How to สมัครเรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร

       สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ หลายคนที่คิดอยากจะไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอังกฤษ คงกำลังสงสัยอยู่ว่าจะสมัครเรียนยังไงดีนะ? การสมัครเรียนด้วยตัวเองถือเป็นการฝึกช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม ตามหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ดังนั้นวันนี้พี่จะมาช่วยผ่อนแรงโดยการเล่าให้ฟังว่าการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยด้วยตนเองต้องทำยังไงบ้างค่ะ


 

การเปิดรับสมัคร
 
      มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรจะเริ่มเปิดรับสมัครประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งเปิดเทอมอีกทีก็เดือนกันยายนของปีถัดไป น้องๆ ที่สนใจไปเรียน บางคนอาจจะต้องเตรียมตัวกันข้ามปีเลยทีเดียว  บางคณะจะปิดรับสมัครช่วงเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำแล้ว จะปิดรับสมัครเร็วกว่าปกติ เพราะอัตราการแข่งขันและความต้องการค่อนข้างสูง

       ส่วนใหญ่คณะกรรมการจะแบ่งการคัดเลือกหลักๆ เป็น 2 ช่วง คือ ก่อนมกราคม และหลังมกราคม (กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และบางแห่งจะพิจารณาถึง มิถุนายน) พี่ขอแนะนำให้สมัครก่อนช่วงคริสต์มาส เพราะหลังจากนี้จะมีวันหยุดระหว่างช่วงปีใหม่ หรือ ให้สมัครอีกทีอย่างช้าก็ก่อนเดือนมีนาคม เผื่อว่าน้องบางคนอาจจะต้องไปเรียนปรับพื้นฐานก่อนที่คอร์สเรียนจริงจะเริ่มขึ้น สำหรับน้องที่ต้องการสมัครเรียนด้านกฎหมายหรือทำเก็บข้อมูล MPhil PhD ด้านต่างๆ รวมถึงการขอทุน ควรรีบสมัครซะตั้งแต่เนิ่นๆ ในช่วงแรกๆ เลย เพราะบางสาขาในเดือนมีนาคมอาจจะปิดรับสมัครแล้ว

      ก่อนอื่นเลย น้องๆ ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าสนใจเรียนสาขาอะไร จากนั้นให้ดูคะแนน พิจารณาคุณสมบัติ แล้วจึงเลือกมหาวิทยาลัยตามคณะที่สนใจ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.timesonline.co.uk/tol/life_and_style/education/good_university_guide และ www.ft.com/businesseducation/mba/education.guardian.co.uk จากนั้นก็เข้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่สนใจ โดยเว็บไซต์ที่เป็นทางการด้านการศึกษาของสหราชอาณาจักรจะลงท้ายด้วย .ac.uk 


ระยะเวลาเรียน

     การเรียนในระดับปริญญาโทจะใช้เวลาทั้งหมด 1-2 ปี ส่วนปริญญาเอกใช้เวลาประมาณ 3 ปีขึ้นไป โดยคอร์สต่างๆ มีดังนี้

- คอร์ส Taught course คือคอร์สที่มีการเรียนการสอน 
- คอร์ส Research เป็นคอร์สสำหรับทำวิจัย 
- คอร์ส Master of Philosophy (MPhil) และ Doctor of Philosophy (PhD) เน้นทำวิจัยเช่นกัน โดย MPhil จะเป็นคอร์ส 1-2 ปี สำหรับปริญญาโท ส่วนปริญญาเอกปกติจะใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป เมื่อจบการศึกษาจะได้ PhD แต่ถ้าไม่ผ่านจะได้ MPhil แทน 

       ส่วนน้องๆ ที่สงสัยเรื่องความแตกต่างของ Master of Science (MSc) และ Master of Arts (MA) นั้น จริงๆ แล้วมันก็มีความหมายตรงตัวเลยค่ะ บางทีคอร์สเดียวกันของแต่ละมหาวิทยาลัย อาจจะใช้ต่างกัน ไม่ต้องตกใจ เพราะเราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของคอร์สว่าสอนอะไรบ้าง หากเป็น MSc ส่วนใหญ่มักเน้นเชิงคำนวณและวิเคราะห์มากกว่า ส่วน MA จะเน้นเชิงอธิบายและบรรยาย 


 
เตรียมเอกสารสมัคร

      เอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครเรียนก็มีดังนี้
1.    ใบสมัคร (Application)
2.    ใบแสดงผลทางการศึกษา (Transcript)
3.    Statement of Purpose (SOP) หรือ Personal Statement
4.    ประวัติส่วนตัว (Curriculum Vitae (CV) หรือ Resume)
5.    ผลคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ IELTS
6.    เอกสารรับรอง (Reference)

ขั้นตอนการสมัคร

       การสมัครจะมีสองวิธี วิธีแรกคือการสมัครผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Online) และ อีกวิธีคือการส่งจดหมาย (Post) พี่แนะนำว่าการสมัครทางอินเทอร์เน็ตจะเร็วกว่า และน้องๆ ยังสามารถเช็กได้ตลอดว่าตอนนี้ถึงขั้นตอนไหนแล้ว แต่ก็มีข้อเสียเล็กน้อยตรงที่น้องต้องตามเอกสารรับรองว่าถึงหรือยัง ส่วนวิธีส่งจดหมายจะดีตรงที่ทุกอย่างอยู่ครบในซองเดียวกัน หายห่วง แต่จะค่อนข้างล้าช้า 

       ในส่วนนี้พี่ขออธิบายวิธีการสมัครทางออนไลน์ค่ะ
     
      1. เริ่มแรกจากการเข้าไปลงทะเบียน (Register) ตามลิงค์เว็บไซต์สมัครเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัย (คลิกตรงปุ่ม Apple Online ได้เลย) พอเข้าไปแล้วก็กรอกประวัติส่วนตัวต่างๆ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในใบสมัคร 

       2. ส่วนพวก Transcript , SOP , CV และเอกสารอื่นๆ จะใช้วิธีอัพโหลดได้เลย หรือใครจะส่งตามไปทีหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าทางคณะจะรับแบบอีเมลหรือจดหมาย แต่ทางที่ดี พี่แนะนำว่าส่งไปตั้งแต่แรกเลยจะดีกว่าค่ะ ส่วนเอกสารรับรองขึ้นอยู่กับความสะดวกของน้องๆ ว่าจะส่งจดหมายตามไปทีหลังหรือจะกรอกผ่านอินเทอร์เน็ต 


       3. บางมหาวิทยาลัยจะมีให้ Register Referee (ผู้เขียนรับรอง) พร้อมส่งอีเมลให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถเช็กสถานะการส่งได้ตลอด แต่สำหรับมหาวิทยาลัยบางที่ น้องต้องพิมพ์แบบฟอร์มเอกสารรับรองไปให้ผู้เขียนกรอก ใส่ซอง และลงลายเซ็นกำกับ พร้อมติดเทปใสตรงที่ปิดผนึกด้วย และเพื่อความสะดวกรวดเร็ว หน้าซองควรระบุชื่อของน้อง ชื่อคอร์ส และเลขที่สมัครที่ได้มาตอนที่ลงทะเบียน เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงเอาไปส่ง 

        4. จากนั้นก็รอจดหมายติดต่อกลับทั้งทางอีเมลและไปรษณีย์ โดยต้องรอประมาณ 4-8 สัปดาห์ น้องสามารถสมัครพร้อมๆ กันหลายๆ มหาวิทยาลัยได้เลย สมัครเผื่อๆ ไว้ ไม่รู้ว่าเราจะได้หรือไม่ได้ที่ไหนบ้าง 

        5. และเมื่อจดหมายสำคัญที่ทำให้น้องหลายคนใจเต้นตึกตักๆ มาถึง น้องจะเห็นว่าถ้าทางมหาวิทยาลัยมีข่าวดี รับน้องเข้าเรียน ตัวจดหมายจะระบุชัดเจนด้วยว่าเป็นแบบ มี หรือ ไม่มีเงื่อนไข (Conditioned or Unconditioned) 

      - ถ้าเป็นกรณีที่ได้รับเข้าเรียนแบบมีเงื่อนไข จะมีเงื่อนไขเขียนกำหนดอย่างชัดเจน ซึ่งเราจะต้องผ่านเงื่อนไขนั้นๆ ถ้าผ่านก็หมายความว่าเราได้เข้าเรียน แต่ถ้าเราทำไม่ได้ตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ก็ถือว่าอดเรียน 

       - แต่ถ้าใครได้รับเข้าเรียนแบบไม่มีเงื่อนไข ก็โล่งใจเตรียมไปฉลองได้เลย เพราะทางมหาวิทยาลัยได้รับน้องเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว เหลือก็เพียงแค่ส่งเอกสารตัวจริงเพิ่มเติมตามที่เค้าต้องการ 

        - สำหรับคนที่ถูกปฏิเสธ ในจดหมายจะมักพบคำว่า Unfortunately และตามด้วยเหตุผลบลาๆๆๆ ไม่ต้องเสียใจไปนะคะ ด้วยเหตุนี้พี่เลยแนะนำให้สมัครไว้หลายๆ ที่ตั้งแต่แรกไว้ก่อนเลยค่ะ

       และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็เก็บกระเป๋าเตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อได้เลยค่ะ^^


       เป็นยังไงบ้างคะ การสมัครเรียนด้วยตัวเองนั้นไม่ได้ยากเกินความสามารถของน้องๆ เลยใช่มั้ยล่ะคะ สุดท้ายนี้ พี่ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี สมัครเข้าเรียนได้ตามคณะและมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันไว้ค่ะ
ทีมเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

triple P 14 ม.ค. 60 22:16 น. 1
แล้ว GMAT หรือ GRE จำเป็นไหมคะ สำหรับ U ใน UK หรือถ้าเขาวงเล็บ if applicable (เข้าใจว่าถ้ามีก็ส่ง ไม่มีก็ได้) แต่พอเขาตรวจเอกสารอัปโหลดเรา แล้วเช็คมาว่าตอบว่า Not Available คือ ต้องส่งผลสอบไป หรือยังเป็น ส่งก็ได้ถ้ามีหรอคะ ไม่อยากสอบเยอะเลยอ่ะค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด