค่ะ 

ลองเล่าประสบการณ์การสอบสัมภาษณ์ของ กสพท ให้ฟังหน่อย
          การสัมภาษณ์แบ่งเป็น 2 วันค่ะ
          วันแรกในช่วงเช้าเป็นการทดสอบทางจิตวิทยาทั่วไปค่ะ เป็นคำถามประมาณ 500 ข้อ ในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง (ฝนกันปวดข้อมือเลยทีเดียว 5555) กับเป็นการวาดรูปและเขียนบรรยายค่ะ ส่วนช่วงบ่ายตรวจร่างกายทั่วๆ ไป
          วันที่สองมีการเจาะเลือดและสอบสัมภาษณ์ค่ะ เราต้องไปสัมภาษณ์กับอาจารย์ 2 ห้อง คือ ห้องจิตวิทยากับห้องทั่วไป
          ห้องจิตวิทยาก็ไม่ได้ถามอะไรเชิงจิตวิทยามาก ถามคำถามทั่วๆ ไป โดยส่วนใหญ่จะเป็นประวัติเราค่ะ เช่น ชื่ออะไร พ่อแม่ทำงานอะไร มีพี่น้องไหม ชื่อเราแปลว่าอะไร ฯลฯ
          ส่วนห้องทั่วไปก็จะเป็นคำถามสัมภาษณ์ทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีอาจารย์หลายชุดมาสัมภาษณ์ อันนี้แล้วแต่ดวงเลยค่ะว่าใครจะได้สัมภาษณ์ห้องอาจารย์ใจดี หรือห้องอาจารย์โหดๆ ส่วนของทันย่าได้ห้องกลางๆ ค่ะ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที อาจารย์ไม่ถามยากมาก ถามประมาณว่าทำไมถึงอยากเป็นหมอ ทำไมถึงเลือกศิริราช มีความเครียดไหมตอนซิ่ว เล่นดนตรีไหม เล่นกีฬาอะไร ตอนเดินขึ้นมาเห็นรูปใครบ้าง รู้ไหมท่านเป็นใคร ฯลฯ แต่เพื่อนบางคนจะเจออาจารย์โหดหน่อยจนต้องบอกว่า "ห้องจิตวิทยา นี่ถามแบบทั่วไป แต่ห้องทั่วไปคำถามจิตวิทยาสุดๆ" 55555

 

ใน 1 วันแบ่งเวลาอ่านหนังสือยังไงบ้าง
          ใน 1 วันจะอ่านประมาณ 3-4 วิชาค่ะ วิชาละประมาณ 2-3 ชม. สลับๆ กันไป จะแบ่งกลุ่มวิชาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.วิชาเน้นคำนวณ (คณิตฯ, ฟิสิกส์) 2.วิชาเน้นการอ่าน (ชีววิทยา, สังคมฯ) 3.วิชาทำโจทย์และอ่าน (เคมี, อังกฤษ) แล้วค่อยมาจัดชุดเอาตามชอบ เพื่อแก้เบื่อ 5555
          ใน 1 วัน มีให้ครบสามกลุ่ม ก็เลือกมากลุ่มละหนึ่งวิชา เช่น  คณิตฯ-สังคม-เคมี หรือ คณิตฯ-ชีวะฯ-อังกฤษ แต่ว่ามีอย่างหนึ่งที่จะเน้นหน่อยคือ คำศัพท์ เราจะท่องทุกวันนะคะ พยายามเฉลี่ยแต่ละวิชาให้เท่าๆ กันในแต่ละสัปดาห์ ยกเว้น สังคมที่จะอ่านน้อยกว่าหน่อย ส่วนวิชาภาษาไทยไม่อยู่ในตารางเพราะเป็นข้อสอบแนววิเคราะห์ มาเตรียมตัว 2-3 เดือนสุดท้ายยังทันค่ะ และในช่วงแรกไม่ได้เน้นความถนัดแพทย์มาก จะมีฝึกทำโจทย์บ้าง แล้วค่อยมาเน้นหนัก 2-3 เดือนก่อนสอบค่ะ


ใน 1 เดือนก่อนสอบ ต้องเตรียมตัวยังไง
          1 เดือนก่อนสอบจะเป็นช่วงหลังจากที่เราฝึกโจทย์มาเยอะพอสมควรแล้ว เลยจะเน้นไปที่การจำจุดสำคัญๆ และพยายามเก็บเนื้อหาให้ได้มากที่สุด แต่ว่าช่วงนี้ก็ยังคงทำโจทย์อยู่บ้าง ระหว่างทำโจทย์ไปเจอจุดไหนที่สะเพร่าหรือผิดพลาดบ่อยๆก็จดไว้ค่ะ ถ้าฝึกแนวข้อสอบเก่าก็ลองปริ้นกระดาษคำตอบมาลองฝนแล้วจับเวลาไปด้วย ซ้อมให้เหมือนจริงทุกอย่าง
          มีอีกช่วงที่สำคัญเลย คือ ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนสอบ เราจะหยุดทำโจทย์แล้วมาทบทวนเนื้อหาทั้งหมดค่ะ ดูโจทย์ที่เคยทำว่าชอบทำผิดตรงไหน มีเรื่องอะไรที่ข้อสอบมักจะหลอก แล้วเราก็โดนหลอก เนื้อหาไหนควรเน้นและออกข้อสอบบ่อยๆ ทวนให้หมดค่ะ  และสุดท้ายเลยคือการปรับเวลานอนและเตรียมร่างกายให้พร้อมค่ะ หนึ่งวันก่อนสอบต้องนอนให้พอ ห้ามง่วง หรือไปเหนื่อยล้าในห้องสอบ เพราะ "ทุกอย่างที่ทุ่มเทมาทั้งหมด  มันวัดกันที่วันสอบวันเดียว" (แต่จริงๆ แล้ว 9 วิชาสามัญ สอบ 2 วันนะคะ 5555)


ตอนนั้นท้อไหม แล้วจัดการกับความเหนื่อยหรือท้อยังไงบ้าง
          มีท้อนะคะ รู้สึกว่ายังไม่เก่งขึ้นเลย กลัวไม่ติดค่ะ บางทีก็รู้สึกเหนื่อยนะคะ ถ้าเศร้า ถ้าท้อจริงๆ ก็ให้เวลากับตัวเองสักพัก คือเศร้าได้ท้อได้ แต่ให้เวลานั่งเศร้านั่งท้อ เหนื่อย ขี้เกียจ ได้แค่แป๊บเดียว แล้วต้องรีบสลัดความท้อและความเหนื่อยนั้นออกไปค่ะ อาจนั่งฟังเพลงแนวให้กำลังใจตัวเอง มองดูคนที่สำเร็จแล้วคิดว่าเราต้องทำให้ได้ เชื่อมั่นในตัวเอง พยามยามปลุกใจตัวเองให้สู้อยู่ตลอดเวลา ห้ามท้อ ห้ามยอมแพ้  ให้คิดว่า "เศร้าไปท้อไปไม่มีประโยชน์ เอาเวลาที่นั่งเศร้ามาทำโจทย์ได้ตั้งหลายข้อ" แล้วก็กลับมาตั้งใจสู้ อ่านหนังสือต่อค่ะ

ชีวิตมัธยม VS ชีวิตมหาวิทยาลัย
          ก็เหมือนนักเรียนมัธยมปลายทั่วๆ ไปค่ะ ตอน ม.4 มีไปแข่งขันกิจกรรมบ้าง แต่พอ ม.5-6 ก็ไม่ค่อยได้ทำแล้วค่ะ ส่วนเรื่องการเรียนก็อยู่ในระดับกลางๆ ค่ะ สำหรับการเตรียมตัวเป็นเฟรชชี่ เราก็ไปร่วมกิจกรรมกับทางคณะมาบ้างแล้วค่ะ ที่ผ่านมามีงานรักแรกพบของศิริราช เป็นงาน First Meet ค่ะ  และ งานแรกพบ สพท. เป็นงาน First Meet เหมือนกันค่ะ แต่เป็นของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ ร่วมกัน 22 สถาบัน (ประมาณว่าไปส่องหมอ มหาวิทยาลัยอื่นๆ 55555) ส่วนเรื่องความกังวลตอนนี้ยังไม่มีนะคะ เรื่องการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องการเรียน เราก็พอศึกษามาบ้างแล้วว่า หมอจะเรียนหนักและเหนื่อยมาก โดยเฉพาะชั้นคลินิก คือช่วงปี 4-6 แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วค่ะ

สุดท้ายนี้ ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์เราหน่อยค่ะ :D
          ฝากถึงน้องๆ ทุกคนที่กำลังเตรียมตัวสอบนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ซิ่วหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่า ที่เรากำลังพยายามอยู่มันเหนื่อย มันท้อแท้ และไม่ไหวแล้ว เราทำไม่ได้หรอก พี่อยากให้น้องๆ ทิ้งความคิดพวกนั้นออกไป ขอให้น้องเชื่อมั่นในตัวเอง ว่าเราทำได้  ตั้งใจ อย่าท้อแท้ แล้วอดทน พยายามสู้ต่อไป ให้ถึงวันที่เราติด วันนั้นจะเป็นวันที่เรามีความสุขมาก แล้วจะรู้ว่าทุกอย่างที่พยายามมามันคุ้มค่ามากจริงๆ ค่ะ "สู้ๆ และอย่ายอมแพ้ค่ะ"
 

          ต้องบอกเลยว่าพี่ทันย่าเหมาะกับประโยคที่บอกเราว่า ความพยายามไม่เคยทรยศใคร จริงๆ ค่ะ น้องๆ คนไหนที่อยากขอคำปรึกษา หรือรู้สึกอยากได้กำลังใจ หรืออยากติดตามเคล็ดลับจากพี่ทันย่าเพิ่มเติม ก็สามารถไปติดตามและพูดคุยกับพี่ทันย่า ผ่านทางเพจ Self boosting by P’Tanya ได้เลยค่ะ พี่ทันย่าบอกว่ายินดีให้คำปรึกษาน้องๆ เต็มที่เลยค่ะ ส่วนแอดมิชชั่นไอดอลในครั้งหน้าจะเป็นใคร อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด