สัมภาษณ์ BE กริยาในภาษาอังกฤษที่เป็น "ควีน" ยิ่งกว่าคุณแม่บีเดอะเฟซ

        เห็นหัวข้อแล้วน้องๆ ชาวเด็กดีคงสงสัย พี่น้องไม่มีอะไรทำแล้วเหรอคะ ถึงได้นั่งคุยกับตัวเอง
        แต่จากผลการวิจัยของสถาบันเอบีซีเล็กสตาร์ทแล้วพบว่า ทำบทสัมภาษณ์สอนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษนี่แหละ เข้าใจง่ายกว่า (ไปอ่านบทสัมภาษณ์คุณ I ได้ที่นี่ >>>
อย่าเพิ่งคลิก อ่านอันนี้ก่อนสิ)
        บทความนี้ พี่น้องก็เลยขออัญเชิญตัวแม่แห่งวงการกริยาในภาษาอังกฤษ
Queen BE ของจริงมาให้สัมภาษณ์กันสักหน่อยว่าชีวิตการทำงานของคุณพี่ BE เป็นอย่างไรบ้าง
พี่น้อง: "ขอเชิญพี่ BE แนะนำตัวหน่อยค่ะ"
BE: "สวัสดีค่ะ น้องๆ เด็กดีทุกคน ชื่อ BE ค่ะ"
 
พี่น้อง: "ในบรรดากริยาทั้งหมดของภาษาอังกฤษ
ได้ข่าวว่าคุณ BE เป็นตัวท็อปของวงการเลยใช่มั้ยคะ?"
BE: "แน่นอนค่ะ ถ้าเทียบกันก็เหมือนวงการนางแบบ มีตั้งแต่ระดับตัวแม่ไปจนถึงหน้าใหม่ทั่วไป พี่ BE อยู่ในวงการนี้มานานย่อมเป็นตัวท็อปอยู่แล้วค่ะ"
 
พี่น้อง: "ได้ข่าวว่าพี่ BE เล่นละครมาหลายบทบาทด้วย
จนคนจำชื่อพี่ BE เป็นชื่อตัวละครตัวนั้นไปเลย"
BE: "ใช่ค่ะ พี่เคยเล่นเป็น is am are was were been คือพี่เล่นมาหมดแล้วทุกบทบาท แต่ละบทบาทมันก็ให้อารมณ์ต่างกันไปค่ะ"
BE: "คนก็เลยชอบเข้าใจผิดคิดว่าพี่เนี่ยชื่อ is บ้าง ชื่อ are บ้าง ไม่รู้กันเลยว่าไอ้ is am are was were been ทั้งหมดเนี่ย ก็คือพี่ BE นี่แหละค่ะ"
 
พี่น้อง: "อธิบายให้น้องๆ ฟังหน่อยได้มั้ยคะว่า
วงการกริยาในภาษาอังกฤษมันเป็นมายังไง"
BE: "คืออย่างนี้ค่ะ วงการเราอยู่ได้ด้วยกริยา 3 กลุ่ม ได้แก่ Full Verb (ฟูล เวิร์บ) เป็นกริยาทั่วไป เช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน ฯลฯ ที่ทำได้หน้าที่เดียวคือเป็นกริยาหลักของประโยค คอยบอกว่าประธานทำอะไร พวกนี้ก็คือกริยาเกือบทั้งหมดที่เรารู้จัก"
BE: "กลุ่มที่ 2 คือ Modal Verb (โมดัล เวิร์บ) เป็นกริยาช่วย ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังกริยาทั่วไป คอยช่วยขยายความว่าประธานทำกริยานั้นอย่างไร Modal Verb มีแค่ไม่กี่ตัว ที่เจอบ่อยๆ ก็ will would shall should can could may might"
BE: "Modal Verb พวกนี้อยู่ด้วยตัวมันเองไม่ได้ มันอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับประโยค ยังไงก็ต้องมาคู่กับ Full Verb ตรงข้ามกับ Full Verb ที่อยู่เดี่ยวๆ ตัวเดียวก็ยังได้ แต่มันจะไม่ไปช่วยกริยาตัวอื่นเด็ดขาด
        กริยา 2 กลุ่มนี้ไม่ทำงานเกินหน้าที่ เทียบกันก็เหมือน Full Verb เดินแบบได้อย่างเดียว ส่วน Modal Verb อยู่หลังเวทีได้อย่างเดียว

 
BE: "ทีนี้ก็มาถึงตัวพี่ BE ค่ะ พี่จัดเป็นกริยากลุ่มที่ 3 หรือกริยาที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าชาวบ้าน เราเรียกกริยากลุ่มนี้ว่า Primary Verb (ไพรมารี่ เวิร์บ) นอกจากพี่ BE ก็ยังมีน้อง HAVE กับน้อง DO ค่ะ"
พี่น้อง: "มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าชาวบ้านนี่หมายความว่าไงคะ?"
BE: "นี่ไงคะ พี่กำลังจะเล่าให้ฟัง พวกพี่ BE เนี่ย จะเป็นกริยาหลักของประโยคก็ได้ จะเป็นกริยาช่วยของประโยคก็ได้ พูดง่ายๆ ก็เหมือนจะทำงานเป็นนางแบบ หรือจะทำงานเป็นเบื้องหลังก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไรค่ะ เพราะเราเป็นเจ้าแม่ของวงการนี้"
พี่น้อง: "ถ้างั้นอย่างพี่ BE เนี่ย ทำอะไรได้บ้างคะ?"
BE: "ตัวพี่ทำได้หลายอย่างค่ะ หลักๆ แล้วพี่ชอบ classify คน สัตว์ สิ่งของค่ะ"
 
พี่น้อง: "อ่า..."
BE: "ก็อย่างเช่น ผู้ชายคนนี้เป็นคนแข็งแรง ผู้หญิงคนนี้เป็นนางพยาบาล กุหลาบช่อนั้นสีขาว สุนัขตัวนี้อายุ 3 ขวบแล้ว จะบอกว่าพี่ขี้เม้าท์ ชอบตัดสินก็ได้ค่ะ พี่ชอบมองคนอื่นแล้วก็ตัดสินว่าคนนั้นทำอะไร คนนี้เป็นอะไร"
พี่น้อง: "อ๋อ แล้วมีอะไรอีกคะ?"
BE: "พี่หาของเก่งด้วยค่ะ รองเท้าในตู้ จานบนโต๊ะ นกบนฟ้า พี่รู้ตำแหน่งของมันหมดแหละค่ะ"
พี่น้อง: "แล้วงานเสริมของพี่ BE ในฐานะกริยาช่วยคืออะไรบ้างคะ?"
BE: "จ๊อบเสริมในฐานะคนเบื้องหลังพี่ทำเยอะมาก แต่บางคนเรื่องมาก สุดท้ายพี่เลยตัดสินใจร่วมงานแค่กับ V.ing หรือ V.3"
BE: "เพราะงั้นใครจะจ้างพี่ให้ไปร่วมงานกับพวกกริยาทั่วๆ ไป ไม่ผันไม่อะไรเลย หรือกริยาช่องอื่นๆ เนี่ย พี่ไม่ทำนะคะ พี่ไม่ถนัด"
 
พี่น้อง: "อ๋อ...แล้วที่มีข่าวลือว่าคุณ BE ไม่ถูกกันกับ not จริงมั้ยคะ?"
BE: "ไม่ถูกกันคืออะไรคะ? พี่ก็ร่วมงานได้ น้องคิดดูค่ะ not เขาค่อนข้างไว้ตัว เวลาทำงานกับกริยาตัวไหนก็ต้องมี DO เข้ามาเป็นตัวกลางตลอด แต่พี่ไม่ค่ะ ถ้า not อยากร่วมงานกับพี่ ก็ร่วมงานได้เลย ไม่ต้องมีใครมาเป็นตัวกลาง แฟร์ๆ ค่ะ"
BE: "คือพี่เข้าใจว่า DO เขาก็เป็นนางแบบระดับแนวหน้า not ก็คงเกรงใจ หลายคนเลยเรียกให้มาเป็นไม้กันหมา...อุ๊ย...พี่หมายถึง เป็นตัวกลาง แต่สำหรับพี่ พี่ไม่ต้องการเสืออีกตัวมาอยู่ถ้ำเดียวกันค่ะ พี่อ้วน ถ้ำมันเล็ก"
พี่น้อง: "อ่า...งั้นที่ว่าถ้าจะเปลี่ยนประโยคบอกเล่าให้เป็นประโยคคำถาม
สำหรับพี่ BE ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ DO เหมือนกริยาตัวอื่นๆ นี่ก็เรื่องจริงสินะคะ"
BE: "พี่บอกแล้วค่ะ พี่แฟร์ๆ ไม่จำเป็นต้องมี DO มาช่วยให้เปลืองแรงนะคะ พี่คนเดียวเอาอยู่ จะประโยคปฏิเสธ หรือประโยคบอกเล่าก็มาเถอะค่ะ"
พี่น้อง: "เวลาจะหมดแล้ว พี่ BE มีอะไรจะฝากน้องๆ
ที่กำลังคิดจะจ้างพี่ BE ไปทำงานบ้างมั้ยคะ?"
BE: "ก็ไม่อะไรมากค่ะ พี่อยากจะเตือนน้องๆ ว่าต้องแยกให้ออกนะคะว่าจะจ้างพี่ไปทำงานเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง มันคนละเรตกันค่ะ ถ้าจะให้พี่ไปเป็นกริยาหลักของประโยค พี่จะมีความหมายว่า เป็น, อยู่, คือ แต่ถ้าให้พี่ไปทำเบื้องหลังเป็นกริยาช่วย พี่ต้องมีกริยาอีกตัวมาให้พี่ช่วย ซึ่งพี่จะช่วยเฉพาะกริยาที่อยู่ในรูป V.ing กับ V.3 เท่านั้นนะคะ ตัวอื่นพี่ไม่ช่วยค่ะ"
 
พี่น้อง: "แหม สมแล้วที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Queen BE แห่งวงการกริยาภาษาอังกฤษนะคะ หวังว่าคราวหน้าจะไม่ได้มาคุยกันอีก วันนี้พี่น้องและพี่ BE ก็คงต้องขอลาไปก่อน หวังว่าน้องๆ ชาวเด็กดีจะเข้าใจกริยาตัวนี้กันมากขึ้น และอย่าลืมคำที่พี่ BE สอนนะคะ จะได้ไม่ต้องเข้าห้องดำค่ะ"
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น