พกเงินไปใช้ที่ต่างประเทศ วิธีไหนเวิร์คสุด?


      สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องเงิน เรื่องทองนั่นเอง น้องๆ หลายคนที่ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษก็คงต้องใช้เงินไม่น้อยเลย แล้วจะเอาไปยังไงดี เอาไปแล้วจะเก็บไว้ที่ไหนล่ะถึงจะปลอดภัย จะขุดหลุมใส่ไหเก็บไว้แบบโบราณก็ใช่เรื่อง วันนี้พี่มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ ที่สำคัญคือสามารถนำเทคนิคพวกนี้ไปใช้กับประเทศอื่นๆ ได้เหมือนกันนะคะ


 
เตรียมพร้อมก่อนบิน
  
      เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนไปกันเลย น้องๆ ควรไปขอหลักฐานบัญชีเงินฝากหรือ statement จากธนาคารที่เมืองไทยไปด้วย บอกให้เค้าระบุ ชื่อ ที่อยู่ ของเรา เป็นภาษาอังกฤษ เพราะบางธนาคารที่อังกฤษเค้าจะขอหลักฐานนี้เพื่อใช้ในการเปิดบัญชีค่ะ แล้วก็ทำบัตรเดบิตไว้กดเงินไปด้วย บัตรพวกนี้สามารถเอาไว้ใช้จองที่พักและรูดซื้อสินค้าได้อีกด้วย  

       ตู้กดเงินที่อังกฤษจะสามารถกดได้สูงสุดตามจำนวนที่แต่ละตู้กำหนดไว้ ส่วนใหญ่ตู้ของ Lloyds จะกดได้ครั้งละ 800 ปอนด์ (ประมาณ 37,000 บาท) ของ HSBC จะกดได้ครั้งละ 590 ปอนด์ (ประมาณ 27,000 บาท) ซึ่งการกดแต่ละครั้งจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 บาทไทยค่ะ

วิธีการจ่ายค่าเทอม

      น้องๆ ที่กังวลเรื่องการจ่ายค่าเทอม เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่จำนวนมาก มีสามวิธีให้เลือกใช้ตามความสะดวกเลยค่ะ 

1. ถือไปเอง วิธีนี้เสี่ยงมาก ถ้าหายแล้วหายเลย บ๊ายบาย ลาก่อน แต่ก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ถ้าใครคิดจะเลือกวิธีนี้จริงๆ พี่แนะนำให้หากระเป๋าคาดเอวเล็กๆ ใบนึง ใส่เงินไว้ และควรแยกเงินซ่อนไว้ในเสื้อหรือกางเกงที่มีซิปเยอะๆ กระจายไว้หลายๆ ช่อง 

2. การซื้อตั๋วแลกเงิน Draft วิธีนี้ปลอดภัยที่สุด เพราะหน้าตั๋วจะระบุชื่อเราชัดเจนให้จ่ายตามชื่อผู้รับเท่านั้น และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพียงแค่ประมาณ 200 บาทต่อฉบับเท่านั้น แต่เมื่อน้องเอาตั๋วนี้ไปขึ้นเงินกับธนาคาร จะต้องรอประมาณ 3-5 วันทำการ ถึงจะขึ้นเงินได้ ถ้าใครไม่รีบใช้เงินวิธีนี้ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร 

3. วิธีสุดท้ายก็คือ การโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งการโอนเงินมีอยู่สองรูปแบบ (ต้องระวังให้ดี) แบบแรกคือผู้โอนเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียม ผู้รับก็จะรับเงินเต็มจำนวน อีกแบบคือผู้รับเงินเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมจากธนาคารฝั่งอังกฤษเอง ถ้าที่บ้านโอนเงินค่าใช้จ่ายมาให้เรา คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าโอนไปจ่ายค่าเทอมแล้วไม่ครบเนี่ย เกิดปัญหาใหญ่แน่ๆ เพราะถ้าใครโดนมหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมย้อนหลังราคาสูงปรี๊ดเนี่ย หนาวแน่นอน พี่จะยกตัวอย่างให้ดู ลองสมมติว่าผู้ปกครองของเราจะโอนเงิน 10,000 ปอนด์ ไปยังปลายทางประเทศอังกฤษ 


      -  กรณีที่ผู้โอนเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียม ให้บอกทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารว่าต้องการโอนเงินโดยให้ผู้รับรับเต็มจำนวน วิธีนี้ทางผู้โอนต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งของธนาคารในประเทศไทย (ประมาณ 500 บาท) และธนาคารที่ประเทศอังกฤษ (ประมาณ 1,200 บาท) รวมแล้วก็จะต้องค่าธรรมเนียมทั้งหมด 1,700 บาทต่อการโอนหนึ่งครั้ง ผู้รับปลายทางก็จะได้รับเงินครบจำนวน 10,000 ปอนด์ ถ้าใครจะโอนเงินค่าเรียนให้ทางมหาวิทยาลัยให้ใช้วิธีนี้นะคะ 

      -  ส่วนถ้าทางบ้านจะโอนเงินมาให้น้องๆ ใช้จ่ายทั่วไป พี่แนะนำให้ใช้แบบกรณีที่ผู้รับเงินเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมจากธนาคารฝั่งอังกฤษเอง จะเสียค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าค่ะ เพราะค่าธรรมเนียมฝั่งอังกฤษจะอยู่ที่ประมาณ 7 ปอนด์ และทางบ้านก็เสียแค่ค่าธรรมเนียมส่วนของประเทศไทย (ประมาณ 500 บาท) เท่านั้น ดังนั้นผู้รับจึงจะโดนหักแค่นิดเดียว และจะได้รับเงิน 9,993 ปอนด์ การโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต สามารถโอนได้อย่างง่ายดาย แบบคลิกปุ๊บเงินถึงปั๊บ ข้อดีคือสะดวกและรวดเร็วที่สุด แต่จะเสียค่าธรรมเนียมแพงกว่าซื้อตั๋วแลกเงินและต้องระวังเรื่องความปลอดภัยทางเทคโนโลยีอย่างยิ่ง

เปิดบัญชีที่อังกฤษทำยังไง

       ถ้าใครอยู่นานเกิน 6 เดือน พี่แนะนำให้ไปเปิดบัญชีธนาคารของที่อังกฤษไปเลย เลือกธนาคารที่อยู่ใกล้ที่พักหรือที่เรียนก็ได้ อย่างเช่น ธนาคารเนชั่นเนลเวสต์มินเตอร์ (National Westminister: NatWest) ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) โดยหลักฐานที่ใช้ในการเปิดบัญชีก็มีดังนี้ หนังสือเดินทาง หลักฐานการเรียนจากทางโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ ที่อยู่ และคอร์สที่เรียน ระบุชัดเจน และบางมหาวิทยาลัยจะขอหลักฐานบัญชีเงินฝากจากประเทศไทยด้วย

wikimedia.org

       การเปิดบัญชีที่ประเทศอังกฤษจะแบ่งเป็นสองประเภท คือบัญชีกระแสรายวัน และ บัญชีออมทรัพย์ น้องๆ ควรเปิดไว้ทั้งสองบัญชี เผื่อไว้ว่าเกิดกรณีบัตรหาย หรือบัญชีไหนมีปัญหา จะได้มีอีกบัญชีไว้ใช้ มาดูรายละเอียดแต่ละบัญชีกันดีกว่า 

1.  บัญชีกระแสรายวัน (Current Account) บัญชีนี้ให้ดอกเบี้ยไม่มากนัก ใช้สำหรับทำธุรกรรมเข้าออก อย่างรูดซื้อของทั่วไป และ การใช้จ่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการตัดค่าโทรศัพท์มือถือในแต่ละเดือนด้วย เงินในบัญชีนี้ไม่จำเป็นต้องทิ้งไว้เยอะ แต่ควรมีไว้พอสมควร แต่ควรที่จะเพียงพอต่อการใช้งาน ยิ่งถ้าถึงวันตัดค่าโทรศัพท์แล้วเรามีเงินไม่ถึง อาจจะโดนชาร์จเรียกเก็บหลายตังค์เลย 

2.  อีกบัญชีที่เรียกว่า บัญชีออมทรัพย์ (Saving Account) ดอกเบี้ยในบัญชีนี้สูงกว่าบัญชีกระแสรายวันเล็กน้อย เหมาะสำหรับการเก็บเงินก้อนใหญ่อย่างค่าเทอม ถ้าน้องคนไหนมีเงินฝากในบัญชีนี้สูงมาก ทางธนาคารจะแนะนำให้อัพเกรดบัญชีเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่น้องก็ต้องปฏิบัติตามกฎที่ธนาคารกำหนด เช่น อาจจะมีเงื่อนไขให้ถอนได้กี่ครั้งต่อปี และต้องมีเงินขั้นต่ำเท่าไหร่


ธนาคาร NatWest

       สำหรับธนาคาร NatWest ใครจะไปเปิดบัญชีต้องทำการนัดหมายกับทางธนาคารก่อน เตรียมหลักฐานไปให้ครบ ใช้เวลาในการทำธุรกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง ธนาคารนี้ถ้าเป็นบัญชีกระแสรายวันส่วนใหญ่จะเปิดแบบบัญชีขั้นต้น (Step Account) หรือบัญชีนักเรียน (Student Account) ส่วนบัญชีออมทรัพย์ให้เปิด First Reserve Account ซึ่งบัญชีแบบนี้ถ้ามีเงินฝากเยอะ จะสามารถเลือกระดับบัญชีอื่นๆ ได้เพื่อเพิ่มจำนวนดอกเบี้ย เมื่อเปิดบัญชีแล้วก็จะได้รับบัตรเดบิตที่เรียกว่า Solo Card เวลาไปทำธุรกรรมฝากถอน ก็เอาบัตรใบนี้ไปด้วยค่ะ

ธนาคาร HSBC

      สำหรับธนาคาร HSBC บัญชีกระแสรายวันของธนาคารนี้ต้องเปิดบัญชีสำหรับนักเรียนนานาชาติ (International Student Account) ซึ่งมีหลายรูปแบบและบัญชีต้องเสียค่าธรรมเนียมรายเดือนด้วย โดยมีของแถมมากมายมาล่อใจ แต่เรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครชอบไม่ชอ ส่วนของบัญชีออมทรัพย์เมื่อสมัครแล้ว จะมีบัญชีต่างๆ ให้เลือกอีก แบบออมทรัพย์ออนไลน์ (Online Saver Account) ก็น่าสนใจนะคะ ได้ดอกเบี้ยสูงดี แต่มีข้อแม้ว่าถ้าเดือนไหนถอนเงิน เดือนนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย และการทำธุรกรรมต่างๆ ต้องทำผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว บัญชีนี้เหมาะสำหรับการเก็บเงินก้อนใหญ่ พวกค่าเทอมหรือค่ากินอยู่ที่ถูกโอนมาล่วงหน้านานๆ

       การทำธุรกรรมฝากเงินของที่นี่ จะต้องเขียนใบนำฝากเหมือนบ้านเราเลย สามารถหยิบได้ที่ธนาคาร เขียนชื่อ เลขที่บัญชี กรอกจำนวนเงินที่นำฝาก แล้วเซ็นชื่อ ส่วนใบถอนเงิน จะถูกส่งไปให้ที่บ้าน ต้องใช้ใบนั้นเท่านั้น แต่ถ้าถอนไม่เยอะ จะสามารถใช้ Solo Card กดจากเครื่องได้เลย


city.ac.uk

Internet Banking

       ใครเปิดบัญชีเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมสมัคร Internet Banking ไว้ดูการทำรายการต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยนะคะ ธนาคารที่ประเทศอังกฤษไม่มีสมุดฝาก เวลาฝากเงินทางเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ (เรียกว่า Cashier) จะให้เพียงแค่ใบเสร็จเท่านั้น และน้องๆ สามารถขอสมุดเช็คจากธนาคารไว้ใช้ได้เลยค่ะ 

      
       ใครกำลังจะเดินทางไปเรียนต่อ อย่าลืมศึกษาข้อมูลไว้ให้ดี เลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดที่เข้ากับเรา รับรองว่าใช้เงินสบายใจหายห่วงแน่นอนค่ะ
ทีมเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น