เตรียมตัวก่อนได้เปรียบ! มาดู 7 การเตรียมตัว รับมือ TCAS (ฉบับเด็ก ม.ต้น)


          สวัสดีค่ะ เชื่อว่าตอนนี้น้องๆ หลายคนน่าจะรู้ตัวกันแล้วว่าระบบ Admission ที่เราใช้กันมาตลอดหลายปี กำลังถูกเปลี่ยนใหม่กลายเป็นระบบ TCAS รุ่นพี่ ม.6 กำลังตื่นตัวกันมากเลย แต่พี่อีฟมองว่าระบบนี้ยิ่งรู้เร็วยิ่งดี เลยขอมาแนะนำตัว TCAS ให้เด็ก ม.ต้น ได้รู้จักกันซะหน่อย
          สิ่งที่สำคัญและน้องๆ น่าจะต้องเตรียมตัวกันหน่อย ก็คือระบบ TCAS นี้จะมีการสอบ GAT PAT เพียงแค่ครั้งเดียว และการสอบทุกอย่างจะถูกนำไปรวมอยู่ในช่วงเดียวกัน ทำให้น้องๆ ที่มาเตรียมตัวช่วงท้ายๆ อาจจะเตรียมตัวไม่ทัน วันนี้พี่อีฟเลยขอนำเคล็ดลับ 7 การเตรียมตัวในระบบ TCAS ที่ทำได้ตั้งแต่มัธยมต้น ! (ฉบับมัธยม) จะมีอะไรบ้างที่เราสามารถเตรียมตัวได้เร็วกว่าคนอื่น ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
 

 TCAS คืออะไร?
          ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงระบบ TCAS ให้น้องๆ ม.ต้น ได้รู้จักกันหน่อยค่ะ ระบบ TCAS ย่อมาจาก Thai university Central Admission System : TCAS ซึ่งเป็นระบบที่มีขึ้นเพื่อจัดระบบของโครงการรับตรงต่างๆ ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยแบ่งรับเป็น 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 รอบ Portfolio, รอบที่ 2 รอบโควตาที่มีการสอบข้อเขียน, รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน, รอบที่ 4 รอบ Admission, รอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ ซึ่งแต่ละรอบ น้องๆ จะมีสิทธิ์ Clearing house เพื่อเลือกโครงการต่างๆ ของตัวเองในแต่ละรอบ และถ้ายืนยัน clearing house ในโครงการไหนแล้ว จะไม่สามารถมีสิทธิ์เลือกในรอบต่อไปได้ และนอกจากนั้นการสอบส่วนกลางทั้งหมด เช่น O-NET, 9 วิชาสามัญ, GAT PAT จะถูกนำไปจัดสอบในช่วงหลังจบ ม.6 โดยมีช่วงเวลาในการสอบใกล้เคียงกัน และ GAT PAT จะมีการสอบเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมในระบบนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่วันนี้เราจะไปดูกัน

 1.เกรดต้องพร้อม
          ระบบ TCAS รอบที่ 1-3 เป็นรอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดรับเยอะมาก ซึ่งทำให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย เริ่มมองเห็นความสำคัญของการรับน้องๆ ที่มีคุณสมบัติตรงกับคณะนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งรอบที่ 1 หรือรอบ Portfolio นั้น ไม่ได้หมายถึงว่าน้องๆ ต้องมีผลงาน Portfolio เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโครงการต่างๆ ที่มีเกรดหรือคะแนนพิเศษอื่นๆ ป็นตัวตัดสินด้วย
          ใครที่ไม่ตั้งใจเรียน แล้วคิดว่าค่อยมาฟิตเกรดตอนท้ายๆ พี่อีฟบอกเลยว่าไม่ทันแน่นอนค่ะ เพราะรับตรงส่วนใหญ่จะใช้เกรดรวม 4-6 เทอม เร่งตอนท้ายแต่ตอนต้นห่อเหี่ยวมาเลย ก็จะเร่งไม่ขึ้นนะคะ เท่านั้นไม่พอบางโครงการกำหนดเกรดขั้นต่ำในการสมัครด้วย ดังนั้นยิ่งเราทำเกรดได้มากเท่าไหร่ โอกาสในการยื่นโครงการต่างๆ ก็ยิ่งมีมากเท่านั้น น้องๆ ควรตั้งใจเรียนในห้องเรียน และเก็บเกรดให้พร้อมในทุกเทอมดีกว่าค่ะ

 2.ฝึกทำ Portfolio ให้เป็น
        ในระบบเดิม การมี Portfolio ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและได้เปรียบ ส่วนในระบบ TCAS รอบที่ 1 รอบ Portfolio ถึงจะบอกว่าไม่ใช่แค่รับแบบใช้ Portfolio อย่างเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่า Portfolio ต้องมีส่วนสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
          ในรอบนี้ น้องๆ ที่อยู่ในชั้นม.ต้น อาจจะยังไม่ต้องถึงกับทำเล่มหรือไฟล์ Portfolio เก็บไว้ก็ได้ค่ะ เพราะยังมีเวลาเก็บรวบรวมผลงานกันอีกหลายปี แต่โปรแกรมต่างๆ ที่เราสามารถทำให้ Portfolio เราน่าสนใจมากขึ้น เช่น Photoshop, Illustrator หรือรวมไปถึงงานฝีมือ เช่น งาน Zine , งาน Craft ก็เป็นสิ่งที่น้องๆ สามารถฝึกหัดกันได้ตั้งแต่ชั้น ม.ต้นเลย ฝึกหัดทำวันละนิดละหน่อย หรือลองทำหลายโปรแกรม ลองดูว่าโปรแกรมไหนที่ทำง่ายและเหมาะกับเราที่สุด กว่าจะถึงชั้นม.6 รับรองว่าน้องๆ จะมีไอเดียดีๆ ในการทำ Portfolio แน่นอนค่ะ
 

 3.เข้าร่วมกิจกรรมเข้าไว้
         ความน่าสนใจของ Portfolio นอกจากความสวยงามแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือกิจกรรมต่างๆ ที่น้องๆ ขนมาใส่ใน Portfolio กันนี่แหละ บางคนก็เอากิจกรรมตั้งแต่ชั้นอนุบาลมาใส่กันเลย น้อยใหญ่ก็ไม่เกี่ยง ขอแค่พอมีผลงานและกิจกรรมต่างๆ ให้กรรมการได้มองเห็น ประโยชน์ของการทำกิจกรรมไม่ใช่แค่เพื่อทำพอร์ตฟอลิโอเท่านั้น แต่น้องๆ ยังได้ทักษะต่างๆ จากกิจกรรมที่เข้าร่วมแล้ว ซึ่งถ้าเป็นกิจกรรมตรงกับคณะที่เราอยากเข้าก็ยิ่งดี อาจารย์อาจจะสนใจเราเป็นพิเศษค่ะ
         นอกจากนี้ น้องๆ บางคนอาจจะค้นพบตัวเองหรือค้นพบคณะที่อยากเข้า จากกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าร่วมก็ได้ ตอนนี้น้องๆ ม.ต้น ยังมีเวลาเหลืออีกเยอะค่ะ ลองมองหากิจกรรมที่น่าเชื่อถือและน่าสนใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองอะไรใหม่ๆ และได้ค้นหาตัวเองจากกิจกรรมที่เข้าร่วม นอกจากจะได้รับทั้งสาระและประวัติการเข้าร่วมงานแล้ว ความสนุกของช่วงเวลานี้ในชั้นมัธยม ก็หาไม่ได้อีกแล้วในมหาวิทยาลัยค่ะ
 

4.วางแผนการเงินล่วงหน้า
          ถึงแม้ระบบ TCAS จะช่วยทำให้น้องๆ ลดค่าใช้จ่ายในการไปสอบในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ยังไงก็ตาม การจัดสอบแต่ละครั้ง ก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายค่ะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์, GAT PAT, 9 วิชาสามัญ รวมทั้งการยืนยันสิทธิ์แต่ละรอบก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้น เราก็พอจะมองเห็นค่าใช้จ่ายในช่วงนั้น หรือสามารถวางแผนการเงินคร่าวๆ ได้แล้วใช่ไหมคะ
         การวางแผนการเงินล่วงหน้า นอกจากจะทำให้น้องๆ ไม่พลาดในโครงการต่างๆ รวมไปถึงเตรียมตัวด้านการเงินทันแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้น้องๆ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ เช่น การทำงานพิเศษปิดเทอม, การลดค่าขนมในแต่ละวัน ฯลฯ ถือเป็นการสร้างความรับผิดชอบตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้นเลย 

5.อ่านหนังสือเตรียมพร้อม 
          ถึงแม้ว่าระบบ TCAS จะสนับสนุนเรื่องการเรียนในห้องเรียน โดยรวมทุกการสอบให้ไปอยู่หลังเรียนจบ ม.6 แต่ก็มีเรื่องให้ต้องระวังคือ หลายคน อาจจะประมาทและเผลอลืมว่าการสอบในช่วงเวลาที่ติดๆ กัน จะทำให้เตรียมตัวและอ่านหนังสือกันไม่ทัน ซึ่งถ้าพลาดแล้ว ก็พลาดกันไปเลยนะคะ รอบนี้ GAT PAT ไม่มีแก้ตัวนะ เพราะสอบกันแค่รอบเดียว
     
     ดังนั้น ยิ่งเรารู้ว่าการสอบแต่ละครั้งสำคัญยังไง ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอ่านหนังสือกันแบบเต็มที่ ฝึกทำโจทย์ในทุกๆ วัน วันละนิด วันละหน่อย ตั้งแต่ชั้น ม.ต้น อย่าลืมว่าทำโจทย์วันละ 1 ข้อ ภายใน 1 ปี เราก็เจอโจทย์ไป 365 ข้อแล้ว ใครที่ยังอยู่ม.ต้น หรือม.4-5 ก็อย่าลืมใช้เวลาที่เหลือ อ่านหนังสือเตรียมพร้อมกันเลยค่ะ

 

6.หาคณะเป้าหมายให้เจอ
          การเตรียมตัวที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการเตรียมตัวที่มีจุดมุ่งหมายค่ะ เรารู้ตัวเองว่าเราเตรียมตัวไปเพื่ออะไร หรือเพื่อคณะไหน เลองนึกดูว่าถ้าน้องๆ ยังหาตัวเองไม่เจอ แต่ติดคณะในรอบที่ 1 แล้วกดยืนยันสิทธิ์เลือกเรียนไปแล้ว แต่มาค้นพบคณะที่ตัวเองอยากเข้าจริงๆ อยู่ในรอบที่ 3 จะรู้สึกเสียดายแค่ไหน การค้นพบตัวเองช้าหรือการที่ยังไม่มีคณะเป้าหมายในใจในช่วงก่อนชั้น ม.6 จะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การที่เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้เราวางแผนไปสู่เป้าหมายได้ง่ายกว่าค่ะ
     
     ดังนั้น ในช่วงมัธยม น้องๆ ควรลองใช้เวลาค้นหาตัวเองให้เจอ ลองเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีการแนะนำคณะ เช่น งาน Fair ของมหาวิทยาลัย, งาน Open House หรือค่ายของคณะต่างๆ ฯลฯ เพราะยิ่งน้องๆ มีคณะเป้าหมายในใจเร็วเท่าไหร่ การวางแผนสำหรับการเข้าคณะก็จะง่ายเท่านั้น

 

7.วางแผนในรอบที่ใช่ 
          เชื่อว่าพี่ๆ ม.6 ยังสับสนกับ TCAS อยู่บ้าง และยังไม่รู้วิธีวางแผนการสอบกันเท่าไหร่ แต่น้องๆ ม.ต้นและน้องๆ ม.4-5 ที่มีโอกาสได้เห็นระบบนี้ล่วงหน้า ก็ควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ รีบทำความเข้าใจระบบในแต่ละรอบให้ชัดเจน เพื่อที่ว่าเราไปอยู่ ม.6 แล้ว ทุกอย่างจะได้ลงตัวและง่ายขึ้นค่ะ 
     
     ดังนั้น การวางแผนในรอบที่ใช่ เลยถือเป็นสิ่งสำคัญที่น้องๆ มัธยมควรทำค่ะ ใครที่เรียนไม่เก่ง พยายามแค่ไหนก็ยังได้คะแนนไม่ค่อยดี แต่รู้ตัวว่าตั้งใจเรียนและเกรดดี มีความสามารถก็อาจจะมีโอกาสติดในรอบที่ 1-2 ก่อนเพื่อนเลยก็ได้ค่ะ หรือถ้าใครไม่มีผลงาน ไม่มีความสามารถพิเศษ แต่รู้ว่าตัวเองจำเก่ง อ่านหนังสือเยอะ ทำโจทย์ได้ ก็อาจจะทุ่มเทให้ตัวเองติดรอบที่ 3 หรือ 4 ได้เลย เห็นไหมคะว่าการวางแผนในรอบที่ใช่ มีความสำคัญมากแค่ไหน สำหรับน้องๆ มัธยม
 

          เป็นยังไงกันบ้างคะ กับทั้ง 7 วิธีการเตรียมตัวที่พี่อีฟเอามาฝากกัน จะเห็นว่าถึงแม้ระบบใหม่ TCAS จะทำให้น้องๆ ต้องกังวลกับการสอบที่เกิดขึ้นเพียงรอบเดียว และอาจจะสอบในช่วงเวลาเดียวกัน แต่อย่าลืมว่าการวางแผนที่ดี และมีเวลาเตรียมตัว ก็จะช่วยทำให้น้องๆ สามารถรับมือได้กับทุกสนามสอบแน่นอนค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด